http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-21

6 ตุลา19 ของผู้ตาม โดย ไชยวัฒน์ ตระการรัตน์สันติ

.

6 ตุลา19 ของผู้ตาม
โดย ไชยวัฒน์ ตระการรัตน์สันติ
ใน www.prachatai.com/journal/2012/10/43177 . . Mon, 2012-10-15 23:19


                คำไว้อาลัยของ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ที่เสนอประเด็นการต่อสู้เผด็จการ เชิดชูประชาธิปไตย ทำให้ผมนึกถึงการให้สัมภาษณ์ Voice TV ในฐานะผู้เข้าร่วมเหตุการณ์ 6 ตุลา เมื่องานรำลึก 6 ตุลา ปี 2552 ผมได้แสดงทัศนะว่า การต่อสู้ของเสื้อแดงที่ถูกการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง เมื่อสงกรานต์ 2552 กับ 6 ตุลา มีความแตกต่างกันในด้านจุดมุ่งหมายบางประเด็นที่สำคัญคือ ผู้เข้าร่วม 6 ตุลา มีความมุ่งหมายสถาปนาสังคมที่เป็นธรรม ไม่มีการกดขี่ขูดรีด ประเด็นนี้ถูก Voice TV ตัดออกทั้งหมด 

                แนวคิดสังคมนิยมกับขบวนการนักศึกษาหลัง 14 ตุลาเป็นเรื่องไม่อาจปฏิเสธได้ และเป็นสิ่งที่มาจากความมุ่งมั่นปรารถนาในการสร้างสังคมเป็นธรรม ปราศจากการเอารัดเอาเปรียบ โดยสถานการณ์ในเวลานั้นได้สร้างเส้นทางนั้นขึ้นมา ซึ่งความปรารถนานี้มาจากความรักเพื่อนมนุษยชาติและความต้องการความเท่าเทียมในสังคมก็ไม่ใช่ความผิด จึงไม่ควรจะถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง


จากพิราบขาวสู่พิราบแดง

               ช่วงหลัง 14 ตุลา กระแสสังคมนิยมได้รับการต้อนรับจากประเทศไทย เรื่องราวของรัฐสังคมนิยมจีนแผ่นดินใหญ่ได้เผยแพร่เข้าสู่ประเทศไทยจากเสรีด้านข่าวสารเปิดกว้างมากขึ้น ได้เปลี่ยนความเข้าใจจากประเทศที่อดยากหิวโหย มีคนอดตายปีละหลายล้านคน มาเป็นประเทศที่สามารถเลี้ยงประชากรทั้งหมดได้
                การรับรู้ต่อจีนแผ่นดินใหญ่ที่แตกต่างจากการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐไทย กระตุ้นให้กลุ่มของผมในยุคนั้นสนใจสังคมนิยม พร้อมกับการเผยแพร่แนวคิดสังคมนิยมทั้งสายจีน สายตะวันตก เป็นไปอย่างกว้างขวาง ในที่สุดพวกเรามีความเชื่อว่าสังคมนิยมควรจะเป็นทางออกของมนุษยชาติ เราเชื่อการเปลี่ยนแปลงให้กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเป็นของสังคม แทนที่จะถือครองด้วยคนจำนวนน้อยจะนำไปสู่ความมั่งคั่ง ผาสุกและเท่าเทียมกันของมนุษยชาติ

                เมื่อเขมรแดงสามารถยึดพนมเปญในวันที่ 17 เมษายน 2518 ที่นำไปสู่การปลดปล่อยเวียดนามและลาวในระยะใกล้กัน เพราะขวัญและกำลังใจของฝ่ายขวาในสองประเทศตกต่ำ ไม่มีความพยายามในการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ในประเทศตัวเองอีกต่อไป
               ประกอบกับความหวาดกลัวของชนชั้นนำในยุคคือ ภัยคอมมิวนิสต์ แม้กระทั่ง การฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยคำแนะนำของสหรัฐ ก็เพื่อระดมสรรพกำลังในการต่อต้านภัยนี้ การเปลี่ยนในอินโดจีนจึงนำความวิตกอย่างรุนแรงต่อชนชั้นนำของสังคมไทยอย่างรุนแรง ดร.ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทย เขียนไว้ใน Revolution Interrupted และจากการสนทนากับบรรดาคนในตระกูลชนชั้นนำจำนวนหนึ่งที่เล่าเรื่องราวการอพยพไปอยู่ในสหรัฐช่วงปี 2518 – 2524 ด้วยความหวาดกลัวต่อการปฏิวัติของฝ่ายสังคมนิยม การสู้เป็นคนสุดท้ายของชนชั้นนำจึงเป็นแค่ “จะสู้บนแผ่นดินไทยจนเป็นคนสุดท้ายที่หนีออกจากประเทศไทย”
               ขณะที่ กระแสสากลต่อการเข้าหารัฐสังคมนิยมจีนเป็นไปอย่างกว้างขวาง ในที่สุด มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ต้องเดินไปฟื้นความสัมพันธ์ไทย-จีน แต่ในประเทศไทยได้เริ่มขบวนการกวาดล้างการเคลื่อนไหวของนักศึกษา กรรมกร และชาวนา พลตรีชาติชาย ชุณหวัณ พูดว่า “นี่คือประชาธิปไตยครั้งสุดท้าย” พลตรีประมาณ อดิเรกสาร พูดถึง “ขบวนการขวาพิฆาตซ้าย” ตั้งแต่นั้นมา ผู้นำชาวนาของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ถูกลอบสังหารหลายสิบคน ผู้นำนักศึกษา เช่น นายอมเรศ ไชยสะอาด นักการเมือง คือ ดร.บุญสนอง บุญโยทยาน มีการกวาดจับนักศึกษาและกรรมกรจำนวนมาก

                ความรุนแรงได้เดินทางถึงจุดสูงสุด ในการเดินขบวนขับไล่ฐานทัพสหรัฐ เมื่อ 20 มีนาคม 2519 การเดินขบวนครั้งนี้ตั้งต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปยื่นหนังสือให้ถอนฐานทัพที่สถานทูตสหรัฐ ถนนวิทยุ ท่ามกลางข่าวลือการใช้ความรุนแรงจนขั้นการทำรัฐประหาร ก่อนหน้าการเดินขบวน มีการขว้างระเบิดมือเอ็ม 26 ไปที่เวทีเคลื่อนที่ แต่ระเบิดด้าน   ผู้เข้าร่วมการขับไล่ฐานทัพยังยืนยันที่ไปยื่นหนังสือให้กับสถานทูตสหรัฐ เมื่อขบวนเดินมาถึงสยามเซ็นเตอร์ มีการขว้างระเบิดมือเอ็ม 26 มีผู้เสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บหลายสิบคน สองในผู้เสียชีวิต คนหนึ่งเป็นนิสิตปีหนึ่ง คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นรุ่นพี่โรงเรียนของผม อีกหนึ่งเป็นนักศึกษารามคำแหงรุ่นพี่ที่รู้จักกันในการร่วมสนับสนุนการหยุดงานของกรรมกรแสตนดาร์ดกาเมนต์ ของตระกูลอื้อจือเหลียง ในปี 2518 ที่จบลงด้วยการใช้ตำรวจปราบจลาจลเข้ามาสลายการชุมนุม ในช่วงการเดินขบวนครั้งนี้ผมไปรณรงค์เรื่องนี้ในต่างจังหวัด จึงได้แต่ไปไว้อาลัยและยืนดูความตายของคนที่รู้จัก
                ก่อนหน้าการเดินขบวน 20 มีนาคม 2519 มีการรณรงค์ต่อต้านฐานทัพสหรัฐเป็นไปอย่างกว้างขวางทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในการรณรงค์ครั้งนี้มีเหตุการณ์สะเทือนใจมากคือ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในนครราชสีมา ถูกกราดยิงด้วยปืนเอ็ม 16 บนรถกระบะขณะที่กำลังออกไปปิดโปสเตอร์

                การขับไล่ฐานทัพสหรัฐมีนัยยะอย่างมากในช่วงเวลานั้น ทำให้มีการประเมินว่าอาจจะมีการกวาดล้างจนถึงการทำรัฐประหารเพื่อหยุดยั้งการขับไล่ฐานทัพ เพราะฝ่ายนักศึกษาและประชาชนเห็นว่า สหรัฐในช่วงเวลาดังกล่าวทรงอิทธิพลต่อการเมืองไทย ตั้งแต่การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ที่ต้องไปวางแผนในสหรัฐ การสนับสนุนบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ที่ได้รับการฟื้นฟูในยุคของจอมพลสฤษดิ์ การรัฐประหาร 2514 ของจอมพลถนอม ต้องหารือและขออนุญาตจากสหรัฐ ขณะเดียว ประเทศไทยมีฐานะสำคัญในยุทธศาสตร์ทางทหาร สหรัฐใช้เป็นฐานทัพในทิ้งระเบิดในเวียดนามและลาว เพื่อหยุดยั้งคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม จนถึงปัจจุบัน ในการหวนกลับเอเชียของสหรัฐก็ได้ใช้ประเทศไทยเป็นที่มั่นในการยับยั้งอำนาจของจีน สหรัฐได้แสดงท่าทีชัดเจนในการสนับสนุนระบบอำมาตยาธิปไตย ในการกวาดล้างชุมนุมเสื้อแดงปี 2552 สถานทูตสหรัฐออกแถลงการณ์ชี้นำว่าเสื้อแดงเป็นฝ่ายใช้ความรุนแรง ในการชุมนุมที่ราชประสงค์ปี 2553 สหรัฐก็ทราบดีว่าฝ่ายเสื้อแดงเป็นอย่างไร เพราะผู้ชุมนุมกางเต็นท์ริมถนนราชดำริข้างสถานทูตสหรัฐ แต่แสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์

                การกวาดล้างยังมีต่อไป มีการจับกุมนักศึกษาและกรรมกรอ้อมน้อยในข้อหา “คอมมิวนิสต์” หนึ่งในนั้นคือ นางสาวนิภาพรรณ พัฒนไพบูลย์ หรือสุนีย์ ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน 
                การกล่าวหานักศึกษาและประชาชนด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์โยงไปสู่การกล่าวหาว่าคอมมิวนิสต์เป็นพวกทำลาย ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์ หรือ อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” ที่มีใช้โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

                นอกจากการคุกคามการคุกคามต่อขบวนการนักศึกษาและประชาชนแล้ว ฝ่ายอำมาตย์ได้ทำการจัดตั้งมวลชนหลายกลุ่มเพื่อต่อต้าน กลุ่มแรกคือ การจัดนักศึกษาอาชีวะ “กระทิงแดง” ในความรับผิดชอบของ พลตรีสุดสาย เทพหัสดิน ณ อยุธยา มีนายสมศักดิ์ ขวัญมงคลและนายเฉลิมชัย มัจฉากล่ำ เป็นแกนนำ กลุ่มเคลื่อนไหว “นวพล” รับผิดชอบโดย นายวัฒนา เขียววิมล ทั้งกระทิงแดงและนวพลได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายทหาร มีการจัดตั้งชาวบ้านและคหบดีภายใต้รูปแบบ “ลูกเสือชาวบ้าน” ที่จะได้รับพระราชทานผ้าพันคอ การจัดตั้งนี้อยู่ภายใต้การกำกับของตำรวจตระเวนชายแดน
                ในด้านสื่อมวลชน วิทยุ มีสถานีวิทยุยานเกราะ เป็นแม่ข่ายในการปลุกระดมอุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” ขวาจัด ในความรับผิดชอบ พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา มีผู้ร่วมจัดรายการประจำคือ นายสมัคร สุนทรเวช, อุทิศ นาคสวัสดิ์,  ดุสิต ศิริวรรณ, ประหยัด ศ.นาคะนาท, ธานินทร์ กรัยวิเชียร, ทมยันตี, อาคม มกรานนท์ โดยนายธานินทร์ ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ด้านหนังสือพิมพ์ มี “ดาวสยาม” ที่มีนายประสาน มีเฟื่องศาสตร์ เป็นบรรณาธิการ และมี เปลว สีเงิน เป็นนักข่าว

               เมื่อเผชิญกับการคุกคามของ “ขวาพิฆาตซ้าย” ต่อการเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม มีขบวนการล่าสังหารนักศึกษา กรรมกร และชาวนา การแพร่หลายของแนวคิดสังคมนิยมที่เคยเพียงแค่แนวคิดได้กลายเป็นอุดมการณ์เพื่อเปลี่ยนแปลงปฏิวัติสังคม นำสู่ข้อสรุปว่าการสร้างสังคมที่เป็นธรรมต้องใช้ความรุนแรงตามมาร์กซ์พูดไว้ สภาพแวดล้อมของไทยใกล้เคียงกับจีนจึงต้องใช้แนวทางของเหมาเจ๋อตงด้วยการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบท ใช้ชนบทล้อมเมืองและยึดเมืองในที่สุด



6 ตุลา วันสังหารพิราบแดง

                กลางเดือนกันยายน 2519 จอมพลถนอม เข้าประเทศด้วยการห่มผ้าเหลืองเป็นสามเณร และอุปสมบทเป็นภิกษุที่วัดบวรนิเวศ แต่การต่อต้านได้แผ่กว้างออกไป นอกเหนือจากขบวนนักศึกษาและกรรมกร ไปสู่อาจารย์ในหลายมหาวิทยาลัย นักการเมือง เพราะคนในสังคมยังหวาดระแวงจอมพลถนอม แผนสังหารในนามศาสนาจึงไม่เกิดขึ้น 
                เมื่อการชุมนุมยืดเยื้อเริ่มขึ้นในวันที่ 4 ตุลา มีการแสดงละครการแขนคอสองพนักงานการไฟฟ้านครปฐม นายวิชัย เกษศรีพงษา และนายชุมพร ทุมไมย ถูกฆ่าและแขวนคอ ขณะที่พวกเขาออกติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม ฉากการแขวนคอได้กลายเป็นภาพบนหนังสือพิมพ์ดาวสยาม และบางกอกโพสต์ ที่พาดหัวข่าวในทำนองหมิ่น “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ฉบับเช้าวันที่ 5 ตุลาคม สถานีวิทยุยานเกราะได้เรื่องนี้นำประโคมเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

               เมื่อตื่นเช้าขึ้นมาในวันที่ 6 ตุลา ผมกับเพื่อนๆ ที่ค้างคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ใต้ถุนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ตลอดคืนมีการเสียงปืนปะปราย หนาแน่นบ้างเป็นบางช่วง ระหว่างการ์ดนักศึกษากับกลุ่มติดอาวุธของรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องปกติในการชุมนุมทางการยืดเยื้อ ตั้งแต่ปี 2518 จากนั้น ผมกับเพื่อนอีกคนเดินไปกินข้าวเช้าที่โรงอาหารคณะเศรษฐศาสตร์ 
               เมื่อไปถึงโรงอาหาร ผมสั่งข้าวแกง ขณะนั้น เราได้ยินเสียงยิงเอ็ม 79 เสียงระเบิดเกิดขึ้นน่าจะเป็นบริเวณสนามฟุตบอล แล้วเสียงปืนดังขึ้นด้านหน้ามหาวิทยาลัยด้วยการยิงรัวของปืนหลายร้อยกระบอก และต่อมาในทุกทิศทุกทาง เสียงดังก้องคำรามสนั่นหวั่นไหว กลบเสียงอื่นในยามเช้าของกรุงเทพมหานคร นี่เป็นเสียงที่น่าหวาดกลัวยิ่งนัก เราไม่เคยคิดว่าจะเผชิญกับการล้อมปราบ แม้ว่าจะเคยอ่านพบในเอกสารจำนวนมากก็ตาม การยิงเอ็ม 79 ผมเข้าใจในภายหลังว่า นี่เป็นสัญญาณนำปฏิบัติการ
               ผมมองไปรอบๆ มีคนนั่งอยู่บริเวณหลายสิบคน ทุกคนนิ่ง เงียบ และสงบ ไม่มีเสียงบ่น โวยวาย หรือแม้แต่คร่ำครวญ ผมจึงต้องอยู่อย่างเงียบสงบเหมือนนักศึกษารุ่นพี่คนอื่นๆ อาจจะยกเว้น แม่ค้าขายข้าวแกงที่มีสีหน้าหวาดหวั่นพรั่นพรึง
               เมื่อโผล่ออกมามองทางไปตึกโดมก็ไม่มีการเคลื่อนไหว หันไปทางถนนพระอาทิตย์ ก็ไม่มีอะไรเคลื่อนไหว เช่นกัน แต่รู้สึกว่าด้านถนนพระอาทิตย์ดูน่ากลัวมากกว่า จึงหันไปถามเพื่อนจะเอาอย่างไร เขาบอกว่าอยู่ที่นี่ก็แล้วกัน เพราะเรางุนงงจนไม่รู้จะทำอะไรดี ผมเริ่มกินข้าวอย่างสงบ โดยคิดว่าคงจะเป็นอาหารมื้อสุดท้าย แต่ก็เป็นไม่เป็นเช่นนั้น ผมยังมีโอกาสกินข้าวมื้อถัดมาในอีก 24 ชั่วโมงต่อไป

               พวกเราได้ยินเสียงของธงชัย วินิจกุล จากเวทีบอก “อย่ายิง อย่ายิง” เป็นระยะๆ สักครู่เราเห็นเรือตำรวจน้ำลอยลำกลางแม่น้ำเจ้าพระยาด้านหลัง เมื่อมีคนเดินผ่าน เขาเล่าว่ามีคนว่ายน้ำข้ามไปศิริราชแต่เรือตำรวจยิงตาย เจ้าพระยาแดงไปหมด ทว่าผมไม่เห็นเหตุการณ์นี้ เช่นเดียวกัน ผมไม่รู้ว่าวันนั้นมีความรุนแรงอะไรบ้าง การลากคนไปรอบสนามจนตาย การลากคนไปเผา การแขวนคอ เป็นภาพที่พบเห็นในภายหลัง วิดีโอเหตุการณ์ได้ดูหลังจากนั้นนานนับสิบปี 
                พวกเราเริ่มได้ยินเสียงปืนรัวใกล้เข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ มีเสียงระเบิดเป็นระยะๆ ในภายหลังผมเข้าใจเป็นเสียงปืนยิงรถถัง 75 ม.ม. หรือ ปืนไร้สะท้อน จากรูปภาพที่เห็น เสียงบนเวทีหายไปแล้ว ทุกคนยังคงสงบนิ่ง ไม่มีใครกระวนกระวาย ทำให้ผมพร้อมรับสถานการณ์ พลางคิดว่าเราคงเป็นวีรชนเหมือนกับรัฐประหารนองเลือดในชิลี  ทหารนำโดยปินโนเช่ ที่สหรัฐสนับสนุนเพื่อการโค่นล้มรัฐบาลเลือกตั้งสังคมนิยมของนายอาเยนเด้ เพราะโอนกิจการเหมืองทองแดงของบริษัท ไอทีที เป็นของรัฐ อาจจะเหมือนเหตุการณ์นองเลือด 1905 ในรัสเซีย ที่ทหารคอสแซกของกษัตริย์ซาร์นิโคลัส ออกมาเข่นฆ่าประชาชน

                เสียงปืนบางส่วนเปลี่ยนเป็นการยิงทีละนัด ผมคิดว่าอาจจะเป็นยิงประหารทีละคน ผมรู้สึกความตายมาอยู่เบื้องหน้าแล้ว นี่เป็นความบีบคั้นมากขึ้นๆ ทุกที เมื่อมองไปรอบๆ ทุกคนยังเหมือนเดิม ไม่มีใครกระวนกระวายแม้แต่น้อย
                เสียงปืนยิงรัวกำลังเข้ามาใกล้ทุกขณะ ดังมาจากทุกทิศทางจนพวกเราไม่ได้ยินอื่นใด แล้วตำรวจชุดสีกากีจากกองปราบ ถือปืนพร้อมยิง ดาหน้ามาจากคณะรัฐศาสตร์ ปืนชนิดนั้น ผมรู้จักชื่อในภายหลัง เรียกว่าปืนคาร์บิน ตำรวจบอกให้ทุกคนถอดเสื้อ ไม่ว่าชายหรือหญิง บางคนถูกตำรวจปลดสร้อยคอ นาฬิกา และเครื่องประดับ สั่งมือประสานท้ายทอย เดินก้มหน้าเรียงแถวไปที่สนามฟุตบอล หลายคนโดนตำรวจเตะ บางคนตะโกนด่า บางประโยคที่จำได้คือ “อ้ายพวกแกว (เวียดนาม)” “พวกหนักแผ่นดิน ต้องตายทั้งหมด”

                เมื่อมาถึงสนามฟุตบอลพบว่ามีพวกเรานอนคว่ำหน้าเต็มไปหมด ตำรวจสั่งให้เรานอนคว่ำหน้า เรานอนอยู่ไม่นาน แล้วพวกนั้นไล่เตะพวกเรา ต้อนไปขึ้นรถโดยสาร ให้นั่งก้มหน้าบนทั้งเบาะและพื้น เมื่อรถจอด น่าจะเป็นประตูด้านท่าพระจันทร์ มีคนเอาไม้ เหล็ก ทุบตีหน้าต่างรถ ตำรวจสองสามนายขึ้นรถ รูดนาฬิกาและทรัพย์สินอีกรอบหนึ่ง ในเวลานี้ ผมคิดว่าวาระสุดท้ายมาถึงแล้ว

                พวกเรานั่งก้มหน้าบนรถ จนไปถึงสถานแห่งหนึ่งช่วงเย็นมากแล้ว พวกเราถูกต้อนให้ขึ้นชั้นสองของโรงนอนที่เป็นอาคารไม้สองชั้น เช้าวันรุ่งขึ้น ผมได้เจอคนที่รู้จัก แล้วรู้ว่าที่นี่คือ โรงเรียนพลตำรวจชลบุรี และรู้ว่าเกิดรัฐประหารเมื่อคืนนี้นำโดยพลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ เราเริ่มพูดคุยกันอย่างเงียบๆเป็นระเบียบ บางคนเล่าว่าเดินเลาะไปที่ท่าพระจันทร์ แล้ววิ่งเข้าไปในตึกแถว ในชั้นของเขามีคนซ่อนตัวหลายสิบคน แต่ไม่พ้นมือตำรวจ วันต่อมา พวกเราถูกเรียกตัวไปให้การกับพนักงานสอบสวน ในภายหลังรู้สึกเสียใจกับคำให้การของตัวเองว่า ไม่รู้ ไม่เห็น บังเอิญผ่านไป

                ผมไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จึงได้รอคอยพร้อมจินตนาการว่าตัวเองถือปืนอยู่บนเขาลูกหนึ่ง บางอารมณ์ก็กำลังไล่ยิงพวกทหาร ตำรวจ                 
                พวกเราอยู่ที่นี่ประมาณหนึ่งสัปดาห์ แล้วย้ายมาที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน ที่ได้กลายมาเป็นเรือนจำนักโทษการเมืองหลักสี่
                ผมอยู่ที่นี่อีกสองสัปดาห์ จึงได้รับการประกันตัวจากญาติห่างๆ ที่เป็นผู้พิพากษาในคดีนี้ ท่านบอกเมื่อมารับตัวว่า จะยกฟ้องทุกคน ยกเว้นผู้นำนักศึกษา



                ในวันรายงานตัวกับศาล ซึ่งใช้ห้องประชุมของโรงเรียนพลตำรวจบางเขนเป็นห้องพิจารณาคดี ผมไปกับแม่ เนื่องจากยังเป็นผู้เยาว์ เราไปรายงานตัวก่อน สักพักมีคนมากมายทั้งญาติ และผู้ให้กำลังใจมากมาย นักศึกษาหญิงบางกลุ่มที่มาให้กำลังใจกับบรรดานักโทษการเมือง 6 ตุลา ผมไม่แน่ใจว่าเป็นพวกนักเคลื่อนไหวหรือเปล่า เพราะไม่คุ้นหน้าและแต่งตัวดีมาก
                ข่าวสารที่รับทราบผ่านหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับหลักฐานที่พบในธรรมศาสตร์ ไม่พบว่าการแสดงอาวุธหรือคลังแสง รวมถึงอุโมงค์ลับ คอลัมนิสต์ของเดลินิวส์ เขียนไว้ อุโมงค์ลับของอุทิศ นาคสวัสดิ์ สงสัยจะเป็นความเข้าใจผิดของเขา ที่คิดว่าท่อระบายน้ำเป็นอุโมงค์ลับ 
                ในช่วงดังกล่าว มีโอกาสรับรู้การเคลื่อนไหวประณามเหตุการณ์ 6 ตุลาในต่างประเทศ ผมเคยให้ข้อมูลกับนักศึกษาไทยที่เรียนปริญญาโทในฝรั่งเศสที่มารวบรวมข้อมูลของเหตุการณ์ 
                ระหว่างการคอยศาลสั่งยกฟ้อง ผมกับเพื่อนรุ่นพี่รามคำแหงที่ติดต่อกันอยู่ก็กลายเป็นหน่วยจัดตั้งได้รับการติดต่อเดินทางขึ้นภาคเหนือ แล้วพวกเราใช้เวลาการรอคอยปฏิบัติการทางการเมืองด้วยการโรเนียวเอกสารโดยใช้กระดาษไข พิมพ์ข้อความ ทาบบนแผ่นซิลค์สกรีนรีดหมึกด้วยลูกกลิ้ง แอบไปวางตามสถานที่สาธารณะต่างๆ ส่งทางไปรษณีย์ เป็นต้น จนกระทั่งเดินทางเข้าสู่เขตชนบท


ผู้สังหารนกพิราบ

                ความรุนแรง 6 ตุลา มากเกินกว่าจนกลุ่มผู้ก่อการไม่มีใครกล้ายอมรับ อาทิ พลตรีสุดสาย ปฏิเสธยอมรับความจริงกับผลงานของตัวเอง เพียงแต่บอกว่าจะให้คนเปิดเผยเบื้องหลังเหตุการณ์หลังเขาตายไปแล้ว พลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าร่วมและนำลูกเสือชาวบ้านมาหน้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลูกเสือชาวบ้านกลุ่มนี้เป็นผู้ ฆ่า เผา แขวนคอนักศึกษาที่สนามหลวง เมื่อมีการเปิดโปงว่าเขาชี้นำเหตุการณ์นี้ ในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.สมัยแรกของเขา พลตรีจำลอง บอกว่าแค่ไปสังเกตการณ์ ไม่กล้าบอกว่าผมเป็นคนทำ 
                ฝ่ายทหารผู้ทำรัฐประหาร พลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ ต้องขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ซึ่งคือ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร แทนที่จะตั้งคนของตัวเอง เพื่อแสดงว่าพวกเขาไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาและวางตัวมีระยะห่าง

                หลังจากนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้วางแผนประชาธิปไตย 12 ปี ออกกฎหมายภัยสังคมที่ให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถจับกุมโดยไม่ต้องไต่สวน และมีผู้ถูกจับกุมจำนวนมากมาย ส่วนใหญ่ถูกใส่ร้ายป้ายสี ส่วนพวกนักเคลื่อนไหวจะถูกจับด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ มีขบวนการปล่อยป้ายสีและสร้างความเกลียดชังชาวเวียดนามในไทย          
                ขณะเดียวกัน ฝ่ายกองทัพมีความขัดแย้งรัฐบาลมาตลอดตั้งแต่รัฐบาล วิทยุกองทัพมีบทความวิจารณ์รัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ เช่น บทความชื่อ “จะปกครองประเทศด้วยหลักรัฐศาสตร์หรือไสยศาสตร์” เนื่องจากนายธานินทร์ เป็นผู้พิพากษาที่เชี่ยวชาญเรื่องโหร และมักจะทำพิธีกรรมแก้เคล็ด จนนายธานินทร์และพลเรือเอกสงัดออกรายการโทรศัพท์ ชี้แจงว่าไม่มีความขัดแย้ง นายธานินทร์เปรียบเทียบว่า รัฐบาลคือหอย ทหารคือเปลือกหอย มีหน้าที่คุ้มกันรัฐบาล
                ในที่สุดทหารก็ล้มรัฐบาล “หอย” ธานินทร์ในหนึ่งปีต่อมา ด้วยข้อหาไม่สามารถอารักขาความปลอดภัยขององค์ประมุข เพราะมีการค้นพบระเบิดในทางเสด็จผ่านของในหลวงและพระราชินี แล้วอดีตนายกรัฐมนตรี นายธานินทร์ ผู้แข็งขันในการปลุกระดมการฆ่านักศึกษา เมื่อ 6 ตุลา ด้วยความเกลียดชัง ก็ไปดำรงตำแหน่งองคมนตรีทันที นายสมัคร สุนทรเวช ไปเป็นรองผู้อำนวยการสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

                ในภายหลังเมื่ออ่านบันทึกความทรงจำของนายบุญชนะ อัตถากร นักการคลังผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้น เขียนไว้ว่า พลเรือเอกสงัด เล่าถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีให้เขาฟังว่า พลเรือเอกสงัดได้เดินทางไปเข้าเฝ้าในหลวงที่ตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศ เขาได้รอพระราชดำรัสจนถึงเย็น จึงเข้าจะขอทูลลา ในหลวงได้ทรงตรัสว่า จะตั้งนายกรัฐมนตรีทำไมไม่ปรึกษานักกฎหมาย อย่างคุณธานินทร์ พลเรือเอกสงัด และคณะปฏิรูป จึงเลือกนายธานินทร์ เป็นนายกรัฐมนตรี

                หลัง 6 ตุลา ผมมีข้อสรุปว่า ผู้ก่อเหตุการณ์คือ พวกขวาจัดกษัตริย์นิยม ได้แก่ กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน จปร.รุ่น 7 ตำรวจ
                ฝ่ายทหารอาจจะไม่ต้องการใช้วิธีการนี้ เพราะจะเป็นการผลักดันให้นักศึกษาเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ฝ่ายทหารอาจจะต้องการกดดันผ่านการจับกุม ลอบสังหาร ป้ายสี โดดเดี่ยว เหมือนการลอบสังหารผู้นำนักศึกษา กรรมกร ชาวนา หลายสิบคนตั้งแต่ปี 2518



พิราบแดงปีกหักกับความจำ 6 ตุลา

                ชนชั้นปกครองไม่เคยจำเหตุการณ์ของประชาชน และพยายามทำให้ลืมเสมอ ไม่ว่าจะเป็น 24 มิถุนายน หรือ เสรีไทย การรำลึก 24 มิถุนายน เพิ่งกลับมาหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งเครดิตต้องยกให้คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข, กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย และคุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ผู้ผลักดันกิจกรรมนี้ จนแตกคอกับ นปช. ในปี 2552 
               อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ได้มาเพื่อลดกระแส พฤษภา 35 ที่พวกเขา โดยเฉพาะกองทัพอยู่ในฐานะพ่ายแพ้ทางการเมืองยับเยิน ภายหลังเหตุการณ์นี้ มีการเพิ่มคำว่า “ประชาชน” ต่อท้ายคำขวัญ “เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” บนป้ายของกองทัพเกือบทุกหน่วยงาน ผมมีโอกาสพบกับผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชาย ที่บ้านหม่องคั๋วะ หมู่บ้านนี้เคยเป็นฐานที่มั่นของ พคท. จังหวัดตาก ในปี 2548 เขาได้สะท้อนความคิดว่า 6 ตุลา นักศึกษาแพ้ แต่พวกเขาแพ้ในเหตุการณ์พฤษภา 35 เท่ากับหายกัน

               ผมเข้าร่วมเหตุการณ์รำลึกเดือนตุลา ที่รวมเหตุการณ์ 14 ตุลาและ 6 ตุลา ในปี 2524 มีนักเคลื่อนไหวรุ่นนั้นมาร่วมหนาตาพอสมควร เวทีจัดที่สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากนั้นก็ไม่ได้เข้าร่วมอีกเลยจนหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภา 35 เพราะสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด 
               การรำลึกในบรรยากาศ ตุลาคม 2524 เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เรียกว่าวิกฤติศรัทธา อันเนื่องจากสัมพันธภาพของพรรคคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน ไทย และจีน ที่นำไปสู่ความถดถอยของการต่อสู้ของขบวนการปฏิวัติไทย ปีต่อมา การแยกตัวระหว่างนักศึกษาและแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ขณะเดียว พคท. มีแตกแยก สืบเนื่องจากการการประชุมสมัชชา แล้วการปฏิวัติไทยจึงจุดจบ

               ความจริง 6 ตุลาในเวลานั้น ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ของขบวนการนักศึกษา แต่เป็นการเปิดแนวรบที่นักเคลื่อนไหวรุ่นนั้นเชื่อว่าเป็นแนวทางที่จะไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมตามความใฝ่ฝัน เมื่อปิดฉากด้วยการพ่ายแพ้ของการปฏิวัติไทย พวกเราจึงกลับมาอย่างผู้พ่ายแพ้ที่เดิมพันด้วยชีวิต จึงเป็นความขมขื่นอย่างยิ่ง ความรู้สึกนี้เชื่อมไปสู่ 6 ตุลา ที่เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้พวกเราเลือกไปสู่แนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบท
               ความจดจำทางประวัติศาสตร์จะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากประชาชนเท่านั้น แต่พวกเราผู้อยู่ขบวนการต่อสู้นี้ตกอยู่ในฐานะพ่ายแพ้ หลายคนปิดบังเรื่องการเข้าร่วมต่อสู้ในชนบทกับผู้คนรอบข้างจนบัดนี้ จึงเป็นเรื่องยากที่ให้พวกเราหาญกล้ามาผลักดันเรื่องนี้ต่อไป

               แต่ความรุนแรงในปราบปรามฝ่ายตรงข้ามของชนชั้นปกครองก็ไม่ได้หมดสิ้นไป การสลายการชุมนุมเสื้อแดง พฤษภา 53 ได้เกิดขึ้นด้วยการใช้กำลังทหารและอาวุธสงคราม และการรำลึก 6 ตุลา จึงมีผู้เข้าร่วมมากขึ้น ซึ่งคือ กลุ่มเสื้อแดง นักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ รวมถึงอดีตนักศึกษารุ่นนั้นบางส่วนประมาณ 20% จึงเป็นไปได้ว่าประวัติศาสตร์นี้จะกลับมาชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่ คนรุ่น 6 ตุลาส่วนใหญ่ในขณะนี้อยู่ฝ่ายเสื้อเหลืองหรือสลิ่ม



ความปรารถนาแห่งสังคมนิยม

                ในช่วงนั้น พวกเราเริ่มรู้ถึงปัญหาความไม่เป็นธรรม ความยากจน จากการเรียกร้องของคนงาน ชาวนาในชนบท ภาพสังคมอันแสนสมถะสวยงามหายไปและเงียบสงบ กลายเป็นว่าการกดขี่ขูดรีดมีในทุกที่ เราจึงรู้ว่าเผด็จการทหารทำให้คนยากจนเหล่านี้เงียบหายไปอย่างสิ้นเชิง การแสวงหาของเราจึงไปไกลกว่าประชาธิปไตยที่ให้ความเท่าเทียมกันทางการเมือง ไปสู่ความเป็นธรรมของสังคม ไม่มีการกดขี่ขูดรีด แล้วพวกเราได้ข้อสรุปว่าต้องเป็นสังคมนิยม
                การเลือกแนวทางต่อสู้อาวุธในชนบท เกิดมาจากการล่าสังหารอันยาวนานของชนชั้นปกครองไทย ทำให้ทางเลือกอื่น เช่น สังคมประชาธิปไตย แนวทางสันติ แนวทางรัฐสภา ถูกกำจัดออกไป เหลือแต่เพียงแนวทางการใช้ความรุนแรงขึ้นตอบโต้ เหมือนกับบทกลอน วิสา คัญทัพ ที่เขียนไว้อาลัย ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ที่ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519
                “อหิงสาผลตอบคือความตาย             ทางสุดท้ายมันบังคับให้จับปืน”


                สังคมนิยมหรือสังคมที่ปราศจากการกดขี่ขูดรีดไม่ได้เป็นความปรารถนาในทางโลกเท่านั้น สังคมประเภทนี้เป็นความปรารถนาในทางศาสนา เช่น สังคมพระศรีอาริยะ ของศาสนาพุทธ แม้กระทั่งยูโทเปีย ที่เป็นต้นธารของสังคมนิยมตะวันตก ก็นำเสนอโดยพระคาทอลิก นักบุญโทมัส มอร์  
                ในปีที่แล้ว ขบวนการ Occupy Wall Street เลือกใช้หน้ากาก Guy Fawkes เป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ เขาเป็นชาวคาทอลิก ผู้ถูกกดขี่ในความเชื่อศาสนาจากกษัตริย์อังกฤษ เขาและพรรคพวกใช้การก่อวินาศกรรมในการสังหารฝ่ายตรงข้าม แต่ขบวนการ Occupy Wall Street เลือกเขาเป็นสัญลักษณ์ในฐานะการต่อสู้ของคนไร้อำนาจที่กล้าต่อสู้กับอำนาจกดขี่ขนาดใหญ่ เช่นเดียวกัน อุดมการณ์สังคมนิยมของนักศึกษา 6 ตุลา ควรมองไปที่ความปรารถนาสร้างสังคมที่เป็นธรรมปราศจากการกดขี่ขูดรีด


ความกล้าหาญและความปรารถนาอันสูงส่ง

                ผู้นำนักศึกษาหลายที่เคยได้ร่วมไว้อาลัยเป็นผู้ที่เคยบอกให้เราเชื่อเรื่องสังคมนิยม ซึ่งพวกเขาหันหลังให้กับแนวคิดนี้ไปแล้ว ผู้นำบางคนที่เป็นผู้ชี้นำการเคลื่อนไหวได้บอกกับสื่อด้วยตัวเขาเป็นแค่ผู้เข้าร่วมการชุมนุมเท่านั้น บางคนแสดงตัวเหมือนว่าเขาไม่รู้อะไรเลย ถึงแม้ว่าอดีตผู้นำศึกษาเหล่านั้นจะยอมแพ้กับระบบเก่าไปแล้ว แต่ไม่ควรลดความปรารถนาของพวกผู้เสียชีวิตไปกับการยอมจำนนของตัวเอง
                ความมุ่งหวังในการสร้างสังคมที่ปราศจากการกดขี่ขูดรีดด้วยความรักมนุษยชาติของพวกเขาเป็นสิ่งสมควรยกย่อง ผมอาจจะไม่สามารถรับประกันทุกคน ถ้านับผู้เสียชีวิตตั้งแต่ปี 2518 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 เข้าด้วยกันเพราะเกิดจากขบวนการล่าสังหารของฝ่ายขวาทั้งหมด จะมีประมาณ 600 คน เหตุการณ์ 6 ตุลา เสียชีวิตประมาณ 530 คนจากรายงานของ 2519.net ส่วนที่เหลือเกิดจากการล่าสังหาร การก่อวินาศกรรมอื่นๆ
                ผมเชื่อว่าเพื่อนของผมสองคน เสียชีวิตด้วยความฝันของสังคมที่เป็นธรรม อาจจะกล่าวถึงผู้เสียชีวิตว่า มี 598 คนตายเพื่อประชาธิปไตย อีก 2 คนตายเพื่อสังคมที่ไม่มีการกดขี่ขูดรีด ถ้ากล่าวถึง 3,000 คนที่ถูกจับกุม ก็จงบอกว่า 2,999 คนถูกกุมขังเพื่อประชาธิปไตย มี 1 คนยืนหยัดในสังคมที่ไม่มีการกดขี่ขูดรีด

                ผู้เข้าร่วมเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ได้เป็นเหยื่อความรุนแรงด้วยการเข้าพื้นที่ความรุนแรงโดยบังเอิญ หรือไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะทุกคนร่วมการต่อสู้โดยรู้ว่ากำลังจะเผชิญกับอะไร เนื่องจากการล่าสังหาร คุกคามเกิดขึ้นมานานกว่าหนึ่งปี การบอกว่าเป็นเหยื่อโดยไม่อธิบายอย่างชัดเจน จะเป็นลดทอนความกล้าหาญของพวกเขา

                ประวัติศาสตร์จะจำเรื่องนี้อย่างไร เป็นเรื่องของคนรุ่นต่อไปจะทำความเข้าใจและตีความ เพียงจะฝากไว้ว่าพวกเขามีความกล้าหาญและมีความปรารถนาอันสูงส่ง



_______________________________________________________________________

ฯลฯ
คุณไชยวัฒน์ ตระการรัตน์สันติ เป็นสมาชิกสมัชชาสังคมก้าวหน้า ผู้เข้าร่วมอดข้าวประท้วงเพื่อผู้ต้องหาคดี 112 , เป็นผู้เขียนหนังสือด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์  ....สนใจติดตาม ความคิดความเชื่อของเขา ด้านสันติวิธีและศาสนาคริสต์ ได้ที่ http://tv.catholic.or.th/vdo/?id=505
( นานาสาระ : แบ่งปันประสบการณ์-คุณไชยวัฒน์ ตระการรัตน์สันติ ออกอากาศ : วันที่ 31 กรกฎาคม 2554/2011)



.