http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-23

เชาวน์ พงษ์พิชิต(1): โจวเอินไหล รัฐบุรุษจีน ฯ

.

โจวเอินไหล (1) รัฐบุรุษจีน ผู้เป็นอัจฉริยะด้านการทหาร การทูต เศรษฐกิจ และการบริหาร
บทความพิเศษ เรียบเรียงโดย เชาวน์ พงษ์พิชิต ศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เสนอตอนแรก มติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1679 หน้า 42


วัยเด็กและวัยเรียน

โจวเอินไหลถือกำเนิดในครอบครัวขุนนางชั้นผู้น้อย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ.1898 โดยปู่ อพยพจากอำเภอเซ่าซิง มณฑลเจ้อเจียง มาอยู่ที่อำเภอหวยอัน มณฑลเจียงซู เป็นผู้ช่วยนายอำเภอและนายอำเภอตามลำดับ ส่วนบิดาเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยของท้องที่อื่น
โจวเอินไหลถูกยกให้เป็นลูกบุญธรรมของอา เมื่อมีอายุครบหนึ่งขวบ 
อาสะใภ้ซึ่งเป็นทั้งแม่บุญธรรมของโจวเอินไหลด้วยกันนั้นเป็นหญิงคงแก่เรียน ท่านสอนโจวเอินไหลอ่านกวีนิพนธ์สมัยถังจนท่องขึ้นใจได้เป็นสิบๆ บท เมื่อมีอายุแค่ 4 ขวบ 
นอกจากนั้นโจวเอินไหลยังได้อ่านนวนิยายคลาสสิคเป็นจำนวนมาก เมื่ออายุยังไม่ถึง 9 ขวบ

ชีวิตวัยเด็กของโจวเอินไหลทุกข์ยากพอสมควร เมื่อปู่ถึงแก่กรรม บิดามีรายได้ไม่เพียงพอแก่การเลี้ยงดูครอบครัว ต้องทยอยนำสิ่งของในบ้านไปจำนำ หรือหยิบยืมเงินทองจากญาติพี่น้องมาแลกข้าวกิน หนี้สินรุงรัง 
คุณแม่ทั้งสองต้องทยอยกันลาโลกไปภายในปีเดียวกันด้วยความเศร้าโศกลำเค็ญที่ถูกเจ้าหนี้มาทวงถามไม่เว้นแต่ละวัน

เมื่อโจวเอินไหลมีอายุแค่ 10 ขวบ ต้องกระเสือกกระสนทำมาหากินรับภาระดูแลน้องชาย 2 คนไปวันๆ 
จนกระทั่งอายุ 12 ปี จึงได้ติดตามคุณลุงไปเข้าโรงเรียนชั้นประถมที่นครเสิ่นหยังทางภาคอีสานของจีน นับแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านไม่เคยกลับไปเยือนบ้านเกิดเมืองนอนที่อำเภอหวยอันอีกเลย


ขณะที่โจวเอินไหลศึกษาอยู่ที่นครเสิ่นหยังนั้น มีครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์คนหนึ่งชื่อเกายี่หวู ปลูกฝังทัศนคติที่จะโค่นล้มราชวงศ์ชิงและสถาปนาสาธารณรัฐขึ้นแทนในขณะทำการสอนในห้องเรียน อีกทั้งยังแนะนำโจวเอินไหลให้อ่านงานเขียนเรื่องกองทัพปฏิวัติ ที่ประพันธ์โดยโจวหรง (ค.ศ.1885-1905) ผู้เป็นนักปฏิวัติประชาธิปไตยนิยม  
ครูเกาผู้นี้เป็นผู้ปลูกฝังคติปฏิวัติประชาธิปไตยให้แก่โจวเอินไหลเป็นคนแรก 
ต่อมาเมื่อ ดร.ซุนยัตเซ็นประสบชัยชนะในการปฏิวัติซินไฮ่เมื่อปี ค.ศ.1911 โจวเอินไหลยังคงเรียนหนังสืออยู่ที่นครเสิ่นหยัง วันหนึ่งท่านกับเพื่อนนักเรียนคนหนึ่งติดตามคุณปู่ของเพื่อนคนนั้นไปเยือนสมรภูมิสงครามญี่ปุ่น-รัสเซีย ปี ค.ศ.1904-1905 ที่เขาหลงเยียนซันใกล้นครเสิ่นหยัง

คุณปู่เล่าให้เด็ก 2 คนได้ฟังว่า สงครามครั้งนั้นรัสเซียต้องการแย่งชิงดินแดน 3 มณฑลภาคอีสานของจีน ก็เลยยกทัพเข้ามาราวีจีน ประชาชนต้องบ้านแตกสาแหรกขาด บาดเจ็บ ล้มตายเป็นระนาว แต่รัฐบาลราชวงศ์ชิงกลับประกาศ "เป็นกลาง" ซึ่งนับว่าอัปยศยิ่ง 
แต่นั้นเป็นต้นมา โจวเอินไหลก็มุ่งมั่นที่จะอุทิศตนเพื่อกอบกู้ปิตุภูมิจากความยากจนล้าหลังและอ่อนแอ [1]

ครั้งหนึ่งเมื่อครูถามนักเรียนในชั้นเรียนว่า โตขึ้นปรารถนาจะทำสิ่งใด โจวเอินไหลตอบอย่างองอาจว่า "ปรารถนาจะให้จีนผงาด"



ปีค.ศ.1913 โจวเอินไหลสอบเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมหนันไคที่นครเทียนสินได้เมื่อมีอายุ 15 ปี 
โรงเรียนแห่งนี้มีครูที่รักชาติหลายท่าน ในจำนวนนี้คุณครูหม่าเชียนหลี่ มีความสนิทสนมกับโจวเอินไหลเป็นพิเศษ ต่อมาได้ถูกจับกุมคุมขังพร้อมโจวเอินไหลและเพื่อนๆ เมื่อครั้งเข้าร่วมขบวนการ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1919 
หนังสือเรื่องบันทึกในที่คุมขังของตำรวจ และบันทึกรายวันในที่คุมขังของอัยการ ที่โจวเอินไหลเป็นผู้ประพันธ์ คุณครูหม่าก็เป็นผู้นำไปตีพิมพ์  [2] 
โจวเอินไหล ชอบอ่านหนังสือและมีความสามารถในการเขียน คะแนนแต่งความของท่านอยู่ใน 5 อันดับแรกของห้อง ท่านเคยร่วมกับเพื่อนนักเรียนอื่นๆ ก่อตั้ง สมาคมหมั่นเรียนเพื่อความสุขมหาชน โดยท่านได้ดำรงตำแหน่งประธานของสมาคมแห่งนี้ และเขียนบทความลงในวารสารซึ่งสมาคมแห่งนี้จัดพิมพ์ [3] 

ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ.1917 โจวเอินไหล จบการศึกษาระดับมัธยมที่หนันไค แล้วไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.1917 โดยมีเพื่อนๆ ช่วยเหลือค่าเดินทาง
หลังจากไปถึงญี่ปุ่นสองเดือน ความสนใจของท่านพุ่งไปยังเหตุการณ์สำคัญของโลกในเวลานั้น คือ การปฏิวัติเดือนสิบของรัสเซีย 
ท่านศึกษากรณีนี้อย่างจริงจัง กระทั่งสืบค้นไปถึงหลักทฤษฎีของการปฏิวัติครั้งนั้น ท่านเริ่มสัมผัสและศรัทธาในลัทธิมาร์กซ์ ตั้งแต่นั้นมา [4]
และยังมีโอกาสได้อ่าน ปัญหาสังคมศึกษา วารสารรายปักษ์ที่จัดทำโดย คาวาคามิ ฮาจิเม (1978-1946) ศาสตราจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเกียวโตด้วย [5]



ต้นปี ค.ศ.1919 ในที่ประชุมสันติภาพที่นครปารีส บรรดามหาอำนาจตกลงจะยกเลิกสิทธิทั้งหมดที่เยอรมนีผู้พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 มีอยู่ในประเทศจีนให้แก่ญี่ปุ่น นักศึกษาจีนในนครโตเกียวพากันชุมนุมและเดินขบวนแสดงพลังด้วยความโกรธแค้นเป็นอย่างยิ่ง
โจวเอินไหลเป็นตัวตั้งตัวตีในกระบวนการนี้ จนไม่มีเวลาเตรียมตัวในการสอบจึงพลาดหวังจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัย จึงต้องเดินทางออกจากญี่ปุ่นหลังจากพำนักอยู่ที่นั่นถึง 19 เดือน กลับไปยังมาตุภูมิเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.19196  
ขณะที่กระบวนการ 4 พฤษภาคม ต่อต้านรัฐบาลขุนศึกจากเมืองหลวงขยายตัวไปทั่วประเทศ สมาคมนักเรียนนักศึกษานครเทียนสินต้องการออกหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เพื่อสร้างประชามติ 
โจวเอินไหลได้รับการคัดเลือกให้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สมาคมนักเรียน-นักศึกษานครเทียนสิน ทำหน้าที่เขียนบทบรรณาธิการด้วยนามปากกา "เฟยๆ" (บิน-บิน)
เพื่อให้ขบวนการนักศึกษานครเทียนสินสามารถประกอบกิจกรรมได้อย่างพร้อมเพรียงกัน สมาคมนักเรียน-นักศึกษาเทียนสิน กับ สมาคมสหายรักชาติสตรีเทียนสิน จึงได้ร่วมกันก่อตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมา ให้ชื่อว่า "ตื่นตัว" เมื่อเดือนกันยายน 1919

โจวเอินไหล (เพิ่งเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยหนันไค) และ หม่าจุ้น มุสลิมผู้นำนักศึกษาเป็นตัวแทนฝ่ายแรก ส่วนนางสาวกัวหลงเจิน (นักศึกษามุสลิม) หลิวชิงหยัง และเติ้งหยิ่งเชา เป็นผู้แทนฝ่ายหลัง ขณะนั้นเติ้งหยิงเชา (ซึ่งต่อมาเป็นคู่ครองของโจวเอินไหลนั้น) มีอายุเพียง 15 ปีเท่านั้น [7] 
สมาคมตื่นตัว ก็ได้ออกวารสารฉบับหนึ่งให้ชื่อว่า "ตื่นตัว" โจวเอินไหลและเติ้งหยิ่งเชา ต่างก็เขียนบทความลงในวารสารฉบับนี้ด้วยนามปากกา "อู่เห้า" และ "อีเห้า" (รหัส "หมายเลข 5" และ "หมายเลข 1") 
วารสารฉบับนี้ออกได้แค่ฉบับเดียวก็ปิดตัวเองไป แม้สมาคม "ตื่นตัว" เอง ก็ได้เลิกกิจกรรมไปในฤดูใบไม้ผลิปีถัดมา 
แต่ก่อนที่จะยุติกิจกรรม สมาคม "ตื่นตัว" ยังได้สร้างผลงานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งคือ ตำรวจได้สั่งปิด สมาคมนักเรียน-นักศึกษานครเทียนสิน เพื่อปราบปรามขบวนการรักชาติที่คว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่นในเดือนมกราคม ค.ศ.1920 
สมาคม "ตื่นตัว" จึงมีมติให้แสดงพลังเป็นการประท้วง โดยให้ โจวเอินไหลและกัวหลงเจินนำขบวนมวลชนไปร้องเรียนที่หน้าที่ว่าการมณฑลเหอเป่ย ทั้งสองถูกทางการจับกุมพร้อมผู้แทนนักศึกษาอื่นๆ อีก 20 กว่าคนไปคุมขังไว้เป็นเวลา 6 เดือน โจวเอินไหลและพวกรณรงค์ด้วยวิธีการอดอาหารประท้วง [8]


ในช่วงเวลาดังกล่าว เติ้งหยิ่งเชาและผู้ติดตามได้ยื่นคำร้องต่อทางการขอให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมครั้งแล้วครั้งเล่า กระทั่งเสนอขอให้เธอและพวกรวม 24 คนซึ่งอยู่นอกที่คุมขัง เข้าไปอดอาหารแทนพรรคพวกที่คุก โดยอ้างว่าพวกที่ถูกคุมขังอยู่นั้นเป็นตัวแทนของพวกตน ดังนั้น พวกตนจึงมีสิทธิ์เข้าไปรับเคราะห์ในที่คุมขังแทน 
ด้วยแรงกดดันของประชามติดังกล่าว ในที่สุดฝ่ายตำรวจก็จำต้องนำเอาคดีนี้ขึ้นสู่ศาลให้พิจารณาตามกฎหมาย
และโจวเอินไหลในฐานะผู้ต้องหาก็เลยสามารถอาศัยห้องพิจารณาความของศาล เป็นเวทีฟ้องร้องกล่าวโทษรัฐบาลขายชาติต่อสังคม [9]

ในที่สุด ศาลได้ตัดสินปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 24 คน เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ.1920
โจวเอินไหล หัวหน้านักศึกษาธรรมดาๆ คนหนึ่ง ได้กลายเป็นบุคคลซึ่งสังคมจับตามองและเป็นที่เอ็นดูของผู้ใหญ่หลายท่าน เช่น เหยียนฟั่นซุน ผู้ก่อตั้งโรงเรียนหนันไค และหลิวฉงโย่ว ทนายความอาวุโสเทียนสิน ทั้งสองต่างก็เคยหมายตาจะยกบุตรสาวให้เป็นคู่ครอง

ต่อมาเมื่อโจวเอินไหลเดินทางไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส ท่านทั้งสองก็ได้ช่วยเหลือค่าเดินทางให้คนละ 500 หยวน [10]


สมาคม "ตื่นตัว" ได้เชิญ สมาคมวิทยาการจีนวัยรุ่น และสมาคมอื่นๆ รวม 4 องค์กร พบปะชุมนุมกันที่สวนสาธารณะ "เถาหรันถิง" ทางทิศใต้ของนครปักกิ่งในวันที่ 16 สิงหาคม เพื่อปรึกษาหารือทิศทางการพัฒนาของกระบวนการกู้ชาติ และปัญหาว่าจะร่วมกันรณรงค์อย่างไรต่อไป
โดยมี หลี่ต้าเจา ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ผู้นำเอาทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์และลัทธิบอลเชวิก เข้ามาเผยแพร่ในประเทศจีนเป็นคนแรก รับเชิญมาร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย
โจวเอินไหลเป็นผู้สรุปผลงานและบทเรียนที่ได้รับจากกระบวนการรักชาติของนครเทียนสินในที่ประชุมดังกล่าว [11]


โจวเอินไหลเดินทางไปถึงฝรั่งเศสตามโครงการ'เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย' ของรัฐบาลจีนกับรัฐบาลฝรั่งเศสในเดือนธันวาคม ค.ศ.1920 เวลานั้นท่านมีอายุ 22 ปี เป็นที่สนใจของนักศึกษาจีนในฝรั่งเศส ในฐานะผู้เคยศึกษาลัทธิมาร์กซ์มาตั้งแต่สมัยไปศึกษาที่ญี่ปุ่น และเป็นผู้นำเยาวชนจีนที่เก่งกล้าอาจหาญ 
แต่ท่านเองตั้งเป้าไว้เพียง 2 ประการคือ เร่งศึกษาลัทธิมาร์กซ์ และเสาะหาตำรับตำราที่ใช้เยียวยารักษาโรคเรื้อรังของปิตุภูมิ

ท่านต้องไปเป็นกรรมกรรายวันที่โรงงานผลิตรถยนต์เรโนลต์ ต้องหุงหาอาหารกินเอง ขากางเกงหดแล้วหดอีก ถุงเท้าก็ปะแล้วปะอีก สมถะมัธยัสถ์กลายเป็นนิสัยของโจวเอินไหล 
ถึงแม้ท่านได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอันทรงเกียรติแล้ว ในอีก 28 ปีต่อมา ท่านก็ยังคงมีนิสัยประหยัดเหมือนเดิม [12]



พรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ก่อตั้งขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1921 แต่ทว่า ก่อนหน้านั้นคือในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน โจวเอินไหลกับนักลัทธิมาร์กซ์คนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ ของทวีปยุโรป ก็ได้พร้อมใจกันก่อตั้ง กลุ่มลัทธิคอมมิวนิสต์ ขึ้นมาแล้ว
ต่อมาเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ก่อตั้งขึ้นเป็นตัวเป็นตน กลุ่มลัทธิคอมมิวนิสต์ที่อยู่ต่างประเทศจำนวน 8 กลุ่ม ล้วนมีความยินดีที่จะรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ พคจ. ในประเทศ 
องค์กร พคจ. ที่นครปารีสเดิมก็มีชื่อใหม่ว่า สาขาใหญ่ประจำยุโรป พคจ. โดยมีเจ้าซื่อเหยียนเป็นเลขาธิการสมัยที่ 1 และโจวเอินไหลเป็นเลขาธิการสมัยที่ 2 ทำหน้าที่ดูแลงานของ พคจ. ทั้งที่อยู่ในฝรั่งเศส เยอรมนี และเบลเยียม

ในระยะนั้นโจวเอินไหลมีผู้ช่วยงานในการเขียนกระดาษไขใช้พิมพ์วารสารขององค์กรคนหนึ่งคือ เติ้งเสี่ยวผิง นอกจากนั้น โจวเอินไหลยังมีโอกาสรู้จักมักคุ้นกับจูเต๋อ และเป็นผู้แนะนำให้เขาเข้าเป็นสมาชิก พคจ. [13]
ทั้งสองท่านนี้ล้วนเป็นผู้นำสำคัญของ พคจ. ในเวลาต่อมา


เชิงอรรถ

[1] ฟางจวี้เฉิงและเจียงกุ้ยหนง : ชีวประวัติสังเขปของโจวเอินไหล สำนักพิมพ์เหรินหมินและสำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศ ปักกิ่ง 1986 หน้า 14-16
[2] เพิ่งอ้าง หน้า 18 
[3] หลี่เทียนหมิ่น : ชีวประวัติโจวเอินไหลฉบับวิพากษ์ สำนักพิมพ์อัลไต ฮ่องกง 1976 หน้า 16 
[4] ชีวประวัติของโจวเอินไหล หน้า 19 
[5] ชีวประวัติโจวเอินไหลฉบับวิพากษ์ หน้า 16 
[6] ชีวประวัติสังเขปของโจวเอินไหล หน้า 19-20 
[7] เพิ่งอ้าง หน้า 21  
[8] เพิ่งอ้าง หน้า 21 
[9] เพิ่งอ้าง หน้า 21-22
[10] ชีวประวัติโจวเอินไหลฉบับวิพากษ์ หน้า 18
[11] ชีวประวัติสังเขปของโจวเอินไหล หน้า 22
[12] ชีวประวัติสังเขปของโจวเอินไหล หน้า 22-23
[13] ชีวประวัติสังเขปของโจวเอินไหล หน้า 24



.