http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-29

นิธิ เอียวศรีวงศ์: รัฐไทยกับความรุนแรง (2)

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : รัฐไทยกับความรุนแรง (2)
ในมติชน ออนไลน์  วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 12:30:06 น.
(ที่มา คอลัมน์ กระแสทรรศน์ ของ นสพ.มติชนรายวัน 29 ตุลาคม 2555 )


กองทัพ - ทั้งหมดหรือบางส่วน - มีบทบาทในความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกครั้ง ดูเหมือนกองทัพเป็นเพียงเครื่องมือเซื่องๆ ของบางกลุ่มในชนชั้นนำ แล้วแต่จะถูกสั่งให้ใช้ความรุนแรงเมื่อไร และอย่างไร เท่านั้น   
แต่ในโลกนี้ไม่มีใครเป็นไขควงให้ใครได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมนุษย์มีความต้องการส่วนตนซึ่งอาจไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้เสมอไป ฉะนั้นการไม่ทำตามคำสั่ง หรือทำตามคำสั่งด้วยจุดมุ่งหมายที่ต่างกัน จึงเกิดขึ้นตลอดเวลา

กองทัพไม่เคยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจริงมาแต่แรก เส้นที่แบ่งพรรคแบ่งพวกในกองทัพอาจมาจากยศ เช่นในช่วง 2475 การยึดอำนาจเกิดจากกลุ่มนายทหารระดับนายพัน ในขณะที่ทหารยศสูงกว่านั้นไม่ได้ร่วมด้วย เส้นดังกล่าวอาจมาจากกองทัพเอง เช่นระหว่างกองทัพบกและกองทัพเรือ อาจมาจากแก๊งผลประโยชน์เช่นค้าฝิ่น, ค้าอาวุธ หรือธุรกิจมืดอื่นๆ หรืออาจมาจากสังกัด เช่น ทหารม้า, ทหารราบ, ทหารปืนใหญ่, เสธฯ ฯลฯ ในแต่ละช่วงเวลา เส้นดังกล่าวจะมาจากอะไร ก็ขึ้นกับเงื่อนไขในการเกาะกลุ่มในช่วงนั้นๆ

กลุ่มต่างๆ ในกองทัพเหล่านี้ช่วงชิงอำนาจกัน โดยสนับสนุนให้คนในกลุ่มของตน (หรือตนมีเส้นสาย) ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ระดับล่างขึ้นไปจนถึงระดับผู้บัญชาการ อย่างน้อยก็เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพราชการของตนเอง (ยังไม่พูดถึงผลประโยชน์ติดไม้ติดมืออื่นๆ) แต่มีประเพณีปฏิบัติอย่างหนึ่งซึ่งทำให้กองทัพไม่กลายเป็นกองโจรที่จับอาวุธขึ้นต่อสู้กันเอง นั่นก็คือหากไม่ใช่การยึดอำนาจรัฐแล้ว การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในกองทัพมักไม่ทำโดยการรบ แต่ทำโดยการวิ่งเต้นและต่อรองในระบบ

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะหากถึงกับจับอาวุธขึ้นต่อสู้กันอย่างออกหน้า ความชอบธรรมของกองทัพในการแทรกแซงทางการเมืองก็จะอันตรธานไปด้วย
"ระบบ" ต้องอยู่ แต่ "ระบบ" ไม่ได้มีไว้เพื่อให้กองทัพทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือได้อย่างมีเอกภาพ หากมีไว้เพื่อเปิดให้กลุ่มต่างๆ ได้ต่อรองอำนาจกันโดยไม่ถึงกับจับอาวุธมาเข่นฆ่ากันเอง ฉะนั้นใน "ระบบ" นี้ ผู้แพ้จะไม่ถึงกับหมดตัว ยังเหลือที่ทางให้ได้ยืนอยู่ต่อไปอย่างมีเกียรติ นี่คือเหตุผลที่ทำให้กองทัพไทยมีนายพลล้นเกิน (เมื่อเทียบจำนวนนายพลกับขนาดของกองทัพ - อาจถือได้ว่าเป็นกองทัพที่มีนายพลมากสุดในโลก)
คำพูดซึ่งใช้กันในสมัยหลังบ่อยๆ ก็คือ เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แล้ว ทุกอย่างก็จบ นี่คือกติกาสำคัญที่รักษาระเบียบไว้ได้ท่ามกลางความแตกแยก


ระเบียบหรือ "ระบบ" ที่แม้มีการแย่งชิงอำนาจกันอยู่ แต่ก็เปิดให้ทำได้โดยสงบพอสมควรนี้ ทำให้การแทรกแซงกองทัพทำได้ยาก ใครจะขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองทัพนั้น หลังจากสั่งสมกำลัง, เล่นเส้นเล่นสาย, และเจรจาต่อรองกันมาระดับหนึ่งแล้ว ก็รู้กันทั่วหน้าว่า "ไผเป็นไผ" ฉะนั้นการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพอย่างเป็นทางการ จึงไม่ทำความแปลกใจให้คนในกองทัพ

ในทางตรงกันข้าม หากการสืบทอดตำแหน่งผู้บัญชาการตกอยู่ในกลุ่มเดียวกันนานๆ ก็ทำให้ "ระบบ" ที่เปิดให้มีการต่อสู้ช่วงชิงกันไม่อาจดำรงอยู่ได้ และนั่นย่อมเป็นอันตรายต่อกองทัพเอง ขอให้สังเกตว่าสองครั้งของการใช้ความรุนแรงโดยอาศัยทหารเป็นเครื่องมือคือ 14 ต.ค. และพฤษภามหาโหด กองทัพไม่ได้ร่วมดำเนินการทั้งกองทัพ เพราะกำลังหวาดระแวงว่าจะมีการผูกขาดตำแหน่งผู้บัญชาการไว้ในตระกูลเดียวบ้าง ในรุ่นเดียวบ้าง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการยึดอำนาจรัฐ (โดยใครก็ตามที) กติกาจะเปลี่ยน นี่เป็นช่วงที่ทหารรบกันเองได้ และในประวัติศาสตร์ก็ได้เคยรบกันเองมาหลายครั้ง ทั้งในการรัฐประหารที่ล้มเหลว และการรัฐประหารที่สำเร็จ

ผมได้ทราบจากนายพลคนหนึ่งว่า เมื่อเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย. บางส่วนของกองทัพคิดจะยกกำลังไปปราบ "กบฏ" (ก่อนที่คณะรัฐประหารจะได้เข้าเฝ้าฯ) แต่เมื่อเช็กกำลังกันหมดทุกสายแล้ว ในที่สุดก็ตัดสินใจแต่งชุดนายพลไปร่วมกับ คปค.
การอยู่ฝ่ายชนะในการรัฐประหาร เช่นเข้าร่วมด้วย หรือระดมกำลังของตนเข้าต่อต้านก็ดี หากทำได้สำเร็จก็จะพุ่งพรวดขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพหรือตำแหน่งสูงๆ ได้ในเร็ววัน

การล้อมปราบประชาชนอย่างป่าเถื่อนในเดือนเมษา-พฤษภา 2553 เป็นโอกาสอย่างที่กล่าวนี้ นั่นคือการชุมนุมใหญ่ของฝ่าย นปช. ถูกมองว่าเป็นการยึดอำนาจรัฐ กติกาเปิดให้ใช้ความรุนแรงได้เต็มที่ (อย่างที่เคยใช้กับ พคท.มาแล้ว) ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ หากการปราบปรามกระทำโดยส่วนอื่นของกองทัพที่ไม่อยู่ในเส้นสายของตน ก็จะทำให้เพลี่ยงพล้ำในเกมส์แห่งอำนาจในกองทัพในภายหลังได้ ใครที่เข้ากระทำการย่อมเลือกใช้ความรุนแรง เพื่อให้ยุติลงโดยเร็วและภายใต้ปฏิบัติการที่เป็นของกลุ่มตน


ผมพูดถึงกองทัพมาทั้งหมด เพื่อชี้ว่า ไม่เฉพาะแต่ความแตกร้าวกันเองในกลุ่มชนชั้นนำต่างกลุ่มเท่านั้น แม้ในกลุ่มเดียวกันเองก็มีความแตกร้าวภายในอยู่ด้วย และมีอย่างลึกซึ้งทีเดียว 
ผมจำได้ว่า เคยได้รับจดหมายจากนายธนาคารชื่อดังคนหนึ่ง ชี้แจงว่าการที่นายแบงก์กลุ่มหนึ่งหิ้วกระเช้าดอกไม้ไปสนับสนุนคณะรัฐประหาร รสช.นั้น เขาไม่ได้ร่วมอยู่ด้วย ทั้งประกาศว่า เขาไม่เคยหิ้วกระเช้าไปหาคณะรัฐประหารกลุ่มใดทั้งสิ้นตลอดชีวิต ผมได้ยินสำเนียงดูหมิ่นถิ่นแคลนคนที่หิ้วกระเช้าไปถวายคณะรัฐประหารในคำชี้แจงประโยคนั้นด้วย 
ดูจากภายนอก ตระกูลนายแบงก์เหล่านี้ร่วมหุ้นกันในธุรกิจหลายประเภท ซ้ำยังแต่งงานบุตรหลานกันเองหลายคู่ แต่ลึกลงไปในใจของแต่ละคน ก็ใช่ว่าจะสมัครสมานยอมถืออัตลักษณ์ร่วมกันนัก

การที่คนในกลุ่มเดียวกันไม่ชอบขี้หน้ากันนั้นเป็นเรื่องปรกติธรรมดานะครับ ปัญหามาอยู่ที่ว่าการดำเนินการที่เป็น "สาธารณะ" ของกลุ่มนั้น พร้อมใจกันได้แค่ไหน เช่น สมาคมธนาคารไทยอาจลงมติเอกฉันท์คัดค้านการขึ้นดอกเบี้ยได้ แต่ลงมติเพื่อประโยชน์สาธารณะได้หรือไม่ (ที่ผ่านมาเรื่องเช่นนี้เป็นคำสั่งของธนาคารกลางทั้งสิ้น) หรือลงมติเอกฉันท์ในด้านกิจกรรมทางการเมืองได้หรือไม่ อย่างไร


ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องปรกติธรรมดา แต่ชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ มีกติกาที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ให้บานปลายไปสู่การใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือหรือไม่
ในบรรดาพรรคการเมือง ก็ไม่มีกติกาดังกล่าว ประชาธิปัตย์สนับสนุนการยึดทำเนียบรัฐบาล และบางส่วนของสมาชิกไปร่วมยึดสนามบิน เช่นเดียวกับบางส่วนของสมาชิกพรรคเพื่อไทยไปร่วมการประท้วงของ นปช. ผมคิดว่ากรณีของ ปชป.นั้นน่าสนใจ กลุ่มที่ได้เข้ามาบริหารพรรค ช่วงชิงการนำมาจากกลุ่มอื่น เลขาธิการพรรคต้องพิสูจน์ฝีมือว่าสามารถนำพรรคไปจัดตั้งรัฐบาลได้ หัวหน้าพรรคเหลือกลุ่มให้เลือกได้ไม่มาก จึงแวดล้อมตัวเองด้วยฝ่ายบู๊ซึ่งเป็นพรรคพวกที่เหลืออยู่ทั้งหมด การชุมนุมประท้วงของ นปช.ไม่ได้คุกคามรัฐบาลอย่างเดียว แต่คุกคามการนำของกลุ่มในพรรค ปชป.ด้วย ทางเลือกในการจัดการจึงจำกัดลง ในท่ามกลางธรรมชาติของความแตกแยกในกลุ่มชนชั้นนำ และภายในกลุ่มดังกล่าวนี้ การล้อมปราบเป็นทางเลือกเดียว
ดังนั้น ความรุนแรงจึงแฝงฝังอยู่ในน้ำในเนื้อของรัฐไทย แยกออกจากกันไม่ได้ และไม่เว้นกลุ่มใดในบรรดาชนชั้นนำทุกกลุ่มที่ต้องเลือกทางเลือกแห่งความรุนแรง


ผมขอย้ำว่า เชื้อแห่งการใช้ความรุนแรงนั้นอยู่ที่ชนชั้นนำนะครับ ไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แม้แต่ยอมรับรายงานของ คอป.ว่าการชุมนุมของ "เสื้อแดง" มีการใช้ความรุนแรงเจือปนอยู่ ก็ต้องยอมรับด้วยว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นกระทำโดยกลุ่มคนที่มีเส้นสายโยงไยไปถึงกลุ่มชนชั้นนำนั่นเอง ไม่ใช่นาย ก. นาง ข.ที่พากันมาจากอีสานซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของ "เสื้อแดง" และถ้าวิเคราะห์ลงไปให้ดี ก็จะพบว่ากลุ่มที่ใช้ความรุนแรงนั้นไม่มีทางเลือกอื่นเหมือนกัน (ทั้งเพื่อต่อสู้กับศัตรูร่วมกัน และเพื่อช่วงชิงการนำในกลุ่ม)

ทางออกจากความรุนแรงโดยรัฐจึงมีหลักอยู่ที่ว่า จะต้องจัดความสัมพันธ์ในระหว่างกลุ่มชนชั้นนำเสียใหม่ ให้เกิดช่องทางอื่นที่จะใช้เพื่อแสวงหาหรือรักษาผลประโยชน์ของตนได้ อันไม่ใช่ความรุนแรง
เกินสติปัญญาของผมที่จะนึกออกว่า ในเชิงรูปธรรมนั้น ควรทำอย่างไรบ้าง แต่ต้องเตือนว่า จะทำอย่างไรก็ตาม ต้องไม่กระทบต่อเส้นทางพัฒนาประชาธิปไตยในบ้านเมือง
ประชาธิปไตยนั้นดีหรือไม่ดีในตัวมันเอง เหมาะหรือไม่เหมาะกับสังคมไทย คงเถียงกันได้ แต่ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมที่เราเผชิญอยู่ หากไม่ยึดประชาธิปไตยเอาไว้ การใช้ความรุนแรงจะไม่จำกัดอยู่แต่เพียงในหมู่ชนชั้นนำ หากจะทำให้ไม่มีทางเลือกสำหรับคนระดับล่างนอกจากใช้ความรุนแรง

ถึงตอนนั้นจะเละยิ่งกว่านี้



.