http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-06

36 ปี รัฐประหารโหด 6 ตุลา 2519 บทเรียน ความรุนแรงที่สื่อฯ มีส่วนร่วม โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

36 ปี รัฐประหารโหด 6 ตุลา 2519 บทเรียน ความรุนแรงที่สื่อฯ มีส่วนร่วม
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 05 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1677 หน้า 20


กับดักกระบวนยุติธรรม...
อาจทำให้การต่อสู้ย้อนรอยเดิม


การรัฐประหาร 2549 ถ้าเทียบกับการรัฐประหาร 2519 ยังมีความแตกต่างกันพอสมควร 
กลุ่มอำนาจเก่าซึ่งอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 2549 ได้วางแผนไว้อย่างซับซ้อน ทำให้การต่อสู้ ไม่ง่ายเหมือนเก่า
ฝ่ายประชาธิปไตย จะต้องแก้ปมที่ผูกไว้กับรัฐธรรมนูญ 2550 อำนาจตุลาการและองค์กรอิสระเป็นเปลาะๆ

วันนี้ ป.ป.ช. อาจขุดคดี 10 ปีที่แล้วมาลงมติ, ศาลก้าวเข้ามายับยั้งการลงมติแก้รัฐธรรมนูญ วาระ 3 และมีนักวิชาการไปยื่นให้ยับยั้งการดำเนินนโยบาย จำนำข้าวของรัฐบาล เพราะขัดกับนโยบายค้าเสรี พ่อค้าข้าวไม่มีทางซื้อข้าวไปขายแข่งกับรัฐบาลได้
ถ้าศาลเข้ามายุ่งเรื่องบริหารแบบนี้ ต่อไปคงได้เห็นการตัดสินให้กำหนด ราคาหอมกระเทียม ลำไยโดยศาล และเราอาจจะมี ศาลพานิชย์ ศาลพลังงาน ฯลฯ นี่คือการเมืองที่เปลี่ยนไป
แต่ต้องเข้าใจว่านี่คือเกมสันติ ที่ชนชั้นผู้มีอำนาจจำเป็นต้องเล่นเพราะผลประโยชน์ถูกกระทบมากขึ้น เกมเลือกตั้งก็แพ้ เกมรัฐประหารด้วยกำลังก็ถูกต่อต้าน และถ้าดันทุรังทำอีก แพ้ก็ถึงตาย เหลือเกมใช้กฎหมายทางเดียว  
แต่จะยื้อเวลาไปได้นานเท่าใด และแต่ละฝ่ายจะใจเย็นพอหรือไม่

ถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใจร้อน การต่อสู้ทางการเมือง ก็จะพัฒนาไปสู่ความรุนแรง เหมือนเมื่อครั้ง 6 ตุลาคม 2519 
วันนี้มีอาการคล้ายอย่างนั้นปรากฏขึ้นอีกแล้ว ที่หน้ากองปราบฯ โดยเทคโนโลยีการสื่อสารที่คนธรรมดาก็สามารถกระจายข่าวจริงข่าวเท็จ และตัดต่อภาพ ซึ่งอาจจะยุยงให้เกิดความขัดแย้งและปะทะกัน อย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้ว เมื่อ 6 ตุลาคม 2519

จึงต้องศึกษาบทเรียนและแก้ไข



บทเรียนการใช้สื่อฯ ยุให้ฆ่าคน

ทีมวิเคราะห์มีหนังสือหลายเล่มหนารวมกันเกินกว่า 4,000 หน้า และบันทึกคำให้การของผู้อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ช่วงนาทีสังหาร 20 หน้า ในเนื้อที่จำกัดจึงขอตัดต่อเรียบเรียงและวิเคราะห์...ดังนี้

การรัฐประหารโหด 6 ตุลาคม 2519 มีสาเหตุมาจากความหวาดกลัวการเปลี่ยนแปลงในกระแสสูงของลัทธิสังคมนิยม พวกนิยมขวาจัดกลุ่มหนึ่งจึงรวมหัวกันด้วยแรงสนับสนุนของอเมริกา ซึ่งอยากคงอิทธิพลเอาไว้ในภูมิภาคนี้ แต่โดนรัฐบาลไทยยกเลิกสัมปทานแร่ดีบุก 50,000 ไร่ มูลค่า หลายแสนล้าน ฐานทัพทุกแห่งก็ถูกขับออกนอกประเทศไทย มีคนเสียผลประโยชน์มากมาย และไทยก็เริ่มหันไปคบกับ จีน และเวียดนาม
แผนรัฐประหารไม่มีความซับซ้อนใดๆ คือสร้างสถานการณ์ดึงให้นักศึกษาที่เป็นฝ่ายก้าวหน้าและฝ่ายซ้ายมารวมตัวกันในธรรมศาสตร์หาเรื่องว่า มีการปะทะกับฝ่ายขวา บ้านเมืองวุ่นวาย แล้วกวาดล้างในครั้งเดียว 
ก่อนหน้า 6 ตุลาคม คือกลางเดือนสิงหาคม ในขณะที่นักศึกษาต่อต้านการเดินทางกลับของจอมพลประภาส ก็มีการเตรียมการรัฐประหารแต่กระแสการต่อต้านของประชาชนสูงมาก จอมพลประภาสจึงขอเดินทางออกนอกประเทศไปก่อน 
การเตรียมการรัฐประหารครั้งนั้นจึงต้องเปลี่ยนเป็นแผนสอง...

19 กันยายน 2519 ท่าอากาศยานดอนเมือง "เณรถนอม" ซึ่งบวชเณรจากสิงคโปร์ก่อนเดินทางเข้ามาในประเทศ แต่มีคนบอกนักข่าวล่วงหน้า เณรถนอมหยุดยืนให้ถ่ายภาพชั่วครู่ แล้วก็ขึ้นรถไปวัดบวรนิเวศเข้าพิธีอุปสมบททันที 
ในขณะที่พิธีบวชยังดำเนินอยู่นั้น ขบวนการของฝ่ายขวาก็ทำงาน เริ่มด้วยสถานีวิทยุยานเกราะก็ได้ถ่ายทอดคำปราศรัยของจอมพลถนอม
ส่วนขบวนการประชาธิปไตยก็ออกโรงต่อต้านทันที เข้าตามแผน แม้จะเคลื่อนไหวอย่างระมัดระวังแต่ก็มีเรื่องจนได้
คืนวันที่ 23 กันยายน มีผู้พบศพพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขตนครปฐมสองคนถูกแขวนคอกับประตูรั้วอู่ซ่อมรถแห่งหนึ่ง สภาพศพถูกซ้อมทุบตีอย่างทารุณ ข้อมือมีรอยคล้ายถูกสวมกุญแจมือ ก่อนจะนำไปแขวนคอ พวกเขาถูกฆ่าขณะออกติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม

1 ตุลาคม กลุ่มกระทิงแดงแถลงว่า จะทำการอารักขา ป้องกันวัดบวรฯ มิใช่อารักขาพระถนอม ถ้าศูนย์นิสิตจะชุมนุม ขอให้อยู่ที่สนามหลวง และธรรมศาสตร์ (มีการปล่อยข่าวว่าจะมีการเผาวัดบวรฯ คาดว่าช่วงนั้นแผนเดิมของกลุ่มรัฐประหาร คงจะก่อเรื่องแถววัด แต่คนคำนวณไม่สู้ฟ้าลิขิต...) 
4 ตุลาคม นักศึกษาประท้วงไม่เข้าสอบ 11.30 น. การชุมนุมเริ่มที่ลานโพธิ์ มีผู้เข้าร่วมนับพัน มีการแสดงละครล้อเลียนพระถนอม และการแสดงเรื่องการแขวนคอฝ่ายต่อต้าน ประมาณบ่ายสามจึงย้ายออกมาที่สนามหลวง 
ส่วน ม.รามคำแหงยังไม่ได้หยุดการเรียนหรือหยุดสอบ เพราะการเปิดเรียนทำให้สามารถระดมกำลังไปร่วมชุมนุมได้ครั้งละหลายพันคน อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นจุดสำรองตามแผนการชุมนุมหลายจุด

แนวร่วมต่อต้านกำหนดให้มีการชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวง และจะชุมนุมยืดเยื้อในธรรมศาสตร์ 
แกนงาน ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับการชุมนุมยืดเยื้อครั้งนี้ ตรงข้ามกับส่วนที่ทำงาน รปภ. รู้สึกไม่ปลอดภัยและกลัวจะเกิดเหตุร้ายขึ้น (จะเห็นว่าใช้เวลาถึงครึ่งเดือนจึงเริ่มชุมนุม) 
บ่ายวันที่ 5 ตุลาคม มีภาพในหนังสือพิมพ์สองฉบับ เป็นนักศึกษาผู้หนึ่งที่แสดงละครเป็นผู้ถูกแขวนคอ มีใบหน้าคล้ายคลึงกับพระราชวงศ์ชั้นสูง (ทาง น.ส.พ.แก้ข่าวว่าไม่ได้แต่งภาพตามที่มีคนกล่าวหา) ข่าวนี้ถูกนำไปออกอากาศทางเครือข่ายชมรมวิทยุเสรี มีสถานียานเกราะเป็นหัวหอก เพื่อปลุกระดมฝ่ายขวาให้มาต่อต้านการชุมนุมของนักศึกษา.
ชมรมวิทยุเสรีออกแถลงการณ์ ตอนหนึ่งว่า 
"เนื่องจากขณะนี้ได้มีบุคคลกลุ่มหนึ่ง ได้กระทำการก่อความไม่สงบขึ้นในประเทศ กระทำการเหยียบย่ำหัวใจคนไทยทั้งชาติ ได้ดำเนินการไปในทางที่จะทำลายชาติ ศาสนา ...
ได้มีนักศึกษาผู้หนึ่งแสดงละครเป็นผู้ถูกแขวนคอ โดยผู้ชุมนุมก่อความไม่สงบได้ใช้ตัวละครที่มีใบหน้าคล้ายคลึงกับพระราชวงศ์ชั้นสูง เป็นการเหยียบย่ำหัวใจของคนไทยทั้งชาติ จึงขอให้รัฐบาลเร่งจับกุมบุคคลเหล่านี้โดยด่วน และขอประกาศเตือนให้ผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รีบออกมาจากการชุมนุม เพื่อให้รัฐบาลจัดการกับผู้ทรยศต่อไป"

นายกฯ หม่อมเสนีย์แถลงว่า ตามที่ได้มีการแสดงละครในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 4 และมีลักษณะไปในทางหมิ่นต่อราชวงศ์ชั้นสูง ดังที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 เรื่องนี้ได้เรียกประชุมตำรวจชั้นผู้ใหญ่ให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ 
กลุ่มนวพลยื่นคำขาดให้รัฐบาลดำเนินการจับกุมกรรมการ ศูนย์นิสิตฯ ภายใน 72 ชั่วโมง 
มีการนัดหมายให้ลูกเสือชาวบ้านมาชุมนุมที่พระบรมรูปทรงม้า 9 โมงเช้า ผ่านทางสถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรี แต่เพียงแค่สามทุ่มกว่า กลุ่มจัดตั้งของฝ่ายขวาก็ปรากฏตัวขึ้นที่สนามหลวง แม้จะไม่มากนักแต่ก็ทยอยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสการปลุกระดมของสถานีวิทยุในสังกัด


บันทึกคำให้การ 
ของผู้ถูกไล่ฆ่าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 
ที่ไม่มีโอกาสไปอ่านในศาล


เช้ามืดประมาณ ตี 5 วันที่ 6 ตุลาคม หน้าหอประชุมใหญ่ 
การชุมนุมต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอมผ่านมาสองวันสองคืน และเหตุการณ์ก็ลุกลามจนถึงขั้นที่พวกขวาจัดยกกำลังมาปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่เย็นวันที่ 5 ตุลาคมแล้ว นับจนถึงเวลานี้ หน่วย รปภ. ของนักศึกษาตรึงกำลังอยู่ได้โดยที่ฝ่ายตรงข้ามยังไม่กล้าบุกเข้ามาเป็นเวลา 12 ชั่วโมงพอดี 
กลุ่มจัดตั้งของพวกขวาจัด ข้ามถนนจากฝั่งสนามหลวงมาออกันที่รั้วหน้าธรรมศาสตร์ หลายคนเขย่าประตูส่งเสียงเอะอะโวยวาย ไม่มีใครกล้าปีนเข้ามา เพราะหน่วย รปภ. ส่วนหน้าของนักศึกษายังสกัดไว้ได้ 
มีข่าวว่ากรรมการที่อยู่บน อมธ. ตัดสินใจว่าจะรีบถอยช่วงเวลาเช้า เพื่อทำลายโอกาสของฝ่ายตรงข้าม นักศึกษาเคยเจอแผนแบบนี้ เมื่อปีก่อน ทั้งพังบ้าน นายกฯ คึกฤทธิ์ และเผา ม.ธรรมศาสตร์แต่เราใช้การถอย ไม่มีใครตอบโต้ให้เกิดความรุนแรง แผนรัฐประหารครั้งนั้นจึงล้มไป

แต่ครั้งนี้ฝ่ายตรงข้ามรู้ทัน ชิงโจมตีก่อน ตั้งแต่เช้ามืด 
ในท่ามกลางเสียงจากเวที อยู่ดีๆ ก็มีเสียง "ตูม...!...!" 
เสียงคนหวีดร้องตามมา... เป็นเสียงระเบิดของเอ็ม.79 ตกลงกลางที่ชุมนุมในสนามฟุตบอล ซึ่งน่าจะยิงวิถีโค้งจากสนามหลวงเข้ามา และยังมีลูกหนึ่งยิงตกแล้วยังไม่ระเบิดคนบาดเจ็บถูกนำส่งโรงพยาบาล ต้องมีคนสั่งสกัดไม่ให้พวกเราหนี และรอพวกขวาจัดมาสมทบ จะให้มีเรื่องให้ได้
ถ้าพวกเราตัดสินใจพาคนหนีไปตอนนี้ มันยิงแน่ มืดแบบนี้อันตรายมาก ต้องรอให้สว่างก่อนถ้าจำเป็นยอมให้ตำรวจจับทั้งสามพันคนดีกว่า ตำรวจจับคนสามพันขังได้ไม่นาน ก็ต้องปล่อยเพราะเป็นคดีการเมืองอยู่แล้ว แต่ถ้าถูกยิงตาย เราเอาชีวิตคืนมาไม่ได้แม้แต่คนเดียว

เรากลัว เรารู้ แต่เราไม่มีทางเลือก พยายามป้องกันเท่าที่ทำได้


นาทีสังหารหมู่ ที่ไม่มีผู้สื่อข่าวรับรู้

รปภ. ส่วนหน้า หลีกเลี่ยงการปะทะเต็มที่เพราะรู้ว่าถ้ามีเรื่องแล้วจะเสียเปรียบ ทั้งกฎหมายและการทหาร แนวตั้งรับจึงถอยร่นมาอยู่บนถนนหน้าหอใหญ่ค่อนมาทางตึกนิติ แต่พอที่จะสังเกตการณ์แนวประตูรั้วหน้าหอใหญ่ได้บ้าง ตอนนี้กำลังคนถูกแบ่งเป็นสองแถว แถวแรกอยู่กลางถนน ใช้โต๊ะไม้เป็นบังเกอร์ แถวสองอยู่ที่ขอบสนามฟุตบอล ห่างจากแถวแรกเจ็ดแปดเมตร ถ้าจำเป็นต้องถอยก็จะถอยไปตามแนวถนนหน้าตึกนิติ หรือข้างหอประชุมใหญ่ 
7 โมงเช้า ขณะนี้สว่างแล้ว สามารถมองเห็นตัวกันชัด เสียงปราศรัยบนเวที ยังดำเนินต่อไป มีคนเคลื่อนไหวอยู่บนชั้นสองของพิพิธภัณฑ์ พอสังเกตได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่แต่งชุดสีน้ำเงิน บางคนนั่งสูบบุหรี่อยู่บนขั้นบันได ตำรวจหน่วยไหนก็ไม่รู้ แต่งตัวแปลกๆ แต่ก็ยังดีกว่ากระทิงแดง เพราะตำรวจกับเราไม่เคยยิงกัน 
หน่วยการ์ดใช้โต๊ะเป็นที่กำบัง ทุกคนยังเพ่งความสนใจไปที่กลุ่มคนที่ประตูหน้า ที่ส่งเสียงเอะอะโวยวาย พยายามจะบุกเข้ามา 
แต่เวลาก็ผ่านไปอีก 10 นาทีก็มีเสียงเหมือนปะทัดดังเป็นชุดอยู่ไกลๆ แล้วใบไม้เหนือหัวก็ขาดร่วงลงมา "มันยิงเราแล้ว หมอบลง" มีเสียงคนตะโกนเตือน

รปภ.แถวแรกซึ่งอยู่บนถนนทั้งหมอบ ทั้งล้มลง มีเพียงคนเดียวที่ยืนอยู่ห่างออกไปพุ่งหายเข้าไปในซอกตึกนิติ ใบไม้เหนือหัวของแถวสองร่วงกราวลงมาอีก ทุกคนหมอบติดพื้น ตอนนี้เสียงปืนชุดที่สองดังขึ้นชัดเจน 
ปังๆๆๆๆๆๆๆๆๆ...!!!!!... เห็นประกายไฟแลบออกมาจากช่องลมพิพิธภัณฑ์ ใบไม้ขาดกระจุย เป็นเจ้าหน้าที่ชุดสีน้ำเงิน ที่น่ากลัวกว่ากระทิงแดง มันยิงกราดเข้ามาอีกหลายชุด ที่กำบังมีรูทะลุส่วนหนึ่ง เสียงปืนยังดังรัวอย่างต่อเนื่อง ดังเกรียวกราว เฟี้ยวๆๆๆๆๆๆๆ เมื่อหัวกระสุน .223 วิ่งเป็นสายลงมากระทบแผ่นซีเมนต์, เคาน์เตอร์ไม้อัด, ต้นไม้, รากไม้ เสียงกระสุนแตกกระจาย เพียะๆๆๆๆๆๆๆ ดังบีบประสาทชุดแล้วชุดเล่า เป็นร้อยๆ นัด 
ในที่สุดการยิงต่อเนื่องยาวนานก็หยุดลงชั่วขณะ แนวที่หนึ่งซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ถึงสิบเมตร แม้มีโต๊ะไม้บังไว้บ้างแต่ก็ไม่สามารถป้องกันอาวุธสงครามได้ บังเกอร์ที่เป็นไม้ถูกยิงฉีกขาด รปภ.ทั้งกลุ่มกองทับกันเป็นกระจุกอยู่กลางถนน เลือดท่วม มองไม่ออกว่าหัวใคร แขน ขาใคร
อีกสองสามคนนอนฟุบอยู่ในกองเลือดตรงกอไม้ข้างเทอเรซหอประชุมใหญ่  
รปภ. ส่วนหน้า ถูกยิงทำลายทั้งหน่วยตามยุทธวิธีเพื่อเปิดทาง

ตอนนี้ยังไม่มีใครกล้าบุก ทุกอย่างเงียบเมื่อเสียงปืนสงบลง ได้ยินแต่เสียงจากลำโพงยังดังไม่หยุด เป็นเสียงของ "ธงชัย วินิจจะกูล" รองนายก อมธ. ร้องขอให้เจ้าหน้าที่หยุดยิง ไม่รู้ว่าหมอบพูดอยู่ตรงไหน กลางสนามและเวทีไม่มีใครแล้ว มองข้ามสนามไปตึกบัญชี ดูแล้วช่างห่างไกลเหมือนอีกขอบของทะเล แต่น่าจะเป็นจุดปลอดภัยในขณะนี้  
ในความเงียบที่มีแรงกดดันอย่างน่ากลัว ร่างของ รปภ. ประมาณ 7-8 คน ยังนอนกองแน่นิ่งในกองเลือด แต่ก็มี รปภ. สองคนมุดออกมาจากร่างของเพื่อนที่นอนทับกันอยู่ พยายามวิ่งเข้าไปด้านข้างหอใหญ่ 
ทั้งคู่เคลื่อนไหวได้ไม่เร็วนัก เพราะได้รับบาดเจ็บมีเลือดท่วมตัว เสียงปืนดังขึ้นอีกครั้ง ทั้งสองล้มลงและคลานต่อแต่กระสุนนัดที่สองก็ดังขึ้นอีก เศษเลือดเนื้อและเสื้อผ้ากระจายออกจากร่างคนหลัง แต่ยังไม่ฟุบ และแล้วเสียงปืนนัดที่ปลิดชีพก็ดังขึ้น คราวนี้กระสุนเจาะเข้าท้ายทอย เขาฟุบลงสิ้นใจในท่าพลิกตะแคง (ตอนนั้นได้แต่สงสัยว่าหน่วยไหนเป็นมือสังหารทำไมยิงแม่นนัก) 
คนแรกคลานเข้าไปข้างหอใหญ่ได้พอดี นั่งพิงกำแพงมีเลือดท่วมตัว แต่ก็อยู่ในจุดที่มีกำบัง ในที่สุดก็มีหน่วยกล้าตายสองคนเลาะข้างหอใหญ่เข้ามาประคองพาออกไป 
เสียง...โครม! ดังสนั่น รถคงพังประตูแล้ว ที่เห็นคือรถเมล์สีเหลืองขนาดใหญ่ พุ่งข้ามเนินเข้ามา ...มันบุกเข้ามาแล้ว

ทั้งหมดไม่มีนักข่าวได้รู้เห็น เพราะยังอยู่ด้านนอก จากนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่อยากเล่าซ้ำ เพราะมีนักข่าวตามเข้ามาเป็นภาพที่ ทารุณ โหดร้าย ทุกคนเห็นจากข่าวจากวิดีโอ ซีดี ใครไม่เคยเห็น ไม่รู้เรื่อง พิมพ์คำว่า 6 ตุลาคมลงไป คลิกเดียว ตาสว่าง!! 

การรัฐประหารไม่ใช่เรื่องสนุก ไม่มีใครฆ่าคนเล่นๆ ให้ถูกประณาม ฐานทัพก็ถูกถอน สงครามอินโดจีนก็เลิกมาป็นปีแล้ว แต่มีคนได้ประโยชน์มหาศาลบนศพของเด็กๆ ไปอย่างมากมาย

( ติดตาม เบื้องหลังผลประโยชน์ ...คำให้การของ เจ้าหน้าที่ และวิธีกลบฝังความจริง ฉบับหน้า )



.