http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-17

หม่าเหล..หม่าเหล.. โดย ศิลา โคมฉาย

.
บทความของปี 2554 - ครูศพที่144 โดย ศิลา โคมฉาย

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

หม่าเหล...หม่าเหล...
โดย ศิลา โคมฉาย คอลัมน์ แตกกอ-ต่อยอด
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1678 หน้า 67


ลูกหลาน (ซึ่งนายเจ้าของกิจการจัดเข้าร่วมทีมเจรจาธุรกิจกับชาวมาเลเซีย) กลับมาเล่าบางเกร็ดในที่ประชุมด้วยสำเนียงแข็งๆ 
เธอว่า คู่เจรจาจากต่างแดน เริ่มด้วยท่าทีเรียบๆ ซ่อนความเย็นชาอยู่ลึกๆ ออกปากขอโทษแต่เหมือนจะไม่มีความหมายอะไรตามนั้น ขณะเกริ่นนำว่า ย้อนหลังไปเมื่อไม่กี่ปี ประเทศของเขามีสภาพรวมๆ อ่อนด้อย ตามหลังประเทศไทยอยู่หลายช่วงตัว 
แต่วันนี้พวกเขาพัฒนาล้ำหน้าเราไปแล้วหลายเท่า

ผมยิ้มรับ พยายามดับฟืนไฟที่ก่อตัวกรุ่นในอกคนเล่าเรื่อง ให้ยอมรับความจริงกับข้อมูลตัวเลขบางด้าน ทั้งยอมรับว่า เรามีภาพลักษณ์แต่เดิมมาไม่ค่อยดีนักในสายตาเพื่อนบ้านรายรอบ 
และบางทีเขาอาจแค่ วาดสถานะของตัวให้ดูน่าคร้ามในการเจรจา

ผ่านเลยไปสอง-สามวัน ผมได้เห็นรายงานในโทรทัศน์ จัดอันดับชาวเอเชีย ที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวในบ้านเรา เรียงตามลำดับเป็น จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี
จำนวนคนจีน และมาเลเซีย ชาติละเกินกว่าล้านหกแสน
ขณะเกาหลีซึ่งคนไทยเคลิ้มหลงในวัฒนธรรมบันเทิง ชื่นชมกับเทคโนโลยีระดับสูง แห่แหนไปแดนกิมจิ ตามรอยซีรี่ส์ดัง ทั้งชิมทั้งช็อปเทกระเป๋า ทั้งทุ่มทำศัลยกรรม เอิกเกริกจนขึ้นชื่อลือเลื่อง จำนวนคนมาเที่ยวไทยแค่อันดับที่ห้า

สืบค้นไปพบการแถลงข่าวตัวเลขนักท่องเที่ยว ประจำปี 2554 ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยปีกลาย รวมทั้งปีมีถึง 19,098,323 คน 
สิบอันดับแรกคือ มาเลเซีย จีน รัสเซีย ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ อินเดีย และสหรัฐอเมริกา 
เหลือบดูอันดับหนึ่ง เห็นชื่อเสียงเรียงนามแล้ว บางอารมณ์ในส่วนลึก กระตุ้นให้เผลอครวญเพลงแนวๆ ของดาราดัง เพ้อทวนความสัมพันธ์กับสาวเจ้าชาวมาเลย์
หม่าเหล..หม่าเหล...


โดยส่วนตัวผมมีความคิดเห็นว่า มาตรฐานของประเทศหนึ่ง เบื้องต้นน่าจะสะท้อนออกผ่าน คุณภาพระบบ ส่วนงาน องค์กร สถาบันต่างๆ ที่เห็นได้ง่ายคือการกีฬา ในมุมนี้มาเลเซียโดยรวมพัฒนาล้ำหน้า ชี้วัดจากการครองเหรียญทองฟุตบอลซีเกมส์ อย่างต่อเนื่อง 
แต่ขณะครวญเพลงแนวๆ ผมพลันได้เห็นว่า การเดินทางท่องเที่ยวของชาวมาเลย์ ยิ่งตอกย้ำยืนยัน 
คนที่มีอารมณ์ไปเที่ยว การดำรงชีวิตต้องมั่นคง ไม่รู้สึกว่า กำลังอยู่ในสภาวะเสี่ยง วิตกกังวล 
ที่สำคัญในกระเป๋ามีเงินมากพอควักจ่าย ให้รางวัลตัวเอง



บทเพลงชวนให้ฉุกคิด ไปถึงเหตุการณ์เมื่อต้นเดือนก่อน มีกรณีค่อนข้างแปลก ธงชาติมาเลเซียถูกนำมาติดหลายจุดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ชวนให้ต้องมองมาเลเซียลึกลงไป 
เพราะโดยธรรมชาติแบบไทยๆ เราอาจรู้จักใครต่อใครไกลสุดโลก แต่จะไม่ค่อยมีความรู้อะไรจริงๆ กับคนบ้านใกล้รั้วรอบขอบชิด ธรรมชาติของบรรพบุรุษชนิดนี้ ทำให้ลูกหลานชุลมุนชุลเก เมื่อถึงเวลาต้องทำรายงานเรื่องประชาคมอาเซียนส่งครู 
ผมพยายามใคร่ครวญหาอานิสงส์จากการช่วยลูกทำงาน พอจะเห็นได้ว่า เราเป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญกับมาเลเซีย เป็นอันดับสอง ในประดาประเทศในภูมิภาค 
หลายปีหลังๆ เราเป็นฝ่ายเสียดุลการค้าให้มาเลเซียตลอดมา

ประเทศปลายสุดแหลมทอง มุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจ บนฐานของความรู้ ยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาตัวสินค้าชนิดนี้หลากหลาย รวมถึงให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ 
มุ่งเป็นศูนย์กลางด้านฮาลาลของโลก และการวางมาตรฐานสากลสำหรับการกำหนดตราฮาลาล MS : 2004 เชื่อมความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคประเทศที่เป็นมุสลิม 
จัดการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร สร้างความสะดวกสบายต่อการนำเข้าและส่งออก 
วิสัยทัศน์แห่งชาติ มีเป้าหมาย จะต้องสร้างให้เป็นประเทศที่มีความยืดหยุ่น คงทน และมีความสามารถในการแข่งขัน

มาเลเซียอยู่ภายใต้การขับเคลื่อนของรัฐบาลที่นำโดยพรรค UMNO ซึ่งมีนโยบายสำคัญ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยเฉพาะชาติตะวันตก พยายามเข้าไปมีบทบาทนำ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอาเซียน และกลุ่มมุสลิม เพื่อพลังการต่อรองในเวทีระหว่างประเทศ 
พัฒนาการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย โดยไม่ยึดติดกับรูปแบบของประเทศตะวันตก มีแนวดำเนินการของตัวเอง




เพียงข้ามพรมแดน กลางความขัดแย้งรุนแรง อำนาจรัฐถูกท้าทายอย่างหนัก จากการวางระเบิดทำลายชุมชน สังหารโหดผู้คนรายวัน ถึงการออกประกาศข่มขู่ให้ประชาชนหยุดทำงานในวันศุกร์ 
บางทีการเข้ามาปรากฏของธงชาติมาเลเซีย แม้จะคาดได้ว่า เป็นแค่การป่วน การเสี้ยมของผู้ไม่หวังดี แต่ยังอาจมองเห็นการส่งสัญญาณบางอย่าง 
บนพื้นที่ที่มีเพียงเส้นแดนกั้น แต่ไม่ได้ตัดการไปมาหาสู่แบบเครือญาติ เพื่อนมิตร หากมีความแตกต่างเหลื่อมล้ำในการดำเนินชีวิต ผู้คนย่อมเกิดภาพเปรียบเทียบอันยากจะยอมรับได้

การเอาชนะการก่อการร้าย ด้านหนึ่งคงต้องลบภาพดังกล่าวโดยเร็ว



+++
บทความของปี 2554

ครูศพที่ 144
โดย ศิลา โคมฉาย คอลัมน์ แตกกอ-ต่อยอด
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1619 หน้า 62


ในขบวนประท้วงให้ถอนฐานทัพสหรัฐออกจากประเทศไทย เมื่อวันที่ 20-21 มีนาคม 2519 รถบัญชาการปิดท้ายขบวน ถูกถล่มด้วยระเบิดสังหาร บริเวณหน้าศูนย์การค้าสยาม (ในสมัยนั้น) มีผู้เสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บ 85 คน 
ผมอาจโชคดีมาก ที่กระโดดลงเมื่อรถหยุด เลี่ยงออกไปหาน้ำดื่ม ขณะระเบิดแตกทำลายจึงอยู่ห่างออกไปจากจุดเกิดเหตุราว 20 เมตร
ถูกเพียงแรงอัดเล็กน้อย ยังสามารถช่วยคนเจ็บได้ 
คนที่โชคดีที่สุดอาจจะเป็นเพื่อนคนหนึ่งปักหลักอยู่บนรถ สะเก็ดระเบิดแทงทะลุกระเป๋าเสื้อตรงราวนมซ้าย ฝังอยู่ในสมุดพกปกแข็งเล่มเล็ก ที่เขามีไว้ติดตัวตลอด คมเศษเหล็กกรีดผ่านปึกกระดาษแค่ทิ่มเนื้อหนังพอเลือดซิบ 
ห่างจากขั้วหัวใจไม่กี่นิ้ว


เพื่อนคนดังกล่าว น่าจะแยกจากผมช่วงเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 และดูเหมือนจะไม่เคยพบเจอกันอีกเลย ข่าวคราวที่ผ่านมาถึง เขาซึ่งเป็นหนุ่มอุทัยธานี มิได้หลีกลี้ภัยการเมืองเข้าป่า ขึ้นเขาจับอาวุธทำสงครามเหมือนเพื่อนๆ 
แต่หลบพร้อมสาวคนรัก ไปตั้งหลักอยู่กับครอบครัวของเธอที่ปัตตานี 
แต่งงานและช่วยงานในโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์

ผ่านไปร่วม 30 ปี จู่ๆ ผมก็ได้พบกับเขา ขณะขึ้นมาจัดการธุระตระเตรียมอพยพครอบครัวมาลงหลักปักฐานใหม่ที่กาญจนบุรี เขายืนยันถึงความเลวร้ายของสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ในภาวะเครียดเกินกว่าจะเสี่ยง 
สำหรับเขา ความรุนแรงมิได้เพิ่มทวีถึงระดับต้องหวาด แต่ความสัมพันธ์ซึ่งผูกโยงไว้อย่างลึกซึ้งเหนียวแน่นยาวนานกับคนในพื้นที่แปรเปลี่ยนไป ยามนี้ผู้อาวุโสอิทธิพลคลายลง จนแทบไม่อาจดูแลคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบใหญ่ เลือกสายทางของตนเอง ไม่มีใครฟังใคร 
ท้องที่สับสนไปด้วยโจรสารพัดสีเสื้อ-สังกัด โจรจริง-ปลอม โจรภายใน-ภายนอก 
แต่ไม่มีใครกล้ายืนยันว่าเป็นโจรกระจอก...


คล้อยหลังเพื่อนที่กำลังเตรียมทิ้งถิ่นปัตตานีเพียงไม่กี่วัน ข่าวใหญ่ก็ยืนยันความเลวร้ายของสถานการณ์ ครูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกโจรก่อการร้ายไล่ล่าสังหาร เสียชีวิตเป็นรายที่ 144 
ฆ่าแบบอำมหิตโดยใช้มือสังหาร 2 ทีม 
ทีมแรกเข้าประกบยิงแล้วชิ่งหนี ทีมที่สองตามมาซ้ำเด็ดชีพ


ประธานสหพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แต่โอดครวญ... 
การใช้ชีวิตของครูในพื้นที่ เป็นไปด้วยความลำบากกายและใจ แทบจะไม่สามารถมั่นใจได้ว่าแนวปฏิบัติตนแบบไหนที่ปลอดภัยและไม่ปลอดภัย เนื่องจากไม่มีอะไรการันตีความเสี่ยงได้ สิ่งหนึ่งที่ครูทุกคนตระหนักดีคือไม่ประมาทกับเหตุการณ์รายวันที่เกิดขึ้น 
ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดเหตุรุนแรงขึ้นจนครูต้องเสียชีวิต อยากให้สังคมเข้าใจตรงกันว่าเป็นเรื่องสุดวิสัยที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ไม่ควรตำหนิฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง... 
น้ำเสียงของครูจึงรู้สึกได้ว่ากำลังอยู่ในภาวะต้องปลง



เมื่อประเทศชาติมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ศพครูคนที่ 144 แห่ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรจะได้ส่งสัญญาณถึง ไต่ถามและเรียกหาแนวทางปฏิบัติเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยในชีวิต 
ศพแรกของครูแตกดับ ในยุคของนายกรัฐมนตรีผู้ทรงอำนาจสูงสุด ซึ่งประกาศคำยืนยันชัดเจนว่า ท่านเป็นผู้โคลนนิ่งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันกับมือ ทั้งยอมรับและแสดงความเสียใจว่า เพราะเป็นอดีตตำรวจ ท่านจึงใช้ชีวิตของตำรวจ คือเน้นใช้กำปั้นเหล็กหนักไป จนสถานการณ์ท้องถิ่นนี้ดิ่งลงสู่ความยุ่งยาก

อย่างที่คนท้องถิ่นรู้สึกเอาว่า นโยบายการบริหารปกครอง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของฝ่ายราชการ มีลักษณะเหมือนการยึดครอง มากกว่าจะปกครอง กดดันให้เกิดความขยาดขลาดกลัว มากกว่าจะคิดเอาชนะใจคนร่วมชาติ ซึ่งมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม 
การยอมรับผิดขอบผู้กำกับบท ควรจะบอกทางที่ถูกต่อผู้ต้องสำแดงบทบาท

อย่าได้วางเฉย จนต้องสังเวยด้วยศพครูลำดับต่อไป...



.