http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-16

ขยะนิวเคลียร์ : ระเบิดเวลาลูกใหญ่ (3) โดย อนุช อาภาภิรม

.

ขยะนิวเคลียร์ : ระเบิดเวลาลูกใหญ่ (3)
โดย อนุช อาภาภิรม  คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1678 หน้า 38


การบริโภคพลังงานของโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีผู้คำนวณว่าในปี 2010 มนุษย์ได้บริโภคพลังงานทั้งโลกรวมกันถึงราว 550 เอกซาจูลล์ (เอกซาจูลล์เป็นหน่วยวัดพลังงานขนาดใหญ่มากกว่าจูลล์นับล้านล้านล้านเท่า เปรียบเทียบพลังงานได้ดังนี้ว่า แผ่นดินไหวใหญ่ที่ญี่ปุ่นและคลื่นสึนามิยักษ์ในวันที่ 11 มีนาคม 2011 มีพลังงานเพียง 1.41 เอกซาจูลล์)

พลังงานที่บริโภคขั้นต้นทั้งโลก เมื่อจำแนกจากแหล่งเชื้อเพลิง พบว่ามาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลสูงสุดราวร้อยละ 80 ร้อยละ 11.3 จากพลังงานชีวะ ที่สำคัญจากการเผาไหม้ฟืน ร้อยละ 5.5 จากพลังงานนิวเคลียร์ ร้อยละ 2.2 จากพลังงานน้ำ และร้อยละ 0.4 จากแหล่งพลังงานทดแทนอื่น เช่น พลังงานลม แสงแดด ( ดู World Energy Consumption-Beyond 500 Exajoules โดย Rembrandt ใน theoildrum.com 160212 )

จากตัวเลขนี้แสดงว่า
ก. ผู้คนจำนวนมากยังอาศัยพลังงานแบบดั้งเดิม นั่นคือ การเผาไหม้ของฟืนและกิ่งไม้  
ข. พลังงานทดแทน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่เป็นข่าวเกรียวกราวว่าจะมาทดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ร่อยหรอลงไปมากแล้ว ยังมีสัดส่วนน้อยมากจนไม่แน่ใจว่าจะเป็นจริงเช่นนั้นได้ 
ค. ในทางปฏิบัติพลังงานนิวเคลียร์จึงน่าจะยังเป็นความหวังว่าจะสามารถนำใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้

การเติบโตของพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ในทศวรรษ 1960 และ 1970 นั้น สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่ซับซ้อนของสงครามเย็น การแข่งขันทางอาวุธนิวเคลียร์ การเกิดวิกฤติน้ำมัน จนทำให้เกิดการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไปทั่วโลกและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะได้เกิดมหันตภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมาที่ 1 ที่ประเทศญี่ปุ่นในต้นปี 2011



กระแสต่อต้านนิวเคลียร์

กับพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติภาพ

หลังจากที่ได้มีการทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ 2 นครใหญ่ของญี่ปุ่นในต้นเดือนสิงหาคม 1945 อำนาจทำลายล้างของมันทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนตกใจ และได้ก่อกระแสต่อต้านพลังงานปรมาณูขึ้น 
โดยมีผู้แสดงสำคัญ ได้แก่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (1879-1955) เนื่องจากความเป็นอัจฉริยะ ความมีชื่อเสียง และอัตลักษณ์ของการเป็นผู้ใฝ่สันติภาพ 
และก่อนหน้านั้นในปี 1939 เขาได้ร่วมลงนามในจดหมายถึงประธานาธิบดีโรสเวลต์ ที่มีข้อความตอนหนึ่งว่า "ยูเรเนียมอาจเป็นแหล่งพลังงานใหม่ที่สำคัญในอนาคตอันใกล้นี้" และว่ามีความเป็นไปได้ที่จะ "สร้างระเบิดชนิดใหม่ที่มีอำนาจทำลายล้างอย่างยิ่ง" 
และเรียกร้องให้โรสเวลต์ติดต่อกับนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐที่กำลังทดลองเกี่ยวกับปฏิกิริยาลูกโซ่ในยูเรเนียมอยู่ เพื่อพัฒนาอาวุธนี้ 
กล่าวกันว่าจดหมายฉบับนี้กระตุ้นให้โรสเวลต์ตัดสินใจตั้งโครงการแมนฮันตันร่วมกับอังกฤษและแคนาดาในการพัฒนาระเบิดปรมาณูขึ้น และสำเร็จก่อนหน้าประเทศใด
การทิ้งระเบิดนี้ทำให้ไอน์สไตน์ที่รู้สึกเสียใจว่าได้ร่วมลงนามในจดหมายฉบับนั้น แต่เป็นไปได้สูงว่าชนชั้นนำของสหรัฐน่าจะคิดสร้างระเบิดนิวเคลียร์ได้เองโดยไม่ต้องให้นักวิทยาศาสตร์เขียนจดหมายถึง  

ในปี 1946 ไอน์สไตน์ได้เข้าร่วมกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ปรมาณูตั้งเป็นคณะกรรมาธิการฉุกเฉินนักวิทยาศาสตร์ปรมาณู (ในปัจจุบันนิยมเรียกนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์) ซึ่งได้ออกคำแถลงหลักข้อเท็จจริง 6 ข้อ ที่ยังคงเป็นจริงจนถึงทุกวันนี้ ได้แก่

1. ระเบิดปรมาณูในปัจจุบันสามารถผลิตได้มากขึ้นและถูกลง ขณะที่มีอำนาจทำลายล้างสูงขึ้น 
2. ไม่มีระบบป้องกันทางทหารต่อระเบิดปรมาณูในขณะนี้ และไม่คาดคิดว่าจะมีได้ในอนาคต 
3. ชาติอื่นๆ สามารถค้นพบความลับในการสร้างระเบิดของเขาด้วยตนเองได้ 
4. การเตรียมรับมือสงครามปรมาณูเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ และการพยายามทำเช่นนั้นจะทำลายโครงสร้างของระเบียบทางสังคมของเรา 
5. ถ้าหากว่าเกิดสงครามใหญ่ขึ้น ก็จะมีการใช้ระเบิดปรมาณู ซึ่งจะทำลายอารยธรรมของเราอย่างแน่นอน 
6. ไม่มีทางแก้อื่นใดสำหรับปัญหานี้นอกจากจะมีการควบคุมพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ และถึงที่สุดแล้วต้องขจัดสงครามออกไป


ไอน์สไตน์ได้เตือนแบบทำนายไว้ว่า "การทำให้อะตอมแตกตัวได้เปลี่ยนแปลงทุกอย่างนอกจากวิธีคิดของเรา ดังนั้น เราจึงไหลลอยไปสู่ความหายนะอย่างไม่มีสิ่งใดเทียบเท่า" 
เขาได้ร่วมลงนามในการเคลื่อนไหวอีกหลายครั้ง และที่สำคัญที่สุด ได้แก่ การลงนามในแถลงการณ์รัสเซลล์-ไอน์สไตน์ ในปี 1955 ก่อนเขาเสียชีวิตเพียงเล็กน้อย (เบอร์ตรันด์ รัสเซลล์เป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ)


กล่าวกันว่าคำแถลงนี้เป็นเอกสารที่ทรงพลังที่สุดในการต่อต้านนิวเคลียร์และสงคราม (ดูบทความของ David Krieger ชื่อ Nuclear Weapons and the Responsibility of Scientists ใน wagingpeace.org 041007 )
การเคลื่อนไหวต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ที่เริ่มจากนักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงจำนวนน้อย ได้ก่อผลกระทบเป็นวงกว้าง เรียกเป็นภาษาขณะนี้ว่า "จุดติด" ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เป็นอันมาก 
เพื่อที่จะปลดเปลื้องความหวาดกลัวของสาธารณชนและสามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อไปได้ ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์แห่งสหรัฐได้กล่าวปราศรัยเรื่อง "ปรมาณูเพื่อสันติ" ที่สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ในเดือนธันวาคม 1953


คำปราศรัยของไอเซนฮาวร์

คําปราศรัยของไอเซนฮาวร์มีเนื้อหาและอาจตีความได้ดังนี้คือ
1. ยุคปรมาณูพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ดูได้จากว่าสหรัฐได้ทดลองระเบิดปรมาณูครั้งแรกในวันที่ 16 กรกฎาคม 1945 และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปีจนถึงวันปราศรัยนี้ สหรัฐได้ทดลองระเบิดนิวเคลียร์ไปแล้ว 42 ครั้ง มีระเบิดปรมาณูที่มีอำนาจทำลายล้างสูงกว่ารุ่นแรกถึง 25 เท่า นอกจากนี้ ยังมีการทดลองระเบิดไฮโดรเจนที่มีอำนาจทำลายล้างสูงอย่างยิ่งอีกด้วย 
2. สหรัฐและพันธมิตรคืออังกฤษและฝรั่งเศส และรวมถึงแคนาดา พร้อมที่จะพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ต่อไป สำหรับโลกเสรีและสันติภาพ เป็นที่สังเกตว่าพันธมิตรที่ไอเซนฮาวร์กล่าวถึงนี้อาจเรียกว่าเป็นกลุ่ม 4 ต่อมาได้รวมอีก 3 ประเทศมหาอำนาจที่เป็นคู่สงคราม ได้แก่ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น เป็นกลุ่ม 7 เป็นแกนของโลกเสรี 
3. ความลับในการผลิตระเบิดปรมาณูไม่จำกัดอยู่ในหมู่มิตรและพันธมิตรของสหรัฐเท่านั้น หากยังล่วงรู้ไปถึงสหภาพโซเวียต ที่ได้พัฒนาระเบิดปรมาณูของตนอย่างรวดเร็ว 
4. สหรัฐมีคลังอาวุธปรมาณูมากพอที่จะตอบโต้การโจมตีได้อย่างสาสม และก่อความพินาศแก่ผู้โจมตีนั้น 
5. ในสถานการณ์เช่นนี้ "สหรัฐรู้ว่าเพื่อที่จะหมุนกลับแนวโน้มที่น่ากลัวของการแข่งขันสร้างอาวุธปรมาณู เราจะต้องทำให้พลังทำลายล้างสูงนี้พัฒนาไปสู่การรุ่งเรืองเพื่อประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ สหรัฐรู้ว่าพลังแห่งสันติจากพลังงานปรมาณูไม่ใช่ความฝันของอนาคต ความสามารถเช่นนั้นได้ดำรงอยู่แล้วในปัจจุบัน ไม่มีใครสงสัยว่า หากนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรของทั้งโลก มีสารที่สามารถแตกตัวได้เพื่อที่จะทดสอบและพัฒนาโครงการตามความคิดของเขา ความสามารถนี้จะแปรโฉมไปสู่การใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพในขอบเขตทั่วโลกอย่างรวดเร็ว  
6. "เพื่อที่จะเร่งวันแห่งความหวาดกลัวปรมาณูให้หายไปจากจิตใจของประชาชนและรัฐบาลทั้งในโลกตะวันออกและตะวันตก" ไอเซนฮาวร์ได้มีข้อเสนอที่สำคัญ ได้แก่ การจัดตั้งองค์การปรมาณูระหว่างประเทศ ซึ่งจะมีหน้าที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ การยึด เก็บรักษา และป้องกันสารที่แตกตัวได้ที่ได้รับมอบมา เป็นเหมือนการตั้งธนาคารปรมาณูที่ไม่มีใครมายึดไปได้อย่างไม่รู้ตัว และความรับผิดชอบที่สำคัญกว่าก็คือการคิดประดิษฐ์วิธีการที่จะใช้สารที่ทำให้แตกตัวได้ในทางสันติเพื่อประโยชน์ต่อมนุษย์ชาติทั้งในทางเกษตรกรรม การแพทย์และอื่นๆ

คำปราศรัยของประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ประกอบกับกระแสการเคลื่อนไหวต่อต้านนิวเคลียร์ที่เติบใหญ่ และการรวมตัวของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ช่วยผลักดันให้มีการจัดตั้งองค์การปรมาณูระหว่างประเทศขึ้น และเกิดกระแสปรมาณูเพื่อสันติที่มีหลายประการโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ควบคู่กับการแข่งขันทางอาวุธนิวเคลียร์อย่างดุเดือด 
เมื่อมองย้อนกลับไปกว่า 50 ปี ก็พบว่าวาทกรรมว่า "ปรมาณูเพื่อสันติ" ไม่ได้ลดทอนอันตรายของสงครามนิวเคลียร์ลง โดยชาติต่างๆ ได้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนมากขึ้นทุกที และในปัจจุบันดูเหมือนว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ "เอาไม่อยู่" แม้สหรัฐและพันธมิตรจะได้เข้าแทรกแซงโดยลำพังอย่างหนัก
ในอีกด้านหนึ่งได้เกิดโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่สร้างขยะนิวเคลียร์เพิ่มกองใหญ่ขึ้นทุกที


สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ

สํานักงานพลังงานปรมาณูระหว่าประเทศ (International Atomic Energy Agency-IAEA) เป็นองค์การระหว่างประเทศ ตั้งขึ้นในปลายเดือนกรกฎาคม 1957 แบบองค์กรอิสระที่ทำงานใกล้ชิดกับองค์การสหประชาชาติ สำนักงานใหญ่อยู่ที่ออสเตรีย มีความรับผิดชอบในการส่งเสริมการใช้พลังงานปรมาณูอย่างสันติ ป้องกันไม่ให้นำพลังงานนิวเคลียร์ไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการทหาร และข้อสุดท้ายเพิ่มขึ้นหลังจากเกิดอุบัติเหตุใหญ่จากโรงงไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้แก่ การส่งเสริมมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูงทางนิวเคลียร์

เป็นที่สังเกตว่าการนำขององค์กรนี้อยู่ในมือของสหรัฐและพันธมิตร โดยผู้อำนวยการใหญ่คนแรกเป็นชาวอเมริกัน อีก 2 คนต่อมาเป็นชาวสวีเดนที่ดำรงตำแหน่งยาวนานกว่า 30 ปี คนสุดท้ายเป็นชาวญี่ปุ่นนี้ทำให้การปฏิบัติงานในหลายเรื่องประสบปัญหา ในปัจจุบันได้แก่ กรณีพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของอิหร่านที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ในเดือนกันยายนนี้เอง ทางการอิหร่านกล่าวหาว่าไอเออีเอนำความลับทางนิวเคลียร์ของอิหร่านไปให้แก่อิสราเอล และขู่ว่าจะโจมตีอิสราเอลก่อนหากเห็นว่าอิสราเอลจะโจมตีตน (Turkish Weekly 260912)

ไอเออีเอนับว่าทำงานประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ที่ทำไม่สำเร็จได้แก่ การป้องกันการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ โดยเฉพาะในกรณีของอินเดียและปากีสถาน ซึ่งส่วนหนึ่งได้พื้นฐานจากการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติในการตั้งโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์



โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

พลังงานนิวเคลียร์สามารถใช้ประโยชน์ทางสันติได้มากมาย เช่น รักษาโรคมะเร็งบางชนิดและฆ่าเชื้อทางการแพทย์ ใช้หาอายุสิ่งของเก่าโบราณ หารอยรั่วของท่อโลหะ ใช้ฆ่าเชื้อและถนอมอาหาร ใช้สร้างเมล็ดพันธุ์ชนิดใหม่ 
แต่ที่ใช้กันปริมาณมาก เป็นการใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า 

ซึ่งช่วงหนึ่งได้สร้างกระแสความหวังขึ้นว่า ในยุคปรมาณูนี้ เราจะมีไฟฟ้าใช้อย่างไม่จำกัด ค่าไฟฟ้าจะถูกจนกระทั่งไม่คุ้มที่จะติดมิเตอร์มาวัด (Too Cheap to meter กล่าวในปี 1954) แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน ผู้คนก็เห็นว่ามันดีเกินไปกว่าที่จะเป็นจริง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นมีราคาแพง ต้องอาศัยการอุดหนุนจากรัฐบาล ทั้งยังมีปัญหาขยะที่แก้ไขได้ยากและ เกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลร้ายแรงได้ 

ทั้งหมดจึงย้อนไปสู่ประเด็นว่าพลังงานนิวเคลียร์นั้นมีความจำกัดมากในการใช้ประโยชน์ ไม่ว่าอย่างสันติหรือในทางสงคราม และควรที่จะสนใจคำแถลงหลัก 6 ประการของนักวิทยาศาสตร์ปรมาณูในปี 1946 ให้มากขึ้น



.