http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-07

ศาสวัต บุญศรี: 6 ตุลา 2519 อย่าลืมฉัน

.

ศาสวัต บุญศรี: 6 ตุลา 2519 อย่าลืมฉัน
ใน www.prachatai.com/journal/2012/10/42985 . . Thu, 2012-10-04 17:51


อย่าลืมฉัน / Don't Forget Me
www.youtube.com/watch?v=H30RniAgtHY
Uploaded by Nextliferecords on Mar 6, 2009
ภาพยนตร์เรื่อง อย่าลืมฉัน เป็นผลงานของมานัสศักดิ์ ดอกไม้ ใช้เทคนิค Irony ด้วยการใช้ภาพเหตุการณ์ล้อมฆ่านักศึกษาในวันที 6 ตุลา 19 ผสมเข้ากับเสียงสารคดีการเดินทางเข้าไปเยี่ยมผีตองเหลืองของสยามสมาคม



ศาสวัต บุญศรี


ในแวดวงภาพยนตร์ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นกระแสหลัก นอกกระแสหรือสายภาพยนตร์สั้น ประเด็นเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้นก็ไม่ได้ต่างออกไปจากความสนใจของมนุษย์ชาวไทยคนอื่น ๆ  ที่ต่างหลงลืมและไม่เห็นความสำคัญ แถมยังจับไปผสมปนเปกับเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ชนิดแยกไม่ออกว่าวันไหนเป็นอย่างไร มีเหตุการณ์อะไรกันแน่

หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาไม่นานนัก กระแสหนังแนวขวาจัดถูกผลิตขึ้นต่อต้านอุดมการณ์คอมมิวนิสต์อย่างหนักหน่วง อาทิ ภาพยนตร์บู๊ล้างผลาญเรื่อง “3 นัด” ผลงานของเสนีย์ โกมารชุน ที่เผยแพร่ในปี 2520 มีคำโปรยหนังว่า “มันเกิดมาไม่มีชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มันต้องตายด้วยมือกู!” (ดูโปสเตอร์ได้ที่ http://www.thaifilm.com/imgUpload/reply265101_01.jpg) แต่ไม่ถึงสามปีหลังจากนั้น เหตุการณ์ 6 ตุลา ก็กลายเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากพูดถึง ไม่มีใครกล้าออกหน้าเป็นผู้รับผิดชอบสั่งการ ไม่มีใครกล้าแสดงตัวรับความดีความชอบ บรรดาผู้อยู่เบื้องหลังพยายามทำให้เหตุการณ์ 6 ตุลาถูกลืมเลือนเพราะแนวโน้มดูท่าจะออกมาว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะตำรวจตระเวนชายแดนเหล่านั้นผิดจริง พวกเขาทำกับว่าเหตุการณ์เหล่านั้นควรลืม ๆ กันได้ไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ควรมารื้อฝอยหาตะเข็บ เราไม่เคยฆ่ากันที่ธรรมศาสตร์และมีวัดพระแก้วเป็นฉากหลัง คนไทยเรารักกัน

ไม่นานนักเราก็แทบไม่เห็นหนังที่พูดถึงผลกระทบจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เลย จนปัจจุบันหนังที่พูดถึงประวัติศาสตร์ไทยก็แทบไม่เคยแตะต้อง 6 ตุลาคม 19  อาจจะมีบ้างเรื่องสองเรื่องแต่ก็ทำออกมาแง่ตลกขบขันและไม่ได้ให้รายละเอียดที่สมจริงเท่าใดนัก

อย่างไรก็ดีใช่ว่าคนทำหนังไทยจะเพิกเฉยต่อประเด็น 6 ตุลา กันไปเสียหมด หนึ่งในผลงานคลาสสิคสายภาพยนตร์สั้นไทยเรื่อง “อย่าลืมฉัน” ถูกผลิตขึ้นมาด้วยต้องการประกาศก้องต่อชาวโลกว่า เหตุการณ์ 6 ตุลานั้นเคยเกิดขึ้นจริง มันเป็นเหตุการณ์รุนแรงอันแสนน่ากลัว เป็นเหตุการณ์ที่มนุษย์กระทำร้ายต่อกันโดยมีรอยยิ้มอย่างมีความสุขเปรอะเปื้อนเต็มใบหน้า ทว่ามันกลับเป็นเหตุการณ์ที่มีแต่คนอยากลืม และทำเสมือนว่ามันไม่เคยเกิดขึ้น จงลืม จงลืม จงลืม!!!


มานัสศักดิ์ ดอกไม้ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ตะโกนบอกผ่านหนังของเขาว่าอย่าลืมความโหดร้ายนี้ อย่าลืมการกระทำอันป่าเถื่อนนี้ แม้ในเรื่องจะไม่มีการเรียกร้องให้รัฐออกมาชำระความจริงให้ถูกต้อง แต่ก็เชื่อเถอะว่าแท้ที่จริง เขาก็ปรารถนาเฉกเช่นเดียวกันให้ความจริงกระจ่าง

ผลงานของมานัสศักดิ์เรื่องนี้ผลิตขึ้นด้วยต้นทุนและเทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างจำกัด (และหนังทุกเรื่องของเขาจะเป็นในเชิงทดลองที่ใช้ต้นทุนในการผลิตน้อยมาก ๆ บางเรื่องอยู่ในระดับหลักสิบ) โชคดีที่มานัสศักดิ์ทำงานที่หอภาพยนตร์ เขาจึงมีโอกาสได้พบเจอกับฟุตเตจในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จำนวนมากที่ถูกบันทึกไว้ เขาจึงได้นำภาพฟุตเตจเหล่านั้นมารื้อสร้างโครงเรื่องแล้วประกอบสร้างใหม่ โดยใช้เสียงบรรยายในสารคดีการไปเจอผีตองเหลืองของสยามสมาคม

ใน อย่าลืมฉัน เราจึงเห็นภาพตลอดทั้งเรื่องเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในธรรมศาสตร์ แต่เสียงบรรยายและซับไตเติลกลับกลายเป็นเรื่องราวของผีตองเหลืองที่สยามสมาคมไปพบเจอ ดูเริ่มแรกแล้วย่อมรู้สึกว่ามันคนละเรื่องเดียวกัน ทว่า แท้จริงแล้วมานัสศักดิ์ใช้เทคนิคทางภาพยนตร์ประเภทยั่วล้อ แม้เสียงและภาพทางตรงจะไม่ตรงกัน แต่ความหมายโดยนัยแล้วมันแทบจะหลอมรวมเป็นเรื่องเดียว อาทิ บทคำบรรยายกล่าวถึงความงดงามของป่าเขาลำเนาไพร มานัสศักดิ์ก็จัดเรียงภาพอาคารที่กระจกแตก เก้าอี้พัง ให้ตรงกับคำบรรยายช่วงนั้น หรือคำบรรยาย “ทางสยามสมาคมได้นำสิ่งของที่คิดว่าพวกผีตองเหลืองต้องการได้” เมื่อหันมาดูภาพก็พบตำรวจตระเวนชายแดนกำลังยิงปืนต้านอากาศยานเข้าไปในธรรมศาสตร์พอดี

เทคนิคเฉกเช่นนี้มิใช่ของใหม่ในโลกภาพยนตร์ แต่มานัสศักดิ์ใช้และทำได้อย่างทรงประสิทธิภาพ การยั่วล้อนั้นมักส่งผลให้คนดูเกิดการถอยห่างออกมาจากหน้าจอและฉุกคิดต่อเหตุการณ์ที่เห็นในเฟรมภาพมากขึ้น คนดูย่อมตั้งคำถามเบื้องแรกในเชิงเทคนิคว่าเล่าเรื่องอย่างไรกันแน่ และเมื่อภาพที่เห็นในหนังยังคงวนเวียนในหัว คนดูจะพยายามปะติดปะต่อเรื่อง รวมถึงตั้งคำถามกับสิ่งที่ได้พบเห็นว่านี่คือภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในดินแดนที่อ้างว่าเป็นเมืองพุทธจริงหรือ และก็มีคนดูไม่น้อยที่ไม่เคยรู้จักเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มาก่อนได้ออกไปหาคำตอบเพิ่มเติมว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่


อย่าลืมฉัน ได้รับรางวัลรัตน์ เปสตันยี (รางวัลภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยมสายบุคคลทั่วไป) จากมูลนิธิหนังไทยเมื่อปี 2546 และเป็นหนังที่จริงจัง (น่าจะ) เพียงเรื่องเดียวที่ออกมาเรียกร้องให้ชาวไทยอย่างเรา ๆ อย่าได้ลืมเหตุการณ์โศกนาฎกรรมครั้งนี้ เรียกร้องให้อย่าลืม อย่าลืม อย่าลืม!!! และนับแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายก็ได้ทำให้คนไทยไม่น้อยไม่เคยลืมเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อีกเลย



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

มีความคิดเห็นท้ายบท เช่น

    คน 6 ตุลา 

    ขอบคุณผู้สร้างคุณมานัสศักดิ์ ดอกไม้ และประชาไทที่นำหนังเรื่องนี้มาเผยแพร่
6 ตุลา 19 ผ่านมาครบรอบ 36 ปีในปีนี้ ยังไม่เคยเห็นเลย และไม่ทราบว่าได้เคยมีการเผยแพร่ที่ไหน? อย่างน้อย ๆ ในงานรำลึกถึงวีรชน 6 ตุลาทุกปีที่ธรรมศาสตร์ น่าจะได้นำไปฉายให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับชมกัน ถึงความโหดเหี้ยมป่าเถื่อนที่ฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐกระทำต่อประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกับพวกตน ด้วยการปลุกความคลั่งสถาบันที่สามารถกระทำกับมนุษย์คนอื่นที่คิดไม่เหมือนตนด้วยการใช้กำลังและความรุนแรงที่ไม่น่าเชื่อว่าคนที่อยู่เมืองพุทธและใกล้วัดพระแก้วขนาดนั้น จะย่ามใจทำต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้ถึงเพียงนี้.............................................................................
    ..................เหตุการณ์ผ่านมา 36 ปีแล้ว แต่สังคมไทยไม่ได้รู้สึกตัวเสียที เหตุการณ์คลั่งสถาบันกลับรีเทรินกลับมาอีก และยังใช้เป็นเหตุผลในการสังหารประชาชนกลางเมืองเมื่อปี 2553 ด้วยข้อหา "ล้มเจ้า" ไม่ต่างกับข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ในสมัยนั้น

    มันเป็นความเจ็บปวดที่ร้าวลึกในจิตใจต่อคนที่อยู่ในธรรมศาสตร์วันนั้น เพราะเรื่องนี้มันถูกพยายามทำให้ลืมเลือนไปจากสังคมไทย และไม่สามารถเอาผิดกับคนสั่งฆ่าในวันนั้น โมเดลการล้อมปราบประชาชนจึงเกิดขึ้นอีกในเดือนเมษาและพฤษภา 2553 ซึ่งครั้งนี้ อาจจะแตกต่างกับเหตุการณ์เมื่อ 34 ปีก่อน แต่..แต่ ใช่ว่าจะทำให้คนในสังคมไทยเกิดความเข้าใจตรงกัน ทั้ง ๆ ที่สมัยนี้มีเทคโนโลยี่มากมายที่จะสื่ออกมา แต่ไม่วายจะถูกบิดเบือนเหมือนเช่นในอดีต

    เราขอเรียกร้องให้ทำความจริงให้ปรากฏ (รวมทั้ง 6 ตุลา 19 ด้วย) และสังคมไทยจะอยู่กันอย่างสงบศึกมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้


    ธุลีดาวหาง

    ………………………………๖ ตุลา ๒๕๑๙...................………….

    .............โอ้ว่าความเศร้าเจ้าเอ๋ย..........เราล้วนเคยคุ้นกับเจ้าเศร้านักหนา
    ผองวิญญาณร่อนเร่ปริเทวนา...............เขาถูกฆ่าคาตามหาวิทยาลัย
    เมื่อเกิดมามีอะไรจะให้เล่า....................จะขอเผาคอมมิวนิสต์ผิดไหม
    เผานั่งยางกลางถนนมณฑลไทย...........ไม้ขีดไฟให้ทานกี่ก้านเชียว
    .............แขวนคอกับกิ่งมะขามสนามหลวง....สนามลวงราษฎรห่อนเฉลียว
    เป็นก้อนกลุ่มรุมสกรัมยำกลมเกลียว.......แขวนคอเดี่ยวเดียวดายสหายรัก
    มันบังอาจต่อชาติศาสน์กษัตริย์.............โทมนัสเหลือที่ย่ำยีหนัก
    ละครแขวนคอพระบรมระทมนัก.............มันไม่ภักดีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน
    มันบังอาจต้องฟาดด้วยเก้าอี้ย่ำยีแถม......ต่างช่วยแจมแช่มฉ่ำหนำใจหิน
    ลูกเสือชาวบ้านยานเกราะเฉาะกบิล........กระชากวิญญาณแค้นผ่านแขวนคอ
    เอาเชือกรัดมัดคอลากฉากเด็กเล่น..........ตอกอกเป็นประจานการแข็งข้อ
    ชาติศาสน์กษัตริย์ใช้รัดคอ.....................โอ้ละหนอน้องพี่นี่หรือไทย!

                         ............................................................



.