http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-20

สงครามหลัง 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ : สงครามการเมือง-สงครามกลางเมือง โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

สงครามหลัง 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ : สงครามการเมือง-สงครามกลางเมือง
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1679 หน้า 36


"คู่สงครามหรือคู่รบต่างเป็นกลุ่มคนมีชีวิตที่ติดอาวุธ
และต่างก็ยังปกปิดความลับซึ่งกันและกันอยู่ ข้อนี้ย่อม
แตกต่างกับการจัดการกับสิ่งไม่มีชีวิต หรือกับเรื่อง
ประจำวันอย่างมากทีเดียว"
ประธานเหมาเจ๋อตุง
ธันวาคม ค.ศ.1936



สงครามใหญ่ของยุคสงครามเย็นในสังคมไทยยุติไปนานแล้ว... บางทีก็นานจนหลายคนอาจจะหลงลืมไปแล้วว่า สังคมไทยครั้งหนึ่งมีการสู้รบอย่างหนักในชนบท 
การรบเช่นนี้ขยายตัวจนเกือบจะก้าวไปถึงจุดของความเป็น "สงครามกลางเมือง" 
แต่แล้วในที่สุดสถานการณ์ที่เกือบจะก้าวสู่สงครามกลางเมืองเต็มรูปก็ถูกเปลี่ยนแปลงไป และหลังจากนั้น สถานการณ์สงครามก็ค่อยคลายตัวออก 
จนในที่สุดสงครามภายในเช่นนี้ก็ถึงจุดยุติ และนำพาความขัดแย้งทั้งทางการเมือง-การทหารที่เกิดขึ้นกลับสู่ภาวะปกติได้

ดังนั้น ในวาระครบรอบ 36 ปีของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และครบรอบ 39 ปีของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเรื่องราวหนึ่งที่น่าจะถูกนำกลับมาทบทวนในวาระเช่นนี้ก็น่าจะได้แก่ เรื่องของสงครามและการยุติสงครามหลังปี 2516/2519


สงครามภายในของสังคมไทยไม่ใช่เรื่องที่ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศแต่อย่างใด หากแต่เป็นสถานการณ์ที่ผูกโยงอยู่กับการเคลื่อนตัวของปัญหาในเวทีระหว่างประเทศ โดยมีความขัดแย้งระหว่างรัฐมหาอำนาจตะวันตกและตะวันออกเป็นความขัดแย้งพื้นฐาน
ภายใต้เงื่อนไขของสถานการณ์เช่นนี้ ผู้นำไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำทหารของไทยตัดสินใจเลือกอยู่กับฝ่ายตะวันตก 
การประกาศจุดยืนที่ชัดเจนของรัฐบาลทหารในนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงหลังจากรัฐประหาร 2490 ก็คือ การตัดสินใจส่งไปไปร่วมรบในสงครามเกาหลีในปี 2493 และถือได้ว่าเป็นการประกาศให้โลกเห็นอย่างเด่นชัดถึงท่าทีในการสนับสนุนตะวันตกของรัฐบาลกรุงเทพฯ
ถ้าอธิบายการตัดสินใจเช่นนี้จากบริบทของทัศนะต่อภัยคุกคามแล้ว ก็คงต้องถือว่า ผู้นำรัฐบาลและทหารไทยคิดไปในทิศทางเดียวกับฝ่ายตะวันตกที่มองว่า คอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามหลัก และการต่อต้านภัยนี้ถือเป็นภารกิจหลักของรัฐบาล 

ความน่ากลัวยังเป็นผลมาจากคำอธิบายของ นายจอห์น ฟอสเตอร์ ดัลลัส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเทศของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นด้วยการนำเสนอวาทกรรม "โดมิโน" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "ทฤษฎีโดมิโน" โดยอธิบายเป็นภาพลักษณ์ในลักษณะของการล้มตามกันเหมือนตัวหมากโดมิโน 
กล่าวคือ ถ้าประเทศในอินโดจีนเริ่มเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ก็จะทำให้เกิดการล้มตามกันในภูมิภาค และจะทำให้ประเทศในภูมิภาคกลายเป็นคอมมิวนิสต์ตามกันไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
คำอธิบายนี้ให้คำตอบอย่างง่ายๆ ว่า เมื่อใดที่เวียดนามเป็นคอมมิวนิสต์ ลาวและกัมพูชาก็จะต้องเป็นคอมมิวนิสต์ตามกันไป และต่อมาไทยก็จะต้องเป็นคอมมิวนิสต์ด้วย และความเป็นคอมมิวนิสต์เช่นนี้ก็จะขยายลงไปสู่คาบสมุทรมลายา 
ซึ่งทำให้ในที่สุดมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นคอมมิวนิสต์ตามกันไป


คงต้องยอมรับว่า ผู้นำไทยทั้งในขณะนั้นและในยุคต่อมารับเอาแนวคิดของทฤษฎีโดมิโนเข้ามาเป็นพื้นฐานของทัศนะต่อภัยคุกคาม และเอาความกลัวเช่นนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงไทย 
ซึ่งส่วนหนึ่งก็ทำให้นโยบายของไทยมีทิศทางไปในแนวเดียวกับของสหรัฐอเมริกา  
และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือ ดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างมาก  

และยิ่งจากยุคหลังจากการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลทหาร จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากรัฐประหารในปี 2501 แล้ว ก็ยิ่งเห็นชัดเจนถึงทิศทางดังกล่าว และทั้งยังตอกย้ำอย่างมากถึงการต่อต้านคอมมิวนิสต์แบบ "ขวาสุด" ของรัฐบาลไทยด้วย 
อย่างไรก็ตาม ความกลัวที่เป็นรูปธรรมในบริบทของภัยคุกคามก็คือ การเกิดขึ้นของสงครามคอมมิวนิสต์ในบ้าน เพราะในช่วงหลังจากรัฐประหาร 2501 นั้น ตัวแบบของสงครามที่ชัดเจนสำหรับผู้นำทหารไทยก็คือ สถานการณ์สงครามในลาว และสงครามนี้ถูกมองด้วยความกังวลว่า สงครามคอมมิวนิสต์ในลาวจะต้องไม่ขยายตัวเข้าสู่พื้นที่ของไทย 
ขณะเดียวกันการป้องกันสงครามนี้ในบ้านก็ใช้วิธีการของการกวาดล้างขนาดใหญ่ 
ฉะนั้น จากยุคของจอมพลสฤษดิ์ จนถึงยุคของจอมพลถนอม การกวาดจับคอมมิวนิสต์ในบ้านจึงเป็นความหวังที่จะหยุดยั้งการก่อตัวของ "สงครามภายใน" ของไทย  

แต่แล้วในเดือนสิงหาคม 2508 ความกลัวการเปิดสงครามของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก็เดินทางมาถึงความเป็นจริง 
ปรากฏการณ์ของ "วันเสียงปืนแตก" เท่ากับการส่งสัญญาณอย่างเป็นรูปธรรมถึงการเกิดขึ้นของสงครามคอมมิวนิสต์ในบ้าน



ในยุคต้นๆ ของสงครามคอมมิวนิสต์ ผู้นำไทยมีความเชื่ออย่างมากว่า ถ้าเราทุ่มกำลังเข้าปราบปราม พคท. อย่างเต็มที่ในชนบทแล้ว รัฐบาลก็น่าจะชนะสงครามคอมมิวนิสต์ได้ไม่ยากนัก... แต่แล้วสงครามก็เกิดและดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในอีกหลายปีต่อมา 
สงครามนี้แยกไม่ออกจากบริบทของการเมืองไทยเอง เพราะสงครามคอมมิวนิสต์ของไทยเกิดขึ้นในยุคของรัฐบาลทหาร หรือกล่าวอีกส่วนหนึ่งก็คือ สงครามภายในเกิดในยุคการเมืองที่เป็นระบอบอำนาจนิยม และระบอบอำนาจนิยมก็กลายเป็น "แนวร่วมมุมกลับ" ในการขับเคลื่อนสงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะผลประการสำคัญของระบอบการปกครองเช่นนี้ก็คือ ระบอบอำนาจนิยมมักจะมีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ใช้การปราบปรามเป็นหลัก 
แม้จะมีความพยายามในการปรับตัวในการต่อสู้กับ พคท. แต่ระบอบการเมืองไทยดูจะไม่เอื้อให้ไปในทิศทางดังกล่าว

หลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 มีความพยายามอยู่พอสมควร แต่ปัจจัยภายในกองทัพเองก็ยังเป็นอุปสรรคอยู่มาก ประกอบกับกระบวนการเรียนรู้ทางการเมืองของทหาร โดยเฉพาะในระดับผู้นำกองทัพระดับสูงแล้ว ประเด็นเช่นนี้จึงมีความจำกัดอยู่มากเช่นกัน  
แม้จะมีกลุ่มทหารบางส่วน และกลุ่มตำรวจบางส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ตำรวจสันติบาล ซึ่งมีการเรียนรู้ในเรื่องของมิติทางการเมืองของสงครามคอมมิวนิสต์ค่อนข้างมาก เริ่มเกาะกลุ่มและมีความพยายามในการผลักดันทิศทางและยุทธศาสตร์ของรัฐไทยในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ไปสู่แนวทางใหม่ ที่ไม่ใช่เรื่องของการใช้กำลังทหารเป็นหลัก 

แต่ดังได้กล่าวแล้ว่า ข้อจำกัดของการผลักดันเช่นนั้นมีอุปสรรคมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลของความกลัวในหมู่ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และบรรดาชนชั้นกลางทั้งหลายที่กังวลอย่างมากกับการขยายอิทธิพลทางความคิดของลัทธิสังคมนิยม ประกอบกับขบวนการนิสิตนักศึกษา รวมถึงขบวนการทางสังคมอื่นๆ ก็ไปในทิศทางดังกล่าว  
และยังเห็นได้ชัดเจนจากการขยายบทบาทของขบวนการกรรมกรในเมือง และขบวนการชาวนาชาวไร่ในชนบท ซึ่งบทบาททางการเมืองของขบวนการเหล่านี้ถูกตีความว่า เป็นขบวนที่เป็นตัวแทนของ พคท. ที่อาศัยการเมืองระบบเปิดหลังปี 2516 เป็นเงื่อนไขของการเคลื่อนไหว

สถานการณ์เดินทางมาถึงจุดสูงสุดในปี 2518 เมื่อระบอบการปกครองของฝ่ายนิยมตะวันตกถูกโค่นล้ม โดยในเดือนเมษายน ระบอบการปกครองเดิมในไซง่อนและในพนมเปญล้มลง และในสิ้นปีของปีดังกล่าว รัฐบาลผสมในลาวก็สิ้นสภาพ พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงระบอบกษัตริย์ของลาว...  
2518 จึงเป็นเสมือน "ฝันร้าย" ของนักความมั่นคงไทย ที่แนวต้านทานในลักษณะของ "พื้นที่กันชน" ทั้งในลาว กัมพูชา และเวียดนามล้วนพังทลายลงทั้งหมด และมีผลในทางภูมิรัฐศาสตร์เพราะเท่ากับรัฐไทยเผชิญกับรัฐสังคมนิยมในอินโดจีนตลอดแนวชายแดนด้านตะวันออก อันทำให้สถานะด้านความมั่นคงของประเทศมีความเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง  
อันเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่าสงครามจากรัฐภายนอกที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากรัฐไทยสามารถเปิดการรุกทางทหารเข้าสู่พื้นที่ของไทยได้โดยตรง


ในสถานการณ์เช่นนี้สงครามของ พคท. ในชนบทก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วย จนหลายๆ ฝ่ายเริ่มหันกลับไปสู่คำอธิบายของทฤษฎีโดมิโนว่า ไทยน่าจะเป็น "โดมิโนตัวที่ 4" ที่จะล้มลงในอนาคต 
สภาพเช่นนี้กลายเป็นเงื่อนไขอย่างดีสำหรับชนชั้นนำและผู้นำทหารที่จะต้องหยุดการเมืองในระบอบการเลือกตั้ง และใช้รัฐประหารเป็นเครื่องมือของการควบคุมระบอบการเมือง 
รัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จึงมาพร้อมกับการ "ล้อมปราบ" ครั้งใหญ่ และตามมาด้วยนโยบายการกวาดล้างจับกุม ซึ่งส่งผลให้มีนิสิตนักศึกษาและผู้คนจากในเมืองเป็นจำนวนมากตัดสินใจละทิ้งการต่อสู้ทางการเมืองในระบบรัฐสภา และเดินทางเข้าสู่ชนบทร่วมกับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของ พคท. ... สงครามในชนบทไทยขยายตัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทุกคนเฝ้ามองด้วยคำตอบในใจคล้ายๆ กันว่า สงครามกลางเมืองกำลังรอเวลาที่จะระเบิดขึ้นในไทย และผลลัพธ์ก็คงไม่แตกต่างจากสงครามกลางเมืองในอินโดจีน

ถ้าเดินไปในทิศทางของรัฐบาลหลังปี 2519 สงครามกลางเมืองย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ บรรดาผู้นำทหารสายปฏิรูปจึงเริ่มพยายามปลีกตัวออกจากรัฐบาล 
และข้อสรุปที่ชัดเจนก็คือ ถ้าจะเปลี่ยนยุทธศาสตร์และนโยบายในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ก็จะต้องเปลี่ยนรัฐบาลเป็นเบื้องแรก



ในที่สุดรัฐประหารตุลาคม 2520 ก็เกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนรัฐบาล ปีกผู้นำทหารสายปฏิรูปที่นำโดยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงเริ่มปรับนโยบายด้านความมั่นคงในหลายๆ ส่วน และที่สำคัญก็คือ เริ่มเปิดโอกาสให้ปีกปฏิรูปที่แฝงตัวอยู่ในหลายองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และในตำรวจสันติบาล สามารถเคลื่อนไหวในการนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ในการต่อสู้กับ พคท. ได้มากขึ้น 
กระบวนการทำสงครามของรัฐไทยจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงและเดินไปสู่จุดเปลี่ยนอย่างสำคัญเมื่อคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ถูกประกาศออกมาเพื่อบ่งบอกถึง "ยุทธศาสตร์ใหม่" ของรัฐบาลและกองทัพ 
สงครามภายในถูกมองด้วยทัศนะใหม่ว่าเป็น "สงครามการเมือง" และถ้าจะยุติสงครามการเมืองไม่ให้ขยายตัวไปสู่สงครามกลางเมืองแล้ว ทัศนะและกระบวนการคิดที่วางอยู่บนรากฐานของการใช้กำลังเพื่อการปราบปรามโดยไม่คำนึงถึงมิติทางการเมืองของการสงครามจะต้องถูกเปลี่ยน

หลังจากปี 2523 แนวคิดของยุทธศาสตร์ใหม่เริ่มเป็นทิศทางหลัก และถูกขับเคลื่อนในบริบททั่วประเทศ จนกลายเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์สงครามภายในของไทยคลายตัวออก จนนำไปสู่การสิ้นสุดในปี 2525/2526 
แต่การสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ก็มิได้หมายความว่า สงครามทุกแบบทุกชนิดจะสิ้นสุดไปด้วย เพราะการยุติของสงครามชุดนี้ก็เกิดคู่ขนานกับการสิ้นสุดของสงครามเย็นในเวทีโลก หรือกล่าวได้ว่าเป็นการยุติของสงครามชุดหนึ่งในบริบทหนึ่งของระเบียบโลกแบบเดิม

และเมื่อก้าวสู่ช่วงใหม่ สังคมไทยก็เผชิญกับสงครามชุดใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก็ท้าทายอย่างมากสำหรับรัฐไทยว่าจะต่อสู้ในสงครามชุดใหม่อย่างไร

บทเรียนการสงครามหลัง 2516/2519 ไม่ได้บ่งบอกอะไรมากไปกว่า การปรับตัวทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและกองทัพไทย คือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้สงครามภายในสิ้นสุดลงได้!



.