http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-28

เอวังอุโบสถ“วัดพระนอนม่อนช้าง” ผลักโครงการถวายความรู้ฯ สู่วาระแห่งชาติ!! โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

เอวังอุโบสถ“วัดพระนอนม่อนช้าง” ผลักโครงการถวายความรู้แด่พระสังฆาธิการ สู่วาระแห่งชาติ!!
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1680 หน้า 88


กลายเป็นประเด็นเดือดขึ้นจนได้ สำหรับวัดเล็กๆ แห่งหนึ่งในตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน นาม "วัดพระนอนม่อนช้าง"
วันดีคืนดีก็บูรณะพระอุโบสถหลังใหม่ครอบทับของเดิม โดยไม่แจ้งต่อกรมศิลปากร สร้างความเสียหายให้แก่โบราณสถานชิ้นสำคัญของชาติมากเกินจะพรรณนา
ผู้พบเห็นต่างเกิดอาการช็อกและหัวใจแทบสลาย ระคนสงสัยว่าทำไมวัดจึงกล้าปล่อยให้สล่า (ช่าง) อุกอาจพอกทับลวดลายปูนปั้นที่มีอายุหลายร้อยปี ด้วยเทคนิคและวัสดุที่ดูใหม่เอี่ยมเรี่ยมเร้ 
ลบทิ้งร่องรอยศิลปกรรมดั้งเดิมชนิดไม่เหลือแม้แต่เงา



สำนักตักศิลา วัดป่าอรัญวาสี

วัดพระนอนม่อนช้างเป็นวัดเก่าแก่ ปรากฏอยู่ในตำนานพระเจ้าเลียบโลกว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าประทับรอยพระบาท ณ บริเวณวัดพระบาทตากผ้าแล้ว พระพุทธองค์ได้เสด็จมาประทับสีหไสยาสน์ ณ ป่าแพะเชิงดอยกุญชร ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "ม่อนช้าง"  
ช่วงที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าระหว่างปี พ.ศ.2101 -2348 ได้มีครูบาสายวัดป่าหลายรูปพากันปลีกวิเวกมาสร้างสำนักวิปัสสนาตามเถื่อนถ้ำ แถบดอยเครือ ดอยม่อนช้าง ดอยจอมธรรม ดอยกุศล ดอยแต ดอยคำ ดอยครั่ง ฯลฯ 
บรรยากาศเส้นทางบุญตลอดดอยชนดอยจากป่าซางถึงแม่ทาเหล่านี้ อุปมาเหมือนดั่งสำนักตักศิลาแห่งลำพูน 
ถือเป็นยุคทองของครูบามหาป่าอรัญวาสีทั้งหลาย ที่ได้เดินธุดงค์จาริกแสวงบุญไปมาหาสู่กัน ระหว่างลำพูนเขลางค์ (ลำปาง) เชียงแสน เชียงตุง

และพระอุโบสถวัดพระนอนม่อนช้าง ก็เป็นประจักษ์พยานเพียงหนึ่งเดียวที่หลงเหลืออยู่ท่ามกลางละแวกสำนักตักศิลานี้ ที่ช่วยตอกย้ำถึงสายสัมพันธ์ของฝีมือช่างในสายอรัญวาสี 
งานตกแต่งลวดลายปูนปั้นมีการใช้เทคนิค ปูนขดเป็นเส้นริ้วเล็กๆ เรียกว่า "ลายสะทายจิ๋น" (สะทาย -อ่านสะตาย หมายถึงปูนปั้น จิ๋น-สุกสกาวแวววาว) มีความละม้ายกับที่วัดไหล่หินในลำปาง 
จุดเด่นของหน้าบันคือรูป "กินรี" ตอนล่างสุดกำลังฟ้อนอย่างอ่อนหวาน ท่ามกลางลายพันธุ์พฤกษาที่หมายถึงป่าหิมพานต์ แม้จะร่วงหายไปบ้างตามสภาพกาลเวลา แต่ก็ยังฉายชัดซึ่งพลังเคลื่อนไหวอันมีชีวิตชีวายิ่ง 
ที่เสาติดผนังประดับด้วย "ลายแผงกุดั่น" หรือลายดอกลอยในตาข่ายแปดเหลี่ยม เป็นลวดลายที่มีความสัมพันธ์กับศิลปะพุกามในพม่า
เมื่อซ่อมใหม่กลับเปลี่ยนเป็นลายกนกแบบโหลๆ ไร้ที่มาที่ไป

นอกจากนี้ ยังมีลายหน้ากระดานในกรอบคดโค้งแบบผูกเงื่อน พร้อมลายประแจจีน ที่ล้วนแล้วแต่คล้ายคลึงกับลายยันตร์มงคลของศิลปกรรมจีน ซึ่งลึกซึ้งเกินกว่าสล่าที่มาซ่อมทับจักสามารถอนุรักษ์ให้คงเดิมได้ จึงถือวิสาสะแก้ไขลายใหม่หมด 
อาจกล่าวได้ว่าหน้าบันแห่งนี้เป็นศิลปะล้านนาแบบคลาสสิครุ่นสุดท้าย ที่มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับฝีมือช่างชาวยองยุคฟื้นฟูเมืองลำพูน นับแต่ พ.ศ.2348 เป็นต้นมา 

อันที่จริงพระอุโบสถหลังนี้ยังอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ จากการลงพื้นที่สำรวจครั้งล่าสุดเมื่อช่วงปลายปี 2553 ก็ยังฝากฝังเจ้าอาวาสให้ช่วยดูแลรักษา พร้อมนำเสนอต่อสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ให้รีบมาดำเนินการประกาศขึ้นทะเบียนในพระราชกิจจานุเบกษาแล้วด้วย 
แต่แล้วในที่สุด ทางวัดเพิ่งจัดงานฉลองพิธียกยอดฉัตรพระอุโบสถหลังใหม่เมื่อกลางปีที่ผ่านมา 
ถือเป็นการฝ่าฝืน "ประกาศคณะสงฆ์เรื่องระเบียบควบคุมโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุภายในวัด" ที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์สังฆนายกลงนามไว้เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2503 และยังมีผลบังคับใช้จวบปัจจุบัน มีความโดยย่อว่า 
"ในกรณีที่วัดยังมิได้ขึ้นบัญชีเป็นโบราณสถานแห่งชาติ แต่หากพบว่ามีโบราณวัตถุ-ศิลปวัตถุที่มีความเก่า ถ้าวัดใดจะเจาะ ขุดรื้อ ซ่อมแซม เปลี่ยนแปลงรูปแบบปูชนียสถานใดๆ ให้รายงานพร้อมภาพถ่ายขออนุญาตต่อคณะสงฆ์อำเภอและจังหวัดโดยลำดับ เพื่อแจ้งต่อกรมการศาสนาและกรมศิลปากรก่อน คณะกรรมการจะช่วยกันพิจารณาความเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อรักษาของเก่าอันมีค่าของชาติไม่ให้ถูกทำลาย หากผู้ใดฝ่าฝืนล่วงละเมิดประกาศนี้ ให้เจ้าคณะผู้บังคับบัญชาลงโทษตามควรแก่กรณี"

จึงไม่ทราบว่าวัดได้ขออนุญาตจากใครหรือยังก่อนที่จะบูรณะ เจ้าคณะตำบล-อำเภอ-จังหวัด? ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนา? วัฒนธรรมอำเภอ-จังหวัด? และที่สำคัญ "กรมศิลป์"? 
หรือว่าใครบางคนในท่ามกลางผู้ที่เอ่ยนามมานี้กลับเห็นดีเห็นงาม เปิดไฟเขียวให้ทางวัดเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้ ทั้งๆ ที่เห็นอยู่ทนโท่แล้วว่าลายสะทายจิ๋นบนหน้าบันอุโบสถนั้นวิจิตรปานใด 
ต่อให้คนต่างถิ่นที่ไม่รู้ปูมหลังของวัดแห่งนี้มาก่อน เพียงแค่ได้ยลลีลาอ่อนช้อยของกินรีก็ยังแทบน้ำตาคลอเบ้าด้วยความเสียดาย น่าน้อยใจแทนคนที่เป็นเจ้าของท้องถิ่นเสียจริงว่า ปล่อยให้ของดีมีค่าถูกย่ำยีไปต่อหน้าต่อตาได้อย่างไร



ถึงเวลาผลักดันโครงการถวายความรู้ 
แด่พระสังฆาธิการสู่วาระแห่งชาติแล้วหรือยัง?


หลายคนถามว่าทำไมกรมศิลป์จึงไม่จัดโครงการอบรมถวายความรู้แด่พระสังฆาธิการบ้าง เพื่อที่เจ้าอาวาสจะได้มีความเข้าใจและตระหนักชัดว่าโบราณสถาน-โบราณวัตถุที่อยู่ภายในวัดนั้น คือมรดกทางวัฒนธรรม เป็นทรัพย์ของแผ่นดิน หาใช่เป็นสมบัติส่วนบุคคลที่เจ้าอาวาสผู้มาทีหลังนึกจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจไม่ 
อันที่จริงโครงการนี้กรมศิลป์จัดเป็นประจำอยู่แล้ว แต่มิอาจครอบคลุมวัดได้ทั่วทั้งประเทศ ด้วยงบประมาณมีจำกัด

เดิมสำนักศิลปากรทั้ง 15 แห่งเคยแยกกันจัดในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ จัดไปจัดมามีนโยบายให้ 3-4 สำนักเป็นเจ้าภาพร่วมกันอีก เห็นแล้วสะท้อนใจที่พระเณรต้องนั่งรถทัวร์จากเชียงรายไปเข้ารับการอบรมที่สุโขทัย โควต้าของวัดในแต่ละจังหวัดที่รอโอกาสเข้าร่วมโครงการนี้ ยิ่งถูดเบียดบังให้เหลือจังหวัดละ 1-2 วัดต่อ 3 ปี เท่านั้น 
และทราบมาว่าล่าสุด โครงการดังกล่าวเปลี่ยนเจ้าภาพไปอยู่ที่ส่วนกลางอีก ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า มีการออกพื้นที่ปีละกี่ครั้ง กี่ภูมิภาค และแต่ละจังหวัดจะต้องรออีกนานแค่ไหนจึงจะเวียนมาถึงคิวของตน 

เกรงว่าจะไม่ทันกับสถานการณ์ร้อนระอุ ที่ปัจจุบันเกิดแฟชั่นของคณะศรัทธาชาวกรุง นิยมนำปัจจัยมาให้วัดในชนบทซ่อมโน่นบูรณะนี่เพื่อเสริมบารมีของตน เห็นอะไรที่เก่ามอซอก็ยุเจ้าอาวาสให้รื้อทิ้งแล้วสร้างครอบใหม่ โดยที่นักวัตถุนิยมเหล่านี้ไม่เคยเข้าใจพื้นฐานหรือเคารพภูมิปัญญาของคนในพื้นถิ่นเลย 
จากความรู้สึกอัดอั้นตันใจของเครือข่ายนักอนุรักษ์ในเฟซบุ๊ก ต่างฝากให้ดิฉันช่วยเป็นกระบอกเสียงแทนว่า ไม่มีใครอยากได้ยินข่าวเรื่อง ศิลปโบราณสถานอันล้ำค่าถูกเจ้าอาวาสรื้อทำลายหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบอีกต่อไปแล้ว



ขอให้อุทาหรณ์ของวัดพระนอนม่อนช้างนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย

การแก้ปัญหาเบื้องแรก ในระหว่างที่รอกรมศิลป์จัดอบรมถวายความรู้แด่พระสังฆาธิการ ควรระดมแจกคู่มือ "แนวทางการอนุรักษ์โบราณสถานสำหรับพระสงฆ์" กระจายไปยังวัดทั่วราชอาณาจักร ยิ่งจัดทำเป็นไฟล์ PDF หรือ E-Book เผยแพร่สู่สาธารณชนอ่านได้สะดวกก็จะยิ่งดี เป็นการเพิ่มแนวร่วมทางวัฒนธรรมให้ขยายวงกว้างขึ้น
อย่าปล่อยให้อุโบสถวัดพระนอนม่อนช้าง ต้องกลายเป็นเหยื่ออันสูญเปล่าของความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ซ้ำซาก

ขอให้บทเรียนราคาแพงที่มิอาจชดใช้หนี้อมตศิลป์กลับคืนมาได้นี้ ช่วยกระตุ้นให้เกิดการผลักดันปัญหาดังกล่าวเข้าสู่วาระแห่งชาติอย่างเร่งด่วน!!!



.