http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-17

The Walking Dead โดย OLDBOY

.

คอลัมน์ “หนังช่างคิด” (DVDเก่า) - Hana-bi : ชีวิตดุจพลุไฟ ความตาย = ปลดปล่อย โดย OLDBOY บางคูวัด

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

The Walking Dead ท้าทายศรัทธา-ความดี บนโลกที่ต้องอยู่ให้รอด!
โดย OLDBOY บางคูวัด Sompratana08@yahoo.com คอลัมน์ “หนังช่างคิด”
ในมติชน ออนไลน์  วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:05:39 น.


ยังไม่ทันที่ The Walking Dead ซีซั่น 3 จะกลับมาบุกจอเมืองไทย( True Visionเริ่มฉาย 21 ต.ค. 2555นี้) ให้แฟนานุแฟน ซีรี่ส์ซอมบี้สะท้านโลกได้เกาะติดงอมแงมกันต่อ
ดราม่า “สรยุทธ์” ณ ไร่ส้ม ก็ปะทุเปรี้ยงปร้าง ขโมยซีนตัดหน้ากันซะดื้อๆ เมื่อเหล่าผู้พิทักษณ์คุณธรรมสื่อ ลงมติพิพากษาให้ นักเล่าข่าวหมายเลข 1 ของเมืองไทย ประหารตัวเองพ้นจอไปเสียดีกว่า (ในสายตาขององค์กรเปี่ยมจรรยาบรรณแล้ว “สรยุทธ์” คงไม่ต่างจาก ซอมบี้หรือ อล์คเกอร์นั่นแหละ)
กลายเป็นบรรทัดฐานให้คนทำอาชีพสื่อหันมามองหน้ากันเลิ่กลั่กว่า จะต้องเลิศเลอ สูงส่ง ขาวสะอาดขนาดไหนจึงจะพอมีที่ยืนได้ หรือชั่วชีวิตคนๆ หนึ่งต้องไม่ผิดพลาด ด่างพร้อยแม้แต่น้อยกระนั้นหรือ?

ก่อนจะไปไกลผิดเป้าหมายของคอลัมน์นี้ กลับเข้ามาคุยเรื่อง The Walking Dead กันดีกว่า สุดยอดซีรี่ส์ ที่อาจไม่อลังการงานสร้างเหมือน The Bands of Brothers หรือจำนวนผู้ชมยังเทียบไม่ได้กับ NCIS 
แต่ในความเห็นส่วนตัวแล้ว 6 ตอนของ ซีซั่นแรก บวกกับ 13 ตอนของ ซีซั่น 2 ของ The Walking Dead ผมยกให้เป็นที่สุดของที่สุดอยู่ในขณะนี้

ด้วยฝีมือของ แฟรงก์ ดาลาบอนด์ (ผมเคยอัญเชิญเขามาแนะนำตัวในคอลัมน์นี้ไปแล้วจากภาพยนตร์เรื่อง The Mist) ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ในการสร้างโปรเจ็กต์ซีรี่ส์ ทั้งยังลงมือ กำกับ ร่วมเขียนบท ในหลายๆ ตอนอีกด้วย ทำให้นักวิจารณ์จำนวนไม่น้อยยกย่องให้เป็นงานสร้างเกี่ยวกับ ซอมบี้ ที่สนุกเข้มข้นชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน  
หากมองเฉพาะโครงเรื่องหลักที่พระเอกและตัวละครกลุ่มหนึ่ง ต้องหาทางเอาชีวิตรอดในโลกที่รกร้าง สิ้นหวัง หลังจากเชื้อร้ายของ ซอมบี้ แพร่ระบาดส่งผลให้มีแต่ฝูงซอมบี้กินคนทุกที่ทุกแห่ง พล็อตแบบนี้ก็ไม่ถือว่าสดใหม่แต่อย่างใด มีการผลิตซ้ำ หรืองานภาพยนตร์ที่ได้รับเสียงชื่นชมมาก่อนอย่าง 28 Days Later, 28 weeks later สร้างชื่อ สร้างความสำเร็จมาก่อนแล้ว  
แต่สิ่งที่ต่างออกไปในความรู้สึกของผมเมื่อเทียบกับการดูซีรี่ส์ที่ตื่นเต้นแบบ 24 หรือ พยายามตั้งคำถามกับสังคมอย่าง Six Feet Under ฯลฯ ก็คือ

The Walking Dead  ร้ายกาจมากกว่าในการพาเราไปร่วมสถานการณ์ที่บีบคั้น กดดันต่อสิ่งมีชีวิตที่เชื่อกันว่า ฉลาด ศิวิไลซ์ เปี่ยมจินตาการ ขับเคลื่อนด้วยความหวัง ยึดโยงกันอยู่ด้วยความเคารพ เชื่อถือ ด้วยศรัทธา อยู่ร่วมกันในสังคมเพื่อสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่ ฯลฯ 
และค่อยๆ ปอกเปลือก แล่เนื้อ เละกระดูก ด้วยการทำลายความเชื่อเดิมๆ ดังกล่าวลงทีละน้อยๆ  ซึ่งปัจจัยคุกคามจาก ผีดิบซอมบี้ เป็นเพียงฉากหลัง สร้างความตื่นเต้นระทึกขวัญเท่านั้นเอง  
สิ่งที่ยากเย็นแสนเข็ญมากกว่าในเรื่องนี้ มิใช่การเอาชนะซอมบี้ แต่เป็นเรื่องการแสวงหาคำตอบ เกี่ยวกับชีวิต ท่ามกลางวิกฤตและปมที่คอยบาดลึกให้พวกเขาสำนึกถึงความผิดที่ติดตัวพวกเข้า ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่งหรือไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

“ริค” พระเอกผู้ดูจะสมบูรณ์ แข็งแรงที่สุดทั้งร่างกาย จิตใจ ฟื้นขึ้นมาหลังโลกกลายเป็นแผ่นดินของเหล่าผีดิบ ดั้นด้นเข้าเมืองแอตแลนต้า กระทั่งตามมาเจอลูกเมีย และกลายเป็นเหมือนผู้นำกลุ่มที่มีกันในราว 10 คน แสวงหาความหวังจากศูนย์วิจัยที่คาดว่าจะคิดค้นวัคซีนต้านไวรัสซอมบี้ หรือทำเลที่ใดสักแห่งหนึ่งที่จะทำให้พวกเขามีชีวิตรอดยืนยาวต่อไปได้  
แต่ท่ามกลางปัจจัยที่รุมเร้า ความคาดหวังจากคนอื่นๆ ความพยายามที่จะเชื่อมั่นในคุณธรรม ความดี ช่วยเหลือกัน ไม่ละทิ้งเพื่อนมนุษย์ด้วยกันของ “ริค” โดนท้าทายและกัดกร่อนลงไปเรื่อยๆ พร้อมกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของเขาก็ดี ความใจอ่อนของเขาเอง ฯลฯ 
นำไปสู่การตั้งคำถามสำคัญว่า ถ้าเพื่อความอยู่รอด เพื่อความปลอดภัยของกลุ่ม ของครอบครัว “ริค” ก็ต้องยอมที่จะมือเปื้อนเลือด พร้อมที่ “ฆ่า” คนที่อยู่ตรงหน้าซึ่งยังเป็น “มนุษย์” หาใช่ ซอมบี้หรือ วอล์คเกอร์ ด้วยหรือ 

ย้อนแย้งและตลกร้ายไหมเล่า สำหรับคนที่พยายามเชื่อมั่นในความเป็น “มนุษย์” กระทั่งปลุกปลอบให้คนที่ทอดอาลัย หันมาฮึดสู้ พยายามที่จะรักษาชีวิตของตัวเองต่อไป แม้จะมีความหวังเหลืออยู่เพียงแค่ระดับ “ปาฏิหาริย์” ก็ตาม แล้ววันหนึ่งเขาก็พรากชีวิตไปจากคนอื่นด้วยเช่นกัน  
หนักกว่านั้นคือฉากที่เสียงส่วนใหญ่ของกลุ่มลงมติให้ “ริค” ประหารเด็กหนุ่มคนหนึ่งเนื่องเพราะเชื่อว่า เขาคือคนที่ไม่ดี และอาจมีอันตรายต่อกลุ่มในอนาคต!  
เป็นสไตล์ที่ผมคิดว่า ผู้กำกับ คนเขียนบท และตัว แฟงก์ ดาลาบอนด์เองก็ “จิต” ไม่ใช่น้อยในการเย้ยหยันผู้ชมที่ติดตามว่า นี่ไงล่ะ พระเอกคนดีของพวกแก 5555  

นอกจากจะเพิ่มโจทย์ความยากในการพากลุ่มให้อยู่รอด สร้างความหวังเล็กๆ ให้เห็นแสงอันริบหรี่ที่ปลายอุโมงค์ ก่อนที่จะกระทืบตะเกียงดวงนั้นลงซ้ำแล้วซ้ำอีก 
การสร้างปมให้กับตัวละครแต่ละตัวมีบุคลิกที่มีมิติ ทั้งน่าเห็นใจ พอๆ กับน่าขยะแขยง พัฒนาบทบาทความเข้มข้นตลอดจนตั้งคำถามที่ท้าทายหลายๆ เรื่องก็เป็นความเอนเตอร์เทนของทีมงานผู้สร้าง The Walking Dead  ที่ผู้ชมก็เสพติดมากขึ้นเรื่อยๆ 

ระหว่างความกล้า กับความกลัว เราควรจะจัดการมันอย่างไร
ระหว่างการเอาตัวรอด ครอบครัว กลุ่ม และเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อันไหนคือสิ่งที่สำคัญที่สุด 
ระหว่างความตายที่เจ้าตัวเลือกแล้ว กับการกัดฟันทนอยู่ต่อไปโดยไม่มีความหวังหรือหลักประกันนั้น
อะไรคือตัวเลือกที่ดีกว่า
ระหว่างศรัทธาต่อพระเจ้า หรือต่อเพื่อนมนุษย์  ระหว่างศีลธรรมความดีงาม กับสัญชาติญาณดิบ เราควรเลือกที่จะพึ่งพาอะไรดี?

ท้ายที่สุดหากยังอยู่รอดได้โดยไม่หลงเหลือความเป็นมนุษย์ แล้ว ความแตกต่างระหว่าง มนุษย์ กับ วอล์คเกอร์ ก็คงมีเส้นแบ่งเพียงเบาบางเท่านั้นหรือไม่
ล้วนแต่เป็นคำถามท้าทายจริยธรรมทั้งสิ้น 
ไม่ต้องรีบตอบหรือด่วนสรุปก็ได้ครับ ... ไว้ไปดู ซีซั่น 3 แล้วค่อยมาคุยกันต่อก็ยังทัน....



+++

Hana-bi : ชีวิตดุจพลุไฟ ความตาย = ปลดปล่อย
โดย OLDBOY บางคูวัด Sompratana08@yahoo.com คอลัมน์ “หนังช่างคิด”
ในมติชน ออนไลน์  วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 17:50:59 น.


 ...ในยามที่ชีวิตหม่นหมองร้องไห้ ... คุณเลือกทำอย่างไร?
แกล้งลืมมันซะ ชีวิตก็แบบนี้ (ที่นี่แ...งเถื่อน), นิ่งๆ ไว้ เดี๋ยวอะไรก็ดีขึ้น, หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง หดหู่เท่าไหร่ก็เติมลงไปอีกเท่านั้น...
ก่อนจะเพ้อเจ้อไปกันใหญ่ ดูเหมือน “ความตาย” อบอวลอยู่รอบตัวตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ถมทับความซึมเศร้า ราวกับจะทดสอบกันให้ถึงที่สุด
กับบางคน ความตายเบาบางดุจขนนก กับบางคนหนักแน่นเหมือนขุนเขา และมีบ้างที่คล้าย พลุหรือ ดอกไม้ไฟ เจิดจ้าในชั่วพริบตาแล้วก็ลับหาย


ขุดกรุภาพยนตร์เก่า Hana-bi ขึ้นมาชมเพื่อหล่อเลี้ยงอารมณ์เคว้งคว้าง (ออกฉายในปี 1997 อาจจะหา DVD ยากสักนิดนึง)
งานกำกับการแสดงของ ทาเคชิ คิตาโน ดาวตลกหน้าตาย(สัญลักษณ์แห่งรายการเกมบ้าบอถล่มปราสาทโอซาก้า)-นักแสดงมากฝีมือ(เล่นบทโหดโคตรเหี้ยมได้สะใจนักแล ใครจะไปลืมแกใน BR ลง)-ผู้กำกับภาพยนตร์สุดแนว แล้วแต่คุณจะเลือกนิยามให้เขา 
แม้จะไม่ได้เก็บงานทุกชิ้นของผู้กำกับภาพยนตร์คนนี้ แต่เท่าที่เคยผ่านตา Hana-bi โดนใจผมแบบครบองค์ประกอบมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นพล็อตเรื่อง บท การแสดง ฯลฯ
อีกทั้งยังรักษาจังหวะความดิบ เถื่อน รุนแรงถึงเลือดถึงชีวิตได้ตามรสนิยมของผมอีกต่างหาก

ใน Hana-bi คิตาโน เลือกที่จะเล่าเรื่องของนายตำรวจหนุ่มใหญ่ในช่วงปลายของอาชีพโดยตัวเขารับบท“นิชิ” เอง
สำหรับ นิชิ ไม่ง่ายเลยที่จะหาหนทางที่ราบรื่นก่อนจะเกษียณ โดยเฉพาะเมื่อภรรยาของเขาป่วยเป็นมะเร็งขั้นร้ายแรงและทั้งคู่ก็ซึมเศร้ากับชีวิตที่ลูกสาววัยกำลังน่ารักมาตายจากไปก่อนหน้านี้

ความซวยซ้ำซ้อนไม่เคยปราณีใครอยู่แล้ว เมื่อโฮริเบะ เพื่อนตำรวจคู่หูของนิชิพลาดท่า โดยแก๊งยากูซ่ายิงจนบาดเจ็บสาหัสกลายเป็นคนพิการ เดินเหินไม่ได้ ครอบครัวล่มสลาย จนอยากฆ่าตัวตายวันละ 3 เวลา
นิชิพยายามแก้แค้น เอาคืนกับแก๊งยากูซ่า ผลที่ตามมา ลูกน้องโดนยิงตายไปอีก 1 เจ็บหนักเพิ่มขึ้นอีกคน

หนังพาผู้ชมเข้าไปรู้จักกับ นิชิ ตำรวจหน้าตายให้ลึกซึ้งมากขึ้นว่า จริงๆ แล้วเขาก็ไม่ได้ตงฉินทุกกระเบียดนิ้ว หากเดินไต่เส้นสีเทาๆ อยู่ท่ามกลางกลุ่มอาชญากร ปัญหารุมเร้ามากขึ้นอีกเมื่อยากูซ่า หันมาเล่นงาน นิชิ เต็มๆ เพราะเบี้ยวเงินที่ยืมมาใช้รักษาภรรยา
นั่นทำให้เรื่องเดินไปสู่ปมขมวดที่เขม็งเกลียวมากขึ้น เมื่อ นิชิ ตัดสินใจปล้นแบงก์แบบทุลักทุเล ด้วยความหวังว่าเงินก้อนนั้น จะถูกนำไปเยียวยาให้กับครอบครัวลูกน้องที่ถูกยิงตาย ฟื้นชีวิตใหม่ให้กับ โฮริเบะ กับเหลืออีกส่วนหนึ่ง สำหรับเขาและภรรยาใช้เสพสุขในวาระสุดท้ายที่กำลังใกล้เข้ามา
แม้นมิใช่คนดีที่ขาวโอโม่ เคร่งจริยธรรม แต่เมื่อผู้ชมติดตาม ทำความรู้จักกับตัวละครจนตรอกอย่าง “นิชิ” มากขึ้นเท่าไหร่ ความเห็นอกเห็นใจในฐานะเพื่อนมนุษย์ก็จะมีมากขึ้น และอดคิดไม่ได้ว่า เพราะเหตุใด พระเจ้า สังคม หรืออะไรก็ตามที่กำหนดชะตากรรมของผู้คนจึงไม่มีความเป็นธรรมในจิตใจเลยสักนิด



การปล้นแบงก์ผิดกฎหมาย เป็นบาปขั้นร้ายแรง แต่เมื่อเงินก้อนดังกล่าวถูกใช้ไปเพื่อต่อชีวิตชายอีกคนหนึ่ง ครอบครัวอีกครอบครัวหนึ่งให้อยู่รอดต่อไป ปริมณฑลของความถูกต้องก็ย่อมถูกตั้งคำถามว่าครอบคลุมขนาดไหน
การนำเงินไปใช้เพื่อสร้างความสุขสักครั้งหนึ่งให้กับผู้หญิงอันเป็นที่รักซึ่งแสนอาภัพ ตั้งคำถามกับเราด้วยเช่นกันว่า
ถ้าเราต้องเป็นผู้พิพากษา เราจะเลือกตัดสิน “นิชิ” อย่างไร
โชคดีที่ท้ายที่สุดแล้ว “นิชิ” เลือกจะตัดสินด้วยตัวเอง 
เป็นภาพยนตร์ที่ไม่ได้ให้ความหวังใดๆ กับชีวิต เล่าเรื่องกึ่งสมจริง ด้วยการแสดงแบบ “หน้านิ่ง” ของ คิตาโน แต่กลับสร้างความสะเทือนใจให้ผมได้อย่างละเมียดละมุน เจ็บ จุก หดหู่

จนกระทั่งยอมรับได้ ณ ขณะนั้นว่า บางครั้ง การตัดสินใจยุติชีวิตตัวเอง ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่มีเหตุผลเฉพาะบุคคลเหมือนกัน
หากความตายหมายถึงการปลดปล่อย ชีวิตเข้มข้นสีสัดจ้านราวกับ “ดอกไม้ไฟ” ที่สว่างจ้าบนฟากฟ้าชั่ววูบหนึ่ง ก็ดับแสงลงได้ในเวลาไม่นานนัก
จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของ “ความมืด” ที่จะทำงานของมันต่อไป 
โดยไม่จำเป็นต้องคาดหวังว่า หลังจากนั้น จะได้อะไร จะเกิดอะไร หรือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใดๆ

เพราะผมก็ตีความสิ่งที่ ทาเคชิ คิตาโน สื่อสารเรื่องความตายในประเด็นที่เป็นเพียงการปลดปล่อยให้ก้าวผ่านความเจ็บปวด บนโครงสร้างที่ยากจะแก้ไขอะไรได้
ตายแล้วก็จบ แต่ไม่ได้หมายความว่า “เจ็บ” จะจากไปด้วย! 
ในโลกแห่งความจริง ปัญหา บาดแผล และความเจ็บปวดก็ยังกอดคอเราอย่างสนิทชิดเชื้อเช่นเดิม 
ชมภาพยนตร์ของ ทาเคชิ คิตาโน จบแล้ว พาลให้นอนไม่หลับ


เสียงเพลงของ Jason Mraz แทรก 4  I won’t give up ที่เคยฟังเพลินๆ รื่นหูกลับกลายเป็นสำเนียงและท่วงทำนองที่กรีดหัวใจ
....

’Cause even the stars they burn
Some even fall to the earth
We?ve got a lot to learn
God knows we’re worth it
No, I won’t give up ….

แล้ววันหนึ่งเราคงได้ปลดปล่อย... ซักวัน



.