http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-18

(สมาธิสั้น) ขาดชีวิตกลางแจ้ง ฯ, ดนตรีบำบัด ร่วมรักษา ฯ โดย นพ. บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล

.

ขาดชีวิตกลางแจ้ง กับสมาธิสั้น
โดย นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล dr.banchob@balavi.com www.balavi.com
คอลัมน์ ธรรมชาติบำบัด ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 05 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1677 หน้า 93


มีข้อสังเกตว่า ภาวะสมาธิสั้นเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วควบคู่กับการเติบโตขึ้นของสังคมเมือง และเด็กจำนวนไม่น้อยในเวลานี้ต้องใช้ชีวิตอุดอู้อยู่ในห้องแคบๆ ขาดการออกกำลังกายและชีวิตกลางแจ้ง 
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ที่เออร์บานา-แชมเปญน์ตีพิมพ์ในวารสารสาธารณสุขอเมริกัน (the American Journal of Public Health) เป็นการศึกษาในระดับทั่วประเทศในเด็กอายุระหว่าง 5-18 ปี ที่ได้ร่วมกิจกรรมกลางแจ้งพบว่า สามารถลดอาการของสมาธิสั้นได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 

ฟรานส์ อี. คูโอ และ แอนเดรีย เฟเบอร์ เทย์เลอร์ ผู้วิจัยกล่าวว่า "ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตกลางแจ้งกับธรรมชาติของเด็กในภาคส่วนต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา ทั้งที่เป็นเด็กที่อาศัยอยู่ในมหานครใหญ่ 
พบว่า การออกไปมีกิจกรรมเกี่ยวกับธรรมชาติซึ่งจัดเป็นคอร์สหลังชั่วโมงเรียนหรือในวันหยุดสุดสัปดาห์ล้วนมีผลอย่างกว้างไกลในการลดอาการต่างๆ ของเด็กสมาธิสั้น"
พวกเขากล่าวอีกว่า "สมาธิสั้นเป็นความผิดปกติทางประสาทวิทยาประการหนึ่งพบในเด็กอเมริกันวัยเรียนถึง 2 ล้านคน และพบในผู้ใหญ่อีกจำนวน 2-4% ของประชากรสหรัฐอเมริกาด้วย บุคคลเหล่านี้ต้องเผชิญกับผลที่ติดตามมาตั้งแต่ปัญหาในโรงเรียน ปัญหาปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ปัญหาซึมเศร้า การติดยา และปัญหาในการทำงานอาชีพ"

งานวิจัยของคูโอและเทย์เลอร์ได้รับการสนับสนุนจากสภาที่ปรึกษาป่าไม้และชุมชนเมืองแห่งชาติ ในสังกัดองค์การป่าไม้สหรัฐอเมริกา ร่วมกับฝ่ายงานความร่วมมือเพื่อการวิจัย ศึกษา และบริการของกรมเกษตรกรรมแห่งชาติ 
พวกเขาทำวิจัยในเด็กผู้ชาย 322 คน เด็กผู้หญิง 84 คน 
คูโอและเทย์เลอร์ได้สัมภาษณ์พ่อแม่ของเด็กและบอกให้รายงานสภาพเด็กก่อนและหลังการทำกิจกรรมชนิดต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบผล กิจกรรมมีหลายประเภทในสภาพแวดล้อมต่างๆ กัน 
มีตั้งแต่กิจกรรมภายในบ้านและนอกบ้าน มีทั้งที่ไม่มีสิ่งแวดล้อมสีเขียว และในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมสีเขียว อาจเป็นกิจกรรมในพื้นที่จอดรถยนต์ กิจกรรมในพื้นที่ชานเมือง หรือเป็นกิจกรรมกลางแจ้งที่สัมพันธ์กับธรรมชาติในระดับใดระดับหนึ่ง เช่น บนบาทวิถีของถนนที่มีต้นไม้ร่มรื่น บ้างเป็นกิจกรรมที่สนามหญ้าหลังบ้าน บ้างเป็นกิจกรรมในสวนสาธารณะ 
ผลวิจัยปรากฏว่าอาการสมาธิสั้นจะลดลงอย่างมากถ้าเด็กได้ทำกิจกรรมกลางแจ้งที่มีสิ่งแวดล้อมสีเขียว ทั้งพบด้วยว่าการทำกิจกรรมประเภทเดียวกันในสิ่งแวดล้อมสีเขียวหรือไม่สีเขียวก็มีผลแตกต่างกันชัดเจน


คูโอซึ่งเป็นศาสตราจารย์ของภาควิชาวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์กล่าวว่า
"ด้วยกิจกรรม 56 ประเภทที่แตกต่างกัน เราพบว่ากิจกรรมกลางแจ้งสีเขียวมีผลสูงสุดในการแก้อาการสมาธิสั้น มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ชัดเจนมาก" เธอกล่าว "จากผลวิจัยเช่นนี้น่าจะนำไปสู่การต่อยอดเป็นการจัดกิจกรรมกลางแจ้งที่สัมพันธ์กับธรรมชาติให้แก่ประชากรทั่วไปในสังคมเมือง เพื่อช่วยแก้ปัญหาเด็กสมาธิสั้นที่มีอยู่มากมายทุกวันนี้ เพราะการใช้ยารักษานั้นได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ทั้งเด็กยังต้องรับผลข้างเคียงที่ร้ายแรงของยา คิดดูซิว่ามีพ่อแม่คนไหนที่อยากจะให้ยาแก่ลูกของตน ยาที่มีฤทธิ์ไปฆ่าความอยากอาหารของเด็กวันแล้ววันเล่า คืนแล้วคืนเล่า ทั้งมีผลทำให้เด็กนอนหลับไม่สนิทตลอดคืน แล้วยังไม่ต้องพูดถึงการใช้จ่ายค่ายาซึ่งแพงมากเพียงใด ถ้าเราเพียงแต่จัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมธรรมชาติให้เด็กๆ วิธีการเช่นนี้ทั้งไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ ไม่ต้องมีผลข้างเคียงใดๆ" 
"ยาสีเขียว ที่เราอาจจัดให้เด็กอาจเข้าไปเสริมหรือแทนที่ยาจริงที่เด็กกินอยู่ก็ได้ ในกรณีที่การกินยายังได้ผลไม่เป็นที่พอใจ หรือบางคนยาเคมีที่กินก็ไม่ได้ผลเอาเสียเลยซึ่งมีอยู่ถึง 10% ของเด็กที่กินยาอยู่

ทุกวันนี้ ยาสีเขียวอาจมีบทบาทเข้ามาชุบชีวิตให้กับเด็กเหล่านี้ ถ้าเขาเพียงแต่รับประทานยาสีเขียวด้วยการเดินผ่านต้นไม้สีเขียวขณะไปโรงเรียน นั่งเรียนหนังสือหรือทำการบ้านข้างหน้าต่างที่มองออกไปเป็นต้นไม้ดอกไม้ หรือได้เล่นในสนามหญ้าสีเขียวหลังโรงเรียนเลิก ถ้าไม่มีจริงๆ ขอเพียงแค่ได้เล่นบนบาทวิถีที่ของถนนที่มีต้นไม้ร่มรื่นก็ยังช่วยเด็กๆ ได้" เธอกล่าว 
"ผลการวิจัยนี้น่าตื่นเต้นมาก เราน่าจะมาถูกทางแล้ว เพราะเรากำลังได้มาซึ่งวิธีการรักษาที่มีศักยภาพสูงและมีผลกว้างไกลสำหรับภาวะสมาธิสั้นที่มีอยู่ในเด็กอเมริกันทุกๆ 1 ใน 14 คน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งมีเด็กสมาธิสั้น 1-2 คนในทุกๆ ห้องเรียน ซึ่งถ้าการวิจัยในเรื่องนี้พิสูจน์ว่าการออกไปสัมผัสธรรมชาติสามารถลดภาวะสมาธิสั้นได้ เราก็น่าจะต้องจัด "เวลาสีเขียว" ไว้ในชั่วโมงเรียนเพื่อเป็นเสมือนการป้อนยาทางธรรมชาติและพฤติกรรมให้กับเด็กสมาธิสั้นเหล่านี้"



การออกกำลังกาย
ช่วยการเจริญของเซลล์ประสาท


งานวิจัยที่มีน้ำหนักอีกชิ้นเป็นสถาบันการแพทย์โฮวาร์ดฮิวส์ (Howard Hughes Medical Institute-HHMI) งานนี้ทดลองในหนูแล้วพบว่าหนูที่วิ่งอยู่เสมอจะเพิ่มการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาท ช่วยในการเรียนรู้และความจำของหนูทดลอง 
เทอเรนส์ เซจโนวสกี ผู้ทำการวิจัยกล่าวว่า "ที่ผ่านมาเราพากันเชื่อว่าถ้าสัตว์เติบโตแล้วเซลล์ประสาทก็ไม่สามารถเจริญเติบโตหรือแบ่งเซลล์ได้อีก แต่ต้อนนี้เราพบแล้วว่ามันเป็นไปได้" 
เมื่องานวิจัยพบเช่นนี้ การฝึกเด็กสมาธิสั้นให้ออกกำลังกาย มีชีวิตกลางแจ้งกับธรรมชาติย่อมช่วยเซลล์ประสาทของเด็กได้ 

"อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงก็คือในกระบวนการรักษาเด็กสมาธิสั้นนั้น แพทย์ไม่ได้ทำอะไรมากนักเกี่ยวกับเรื่องการออกกำลังกายของเด็กเลย" เดวิด กูดแมน (David Goodman) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตเวชแห่งมหาวิทยาลัยการแพทย์จอห์นส์ ฮอปกินส์กล่าว 
"ที่แท้แล้ว การออกกำลังกายมีผลดีกับเด็กสมาธิสั้นมาก เพราะมันไปช่วยเพิ่มสารเคมีสำคัญสองตัวในสมองของเด็ก คือโดปามีนและนอร์เอพิเนฟรีน ซึ่งช่วยให้คนเรามีสมาธิได้มากขึ้น จะสังเกตได้ว่าใครก็ตามถ้าได้ออกกำลังกายแล้วการเรียนรู้จะดีขึ้นมากใน 1-3 ชั่วโมงหลังจากนั้น แต่วันรุ่งขึ้นผลก็จะหมดไปนะ" 

"ถ้าเด็กๆ ได้ออกกำลังกายให้เหน็ดเหนื่อยสักวันละ 3-5 ครั้งพวกเขาก็อาจจะไม่ต้องกินยาอะไรเลย" จอห์น ราเทย์ (John Ratey) ผู้ช่วยศาสตราจารย์คลินิกด้านจิตเวชมหาวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ดเสริมความเห็นตรงนี้ 
ราเทย์เป็นผู้เขียนหนังสือเล่มดังเรื่องการออกกำลังกายช่วยลดอาการสมาธิสั้นได้อย่างไร? ขณะเดียวกัน เจมส์ เพอร์ริน (James Perrin) ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชแห่งโรงพยาบาลบอสตันแมสเจเนรัลก็กล่าวว่า 
"ถ้าเด็กได้เล่นกีฬาแบบเป็นทีม ก็จะช่วยเด็กสมาธิสั้นได้หลายทาง เพราะเด็กจะได้ออกเรี่ยวแรงอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์บางอย่าง ครูฝึกก็อาจจะช่วยนำพาเด็กให้มีสมาธิและสะสมทักษะในระหว่างการเล่นกีฬาดังกล่าว"


ทีวีและวิดีโอ
แลกกับการใช้ชีวิตกลางแจ้ง


จริงๆ แล้ว เด็กๆ ทุกคนพอถึงหน้าปิดเทอมกลางและปิดเทอมฤดูร้อน น่าจะเป็นเวลาที่มีความสุขที่สุด เพราะเขาจะได้พักผ่อนสมองที่ตรากตรำจากการเรียนหนังสือ และต้องอุดอู้อยู่ในห้องเรียน เปลี่ยนไปสู่การเพลิดเพลินกับธรรมชาติ ไปแคมปิ้ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน หรืออื่นๆ จนกระทั่งนักวิชาการเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "ภาวะสมองไหลตอนปิดเทอมฤดูร้อน" 
งานวิจัยบอกเราว่า เมื่อเข้าฤดูร้อนแล้วเด็กนักเรียนจะใช้เวลาน้อยลงกับวิชาคณิตศาสตร์และการอ่านหนังสืออื่นๆ ประมาณ 1-3 เดือน ซึ่งถือเป็นช่วงลดต่ำทางวิชาการของเด็กนักเรียน เด็กไม่ต้องถูกคาดหวังเรื่องการเรียนมากนัก เด็กได้พักผ่อน และแม้แต่ความเข้มงวดของพ่อแม่ต่อเด็กๆ ในเรื่องเวลาเข้านอนก็ได้รับการผ่อนผัน ตรงนี้เรียกว่าภาวะสมองไหลตอนปิดเทอมฤดูร้อน แต่ไม่ใช่การลดลงที่สูญเปล่าถ้าเด็กๆ จะใช้เวลาปิดเทอมในทางที่สมควร

แต่นับเป็นเรื่องน่าเศร้าเหลือเกินที่ว่า ปัจจุบันนี้แทนที่เด็กๆ จะได้ใช้เวลาดังกล่าวกับชีวิตกลางแจ้ง 
พวกเขากลับเสียเวลาอย่างเปล่าดายอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ดูหนังโทรทัศน์ เล่นวิดีโอเกมกับเพื่อน นับเป็นวิถีชีวิตแบบนั่งนิ่งแทนที่จะออกไปเคลื่อนไหวออกกำลังกาย ซึ่งการออกกำลังกายนั้นเป็นประโยชน์ทั้งต่อสุขภาพของเด็กปกติ และจำเป็นอย่างยิ่งกับเด็กสมาธิสั้น

และข่าวล่ามาหลังสุดก็คือ กระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทยนอกจากมีนโยบายแจกแท็บเล็ตให้กับเด็กนักเรียนทั่วประเทศแล้ว ยังมีบางโรงเรียนแสดงความใจดีเพิ่มขึ้นโดยอนุญาตให้เด็กนักเรียนยืมแท็บเล็ตกลับบ้านในระหว่างปิดภาคเรียนด้วย 
คิดดูก็แล้วกันว่าช่วงเวลาปิดเทอมซึ่งเด็กๆ ควรได้ออกไปวิ่งเล่นกลางแจ้ง แต่กลับจะถูกล่อหลอกให้ติดอยู่หน้าจอแท็บเล็ต เพิ่มจำนวนเด็กสมาธิสั้นเข้าไปอีก หรือจะคิดกันว่า คนโง่ปกครองง่าย กระมัง?

แต่ขอบอกเสียก่อนว่าคนสมาธิสั้นไม่ใช่ง่ายที่จะ "เอาอยู่" ถ้าในภายภาคหน้ามีคนสมาธิสั้นเต็มบ้านเต็มเมือง 
ตอนนั้นจะรู้สึก



_________________________________________________________________________________________

อ่านประเด็นเซลล์สมองเด็ก เพิ่มที่ - (การ์ตูนที่รัก) เรื่องมีอยู่ว่า i AM SHOCKOLATE ..โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
http://botkwamdee.blogspot.com/2012/10/z-shocklt.html


++

ดนตรีบำบัด ร่วมรักษาสมาธิสั้น
โดย นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล dr.banchob@balavi.com www.doctoraom.com
คอลัมน์ ธรรมชาติบำบัด ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1678 หน้า 93


ผู้อ่านคงติดตามเรื่องราวของเด็กสมาธิสั้น ซึ่งผมไล่เลียงปัจจัยก่อโรคและกระบวนการรักษาสมาธิสั้นมาพอสมควร 
ในกระบวนการรักษาสมาธิสั้น เรื่องราวของดนตรีบำบัดเป็นแขนงหนึ่งที่ให้ความหวังประการหนึ่ง 
แน่นอนว่าเรื่องราวของดนตรีบำบัดช่วยเด็กสมาธิสั้นได้รับการพิสูจน์มาแล้วมากมาย

เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อปี ค.ศ.1944 มีความเคลื่อนไหวครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ใช้ดนตรีบำบัดในการช่วยรักษาผู้ป่วยซึมเศร้า วิตกกังวล ภาวะเครียดผิดปกติหลังเหตุร้าย (post-traumatic stress disorder-PTSD) และช่วยรักษาภาวะสมาธิสั้นด้วย 
"ดนตรีเป็นอุปกรณ์บำบัดที่สืบสาวย้อนยุคไปได้ไกลมาก แล้วก็เอามารักษาสมาธิสั้นได้ผลซะด้วย" ดร.ดอริส เจียเนตต์ นักจิตวิทยามหาวิทยาลัยฟิลาเดลเฟียกล่าว "ดนตรีลดความวิตกกังวลในผู้คนได้ และแน่นอนเด็กสมาธิสั้นมีความวิตกกังวลสูง"

ดนตรีให้ความสงบแก่เด็กสมาธิสั้นได้ ช่วยให้เด็กมีสมาธิได้มากขึ้น และให้ใจจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้นานขึ้น เมกเคลลี เชสนัต นักดนตรีบำบัดที่นิวเจอร์ซีกล่าว และเนื่องจากดนตรีเป็นของนุ่มนวลและไม่มีลักษณะคุกคามเหมือนการรักษาแบบอื่น เด็กสมาธิสั้นกับผู้บำบัดจึงเผยตัวแก่กันและกันได้ง่ายกว่า และดนตรีก็ช่วยให้เด็กเปิดตัวออกสู่โลกภายนอกได้อย่างเป็นธรรมชาติ การบำบัดด้วยดนตรีสามารถทำได้เป็นกลุ่มหรือเป็นการรักษารายบุคคลก็ได้
การรักษาด้วยดนตรีบำบัดไม่จำเป็นว่าเด็กจะต้องมีความถนัดหรือสามารถในการดนตรีใดๆ เลย แต่ก็เป็นเรื่องแปลกที่ว่า ด้วยดนตรีบำบัดนี้เองแหละที่เด็กสมาธิสั้นบางคนกลับจะมีการสร้างสรรค์ที่ดี และสามารถแสดงความสามารถทางดนตรีของเขาที่หลบซ่อนอยู่ออกมา

ชนิดของดนตรีนั้นไม่สำคัญ แม้ว่านักดนตรีบำบัดบางท่านอย่าง ดร.เจียเนตต์จะบอกว่า ดนตรีคลาสสิกให้ความสงบได้ดีและสามารถเพิ่มไอคิวให้เด็กได้



การวิจัยหลายชิ้นพบว่าการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นจังหวะพร้อมไปกับเสียงดนตรีช่วยพัฒนาสมาธิ ช่วยทักษะการใช้ร่างกาย และยังช่วยผลการเรียนหนังสือของเด็กอีกด้วย
การวิจัยพบว่าด้วยหลักสูตร 3-5 สัปดาห์ ใช้วิธีฝึกโดยให้เด็กสวมหูฟังและติดเครื่องส่งสัญญาณที่มือเท้าของเด็ก แล้วฝึกให้เด็กเคลื่อนไหวร่างกายตามจังหวะเพลงที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ ผลปรากฏว่าเด็กสามารถพัฒนาสมาธิ การใช้ภาษา พัฒนาการเคลื่อนไหวร่างกาย และแม้กระทั่งพฤติกรรมของตนให้ดีขึ้นอย่างชัดเจน 
แต่ขณะเดียวกันเราก็ควรรู้ว่า พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถใช้ดนตรีบำบัดให้กับลูกของตนได้ในบ้าน ขอเพียงพ่อแม่ได้รู้หลักสักนิดก็อาจจะสามารถช่วยเด็กได้ 
ยกตัวอย่าง เช่น การฟังดนตรีด้วยกัน เล่นเครื่องดนตรีอย่างง่ายด้วยกัน หรือร้องเพลงด้วยกัน ก็สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ในระหว่างเด็กกับพ่อแม่ได้แล้ว

เวลาร้องเพลงก็ไม่ต้องกลัวจะผิดโน้ตผิดคีย์ ขอเพียงได้เปล่งเสียงออกมา ก็ได้ประโยชน์แล้ว
และแม้กระทั่งเวลาเข้านอน ถ้าพ่อแม่จะรู้จักเปิดเพลงเบาๆ ก่อนเวลาสักครึ่งชั่วโมง นั่นก็จะช่วยโน้มนำจิตใจของเด็กให้เริ่มสงบและเข้าสู่นิทรารมณ์ได้ 
"ไม่มีอะไรจะสร้างชีวิตชีวาให้กับสมองได้เท่ากับเสียงดนตรี" นพ.โอลิเวอร์ แซกส์ ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยามหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าว นายแพทย์คนนี้เป็นผู้ที่รักษาผู้ป่วยพาร์กินสันด้วยดนตรี ลึกลงไปกว่านั้นดนตรีมีผลกระตุ้นรอยต่อระหว่างเซลล์ประสาทเลยทีเดียว เป็นที่รู้กันว่าเด็กสมาธิสั้นขาดสารสื่อนำประสาทชื่อโดปามีน และงานวิจัยก็พบว่าด้วยดนตรีบำบัดนี่แหละสามารถเพิ่มระดับสารโดปามีนในสมองของเด็ก

แพ็ตตี คาทาโลนา นักประสาทวิทยาด้านดนตรีบำบัดเปิดเผยว่า "ด้วยเครื่องตรวจภาพลักษณ์ของสมอง (brain imaging) ซึ่งสามารถแสดงพื้นที่ของสมองแต่ละส่วนในขณะที่ทำกิจกรรมแต่ละอย่าง มันสามารถบอกได้ว่าว่าส่วนไหนกำลังทำงานอยู่ในขณะนั้น เราพบว่าดนตรีไปกระตุ้นให้ซีกของสมองทั้งขวาและซ้ายสว่างไสวขึ้นมา นั่นแหละเป้าหมายของดนตรีบำบัดละ" 
และการวิจัยอีกชิ้นที่คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดก็พบว่า ด้วยเครื่องตรวจภาพลักษณ์สมอง การได้ฟังดนตรีซิมโฟนีที่แต่งขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 พื้นที่สมองซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการตั้งสมาธิ การจดจำ การคาดคะเน พื้นที่เหล่านี้มีภาวะตื่นตัวขึ้น


ในสหรัฐอเมริกาสมาคมดนตรีบำบัดแห่งอเมริกาถึงกับจัดตั้งบริการในการช่วยจัดหานักดนตรีบำบัดให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องการรับการช่วยเหลือในเรื่องนี้ 
ในประเทศไทย ผมพยายามแสวงหาผู้รู้ซึ่งมีทั้งทฤษฎีและประสบการณ์ในการใช้ดนตรีเพื่อการร่วมรักษาโรคอย่างจริงจัง 
จนกระผมได้มีโอกาสรู้จักการแพทย์ทางเลือกอีกแขนงหนึ่งที่เรียกว่า มนุษยปรัชญา (Anthroposophy) ก่อตั้งโดย ดร.รูดอล์ฟ สไตเนอร์ ซึ่งมีภาคปฏิบัติ 3 ประการคือ 1. กระบวนการศึกษาที่เรียกว่า การศึกษาแบบวอลดอล์ฟ 2. การเกษตรกรรมธรรมชาติ 3. กระบวนการรักษาสุขภาพที่เรียกว่าการแพทย์มนุษยปรัชญา มีการใช้ทั้งศิลปบำบัด ดนตรีบำบัด และนาฏบำบัดที่เรียกว่ายูริธมี จะว่าไปแล้วดนตรีบำบัดในสายของมนุษยปรัชญานับได้ว่า ประกอบด้วยทั้งทฤษฎีและปฏิบัติที่ค่อนข้างเพียบพร้อมเลยทีเดียว

และท่านผู้หนึ่งที่ทำในเรื่องนี้คือ อาจารย์ณภัทร ชัยสุบรรณ์กนก หรือครูมัย ซึ่งกำลังจะจัดกิจกรรมดนตรีบำบัดที่ Healthy Flavor ในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ นั่นทำให้ผมได้มีโอกาสขอสัมภาษณ์ครูมัยในเรื่องราวดังกล่าว 
"ดิฉันจบปริญญาการดนตรีจากคณะศิลปกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็เป็นครูสอนเปียโนมาเรื่อยๆ ต่อมาได้มีโอกาสเล่นเปียโนให้กับนาฏบำบัดที่เรียกว่ายูริธมีของวงการมนุษยปรัชญา จึงได้เริ่มเข้าถึงหลักการดำเนินชีวิตแขนงนี้ แล้วก็โชคดีของดิฉันอีกที่ได้มีโอกาสศึกษาวิชาดนตรีบำบัดจาก สเตฟาน คูห์เนอ (Stefan Kuhne) อาจารย์ชาวเยอรมันผู้โดดเด่นท่านหนึ่งของวิชาดนตรีบำบัดในสายมนุษยปรัชญา เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อ 7 ปีที่แล้วอาจารย์สเตฟานได้มาเมืองไทย เพื่อสอนแสดงวิชาดนตรีบำบัดให้กับโรงเรียนในสังกัดในสายการศึกษาแบบวอลดอล์ฟ ซึ่งตอนนั้นดิฉันแม้จะไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับการบำบัด แต่ด้วยความที่เป็นนักดนตรีจึงได้สมัครเรียนกับอาจารย์โดยไม่เคยรู้ว่าจะต้องเรียนวิชานี้ไปกี่ปี มีแต่ความชื่นชอบในหัวใจที่จูงใจให้ดิฉันเข้าเรียนหลักสูตรกับอาจารย์ เรียนไปเรื่อยๆ โดยอาจารย์แวะเวียนมาจากเยอรมนีเพื่อทำการสอน มารู้ตัวอีกที ดิฉันเรียนมาได้ 7 ปีเข้าไปแล้ว เป็นการเรียนที่เรียนต่อไปได้เรื่อยๆ ยิ่งเรียนก็ยิ่งสั่งสมประสบการณ์มาก"

วิธีการของครูมัยมีทั้งการเครื่องตี เช่น กลอง ฆ้อง ซึ่งถ้าเด็กเล็กก็ให้ตีตามครู บางทีใช้เชลโล่ด้วย เนื่องจากเวลาสีเชลโล่ต้องพาดกับตัว ครูสีให้ดูเด็กจะรับรู้ความสั่นสะเทือนเข้าสู่ร่างกายอย่างสม่ำเสมอ พอเด็กสีเองอาจกระตุกและไม่เรียบ เด็กจะต้องหัดจนได้ความเรียบ แล้วเขาจะตระหนักถึงความสงบ โดยได้ฝึกการใช้สมาธิไปด้วย 
อีกวิธีคือใช้ดนตรีประกอบลูกบอลไม้ เด็กเล่นเป็นกลุ่มได้ ลูกบอลลูกแรกกลิ้งเข้ามาในวงแล้วตามมาด้วยอีกหลายลูก จนเยอะแยะไปหมด เด็กจะเพิ่มระดับความสนใจจนกระทั่งตื่นเต้น แล้วลูกบอลถูกลดลงจนเหลือลูกเดียวแล้วหมดไปในที่สุด เด็กจะเรียนรู้การเพิ่มขีดความตื่นเต้นแล้วนำสู่ความสงบได้ ซึ่งเด็กสมาธิสั้นมักจะขาดความสามารถในเรื่องนี้

กิจกรรมที่ครูมัยจะทำในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ เธอแนะนำว่าเหมาะกับผู้ใหญ่ที่ต้องการระเหิดตัวเอง หรือพ่อแม่เด็กสมาธิสั้นมาเรียนรู้ดนตรีที่จะไปใช้กับลูก ส่วนลูกสมาธิสั้นขอเฉพาะผู้ที่อายุเกิน 9 ขวบไปก่อน หารายละเอียดได้จากเว็บไซต์ข้างต้น ( www.doctoraom.com )



.