http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-16

ฮาทะลุสื่อ โดย จอห์น วิญญู

.
แนะนำหนังสือ - จอห์น เกรียน ยู ของ www.spokedark.tv โดย ดุษฎี สนเทศ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ฮาทะลุสื่อ
โดย จอห์น วิญญู spokedark.tv www.facebook.com/spokedarktv
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1678 หน้า 85 


จริยธรรมสื่อ หรือ จรรยาบรรณสื่อ จากตำราเรียนวิชานิเทศศาสตร์ รายวิชากฎหมายและจริยธรรมการสื่อสาร ระดับปริญญาตรี บอกว่ามีหลักอยู่ 7 ข้อด้วยกัน

หนึ่ง หลักแห่งความถูกต้อง ซึ่งก็หมายความถึง ความถูกต้องในเนื้อหาสาระที่จะนำเสนอไปสู่มวลชน ต้องมีการตรวจสอบมาแล้วเป็นอย่างดี หากภายหลังพบว่าผิดพลาด พึงแก้ข่าวด้วยความรับผิดชอบ

สอง หลักแห่งความซื่อสัตย์ ซึ่งก็คล้ายกับหลักแห่งความถูกต้อง แต่ความไม่ซื่อสัตย์ คือ ความตั้งใจที่จะไม่บอกความจริงแก่ปวงชนด้วนเหตุผลบางประการ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ข้อย่อย คือ หนึ่ง ความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง คือ เสนอเรื่องจริง และ สอง ความซื่อสัตย์ต่อแหล่งข่าว หมายความว่า เสนอข่าวตามที่เค้าให้ข่าวมาโดยไม่บิดเบือน หรือ หากสัญญาว่าจะไม่เปิดเผยชื่อแหล่งข่าวก็รักษาคำพูด

สาม หลักแห่งความเที่ยงธรรม คือ วางตัวเป็นกลางขณะปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะเมื่อเกิดความขัดแย้ง เพราะหากนำเสนอมุมมองแต่เพียงด้านเดียว จะตกเป็นเครื่องมือให้แหล่งข่าวอาศัยหาประโยชน์ได้ นอกจากนี้ไม่ควรเลือกที่รักมักที่ชัง คือ ตัดสินใจเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดล่วงหน้า อันอาจจะเกิดอคติกับการรายงานข่าวอย่างไม่ยุติธรรมได้

สี่ หลักว่าด้วยการไม่คัดลอกเรื่องของคนอื่นแล้วอ้างว่าเป็นของตน ประมาณว่าอย่าขี้ลอกไปหน่อยเลยเฮอะ!

ห้า หลักว่าด้วยความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การเป็นสื่อมวลชนก็มักต้องมีส่วนเกี่ยวพันกับโฆษณาประชาสัมพันธ์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทำให้นักสื่อสารมวลชนมักถูกดึงเข้าไปเกี่ยวพันกับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ อาจได้รับการเสนอผลประโยชน์เช่น เงิน ของมีค่า หรือ สิ่งตอบแทนยวนใจอื่นๆ อันนำมาซึ่งความมีอคติบวกอคติลบต่อการเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับผู้เสนอผลประโยชน์ให้ อิอิ

หก หลักแห่งการไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

เจ็ด หลักแห่งการนำเสนอภาพในงานสื่อสารมวลชน เกี่ยวเนื่องกับหลักแห่งการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่เน้นการนำเสนอภาพ โดยไม่คำนึงถึงบุคคลที่ตกเป็นข่าว


นี่ก็คือหลักจรรยาบรรณสื่อ ที่พูดถึงกันปาวๆ มาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมานะขอรับ

ประชาชนผู้เสพสื่อก็คงต้องพิจารณาด้วยตนเองว่าสื่อๆๆๆๆๆ ที่ท่านเสพกันอยู่ทุกวันนี้ มี "จริยธรรม" ตามหลักการที่ว่ามามากน้อยเพียงใด เรียกร้องให้มีกันนัก อย่างน้อยก็ลองคิดพินิจให้ดีว่าหลักมันมีอะไรบ้าง จริงไหมขอรับ อิอิ?
แล้วอีกเรื่องก็คือ คำว่าสื่อ คำว่านักข่าว มันมีกรอบอยู่ตรงไหนหรือไม่อย่างไร ผมไม่รู้จริงๆ ครับ ปัจจุบันเห็นใครก็เป็นสื่อกัน ต้องมีคนตามข่าวสารจากคนคนนั้น หรือองค์กรองค์กรนั้น เท่าไหร่ ถึงจะนับว่าเป็นสื่อ สิบคน? ร้อยคน? แสนคน? ล้านคน? สิบล้านร้อยล้าน? ยังไงครับ?

ผมไปงานหนังสือแห่งชาติปีล่าสุดที่ผ่านมา มีหนุ่มหน้าตาเนิร์ดๆ คนนึงเข้ามาขอถ่ายรูปด้วยกล้องโปรฯ เลย แชะๆๆ บอกให้ผมทำท่านั้น ทำท่านี้ ให้ผมถ่ายรูปโปรโมตหนังสือของตัวเอง
พอถ่ายรูปเสร็จด้วยความสงสัย ผมก็เลยถามว่าพี่ทำอะไรอยู่ที่ไหนอย่างไร เขาตอบชื่อเล่นของเขากลับมาสั้นๆ แล้วบอกว่าตัวเองเป็น "สื่อ" ครับ
ผมก็ไม่ได้อะไรหรอก ก็คงคิดว่าเป็นคนจากสำนักข่าวไหนสักที่ (ไม่ว่าจะสำนักฯ หนังสือ สำนักฯ เว็บ อะไรก็แล้วแต่)

แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าถ้าเขาไม่ได้เป็นสื่อ เขาเป็นเพียงคนเล่นเน็ตคนหนึ่งที่ทำเว็บไซต์แล้วออกหาข่าวเอง มาทำข่าวงานหนังสือ แล้วเอาไปเผยแพร่ต่อ เราจะเรียกเขาว่าสื่อไหม? 
เราจะเรียกเขาว่านักข่าวไหม? 

แล้วถ้าเกิดเว็บไซต์ของพี่แกมีคนตามอ่านกันวันละหลายพันหลายหมื่นคน เราจะเริ่มเรียกเขาว่าสื่อได้หรือยัง?

แล้วพ่อหนุ่มเนิร์ดคนนี้จะเป็นนักข่าวไหม? 
หรือต้องเข้าสมาคมนักข่าวฯ ก่อน ถึงจะเป็นนักข่าวได้? 
แต่เขาก็หาข่าวเป็นเรื่องเป็นราวอยู่ทั่วงานหนังสือฯ เลยนะ (มาคนเดียวแถมเดินสัมภาษณ์คนทั้งวันเลย ท่าทางเอาจริงเอาจังมากพอตัวเลยทีเดียว)

หรือยังไงครับ? 
นักข่าวคือผู้หาข่าว 
ผู้สื่อข่าว/ผู้ประกาศข่าว คือคนรับสารจากนักข่าวมาแจ้งต่อ  
ส่วนผู้เล่าข่าว คือผู้นำข่าวที่ได้รับทราบไม่ว่าจะจากนักข่าวหรือผู้สื่อข่าว/ผู้ประกาศข่าวมาแปลงคำพูดให้ฟังง่าย (เพราะภาษาของผู้สื่อข่าวหรือผู้ประกาศข่าวอาจฟังดูยากหรือเป็นทางการเกินไป)




ที่เขียนมาเนี่ยก็โฉบไปมา เพราะเรื่องของ คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ซึ่งเราๆ ท่านๆ ก็คงฟังกันมาจนหูชาทั้งอาทิตย์แล้วแหละ ทั้งเรื่องเนื้อหาของคดี เรื่องการออกมาแสดงศีลธรรมและเสนอแนะโน่นนั่นนี่ นี่นั่นโน่น ของสื่อผู้มีจริยธรรมสื่ออันดีทั้งหลาย 
ก็ดีเหมือนกัน มันทำให้ผมอยากกลับไปอ่านจริยธรรมสื่อชัดๆ อีกสักรอบสองรอบ

จะได้ยิ่งขำได้ถนัดถนี่เวลาเห็นอาการของพวกที่ออกมาปากสั่นเท้าสั่น อยากร่วมวงยำคุณสรยุทธ 
  กรั่กกรั่กกรั่ก



อ้างอิง : ข้อมูลเรื่องจริยธรรมสื่อบางส่วนจากเอกสารประกอบรายวิชากฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชน The Eastern University of Management and Technology



+++

จอห์น เกรียน ยู โดย จอห์น วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ และwww.spokedark.tv
โดย ดุษฎี สนเทศ คอลัมน์ คนกับหนังสือ
ในมติชน ออนไลน์  วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 08:35:44 น.


ในยุคปัจจุบันกระแสสังคม หรือข่าวคราวต่างๆ หนักหน่วง จนบางทีเราอาจไม่เข้าใจในเนื้อหาข่าวสารที่สื่อนำเสนออย่างแท้จริง หรือไม่ได้ตระหนักว่า วาระซ่อนเร้นของข่าวสารคืออะไร คงจะดีไม่น้อยถ้ามีใครมาช่วยกรองข่าวสารจากเรื่องยากๆ หนักๆ ให้กลายเป็นเรื่อง เกรียนๆŽ ที่เข้าใจง่าย

ความเกรียนดังกล่าวปรากฏขึ้นอย่างแพร่หลายในกระแสสังคมยุคสมัยแห่งโลกเสมือนดิจิตอลกำลังจะครองโลก ทำให้การแสดงความคิดเห็น วิพากษ์ วิจารณ์เป็นไปอย่างจัดเต็ม จัดหนัก

ถึงขั้นว่า จอห์น วิญญู และทีมงาน spokedark.tv ต้องถ่ายทอดความเกรียนผ่านหนังสือ จอห์น เกรียน ยู เล่มนี้ ที่นำเสนอลีลาเฉพาะตัวภายใต้ท่าทีเสียดสียั่วล้อประชดประชันแบบ เกรียนๆŽ
นำเรื่องใหญ่ๆ ยากๆ เพี้ยนๆ ในสังคมไทยมาปรุงรสชาติให้จิ๊ดจ๊าด เสิร์ฟให้ผู้อ่านได้เพลิดเพลิน พร้อมกับจุดประกายความคิด ปรับทัศนคติบางอย่าง และแปรผันไปสู่ทางออกของปัญหาต่างๆ ที่ยังตีบตันอยู่ ถึงแม้ว่านิยามความเกรียนจะเป็นไปในทางลบ
แต่ในมุมกลับกัน ถ้านำไปใช้ให้ถูกจังหวะ ถูกสถานการณ์ โดยเฉพาะเรื่องเครียดๆ ที่ยากต่อการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ความเกรียนก็จะช่วยให้เรารู้อะไรได้อย่างเนียนๆ

เช่น ละครหลังข่าวภาคค่ำปลูกฝังค่านิยมเพี้ยนๆ ให้กับคนไทย เบื้องลึกชีวิตไอคอนแห่งวงการไอทีอย่าง สตีฟ จ๊อบส์ สัญลักษณ์จอมเผด็จการอย่างฮิตเลอร์ กลายมาเป็นสินค้า ภาพสาวโชว์ของอล่างฉ่างกลางรัฐสภา การศึกษากับปัญหาเงินแป๊ะเจี๊ยะ ปัญหาสารตั้งต้นยาเสพติดกับมูลค่ายาบ้า ความแตกต่างระหว่างคนเมืองกับพลเมือง ฯลฯ

งานเขียนเล่มนี้น่าจะเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่จุดประกายความคิดของผู้อ่านให้มีทัศนคติ และมุมมองที่รอบด้าน เพื่อให้ทันต่อกระแสสังคมที่เชี่ยวกรากในยุคปัจจุบัน



.