http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-13

ประชาธิปไตย vs. อำนาจนิยม : 2516+2535 vs. 2519+2534+2549 โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

ประชาธิปไตย vs. อำนาจนิยม : 2516+2535 vs. 2519+2534+2549
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1678 หน้า 36


"รัฐที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้
ก็คือรัฐที่ไม่สามารถอนุรักษ์ตนเองได้เช่นกัน"
Edmund Burke
นักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษ



การเมืองไทยในรอบ 39 ปี มักจะกลับไปมาระหว่างตัวแบบของประชาธิปไตยกับตัวแบบของอำนาจนิยม 
กล่าวคือ เมื่อกองทัพประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจ และสามารถดำรงอำนาจทหารไว้ในการเมืองไทยได้ระยะหนึ่ง แต่ในที่สุดแล้วก็เกิดการลุกขึ้นประท้วงและขยายวง จนนำไปสู่การโค่นรัฐบาลได้ (เช่นกรณี 2516+2535) 
ซึ่งตัวแบบเช่นนี้ก็มักจะตามมาด้วยการเปิดระบบการเมืองหรือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างประชาธิปไตย 


อย่างไรก็ตาม ระบอบการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นมักจะเผชิญกับปัญหาสำคัญประการหนึ่งก็คือ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้นำรัฐบาลกับผู้นำทหาร
ในที่สุดแล้วความขัดแย้งดังกล่าวจะถูกนำมาใช้เป็นประเด็นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ผู้นำทหารในการโค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (เช่นกรณี 2519+2534+2549) 
และกลายเป็น "วงจรของการล้มลุกคลุกคลาน" ที่ไม่จบสิ้นในการเมืองไทย


ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย!

หากเราลองสำรวจปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขที่เอื้อให้ฝ่ายประชาธิปไตยเป็นผู้ได้รับชัยชนะทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์การชุมนุมของ "มวลมหาประชาชน" ทั้งในกรณี 14 ตุลาคม 2516 หรือช่วงของเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ก็ตาม จะพบปัจจัยร่วมที่น่าสนใจ ได้แก่

- บทบาทของชนชั้นกลาง 
การชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่ทั้งในปี 2516 และ 2535 นั้น เห็นได้ชัดเจนถึงผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากที่เป็น "ชนชั้นกลาง" หรืออาจจะกล่าวให้มีลักษณะเฉพาะมากขึ้นก็คือ "ชนชั้นกลางในเมือง" ซึ่งถือกันว่าพวกเขาเป็นผลผลิตโดยตรงของระบอบเสรีนิยมทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ และพวกเขาแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนในการไม่ยอมรับต่อระบอบการปกครองของระบอบทหาร
แม้ว่าในช่วงหนึ่งชนชั้นกลางจะพึงพอใจกับระบอบทหาร ในฐานะของการเป็นผู้ค้ำประกันทางการเมืองต่อความกลัวคอมมิวนิสต์ กล่าวคือ ทัศนะต่อภัยคุกคามจากปัญหาคอมมิวนิสต์เอื้อให้ชนชั้นกลางจำเป็นต้องพึ่งพาสถาบันกองทัพเป็นกลไกในการต่อสู้กับความกลัวของพวกเขา

แต่เมื่อระดับความกลัวของชนชั้นกลางลดลง อันเป็นผลจากทัศนะต่อภัยคุกคามเปลี่ยนแปลงไป ชนชั้นกลางเริ่ม "กลัวทหาร" มากกว่า "กลัวคอมมิวนิสต์"
หรือในทำนองเดียวกันก็มองว่ากองทัพเป็นภัยคุกคามทางการเมืองมากกว่าแล้ว เมื่อนั้นแรงสนับสนุนของชนชั้นกลางต่อกองทัพย่อมเปลี่ยนแปลงไป และกลายเป็นผู้ที่อยู่กับฝ่ายต่อต้านทหาร ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจสอดรับกับอุดมการณ์แบบเสรีนิยมที่ถูกมองว่าเป็น "แกนหลัก" ของอุดมการณ์ทางการเมืองของชนชั้นกลาง
ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่ชนชั้นกลางกลับไปสู่การยึดเอาอุดมการณ์เสรีนิยมเป็นทิศทางหลักแล้ว เมื่อนั้นบทบาทของกองทัพจะเผชิญกับการต่อต้านจากชนชั้นกลางอย่างรุนแรงเช่นในปี 2516 และ 2535 นั่นเอง

- บทบาทของทหาร 
เมื่อใดก็ตามที่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อนั้นมักจะพบว่ากองทัพเองก็เผชิญกับปัญหาภายในสถาบันทหารด้วย เพราะในความขัดแย้งนั้น กองทัพเป็นศูนย์กลางของปัญหาในตัวเอง ในบริบทของตัวผู้นำ หรือในบริบทของสถาบันทหาร  
และจากเหตุการณ์ 2516 หรือ 2535 สะท้อนเห็นประเด็นที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เมื่อผู้นำทหารอีกส่วนหนึ่งเริ่มไม่ยอมรับผู้นำทหารที่อยู่ในอำนาจ 
ความขัดแย้งระหว่างผู้นำทหารเช่นนี้มีนัยสำคัญ เพราะกลายเป็นปัญหาในศูนย์กลางอำนาจของกองทัพเอง

ดังเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในยุค 2516 ว่า กลุ่มของ จอมพลถนอม กิตติขจร และ จอมพลประภาส จารุเสถียร มีความขัดแย้งกับกลุ่มของ พลเอกกฤษณ์ สีวะรา เป็นต้น 
หรือในช่วงปี 2535 ก็เห็นได้ชัดถึงความขัดแย้งภายในปีกของผู้นำทหารด้วยกันเอง แม้จะอยู่ในความเป็นรุ่นเดียวกันใน จปร.5 ก็ตาม นอกจากนี้ ยังเกิดความแตกแยกระหว่างผู้นำทหารในส่วนของ จปร.5 กับ จปร.7 (กลุ่มยังเติร์ก) 
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญในกรณีนี้ก็คือความสำเร็จของการเดินหน้าสู่กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยมาพร้อมกับความแตกแยกอย่างหนักภายในสถาบันทหาร เพราะหากผู้นำทหารในตำแหน่งหลักยังคงความเป็นเอกภาพอยู่สูง และตัดสินใจที่จะปะทะกับฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยแล้ว โอกาสที่ระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยจะดำเนินไปได้อย่างง่ายดายนั้น คงจะเป็นเรื่องยาก

- บทบาทของภัยคุกคาม 
สถานการณ์ที่เอื้ออำนวยให้ระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเดินหน้าไปโดยไม่ถูกขัดขวางก็คือ การที่ภัยคุกคามของประเทศลดระดับความรุนแรงลง เพราะหากทุกฝ่ายในสังคมยังมีทัศนะต่อภัยคุกคามว่าอยู่ในระดับสูงแล้ว โอกาสที่ผู้นำทหาร กลุ่มชนชั้นกลางจะยอมรับให้การเมืองก้าวสู่ระยะเปลี่ยนผ่านคงเป็นไปได้ไม่ง่ายนัก เพราะกลุ่มเหล่านี้อาจจะกังวลว่า ภัยคุกคามที่รุนแรงนั้นยังจำเป็นต้องอาศัยกำลังทหารเป็นเครื่องมือในการค้ำประกันความมั่นคงของประเทศ  
สถานการณ์ภัยคุกคามทางทหารของปัญหาคอมมิวนิสต์ในช่วงปี 2516 ไม่ได้รุนแรงแต่อย่างใด และโดยเฉพาะในปี 2535 นั้น สถานการณ์ก้าวเข้าสู่ยุคหลังสงครามเย็นแล้ว ก็ยิ่งบ่งบอกถึงการลดลงของระดับภัยคุกคาม ซึ่งก็เป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้ความกลัวทางการเมืองไม่กลายเป็นอุปสรรคต่อระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

- บทบาทของมวลชน
การชุมนุมจะมีพลังได้ก็จะต้องมีการชุมนุมขนาดใหญ่ของประชาชน การชุมนุมทั้งในปี 2516 และ 2535 ล้วนแสดงให้เห็นถึงการรวมตัวขนาดใหญ่ จนกลายเป็น "ภาพประวัติศาสตร์" ของการเมืองไทย 
ซึ่งปัจจัยจากขนาดของจำนวนประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมเช่นนี้ได้กลายเป็น "น้ำหนักทางการเมือง" ในตัวเอง เพราะการชุมนุมที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นสัญญาณที่ชัดเจนในตัวเองที่บ่งบอกถึงความไม่พอใจของประชาชนต่อผู้นำทหาร

นอกจากนี้ หากพิจารณาจากปัจจัยเชิงปริมาณของปัญหานี้ เราพอจะสรุปได้อย่างสังเขปว่า ยิ่งมีประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมมากเท่าใด โอกาสที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น 
แม้ปัจจัยเชิงปริมาณของมวลชนจะไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาด แต่การจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยปราศจากการชุมนุมขนาดใหญ่ของมวลชนนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก



ชัยชนะของฝ่ายอำนาจนิยม!

ในขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยได้รับชัยชนะ ฝ่ายอำนาจนิยมก็ได้รับชัยชนะไม่แตกต่างกัน องค์ประกอบดูจะไม่แตกต่างกัน หากแต่เป็นด้านกลับของอีกฝ่ายหนึ่ง ได้แก่

- บทบาทของชนชั้นกลาง 
บทบาทของชนชั้นกลางในบริบทการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยจะมีลักษณะของการต่อต้านบทบาททหารในทางการเมือง แต่ในการเปลี่ยนไปสู่ระบอบอำนาจนิยมนั้น พวกเขามีความกลัวต่อภัยคุกคามอาจจะทั้งทางการเมืองและการทหาร ในสภาพเช่นนี้พวกเขากลายเป็นผู้ที่เรียกร้องให้กองทัพเข้ามามีบทบาททางการเมือง เช่น ตัวแบบในละตินอเมริกา
ชนชั้นกลางในบริบทของความกลัวทางการเมืองมักจะกลายเป็นกลุ่มอนุรักษนิยม และพร้อมที่จะเรียกร้องหาการค้ำประกันจากกองทัพ ขณะเดียวกันก็พร้อมจะยกเลิกแนวคิดเสรีนิยมของตน โดยหันไปทำหน้าที่สนับสนุนระบอบอำนาจนิยมได้ไม่ยาก 
ดังนั้น ปัจจัยแห่งความสำเร็จของฝ่ายนี้จึงได้แก่ การสร้างให้ชนชั้นกลางเกิดทัศนะความกลัวต่อภัยคุกคาม และเชื่อว่าเพื่อปกป้องภัยคุกคามดังกล่าว กองทัพในเวทีการเมืองของชาติจึงเป็น "ความจำเป็นอันชั่วร้าย" ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

- บทบาทของทหาร
ในการตัดสินใจล้มระบอบการเลือกตั้งนั้น ผู้นำทหารในฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจะต้องมีเอกภาพและความพร้อมที่จะใช้กำลัง หรือหากเปรียบเทียบกับเงื่อนไขของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย จะพบว่าผู้นำทหารมีความแตกแยกทางความคิดอยู่ค่อนข้างมาก 
แต่ในการตัดสินใจแทรกแซงการเมืองนั้น พวกเขามีเอกภาพมากกว่า และมีลักษณะของการเกาะกันมาก อาจจะเพราะผู้นำทหารเองไม่ได้มีความมั่นใจว่า การตัดสินใจล้มระบอบการปกครองของรัฐบาลพลเรือนจะสำเร็จหรือไม่ ประกอบกับกลัวการรั่วไหลของข้อมูลข่าวสาร อันอาจนำไปสู่การกวาดล้างจากทางฝ่ายรัฐบาลได้ 
ในสภาพเช่นนี้ ผู้นำทหารจึงมีลักษณะของการเกาะกลุ่มกันและสร้างเครือข่าย ไม่ว่าจะอาศัยความเป็นรุ่น (จปร.5 ในรัฐประหาร 2534) หรือความเป็นกลุ่ม (กลุ่มบูรพาพยัคฆ์ในรัฐประหาร 2549) อันจะเป็นหลักประกันของการสร้างฐานอำนาจในการควบคุมกองทัพเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง

- บทบาทของภัยคุกคาม
การจะล้มระบอบการเลือกตั้งให้ได้นั้น จำเป็นต้องสร้างภาพของภัยคุกคามให้เกิดขึ้น ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่รัฐประหารในอดีตจะต้องอาศัยภัยคอมมิวนิสต์เป็นข้ออ้าง และข้ออ้างใช้ต่อเนื่องอย่างยาวนาน ยิ่งหากมีเหตุการณ์ในภูมิภาคเป็นองค์ประกอบด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้ข้ออ้างดังกล่าวมีความสมจริงมากขึ้น 
เช่น ภัยคุกคามจากภายนอก ในกรณีนี้ของสถานการณ์ในลาวกับรัฐประหาร 2501 หรือสถานการณ์ในอินโดจีนกับรัฐประหาร 2519 เป็นต้น

แต่ในกรณีรัฐประหาร 2534 และ 2549 ภาพของภัยคุกคามกลับเป็นเรื่องของระบบการเมือง เช่น การคอร์รัปชั่นกับรัฐบาลพลเรือน ตลอดรวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันสำคัญ และเรื่องเหล่านี้ยังรวมถึงการสร้างภาพของความขัดแย้งภายในให้ดูรุนแรงและน่ากลัว จนกลายเป็นความชอบธรรมของกองทัพที่จะต้องเข้ามาปกป้องระบอบการเมืองด้วยการล้มรัฐบาลเดิม 
ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบอำนาจนิยมจึงจำเป็นต้องสร้างความน่ากลัวของภัยคุกคามให้เกิดขึ้นในใจคนให้ได้ และยิ่งมีผู้รับสารเช่นนี้มากเท่าใด ก็ยิ่งง่ายในการล้มรัฐบาลมากเท่านั้น

- บทบาทของมวลชน 
การระดมมวลชนเข้าร่วมมีความจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยฉันใด การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบอำนาจนิยมก็ต้องอาศัยการระดมมวลชนฉันนั้น เป็นแต่มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น มวลชนฝ่ายขวาในปี 2519 ถูกปลุกระดมอย่างหนักและพร้อมที่จะเข่นฆ่าฝ่ายนักศึกษาได้ไม่ยากนัก 
หรือมวลชนนิยมทหารในปี 2549 ถูกสร้างให้ออกมาเคลื่อนไหวบนถนนเพื่อให้ภาพของรัฐประหารที่เกิดขึ้นเป็นการสนับสนุนจากประชาชนในเมือง 
ตลอดรวมถึงการใช้ปฏิบัติการข่าวสาร เช่น ตัววิ่งในโทรทัศน์ และการปล่อยข่าวในสื่อเพื่อแสวงหาความสนับสนุนจากมวลชน



วังวน !


เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กำลังก้าวสู่ปีที่ 39 ขณะที่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก้าวสู่ปีที่ 36... 
แต่การเมืองไทยก็ยังวนเวียนกลับไปมาระหว่างประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม

แม้วังวนนี้จะดำเนินต่อไปโดยยังไม่มีจุดยุติที่ชัดเจน แต่อย่างน้อยก็เห็นได้ชัดเจนว่า องค์ประกอบของระยะเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นทำให้การก้าวสู่ความเป็นอำนาจนิยมซับซ้อนมากขึ้น!



.