http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-12

ฝันค้าง, ทราบแล้ว“เปลี่ยน”?, กลัวชาวนารวย?, ด้วยสัมผัสของผู้หญิง, ข้อหาฆ่า!? ในคอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

.
คอลัมน์ ชกไม่มีมุม - จะเชื่อคนในห้องมืดๆ หรือ โดย วงค์ ตาวัน
คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง - เขย่าขวัญ การเมือง/การเมือง เรื่อง ถอดยศ/เรียกเบี้ยหวัด คืน


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ฝันค้าง
โดย สมิงสามผลัด  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องของกลุ่ม อจ.นิด้าที่ขอให้มีคำสั่งยุติ โครงการรับจำนำข้าวตุลาการมีมติเป็น 9-0 เห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ร้องไม่ได้ถูกละเมิดหรือไม่ใช่ผู้เสียหาย 
ความจริงมีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญคงไม่รับคำร้องนี้
เพราะโครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายแห่งรัฐที่นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงต่อสภา
ฉะนั้น ผู้ที่ต้องรับผิดชอบตรวจสอบนโยบายของรัฐก็คือรัฐสภาไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้น อำนาจ 3 ฝ่ายสับสนปนเปกันไปหมด


ย้อนกลับไปที่ผู้ร้องคือกลุ่มอจ.นิด้าก็น่าจะทบทวนบทบาทใหม่ 
ประเด็นที่ร้องว่าการจำนำข้าวกระทบกลไกตลาด อาจทำให้ประเทศเสียหายนั้น
ต้องถามว่าแล้วใครได้ประโยชน์จากโครงการนี้

ล่าสุดนายกฯยิ่งลักษณ์แถลงยืนยันมีการทำสัญญาส่งออกแบบจีทูจี (รัฐต่อรัฐ) กับหลายประเทศ รวมทั้งกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย ได้เห็นสัญญาซื้อขายทั้งหมด 6 สัญญายอดที่ขายข้าวไปมี 8 ล้านตันเม็ดเงินถึงมือชาวนาเต็มๆ ได้ลืมตาอ้าปากกันถ้วนหน้า
อีกอย่างผลการสำรวจความเห็นของนิด้าเองเรื่องจำนำข้าวก็ยืนยันตรงนี้ได้ เพราะโพลชี้ว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศ 64.53 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยกับโครงการจำนำข้าว เพราะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
49.64 เปอร์เซ็นต์ยังเห็นว่าควรเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป เพราะชาวนาได้รับประโยชน์โดยตรง


แปลกใจอย่างยิ่งที่ผลสำรวจของนิด้ากับความเห็นของ อจ.นิด้าถึงไปคนละทิศละทางแบบนี้
หรือ อจ.นิด้าไม่อ่านผลสำรวจของสถาบันตัวเอง มองข้ามความเห็นของคนส่วนใหญ่ของประเทศ


มุ่งแต่จะดิสเครดิตรัฐบาลอย่างเดียว ฝ่ายค้านก็มีอันต้องฝันค้างไปด้วย เพราะข้อมูลเด็ด‘ล้มจำนำข้าว’ที่เตรียมจะใช้ในศึกซักฟอกรัฐบาลก็ต้องพับเก็บไปโดยปริยาย
เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่สั่งยุติโครงการนี้



++

ทราบแล้ว“เปลี่ยน”?
โดย มันฯ มือเสือ  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


ช่วงมหาอุทกภัยปลายปีก่อน
มวลน้ำเหนือที่เคลื่อนเข้าท่วมกรุงเทพฯ ได้นำความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับผู้บริหาร กทม.ที่อยู่ต่างพรรคกันมาด้วย
คำพูดของ "คุณชายหมู" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ฮือฮามากที่สุดตอนนั้นคือ
"ผมมีหน้าที่รับผิดชอบต่อชาว กทม. ไม่ใช่รับผิดชอบต่อคนทั้งชาติ"


ไม่รู้คนกรุงคิดอย่างไร แต่คำพูดดังกล่าวก็สะท้อนตัวตนของคุณชายหมูได้หมดเปลือก 
มหาอุทกภัยปี"54 จบลงด้วยรัฐบาลและผู้บริหารกทม. เปียกมะล่อกมะแล่กทั้งคู่ ก่อนค่อยๆ เลิกรากันไป

กลับมาฮึ่มฮั่มใส่กันอีกครั้งเมื่อราวๆ เดือนเศษมานี้ 
เริ่มจาก กทม.พยายามขัดขวางการปล่อยน้ำทดสอบระบบคูคลองในกรุงเทพฯ ของรัฐบาล 
ตามด้วยกรณีตำรวจนครบาลร่วมกับกรมราชทัณฑ์ นำผู้ต้องขังชั้นดีออกมาช่วยขุดลอกท่อระบายน้ำกรุงในช่วงฝนตกหนัก 
กลับถูกผู้บริหาร กทม.กล่าวหาว่าทำงานซ้ำซ้อน เพราะกทม.ส่งเจ้าหน้าที่ไปขุดลอกท่อไว้หมดแล้วตั้งแต่เดือนม.ค.-มี.ค.
ส่วนเศษปูนเศษกระสอบทรายที่พบอุดเต็มรู กทม.ก็ตั้งแง่สงสัยว่ามีคนเอาไปยัดไว้เพื่อจัดฉากใส่ร้าย กทม.


ผู้บริหารบางคนยังอ้างว่า กระสอบทรายที่พบเป็นของหน่วยงานอื่น แนวท่อก็ไม่ได้อยู่ในเขตรับผิดชอบของ กทม.
จนล่าสุดคนในซีกรัฐบาลก็ดั้นด้นไปพบจนได้ 
กระสอบทรายสกรีนชื่อสำนักการระบายน้ำ กทม. ถมเต็มท่อ ย่านถนนศรีนครินทร์

ขณะที่คุณชายหมูบอกว่านั่นคือเทคนิคบริหารจัดการน้ำวิธีหนึ่ง ทั้งยังขู่ว่าถ้าใครเคลื่อนย้ายรื้อออกจะถูกแจ้งความดำเนินคดี 
สิ่งที่เกิดขึ้นคือเศษเสี้ยวของศึกการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. 
แต่ก็ถือเป็นโอกาสดีที่ชาวกรุงเทพฯ จะเก็บเกี่ยวข้อมูลก่อนการตัดสินใจครั้งสำคัญว่า

ถึงเวลา"เปลี่ยน"แล้วหรือยัง?



++

กลัวชาวนารวย?
โดย คาดเชือก คาถาพัน  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


ถึงวันนี้เสียงคัดค้านโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลก็ยังดังกระหึ่มอยู่
ส่วนหนึ่งโทษใครไม่ได้นอกจากรัฐบาลเอง ที่พูดจาอ้อมๆ แอ้มๆ 
ถ้าขายได้ 7 ล้านตันอย่างที่ว่า ทำไมไม่ประกาศให้ชัดถ้อยชัดคำว่าจะส่งมอบเมื่อไหร่ ไปไหน ได้เงินรวมมาทั้งหมดเท่าไหร่
ถ้าไม่มีทุจริต หรือมีทุจริตแต่ไม่ใช่คนในรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำไมไม่ "ฟัน" ให้ดูเป็นตัวอย่าง ทั้งเพื่อป้องมิให้คนอื่นทำ และปรามให้เสียงครหาเบาลง
แล้วจริงๆ โครงการนี้จะขาดทุนมโหฬารบานเบอะอย่างที่โฆษณาชวนเชื่อกันหรือไม่

ตัวเลขจากเว็บไซต์ของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เป็นราคาซื้อขาย "ข้าวสาร" เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2555 นี้เอง
ราคาข้าวหอมมะลิเกรดเอฤดู 53/54 อยู่ที่ 1,100 เหรียญสหรัฐ/ตัน ข้าวหอมมะลิเกรดเอฤดู 54/55 อยู่ที่ 1,143 เหรียญ/ตัน 
ข้าวหอมปทุมธานี 993 เหรียญ/ตัน ข้าวขาว 100% เกรดบี 594 เหรียญ/ตัน
ข้าว 5% อยู่ที่ 578 เหรียญ/ตัน ข้าว 25% อยู่ที่ 564 เหรียญ/ตัน ข้าวนึ่ง 100% อยู่ที่ 594 เหรียญ/ตัน
อยากรู้ว่าตันละเท่าไหร่ เอา 31 คูณเข้าไป
อันเป็นราคาขาย-วงเล็บไว้ด้วยว่าถ้าขายได้


จะขาดทุนหรือกำไรก็ต้องมาเทียบกับราคาต้นทุนการรับจำนำที่ประกาศไว้-เอาแค่ตัวหลักๆ คือข้าวหอมมะลิตันละ 20,000 บาท กับข้าวขาวทั่วไปตันละ 15,000 บาท
จำนำจริงหักค่าความชื้นไปแล้ว ข้าวหอมมะลิอาจจะอยู่ที่ 18,000 บาท ข้าว 5% อยู่ที่ 12,000 
คิดออกมาเป็นต้นทุนหลังการสีแปรแบบแพงเข้าไว้ 
ข้าวหอมมะลิอาจจะอยู่ที่ 36,000 บาท ข้าว 5% อยู่ที่ 24,000 บาท 
เทียบตัวเลขกับราคาส่งออกก็รู้ว่าขาดทุนแน่ๆ

แต่ถ้าขาดทุนแล้ว เงินส่วนนี้ไม่เกิน 5-6 หมื่นล้านอย่างที่ประกาศไว้ และส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับชาวนาจริงๆ ไม่รั่วไหล 
จัดการทุจริตให้เห็น อย่าให้มีเสียงครหาได้ 
ก็ยังพออาศัย


ถ้าชาวนาที่เป็นคนร้อยละ 20 ของประเทศนี้ลืมตาอ้าปากได้จะกลัวอะไร 
กลัวทำไมถ้าชาวนาจะรวย?



++

ด้วยสัมผัสของผู้หญิง
โดย จ่าบ้าน  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันอังคารที่ 09 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.
วันที่ 09 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.  ข่าวสดออนไลน์


สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีเหตุอีกหลายเรื่องที่เจ้าหน้าที่อาจคาดเดาไม่ถึง
เช่นกรณีการห้ามทำการค้าหรือขายของในวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันหยุดทางศาสนาอิสลาม นับเป็นการคืบเข้าไปสู่การข่มขู่อย่างที่ไม่มีใครคาดคิด หรือกะการเอาไว้

การห้ามทำธุรกิจเป็นการฝ่าฝืนเสรีภาพทั้งตามรัฐธรรมนูญของประเทศ และการเป็นผู้คนในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรี อย่างเป็นธรรม การจะจำกัดเสรีภาพดังกล่าวนั้นได้ ต้องเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ ไม่ใช่ใครก็ได้ที่มากำหนดกฎเกณฑ์ตามใจ 
แต่สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสถานการณ์ที่เกือบจะเรียกว่าการสู้รบ ดังนั้น การจะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องแล้วแต่ว่าชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจะปลอดภัย หรือไม่
เพราะความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนคือสิ่งสำคัญที่สุด


นับแต่รัฐบาลที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความพยายามที่จะสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และประเทศไทย ถึงกับไปประกาศในที่ประชุมสหประชาชาติว่าจะใช้ความเป็นผู้หญิงสร้างสันติภาพและสันติสุขให้เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้จนได้ โดยเฉพาะกรณีของประเทศที่มีข้อพิพาทกันในเรื่องของหมู่เกาะ ทั้งยังมีความหวังที่จะสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเร็ว

กรณีดังกล่าว ทั้งรัฐบาลทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับผู้บัญชาการตำรวจและเหล่าทัพซึ่งมีการหารือกันในเรื่องนี้เมื่อไม่นานมานี้ น่าจะเป็นนิมิตอันดีที่เมื่อทุกฝ่ายหันหน้าเข้ามาหากันเพื่อแสวงหาแนวทางของ การสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น ก็น่าเชื่อได้ว่า ปัญหาบางประการจะนำไปสู่การแก้ไขที่เหมาะสม ดังเช่นกรณีของผู้เข้ามามอบตัวครั้งหลังสุดจากยะลาทั้ง 9 คน

ขอยืนยันว่า หากทุกฝ่ายใช้ความจริงใจนำการเมือง ใช้การเมืองนำการทหาร และใช้มิติทางวัฒนธรรมนำไปสู่ความเข้าใจ
ปัญหาที่เกิดขึ้นมานานนับสิบนับร้อยปีก็จะแก้ไขได้โดยง่าย ในไม่ช้าไม่นานนี้



++

ข้อหาฆ่า!?
โดย สมิงสามผลัด  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันเสาร์ที่ 06 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


คืบไปอีกก้าวสำหรับคดีสลายม็อบแดง 98 ศพ * 
กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมหารือกับตำรวจ และอัยการ ถึงสำนวนการสอบสวนคดี นายพัน คำกอง แท็กซี่เสื้อแดงที่ถูกยิงตาย 
เพื่อตั้งเป็นคดีฆาตกรรม !? 
เป็นผลต่อเนื่องจากคำสั่งของศาลอาญาที่ชี้ว่าการตายของ นายพัน คำกอง เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

โดย พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่จาก เหตุการณ์ชุมนุม ปี 2553 จำนวน 98 ศพ ระบุชัดเจนว่า 
"หลังจากศาลมีคำสั่งว่าเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็เป็นคดีฆาตกรรมโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบสำนวนคดี เพื่อตั้งเป็นคดีฆาตกรรม"
ขั้นตอนต่อไปพนักงานสอบสวนก็ต้องสอบปากคำทหารที่ประจำการตรงจุดที่นายพัน คำกอง ถูกยิงเสียชีวิต 
สอบให้ชัดเจนว่า วันเกิดเหตุได้ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างไร 
ใครเป็นคนสั่งการ
ทำตามคำสั่งของ ศอฉ.อย่างไร แล้วเป็นเพราะเหตุใดที่มีผู้เสียชีวิต

เป็นการไล่สอบไปตามลำดับการบังคับบัญชาของทหาร 
เพื่อเป้าหมายคือ "ผู้สั่งการสูงสุด" ให้ทหารนำอาวุธสงครามเข้าปฏิบัติหน้าที่จนเกิดการเสียชีวิตขึ้น

คดีนายพัน คำกอง ถือเป็นคดีแรกที่ตั้งเป็นคดีฆาตกรรม 
มีอีกเกือบ 40 สำนวนที่มีการยื่นฟ้องว่าเป็นการตายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ 
ยังไม่นับสำนวนคดี "พยายามฆ่า" ที่ต่อแถวเข้าคิวรออยู่อีกจำนวนมาก 


ต้องไม่ลืมว่าจากเหตุการณ์สลายม็อบแดง 98 ศพนั้น มี ผู้บาดเจ็บถูกยิงเกือบ 2 พันราย 
บางรายทุพพลภาพ บางรายสูญเสียอวัยวะ 

ฉะนั้น ผู้บาดเจ็บเหล่านี้ถือเป็นพยานปากสำคัญในคดีพยายามฆ่า 
มีความหนักแน่นกว่าพยานแวดล้อมทั้งหมด 

ทั้งคดีฆาตกรรมและคดีพยายามฆ่าจึงเป็นกลไกสำคัญ

ในการเอาผิดผู้สั่งปราบปราบประชาชน



+++

จะเชื่อคนในห้องมืดๆ หรือ
โดย วงค์ ตาวัน  คอลัมน์ ชกไม่มีมุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


ในสายตานักข่าวมืออาชีพหลายคนและหลายชาติ ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุวัดปทุมวนารามในเย็น-ค่ำวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ทั้งเห็นความจริงด้วยสายตาของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน กระทั่งบางคนถูกยิงบาดเจ็บด้วยซ้ำ
ทั้งหมดนี้ยืนยันได้อย่างชัดเจน ว่ามีแต่กองกำลังของศอฉ.เท่านั้นแหละที่ยิงเข้าใส่ผู้คนภายในวัดปทุมวนาราม
จนเป็นเหตุให้มีคนตาย 6 ศพ

ทำไมนักข่าวระดับนี้ อยู่ภายในวัดปทุมฯ กับผู้ชุมนุมจำนวนมาก 
จึงยืนยันได้อย่างไม่ลังเลเลยว่า ไม่มีชายชุดดำ!! 
บอกด้วยซ้ำว่าในวัดส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ชาวนา ชาวบ้าน 
ไม่ใช่พวกฮาร์ดคอร์ 

จะมีก็แค่การยิงพลุเพื่อตอบโต้การระดมยิงของเจ้าหน้าที่ศอฉ. 
ขนาดพระสงฆ์กับนักข่าวจะเข้าไปช่วยชายที่ถูกยิงล้มลง 
ยังโดนเจ้าหน้าที่ ศอฉ.ยิงใส่ 
ยิงใส่ไม่เว้นพระที่ห่มเหลือง ยิงใส่วัดสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธด้วย!

ทั้งหมดนี้เผยแพร่อย่างเปิดเผยในสื่อหลายประเทศที่เป็นอิสระ 
ทั้งในนาทีเกิดเหตุผ่านทางอินเตอร์เน็ต และในสื่อสังกัดของเขาหลังจากนั้นไม่กี่วัน


นาย สตีฟ ทิกเนอร์ ผู้สื่อข่าวช่างภาพของ ดิ ออสเตรเลียน นายมาร์ก แม็กคินนอน แห่งหนังสือพิมพ์ เดอะโกล้บ แอนด์ เมล์ ของแคนาดา นายแอนดรูว์ บันคอมบ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ ดิ อินดีเพนเดนต์ แห่งอังกฤษ 
เราจะเชื่อคนในวิชาชีพสื่อสารมวลชน ซึ่งอยู่ในสังกัดสื่อที่มีชื่อเสียงระดับโลก 
หรือจะเชื่อข้อมูลของ 2 คู่หูแห่งศอฉ. การข่าวของวอลเปเปอร์ ความเห็นของปลาบู่!?!
ลองคิดดูเถิด


ระหว่างคนที่เป็นมืออาชีพด้านการบันทึกความจริง กับนักการเมืองที่หมกตัวอยู่ในห้องแคบๆภายในค่ายทหาร รับฟังแต่รายงานที่เขาป้อนให้
ไม่เคยโผล่หูตาออกมารับแสงสว่าง สัมผัสความจริงบนท้องถนนนับเดือนๆ 
เราจะเชื่อถือใคร


แล้วการตัดสินใจในห้องมืดๆ ภายใต้ข่าวกรองที่เห็นบนกระดาษนั้นเอง 
ที่นำมาสู่โศกนาฏกรรมของ 6 ศพในคืนนั้น และรวมถึงทั้ง 98 ศพ!



+++

เขย่าขวัญ การเมือง/การเมือง เรื่อง ถอดยศ/เรียกเบี้ยหวัด คืน
คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง  ในข่าวสดออนไลน์  วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


 ถึงแม้แสงแห่งสปอตไลต์จะฉายจับไปยังการขับเคลื่อนคดีชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต 30 กว่าศพที่น่าเชื่อว่าเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐในเหตุการณ์เดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 
พร้อมกับคำถามถึงความรับผิดชอบของบุคคล 2 คน 
คน 1 คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรี คน 1 คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี

 การโหมประโคมในเรื่อง ชายชุดดำ คือเงาสะท้อนแห่งอาการ 
 อาการเหมือนที่ ศอฉ.โหมประโคมเรื่อง ชายชุดดำ หลังสถานการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 เพื่อสร้างความชอบธรรมในการส่งรถหุ้มเกราะ อาวุธสงครามพร้อมกระสุนจริงเข้าสลายการชุมนุมในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 
 กระนั้น หลายคนก็รับรู้ว่าคดีอันเกี่ยวกับการตาย 98 ศพ และบาดเจ็บร่วม 2,000 คนยังอยู่ในชั้นศาลซึ่งต้องใช้เวลาอีกยาวนานพอสมควร


 แต่คดีการใช้เอกสารเท็จนั่นซิ น่าหวาดเสียวกว่า
 ขณะนี้กระทรวงกลาโหมได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งมี พล.อ. ม.ล.ประสบชัย เกษมสันต์ รองปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน
 เป็นคณะกรรมการรวบรวมข้อมูลเพื่อถอดยศและเรียกเบี้ยหวัดคืน 
 คืนจากบุคคลคนหนึ่งซึ่งใช้หลักฐานไม่ถูกต้องสมัครเข้ารับราชการทหารกระทั่งได้รับยศ ร.ต. 
 กรรมการประกอบด้วย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ชาญ โกมลหิรัญ เจ้ากรมเสมียนตรา พล.ต.รณชัย มัญชุสุนทรกุล เจ้ากรมจเรทหารบก พล.ต.สุรเดช เฟื่องเจริญ เจ้ากรมกำลังพลทหารบก ซึ่งล้วนเป็นคณะกรรมการซึ่งเคยชี้มูลว่าเอกสารการเข้ารับราชการนั้นไม่ถูกต้อง 


 ธงที่ตั้งไว้คือการถอดยศและเรียกเบี้ยหวัดคืน 
 หากในที่สุดคณะกรรมการของกระทรวงกลาโหมชุดนี้ลงความเห็นว่า หลักฐานที่ใช้ในการสมัครเข้ารับราชการไม่ถูกต้อง 
 หมายถึง 1 ต้องถูกถอดยศ 1 ต้องเรียกเบี้ยหวัดคืน 

 สมมติว่าบุคคลผู้นั้นต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และปัจจุบันมีสถานะเป็นส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อสังกัดพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่ง 
 ความผิดนี้จะมีผลในทางจริยธรรมหรือไม่

 หากมีการรวบรวมรายชื่อและนำเรื่องนี้เสนอต่อประธานรัฐสภาให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผลจะเป็นอย่างไร
 จะต้องพ้นจากสมาชิกภาพแห่ง ส.ส.หรือไม่


 กรณีการตาย 98 ศพและบาดเจ็บร่วม 2,000 คนอาจต้องอยู่ในกระบวนการยุติธรรมยาวและนาน
 ขณะที่เรื่องของใครบางคนซึ่งใช้หลักฐานไม่ถูกต้องสมัครเข้ารับราชการทหารอาจไม่นานเท่าใดนัก อาจไม่เกินสิ้นเดือนตุลาคม 2555 ก็มีคำตอบ

 ทุกอย่างเหมือนกรรมติดจรวด




.