http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-13

อย่างเป็นทางการ โดย คำ ผกา

.

อย่างเป็นทางการ
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1678 หน้า 89


มีเหตุการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยอย่างน้อย 4 เหตุการณ์ที่ไม่สามารถถูกนับรวมเข้าไปเป็นหนึ่งใน "ประวัติศาสตร์ฉบับทางการ" นั่นคือ การปฏิวัติสยาม 2475, เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภา 2535
ส่วนการล้อมปราบประชาชนครั้งล่าสุดในปี 2553 นั้นหากไม่มีความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของการเมืองไทยอย่างถึงรากก็คงกลายเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ไม่อาจถูกนับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยฉบับทางการ
เรานับอย่างไรว่าเหตุการณ์ใดถูก "นับ" เป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ฉบับทางการ ตัวฉันเองนับที่
1. มันถูกกล่าวถึงในแบบเรียนสำหรับนักเรียนหรือไม่ อย่างไร? 
2. เรามีมิวเซียม หรือการจัดนิทรรศการเพื่อพูดถึงเรื่องเหล่านี้โดย "รัฐ" หรือ หรือ หน่วยงานสถานศึกษาที่รับทุนสนับสนุนจากรัฐหรือไม่? 
3. เหตุการณ์เหล่านี้ได้สร้าง "พล็อต" ของประวัติศาสตร์ไทยฉบับใหม่ขึ้นมาแทนที่ฉบับเก่าๆ ได้หรือไม่ (ทั้งฉบับของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ฉบับที่เป็นผลผลิตของคณะราษฎร โดย หลวงวิจิตรวาทการ, ฉบับของฝ่ายขวาใหม่อย่าง คึกฤทธิ์ ปราโมช 
ยังไม่ต้องพูดถึงงานของฝ่ายขวา "ก้าวหน้า" ที่อาจครองอำนาจนำทางปัญญาของสังคมไทยร่วมสมัยได้ อย่างงานของ ประเวศ วะสี และคณะ



การปฏิวัติสยาม 2475 นั้น แน่นอนว่ามันปรากฏอยู่ในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ แต่นับจากรัฐบาลขั้วตรงกันข้ามของคณะราษฎรขึ้นเถลิงอำนาจหลังปี 2500 สถานะของการปฏิวัติสยามเปลี่ยนจากการนำความ "ศิวิไลซ์" มาสู่สังคมสยาม กลายเป็น "การชิงสุกก่อนห่าม"-ปัญหาความคลอนแคลนของระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย การคอร์รัปชั่นของนักการเมือง การรัฐประหารที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า อำนาจที่ล้นเกินของกองทัพ ปัญหากลุ่มทุนผูกขาด ฯลฯ เหล่านี้ล้วนอธิบายว่าเป็นเพราะคณะราษฎรอันประกอบด้วยคนหนุ่มปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม เห่อฝรั่ง รีบร้อนทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยที่คนไทยไม่พร้อม (อันนำมาซึ่งคำถามว่า "เมื่อไหร่จะพร้อม? ใครเป็นคนเคาะระฆังว่า เอาละ นาทีนี้คนไทยพร้อมแล้ว?)
ถึงที่สุดแล้ว การอธิบายปัญหาประชาธิปไตยของไทยในวาทกรรม "ทางการ" ไม่ได้อยู่ที่ "ความพร้อม" ซึ่งหมายถึงเงื่อนไขของระยะเวลา แต่อยู่ "ใคร" เป็นคนเปลี่ยนมากกว่า

สถานะของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในมิวเซียม ถ้าพูดถึงมิวเซียมอย่างเป็น "ทางการ" คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั้นแทบจะไปกันไม่ได้เลยกับโครงเรื่องในพิพิธภัณฑ์ทั้งหมด 
ส่วนพิพิธภัณฑ์อื่นๆ จำต้องผนวกและสร้างพล็อตของ 2475 ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับอุดมการณ์หลักของชาติไทยชุดล่าสุด และสอดคล้องกับที่ปรากฏในแบบเรียน (ที่ย้อนแย้งในตัวมันเองอย่างมากที่สุดคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินั้นเป็นผลผลิตของชาติสมัยใหม่หลังการปฏิวัติ 2475 แต่ตัว 2475 เองกลับไม่มี "ที่อยู่" ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้) 
ท้ายที่สุด 2475 ไม่สามารถเปลี่ยนโครงเรื่องหลักของประวัติศาสตร์ชาติไทยฉบับทางการได้ แต่ถูกผนวกไปเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ทางการฉบับนั้นเพื่อขับเน้นแสนยานุภาพของหัวใจแห่งการดำรงอยู่ของความเป็นไทยเอาไว้



อรุณ วัชระสวัสดิ์ เขียนไว้ในการ์ตูนของเขาว่า "กลัดกระดุมเม็ดแรกผิดก็ผิด" ฉันคิดว่าประโยคนี้ใช้อธิบายประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของไทยได้เป็นอย่างดี (แต่อย่างว่านะ ผิดของเราแต่ถูกของคนอื่น) นั่นคือประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของไทยที่ควรจะกลัดกระดุมให้ถูกตั้งแต่เม็ดแรกคือ "2475" ได้กลัดผิดเสียแล้ว และแม้แต่นักเขียนประวัติศาสตร์ของฝ่าย 2475 เองก็ไม่ได้ "กลัด" ให้ถูกต้อง 
(ฉันอาจจะพยายามเข้าข้างพวกเขามาก หากจะอธิบายความไม่ถูกต้องนี้ด้วยการบอกว่า พวกเขามีเวลาน้อยเกินไป เพราะแม้แต่จะสถาปนา คำศัพท์ทางการเมืองร่วมสมัยในภาษาไทยให้อยู่ใน track ของความเป็นประชาธิปไตย เสรีนิยม ก็ยังไม่สามารถทำสำเร็จ มิหนำซ้ำยังถูกปัญญาชนฝ่ายขวา อย่าง สอ เสถบุตร เป็นต้น ช่วงชิงคำศัพท์และความหมายทางการเมือง ไปเสียสิ้น)

2475 ของไทย เปรียบเสมือนกระดุมเม็ดแรกที่กลัดผิด เพราะไม่ได้สถาปนาความเป็น "ไทยใหม่" ที่ต่างจาก "ไทยเดิม" แต่กลับเน้นความสืบเนื่องของอาณาจักรไทยแต่โบราณ ลงมาถึงปัจจุบั
หากกล่าวเช่นนี้ก็อาจเขียนได้อีกอย่างหนึ่งว่า เราไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่า "ประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่" เพราะประวัติศาสตร์ของเรามันต่อเนื่องสืบทอดมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยนู่น 
นั่นก็เท่ากับว่าเรายังคงส่งต่อมรดกแบบ "สุโขทัย" ลงมาถึง "กรุงเทพฯ" อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง (และถูกขับเน้นให้เด่นชัดยิ่งขึ้นโดยปัญญาชนฝ่ายขวา ไม่ว่าจะเป็น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หรือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) โดยไม่เคยเกิดการระเบิดตัวขึ้นของจิตสำนึกใหม่ เช่น ที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศในโลกนี้ที่มีการแตกหักอย่างใดอย่างหนึ่งกับสังคมก่อนสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการแตกหักจากการปฏิวัติหรือการแตกหักจากการต่อสู้เพื่อปลดแอกตนเองจากการปกครองของเจ้าอาณานิคม 
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบรรจุเหตุการณ์ "สมัยใหม่" ลงไปในกรอบของประวัติศาสตร์ที่เน้นการสืบทอดคุณค่าของโลกปรัมปรา


ยิ่งเหตุการณ์ที่ตอกย้ำความไม่ลงรอยไม่สามารถสร้างความสืบเนื่องตามพล็อตของประวัติศาสตร์ดังกล่าวก็ยิ่งไม่สามารถหาตำแหน่งแห่งหนให้กับเหตุการณ์เหล่านี้ได้
ไม่เว้นแม้กระทั่ง 14 ตุลาคม 2516 และ พฤษภาคม 2535 ที่เอาเข้าจริงๆ แล้วสามารถผนวก (จับยัด, บิดผัน) เข้ากับประวัติศาสตร์ฉบับทางการได้อย่างไม่ยากนัก
ผิดกับ 6 ตุลาคม 2519 และเมษายน-พฤษภาคม 2552 ที่แปลกแยกกับประวัติศาสตร์แห่งชาติเสียจนต้องพยายามทุกวิถีทางที่ "ลบ" มันออกจากการรับรู้และความทรงจำ ไม่ว่าจะเป็นการลบทางรูปธรรม (Big Cleaning Day หลังการสลายการชุมนุมปี 2552) หรือลบทางนามธรรมนั่นคือ ไม่มีการพูดถึง วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย ในฐานะที่เป็นเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยโดยสิ้นเชิง ไม่มีการรำลึกอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล ไม่มีผู้นำของรัฐบาลแม้แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งออกมา acknowledge เหตุการณ์นี้ในฐานะที่เป็นหมุดหมายสำคัญของชาติ ไม่ต้องพูดถึงว่าเหตุการณ์นี้มีพื้นที่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหรือไม่

และคงไม่ต้องถามว่าจะบรรจุเหตุการณ์เหล่านี้ลงใน "แบบเรียน" ประวัติศาสตร์ เพราะนี่ไม่ใช่ "ประวัติศาสตร์ แต่คือความด่างพร้อย บัดสี ที่รังแต่จะนำความอับอายขายขี้หน้ามาสู่ "ชาติ" เป็นอดีตที่คนร่วมสมัยอยากจะลืมเลือน และหากเป็นไปได้ ก็ไม่อยากให้คนรุ่นหลังรู้ว่ามันเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในบ้านเมืองของเรา 
ประวัติศาสตร์ฉบับทางการของไทยจึงเป็นเหมือนหนังสืองานศพที่เต็มไปด้วยการสรรเสริญเยินยอเทิดทูนอดีต เวลาที่เราอ่านหนังสืองานศพ
เราจะพบแต่คุณงามความดีล้วนๆ เพราะนั่นเป็นการรำลึกถึงคนที่จากเราไปแล้ว และเราถูกสอนว่า เราควรเก็บไว้แต่ "ความทรงจำที่ดีๆ"

แต่เรามักลืมไปว่า "ชาติ" นั้นยังมีชีวิตอยู่ การรำลึกอดีตของชาติจึงไม่จำเป็นที่ต้องเก็บไว้แต่ความทรงจำที่ดีๆ เท่านั้น แต่ความทรงจำที่แย่ๆ ความเจ็บปวดต่างหากที่จะช่วยให้เราเติบโต



หากไม่มีการรัฐประหารในปี 2549-เหตุการณ์ 2475, ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 และ พฤษภาคม 2535 คงไม่ถูกอ่านใหม่จากประชาชน และคงไม่มีความพยายามที่จะกลับไปเยี่ยมเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อีกรอบ จนกระทั่งนำมาซึ่งการอภิปรายถึง นำมาซึ่งการรื้อค้นหาเศษซากความทรงจำที่พอจะหลงเหลือเพื่อจะปะติดปะต่อชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์นั้นกลับขึ้นมาใหม่ 
ในกระบวนการของการปะติดปะต่อหลักฐานและก่อรูปความทรงจำใหม่ขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามัน ประชาชนไทยกลุ่มหนึ่ง กำลังสนทนากับอดีตในแบบที่พวกเขาไม่เคยสนทนามาก่อน 

ประชาชนกลุ่มที่พยายามจะทั้งอ่านและเขียนอดีตขึ้นมาใหม่ คือประชาชนที่เห็นว่า ประวัติศาสตร์ของชาติมิใช่หนังสือเพื่อระลึกถึงคนที่จากไปแล้วจึงต้องบันทึกไว้แต่ความเรืองรองของอดีตที่บ่อยครั้งไม่เป็นความจริง พวกเขาแค่อยาก "รู้จักตัวเอง" และตระหนักว่าการยอมรับด้านอัปลักษณ์ของตนเองต่างหากที่จะช่วยสร้างสังคมที่มีวุฒิภาวะขึ้นมาได้ และสังคมที่มีวุฒิภาวะคือสังคมที่จะไม่เอาเก้าอี้ไปฟาดใครเพียงเพราะเขากับเราเชื่อไม่เหมือนกัน

ทีละเล็กทีละน้อย-นี่อาจเป็นสิ่งที่นักเรียนประวัติศาสตร์อย่างพวกเราใฝ่ฝันที่จะเห็นนั่นคือ อำนาจของการเขียนประวัติศาสตร์ไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่ในมือของเหล่าปุโรหิตและโหราจารย์อีกต่อไป  
ประชาชนจะค่อยๆ ปะติดปะต่ออดีตของพวกเขาขึ้นมาเอง ประชาชนจะไม่แยแสมิวเซียมของชาติ อนุสาวรีย์ของชาติ แต่ประชาชนจะสร้างมิวเซียมและสถานที่เก็บความทรงจำ บาดแผล ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชน พวกเขาจะสร้างภาพยนตร์ที่พูดถึงเรื่องเหล่านี้ 

พวกเขาสร้างอนุสาวรีย์ให้กับการแตกหักของประวัติศาสตร์ วิชาประวัติศาสตร์ในแบบเรียนจะถูกเยาะเย้ย ข้อสอบทุกประเภทในประเทศนี้ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องขำขันน่าหัวร่อ การโฆษณาชวนเชื่อกลายเป็นวัตถุดิบเพื่อสร้างความเริงใจในชีวิตประจำวัน

ถึงวันนี้คงไม่มีใครแคร์ว่า "ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย" จะอยู่ที่ไหนใน ประวัติศาสตร์ฉบับทางการ เพราะไม่มีใครอ่านประวัติศาสตร์ทางการอีกต่อไป และอะไรก็ตามที่มาพร้อมกับคำว่า "ทางการ" หรือ official ในประเทศนี้มันแปลว่า "ชวนเชื่อ"

ยุคสมัยแห่งการผูกขาดอดีตได้จบสิ้นลงแล้ว และควรจะจบสิ้นไปตั้งนานแล้ว



.