http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-27

วัคซีน โดย คำ ผกา

.

วัคซีน
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1680 หน้า 96


พักนี้เห็นผู้นำพรรคฝ่ายค้านเที่ยวโหนชายชุดดำของ คอป. ไปมาแล้วสะเทือนใจมาก 
จะชั่วจะดี พรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่อยู่ยงคงกระพันมาคู่กับประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของไทย 
แม้จะไม่มีประวัติการณ์แห่งความดีงามเป็นที่น่าจดจำแต่อย่างน้อยที่สุด จุดแข็งของประชาธิปัตย์คือการที่สถาบันพรรคไม่ยึดติดกับตัวบุคคลหรือบารมีส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง จึงอยู่ยงคงกระพันมาได้

แต่มาถึงวันนี้นอกจากจะเป็นรัฐบาลที่ดูแลการสลายชุมนุมจนมีคนตายเกือบร้อยบาดเจ็บเกือบสองพัน นอกจากจะไม่มีคำขอโทษ แสดงความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นรัฐบาลแล้ว เมื่อแพ้การเลือกตั้งมาเป็นฝ่ายค้านยังกระโจนขึ้นโหน "ชายชุดดำ" แห่รอบเมืองเอาเสียดื้อๆ 
โดยไม่เคยตอบคำถามใครได้เลยว่าในสมัยที่ตนเองเป็นรัฐบาลมีแสนยานุภาพกองทัพทั้งสามบวกตำรวจอยู่ในมือ ทำมั้ย ทำไม ไม่สามารถจับชายชุดดำมาให้ดูเป็นขวัญตาได้สักคน 
และยังไม่เคยตอบคำถามว่า ต่อให้มีชายชุดดำอยู่จริง มันสามารถใช้เป็นข้ออ้างในการกราดยิงประชาชนมือเปล่าด้วยอาวุธสงครามหรือไม่?


คนที่ถูกจับเพราะฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน กลายเป็นนักโทษที่อยู่ในเรือนจำจนทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมตัวเล็กตัวน้อยเป็นคนขี่ซาเล้งขายของเก่าบ้าง มีอาชีพรับจ้างบ้าง ทำนาบ้าง
อาวุธที่ใช้ก็เป็นอาวุธรุนแรงเหลือ เช่น หนังสติ๊ก ระเบิดขวด ไฟแช็ก ไม้ไผ่ ฯลฯ




ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของไทยมีเรื่องให้ต้องทวงและทบทวนความทรงจำกันหลายอย่าง เหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ผ่านไปโดยที่ถ้าเอาศพทั้งหมดไปฝังศพก็คงยังไม่เปื่อยยุ่ย แม้วันนี้ดูเหมือนว่าบาดแผลนี้ในสังคมไทยจะค่อยๆ แห้ง หายจากอาการอักเสบ คนไทยเริ่มหัวเราะได้บ้าง สามารถปลีกเวลาไปเอ็นจอยกับการตบกันสนั่นจอของเมียน้อยเมียหลวง สามารถนั่งเชียร์ผู้เข้าแข่งขันร้องเพลงในรายการเดอะวอยซ์ ลุ้นการประมูล 3G รอคอยรถไฟฟ้าความเร็วสูง หันเรียนภาษาอังกฤษเพื่อรับ AEC 
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า สังคมไทยลืมที่จะทวงความเป็นธรรมทางการเมือง 
เหตุการณ์ฆ่ากันกลางเมืองเพิ่งจะผ่านพ้นไปโดยที่เลือดยังไม่ทันจะแห้ง ไม่นับการโหนกระแสชายชุดดำ นักการเมืองบางคนออกมาบอกว่า เรื่อง 6 ศพที่วัดปทุมฯ เป็นการจัดฉาก ศพของคุณกมลเกดนั้นมีคนเอาเสื้อกาชาดมาสวมให้ภายหลัง

นอกจากนี้ ยังมีคนใจทรามแชร์ภาพคุณแม่ของพยาบาลกมลเกดตอนไปศาลอาญาระหว่างประเทศที่กรุงเฮกว่า เพราะลูกตายเลยได้ไปเที่ยวเมืองนอก
อ่านแล้วเรายังจะภูมิใจเรื่องเมืองไทยเมืองพุทธอยู่หรือเปล่าไม่ทราบ 
เหตุการณ์เพิ่งผ่านไปแค่สองปี ยังสามารถสร้างเรื่องโกหก บิดเบือนกันได้ขนาดนี้
ถ้าเหตุการณ์นี้ผ่านไปอีกห้าสิบปีโดยไม่มีความพยายามที่จะเกาะติด ทวงถามความจริง และสร้างมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมต่อเรื่องนี้ขึ้นมาได้ เราอาจจะได้อ่านเรื่องแต่งใหม่ไปไกลถึงขั้นหกศพที่วัดปทุมฯ มีอาวุธสงครามอยู่ในมือต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐก็เป็นได้


อ.เกษียร เตชะพีระ พูดไว้ในรายการ Intelligence ที่ คุณตวงพร อัศววิไลเป็นคนสัมภาษณ์ ไว้ดีมากๆ 
นั่นคือ อาจารย์บอกว่า ประชาธิปไตยต้องใหญ่กว่าทุนนิยม ยิ่งเราสร้างทุนนิยมให้ใหญ่เท่าไหร่ ประชาธิปไตยต้องใหญ่กว่าเสมอ ไม่เช่นนั้นมันจะนำมาซึ่งความรุนแรงระลอกใหม่ 
(ส่วนแขกรับเชิญอีกท่านพูดจาน่าปวดหัวมาก เช่น บ่นว่านักวิชาการสมัยนี้ไม่ไปช่วยชาวนา กรรมกร มัวแต่ห่วงเรื่องจะแก้รัฐธรรมนูญ น่าจะไปสอนให้ชาวนารู้จักรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง จะได้ไม่โดนนักการเมืองหรือพวกแกนนำหลอกใช้-เอิ่ม...ถ้าคนระดับรองศาสตราจารย์คิดได้แค่นี้ ก็ถูกต้องแล้วที่นักวิชาการไม่ควรไปสอนชาวนา แต่ให้ชาวนามาสอนนักวิชาการ มาถึงขั้นนี้แล้ว ฉันว่าชาวนา ชาวบ้าน พี่วินมอเตอร์ไซค์ เข้าใจเรื่องประชาธิปไตยมากกว่านักวิชาการตั้งเยอะ)

ประชาธิปไตยต้องใหญ่กว่าทุนนิยม อาจารย์เกษียร ขยายความว่า เราจะตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาเศรษฐกิจ โดยคิดว่า รวยเสียก่อนแล้วค่อยเป็นประชาธิปไตยภายหลัง ไม่ได้! ยิ่งเราเป็นทุนนิยมเท่าไหร่ เรายิ่งต้องเป็นประชาธิปไตยให้มากกว่านั้น แปลว่า หากเราเลือกมาทางทุนนิยมแล้ว เราจะปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนไม่ได้ 
ฉันไม่แน่ใจว่าในรายละเอียดฉันคิดเหมือนอาจารย์เกษียรหรือไม่ เพราะอาจารย์เกษียรอาจนึกถึงการให้ความสำคัญกับเสียงข้างน้อย แต่ฉันคิดว่าคำเตือนนี้ของอาจารย์เกษียรสำคัญมาก



รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ขณะนี้มุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ การลงทุน และฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดิ่งลงเหวไปหลังการรัฐประหาร (จำไว้นะว่าไม่มีใครอยากสมาคมกับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลที่ทหารอุ้ม) ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่พันธกิจที่สำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะละเลยเสียมิได้คือการฟื้นฟู "วัฒนธรรมประชาธิปไตย" ให้เติบโตงอกงามอีกครั้งในสังคมไทย

วัฒนธรรมประชาธิปไตยจะกลับมามีชีวิตในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่งได้อย่างไร
ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการสะสางความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายในการชุมนุมและการสลายการชุมนุม การสอบสวน การเปิดเผยข้อเท็จจริง การนำคนผิดมาลงโทษหรือแม้แต่การนิรโทษกรรมก็ต้องนิรโทษกรรมหลังจากความจริงได้รับการเปิดเผย พิสูจน์ มีการชดใช้ เยียวยาแก่ผู้ที่กลายเป็นนักโทษโดยที่ไม่ได้ทำความผิด
ย้ำว่าเรื่องนี้สำคัญมาก Fact finding ของ คอป. ออกมาแล้ว Fact finding ของ ศปช. ออกมาแล้ว-อย่างน้อยตอนนี้ สังคมมีข้อเท็จจริงสองชุดที่สามารถนำมา "ท้าพิสูจน์" กันได้

วัฒนธรรมประชาธิปไตยคงต้องเริ่มนับหนึ่งกันที่เราต้องไม่ปล่อยให้ความจริงลอยนวล และไม่ปล่อยให้คนไร้ยางอายสร้างเรื่องโกหกต่อไปเป็นวันๆ เพราะสร้างไปทุกวัน เผลอๆ ในโลกที่สลิ่มยังครองอำนาจนำทางวัฒนธรรม มันอาจกลายเป็นความจริงเข้าสักวัน 
เมื่อไม่ปล่อยให้ความจริงลอยนวลแล้ว สิ่งที่รัฐบาลจะลืมเสียไม่ได้เลยคือ การฟื้นฟูสิทธิ และเสรีภาพของประชนที่ถูกลิดรอนไปหลังการรัฐประหารหรือแม้กระทั่งก่อนหน้านั้น 
กฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องถูกนำกลับมาทบทวน
ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ การเซ็นเซอร์ เรตห้ามฉาย รายชื่อประชาชนที่ยื่นต่อสภาเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ผ่าน ครก. ฯลฯ

เหล่านี้ทำได้หรือไม่ได้ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่พึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เปิดพื้นที่ให้มีการอภิปราย ถกเถียง ผลักดันให้เป็นวาระที่สังคมต้องกลับมาทบทวน ตั้งคำถามกับตนเองว่า กฎหมายเหล่านี้ขัดต่อความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่อย่างไร?

การดีเบตอย่างเปิดเผยระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยกับฝ่ายที่คัดค้าน หากทำได้อย่างมีอารยะ ถ่ายทอดสดให้ชมกันได้ทั่วประเทศ ก็จะเท่ากับได้สร้างวัฒนธรรมความเป็นประชาธิปไตย ฝึกฝนความอดทนอดกลั้นต่อความคิดต่าง เคารพคนที่คิดไม่เหมือนเรา เปิดใจฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง ก็น่าจะช่วยให้สังคมไทยพ้นจากความเป็นเด็กอมมือ ไปสู่ความมีวุฒิภาวะแบบผู้ใหญ่ได้บ้าง 
แต่การดีเบตจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลรับประกันว่าเสรีภาพของผู้พูดจะได้รับการคุ้มครองด้วย


นอกจากนั้น รัฐบาลต้องทบทวนนโยบายของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ว่ายังมีกระทรวงใดในรัฐบาลที่แม้จะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแต่ยังสืบทอดเจตนารมณ์ อุดมการณ์ของเผด็จการอำนาจนิยม ยังคงทำงาน ด้วยอุดมการณ์ที่ไม่เป็นคุณต่อการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย
เช่น ยังมีการใช้ระบบอำนาจนิยมในโรงเรียนผ่านระเบียบ วินัย เสื้อผ้า เครื่องแบบ การรับน้อง ระบบโซตัสในมหาวิทยาลัย นโยบายชาตินิยมแบบหลงยุค ตกขอบโลกของการจัดการมิวเซียม วัฒนธรรม วัดวาอาราม เนื้อหาในแบบเรียนที่ยังสอนความหมายของประชาธิปไตยแบบผิดๆ ฯลฯ 
พูดสั้นๆ คือ รัฐบาลควร discourage วัฒนธรรมอำนาจนิยมในสังคมออกไป ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

อย่าลืมว่ามีแต่รัฐบาลเผด็จการเท่านั้นที่กลัวเสรีภาพของประชาชน รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลที่มาตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น จะไม่มีอะไรมารับรองความมั่นคงของรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยได้เท่ากับความเข้มแข็งของประชาธิปไตย
ยิ่งประชาชนมีเสรีภาพมากเท่าไหร่ ยิ่งวัฒนธรรมประชาธิปไตยหยั่งรากลงลึกในสังคมไทยเท่าไหร่ รัฐบาลในครรลองของประชาธิปไตยก็จะมั่นคงมากขึ้นเท่านั้น


วัคซีนป้องกันรัฐประหารและอำนาจที่มองไม่เห็นคือวัฒนธรรมประชาธิปไตย หากรัฐบาลมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจโดยลืมฉีดวัคซีนนี้ให้กับสังคม ก็จะเสี่ยงอย่างยิ่งที่ไวรัสอันมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าจะกลับมาในรูปแบบของการรัฐประหาร

ถึงวันนั้นคงไม่มีใครอยากเห็นอยากกลับไปเริ่มนับหนึ่งกันใหม่บนกองเลือด



.