http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-24

งานหนังสือ ..มหกรรมหนังสือ โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

.
บทแนะนำของปี 2554 - สู่ยุคคอมพิวเตอร์อัจริยะ เขียนหนังสือ-ทำนายอนาคต โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

งานหนังสือ..มหกรรมหนังสือ
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1679 หน้า 100
(ภาพจาก www.pakatuen.com )


งานมหกรรมหนังสือเดือนตุลาคมเวียนมาอีกรอบในสัปดาห์นี้ยาวไปจนสัปดาห์หน้า ไม่พูดถึงหนังสือก็กระไรอยู่เหมือนกัน สถิติการอ่านหนังสือของคนไทยมันต่ำ เมื่อไปเทียบกับประเทศรอบข้าง ส่วนหนึ่งเพราะวัฒนธรรมการอ่านการเขียนของไทยมันเกิดช้า รากของเรามันไม่ได้ลึกมากเหมือนพวกเอเชียตะวันออก ไม่ว่าจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เวียดนาม ลามลงมาถึงสิงคโปร์ 
บรรยากาศของงานหนังสือปีละสองครั้ง ไม่ว่าจะตุลาคมหรือเมษายน จะคึกคักเป็นพิเศษสำหรับคนทำหนังสือ คนอ่านหนังสือ และคนขายหนังสือ
เพราะมันเป็นโอกาสของทุกคน


หนังสือของเกือบทุกสำนักพิมพ์ ไม่ว่าใหม่หรือเก่า มีปรากฏให้เห็น ให้เลือกซื้อ คนอ่านหนังสือไปเดินดูไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่ามีหนังสือเล่มนี้อยู่ในโลก 
ที่จริงแล้วหนังสือใหม่ๆ มีออกมาตลอดทั้งปี ไม่ใช่มาออกกันเฉพาะงานหนังสือ ออกใหม่กันวันละหลายสิบปก เดือนละเป็นร้อยๆ ปก ร้านหนังสือขยายไปเท่าไหร่ก็ไม่พอรองรับหนังสือ หนังสือจึงไปซุกๆ ตามซอกของร้านหนังสือ หรือไม่ก็ไปไม่ถึงเลย 
งานหนังสือมันจึงตอบโจทย์บางอย่างของคนอ่านหนังสือ ซึ่งก็ไม่น้อยละครับ ดูจากสายตาก็เห็นมาทุกปี และตอบโจทย์ของคนทำหนังสือที่รู้อยู่เต็มอกว่ามีปัญหากับระบบจัดจำหน่าย 
แถมยังรู้อีกว่าในช่วงงานหนังสือ หนังสือจะได้ออกสื่อ ... สื่อจะช่วยกระพือโหมข่าวเกี่ยวกับหนังสือ ทำให้คนรู้จักหนังสือเล่มโน้นนี้นั้น ซึ่งปกติจะไม่รู้ เพราะมันไม่ได้ออกสื่อ 
มันมีแรงกระเพื่อม 

ตั้งแต่ทำเว็บไซต์ขายหนังสือให้สั่งซื้อออนไลน์มาสิบกว่าปี สิ่งที่สังเกตเห็นคือ ความเชื่อมโยงของกระแส งานหนังสือทีไร ยอดขายในเว็บวิ่งตามไปทุกที
คนที่มาสั่งซื้อในเว็บไซต์คือใคร ... ก็คือคนที่เห็นว่า อ้อ มีหนังสือเล่มนี้ออกมา เล่มนั้นออกมา 
ไม่มีเวลาไปงาน ขี้เกียจไป ฯลฯ 
แต่ข่าวสารที่กระจายไปทำให้รู้ว่ามีหนังสือเล่มที่อยากอ่านอยู่ สั่งซื้อได้โดยไม่ต้องไปเบียดเสียดเดินทาง 
เมื่อโครงสร้างของระบบมันผิดปกติ อะไรๆ ก็ต้องเดินไปตามระบบที่ผิดปกติ




หนังสือที่อยากแนะนำให้อ่าน นอกจากพ่อมดฮาวล์ (ที่จิบลิ สตูดิโอ เอามาสร้างเป็นอะนิเมชั่น เฉียดรางวังออสการ์ไปหวิวๆ) เล่มสาม เล่มสุดท้ายที่สนุกมากและจะไม่มีเล่มต่อไปอีกแล้วเพราะนักเขียนสิ้นชีพไปแล้วเมื่อปีกลาย คงเป็นหนังสือแนววิทยาศาสตร์ของการตามล่าหาฮิกส์โบซอน เขียนโดยสองนักฟิสิกส์ไทยที่มีส่วนร่วมงานกับเซิร์น และหนึ่งในสองยังเคยเป็นผู้ช่วยนักฟิสิกส์ที่มีส่วนในการค้นพบกลไกฮิกส์โบซอน

ทำกันมาขนาดนี้ไม่อุดหนุนกันก็เกินไปแล้ว
ถามหาหนังสือเล่มที่อยากอ่านจากร้านหนังสือใกล้บ้านท่าน แล้วเขาจะเอามาขาย...



+++
บทแนะนำของปี 2554 

สู่ยุคคอมพิวเตอร์อัจริยะ เขียนหนังสือ-ทำนายอนาคต
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า 
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1622 หน้า 100


นับวันคอมพิวเตอร์มันจะฉลาดขึ้นทุกที แม้ว่ามนุษย์จะเป็นผู้สร้างขึ้นมาก็เถอะ นานร่วมสิบปีมาแล้วที่ผมเคยหยิบเรื่องที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถเขียนหนังสือเอง หรือพูดให้ตรงกว่าคือการสรุปย่อบทความ ตอนนั้นตัวอย่างเป็นย่อบทความของนิตยสารดิ อิโคโนมิสต์ ซึ่งโปรแกรมมันก็ทำได้ในระดับที่พออ่านรู้เรื่อง จากนั้นก็ไม่เคยติดตามข่าวคราวหรือได้ข่าวเรื่องนี้
ตอนนี้มีข่าวล่าสุดมาว่ามีบริษัทเกิดใหม่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ คือ บริษัท แนเรทีฟ ไซน์ คราวนี้ไปไกลกว่านั้น เพราะโปรแกรมจะใช้หลักการการใช้เหตุผลแบบมนุษย์ในการเขียนบทความจากข้อมูลที่ป้อนเข้าไปให้

ตัวอย่างที่เขายกมาให้อ่านคือการสรุปการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลเมื่อต้นเดือนนี้หลังการแข่งขันควอเตอร์ที่สามจบลง โดยใช้เวลาเพียง 60 วินาที 
ฝรั่งเขาบอกว่าถึงอ่านแล้วจะออกมาไม่เนียนนัก แต่ก็ให้ความรู้สึกเหมือนคนเขียน แตกต่างโปรแกรมลักษณะเดียวกันก่อนหน้าที่มีความพยายามกันมาเป็นสิบที่อ่านแล้วเหมือนเครื่องจักรเขียน 
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและปัญหาประดิษฐ์หลายคนก็ประทับใจ


ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความชาญฉลาดของมนุษย์เองในการคิดค้นวิธีการป้อนโปรแกรมให้มันทำงานเขียนได้ใกล้เคียงมนุษย์ ต่อไปเราอาจจะมีคอมพิวเตอร์หรือหุ่นยนต์เป็นผู้ช่วยงานในลักษณะนี้ หากโปรแกรมมันทำงานได้ดีขึ้น แรงบีบคั้นด้านต้นทุนอาจจะทำให้สื่อหันมาเลือกโปรแกรมเขียนข่าวไปใช้ก็ได้เหมือนกัน 
และในอนาคตข้างหน้าไม่แน่ว่าอาจจะเกิดหุ่นยนต์นักข่าวขึ้นก็ได้ เพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มันมีลักษณะแบบทวีคูณอัตราการค้นพบใหม่หรือการประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ มันย่นสั้นเข้ามาทุกทีๆ 
จะชอบใจหรือไม่ชอบใจ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ของแบบนี้มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัตวิสัยหรืออคติของเราเช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ อีกมากมายในโลกที่มันเกิดขึ้น



มีความสามารถของคอมพิวเตอร์อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นประเด็นเกี่ยวกับเรื่องใหญ่โตกว่า แม้จะไม่ใหม่เสียทีเดียวในแง่ของหลักการ นั่นก็คือการใช้ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์เพื่อทำนายเหตุการณ์ใหญ่ๆ ของโลก งานวิจัยครั้งนี้ทำโดย กาเลฟ ลีทารู แห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ อาศัยแหล่งข้อมูลข่าวสารมากมายจากหลายแหล่ง รวมทั้งข่าวออนไลน์ของนิวยอร์กไทมส์ ที่มีย้อนหลังไปถึงปี 1945 
เบ็ดเสร็จแล้ว ข่าวสารข้อมูลต่างๆ ที่รวบรวมมาทั้งมากกว่า 100 ล้านชิ้น ซึ่งเมื่อประมวลผลออกมาด้วยการจับส่วนหรือถ้อยคำที่สะท้อนอารมณ์ของประเทศที่ปรากฏในข้อมูลข่าวสารแล้วเชื่อมโยงเข้ากับสถานที่หรือประเทศ ผลที่ได้ออกมาปรากฏว่าก่อนจะเกิดเหตุการณ์ใหญ่อย่างการปฏิวัติในลิเบียและอียิปต์มันมีสัญญาณบ่งชี้ล่วงหน้า เมื่อพล็อตออกมาเป็นเส้นกร๊าฟจะพบว่าเส้นกร๊าฟของอารมณ์ที่สะท้อนผ่านสื่อทั้งในและนอกประเทศดิ่งพรวดลงก่อนจะเกิดการปฏิวัติ

นี่เท่ากับว่าสื่อเป็นเครื่องมือในการสะท้อนอารมณ์ของสังคม ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งอารมณ์เหล่านั้นก็ระเบิดออกมากลายเป็นเหตุการณ์ที่ลุกลามถึงขั้นล้มล้างการปกครองในประเทศหนึ่งๆ ลง


ถึงแม้ว่าการวิเคราะห์ที่นำเสนอจะเป็นการมองย้อนกลับไปในอดีตแต่แบบจำลองนี้ก็น่าจะสามารถใช้ในการทำนายเหตุการณ์ในอนาคตได้เช่นกัน หากเชื่อในสมมติฐานของคนทำหรือเชื่อว่ามันแม่นยำใกล้เคียงที่จะให้เบาะแสบางอย่างได้ เพราะสามารถปรับปรุงระดับให้ทำงานแบบเรียลไทม์ได้ นั่นคือข้อมูลที่เกิดขึ้นในแต่ละวิานาทีจะวิ่งเข้ามาในระบบ และระบบก็จะประมวลผลออกมา
เหมือนกับในหนังบางเรื่องที่มีจอขนาดใหญ่เป็นแผนที่โลกและมีสัญญาณเตือนในที่ที่จะเกิดเหตุใหญ่ เช่น การจราจล การปฏิวัติ เป็นต้น

นี่ถ้าเชื่อมโยงเข้ากับข้อมูลที่มีนักวิจัยค้นพบก่อนหน้านี้ถึงความเกี่ยวกันในเชิงสถิติโดยตรงของเหตุการณ์ความไม่สงบกับราคาอาหารเข้ามารวมอยู่ด้วย ความแม่นยำก็น่าจะสูงขึ้นอีก

ถ้าเอาข้อมูลทั้งหมดนี้ป้อนผ่านโปรแกรมของแนเรทีฟ ไซน์อีกที อยากรู้เหมือนกันว่ามันจะเขียนบทความออกมายังไง



.