http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-15

นิธิ เอียวศรีวงศ์: พลวัตของชนชั้นนำไทย (3)

.
- นิธิ เอียวศรีวงศ์: พลวัตของชนชั้นนำไทย (1)   http://botkwamdee.blogspot.com/2012/10/n-1crawl.html
- นิธิ เอียวศรีวงศ์: พลวัตของชนชั้นนำไทย (2)  http://botkwamdee.blogspot.com/2012/10/n-2crawl.html 

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : พลวัตของชนชั้นนำไทย (3)
ในมติชน ออนไลน์  วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 17:59:22 น.
(ที่มา คอลัมน์ กระแสทรรศน์ ของ นสพ.มติชนรายวัน 15 ตุลาคม 2555 )


ดังที่ผมได้กล่าวในตอนที่แล้วว่า "ชนชั้นใหม่" หรือคนหน้าใหม่ได้โผล่เข้ามาในเวทีการเมืองไทยเป็นระยะๆ แต่ชนชั้นนำไทยสามารถผนวกกลืนเอาคนหน้าใหม่เหล่านี้ เข้าสู่เวทีการเมืองได้อย่างสงบ (และราบคาบ) ในระดับหนึ่ง บางกลุ่มอาจถูกผนวกเข้ามาอย่างอึดอัดแก่กันและกันบ้าง เช่น "เจ้าพ่อ" หรือผู้นำท้องถิ่น แต่ต่างก็มีพื้นที่ยืนของตนบนเวทีได้

เหตุใดเมื่อเกิด "ชนชั้นใหม่" ซึ่งก็คือคนชั้นกลางระดับล่างขึ้นในสังคมขณะนี้ ชนชั้นนำจึงไม่อาจผนวกคนเหล่านี้ขึ้นสู่เวทีการเมืองได้

ผมนึกคำตอบได้สามอย่าง
ประการแรก ก็คือจำนวนของคนหน้าใหม่เหล่านี้มีมาก ฉะนั้นการเปิดพื้นที่บนเวทีจึงอาจเป็นเหตุให้ถูก "กินพื้นที่" ไปมากจนเกินกว่าจะรับได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวแล้วก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเปิดพื้นที่จนได้ แต่คงต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับตัวของชนชั้นนำเดิมระยะหนึ่ง แม้แต่การที่พรรคเพื่อไทยซึ่งได้ชัยชนะจากการเลือกตั้ง สามารถบริหารประเทศมาได้ปีกว่าแล้ว ก็เป็นสัญญาณหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าชนชั้นนำเดิมเริ่มยอมรับและเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้แก่คนหน้าใหม่เหล่านี้ (อย่างเต็มใจหรือจนใจก็ตาม)

ประการที่สอง จำนวนมากของคนหน้าใหม่เหล่านี้ มีความเชื่อมโยงกับชนชั้นนำเดิมน้อย (กว่าคนชั้นกลางคอปกขาว) ไม่ว่าจะมองจากด้านการทำมาหากิน เช่นจำนวนมากของคนหน้าใหม่ผลิตเพื่อตลาดภายใน มากกว่าส่งออก ไม่ได้ผลิตวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรมส่งออกมากนัก มีชีวิตอยู่ในเมืองขนาดเล็ก อาจต้องเข้ากรุงเทพฯ เป็นประจำ แต่ก็เพื่อธุรกิจบางอย่างของตนเท่านั้น ไม่ได้ประสงค์จะใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ แม้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาไม่ใช่ "ชนบท" (ตามจินตนาการไทย) อีกแล้ว แต่เขายังได้ยิน "เสียงเพรียกจากชนบท" ได้ชัดเจนกว่าชนชั้นนำเดิมมาก แม้แต่คนที่ต้องทำมาหากินในกรุงเทพฯ ซึ่งมีจำนวนมาก

จุดเชื่อมต่อบางๆ ที่คนหน้าใหม่กับชนชั้นนำเดิมมีต่อกันคือการศึกษา หมายถึงการศึกษาในความหมายกว้าง เช่น ดูละครทีวีเรื่องเดียวกัน และเนื่องจากลูกหลานของคนหน้าใหม่ได้รับการศึกษาสูงขึ้น จึงทำให้เขาผูกพันอยู่กับหลักสูตรที่เป็นทางการยาวนานขึ้น แม้จนถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่ในบรรดาชนชั้นนำเดิมเองก็กำลังแตกตัวในเรื่องนี้ เพราะจำนวนไม่น้อยที่มีฐานะเพียงพอ จะส่งลูกหลานไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาตรี หรือก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ จุดเชื่อมต่อที่เบาบางอยู่แล้วจึงมีรอยปริ ระหว่างนักเรียนนอกกับนักเรียนใน ระหว่างจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์กับราชภัฏ, รามคำแหง หรือ มสธ.
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว ผมเชื่อว่าการศึกษาจะเป็นช่องทางหนึ่งในการเปิดพื้นที่ให้คนชั้นกลางระดับล่างได้จับจองส่วนแบ่งบนเวทีการเมือง ได้แน่นแฟ้นขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

ประการที่สาม ด้วยเหตุผลหลายอย่างที่จะไม่พูดถึงในที่นี้
ผมคิดว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของคนชั้นกลางระดับล่าง มีลักษณะ "ถอนรากถอนโคน" (radicalization) มากขึ้น และนับวันก็ยิ่งมากขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วย (โดยเฉพาะเมื่อมองจากทรรศนะของชนชั้นนำเดิม) คล้ายกับขบวนการนักศึกษาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ทำให้ชนชั้นนำเดิมหวั่นวิตกกับการที่จะต้องเปิดพื้นที่บนเวทีให้แก่ "ควาย" เหล่านี้ ไม่เฉพาะแต่พื้นที่ทางการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงพื้นที่ทางวัฒนธรรม และสติปัญญาด้วย (ซึ่งผมสังเกตว่ามีการต่อสู้ที่แหลมคมเสียยิ่งกว่าการเมืองด้วยซ้ำ)


เมื่อครั้งกระโน้น ชนชั้นนำเดิมตัดสินใจใช้ความรุนแรง แต่ในที่สุดก็ล้มเหลวจนต้องเปิดพื้นที่ให้คนชั้นกลางคอปกขาว และหาทางกลืนด้วยวิธีอื่น ในครั้งนี้ก็ได้ใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือเหมือนกัน และบัดนี้ก็คงประจักษ์แล้วว่า ไม่ได้ผลเหมือนเดิม แต่จะทำอย่างไรต่อไปนี่สิครับ ที่ผมคิดว่าชนชั้นนำเดิม (ซึ่งก็มีการชิงดีชิงเด่นกันตลอดมา) ยังไม่มีข้อสรุป ด้วยเหตุผลที่ในช่วงนี้แตกร้าวกันเองมากขึ้น หรือขาดภาวการณ์นำที่ประสานทุกฝ่ายเพื่อภารกิจเฉพาะหน้า หรือไม่พร้อมจะเปิดพื้นที่บนเวทีจนกว่าคนหน้าใหม่จะลดกระแสถอนรากถอนโคนลง หรือทุกอย่างรวมกัน

นี่แหละครับ ที่การนำไปสู่ความปรองดองจึงไม่ได้อยู่เพียงการเปิดเผย "ความจริง" เกี่ยวกับการล้อมปราบประชาชนในเดือนเมษา-พฤษภาของปี 2553 เท่านั้น แท้จริงแล้วเหตุการณ์นองเลือดในครั้งนั้นเป็นผลมาจากความแตกร้าว ไม่ใช่เหตุแห่งความแตกร้าว

คนกลุ่มหนึ่งต้องการเปลี่ยนระบบการเมืองและวัฒนธรรม (อาจรวมเศรษฐกิจด้วย หากหมายถึงประชาชนที่ไม่ใช่เสื้อแดง แต่ยังใช้ทรัพยากรโดยตรงเช่น ใช้ที่ดินเพาะปลูก, ใช้แม่น้ำจับปลา ฯลฯ) ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งถือครองอำนาจอยู่ไม่ยอมให้เปลี่ยน ต่างฝ่ายต่างระดมสรรพกำลังของตนออกมาห้ำหั่นกัน


รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ใช่รัฐบาลของ "ไพร่" แม้ว่าได้คะแนนเสียงจาก "ไพร่" มาอย่างท่วมท้น แต่เป็นรัฐบาลของ "อำมาตย์" หรือชนชั้นนำเดิม จึงพยายามประคองตัวให้อยู่รอดท่ามกลางการเมืองของ "อำมาตย์" เป็นหลัก เอาใจ "ไพร่" ด้วยนโยบายประชานิยมเท่านั้น เพราะไม่กระทบต่อ "ระบบ" มากนัก หาได้คิดจะอาศัยฐานมวลชนของตนเองในการปรับเปลี่ยน "ระบบ" แต่อย่างใด
อันที่จริงการปรับเปลี่ยน "ระบบ" อาจกระเทือนต่อประโยชน์ของนักการเมืองเพื่อไทย ไม่น้อยไปกว่าชนชั้นนำเดิมกลุ่มอื่นๆ

แต่ในขณะเดียวกัน การไม่ยอมเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้แก่คนชั้นกลางระดับล่างซึ่งเป็นคนหน้าใหม่เหล่านี้ ก็เป็นไปไม่ได้ที่ฝ่ายใดจะเคลื่อนอะไรได้สักอย่างเดียว เพราะยันกันไปหมดทุกด้านดังที่เป็นอยู่ขณะนี้ ท่ามกลางภาวะที่เคลื่อนไม่ออกเช่นนี้ (เพราะทุกฝ่ายต้องการ "เดินหน้าต่อไป" เหมือนกัน แต่เดินกันไปคนละทิศ)
จะคลี่คลายความตึงเครียดตรงนี้อย่างไร โดยทำให้ทุกฝ่ายมีเวลาพอจะปรับตัว ปรับผลประโยชน์ทุกด้านของตนเอง ให้เข้ามาสู่ระบบใหม่ที่ทุกฝ่ายพอรับได้



ผมคิดว่าสิ่งที่พอจะทำได้ในขณะนี้คือ

1. เปิดเสรีสื่อทุกชนิด โดยเฉพาะสื่ออินเตอร์เน็ตซึ่งคนหน้าใหม่จำเป็นต้องใช้มาก จริงอยู่สื่ออินเตอร์เน็ตก็ต้องมีระเบียบบางอย่างอยู่ด้วย แต่การกำหนดและดูแลระเบียบดังกล่าวต้องมาจากตัวแทนประชาชนหลากหลายกลุ่ม เพื่อทอนอำนาจของรัฐในการกำหนดและควบคุมลง ผมคิดว่าฝ่ายชนชั้นนำเดิมไม่น่าจะหวั่นวิตกกับการเปิดเสรีสื่ออินเตอร์เน็ต เพราะที่จริงหลายบริษัทและองค์กรของรัฐเอง ก็มีแผนกที่รับผิดชอบด้าน social media ต่างๆ อยู่แล้ว เพียงแต่แผนกเหล่านี้ต้องใช้ "กึ๋น" ในการถ่วงดุลข่าวสารข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต แทนการใช้อำนาจเท่านั้น

สื่อของรัฐทุกชนิด ต้องเป็นพื้นที่เปิดกว้างให้แก่ความคิดเห็นที่หลากหลายมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องห่วงกับทีวีดาวเทียมมากนัก เพราะที่จริงแล้วหลายช่องยังไม่เป็นมืออาชีพด้วยประการทั้งปวง และในระยะยาวก็คงอยู่ไม่ได้ (หากขาดการอุดหนุนด้านการเงิน) หรือต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีผู้ชมกว้างขวางกว่าสาวกทางการเมือง แนวโน้มที่เห็นได้ในขณะนี้คือนายทุนเข้าไปทำธุรกิจทีวีดาวเทียมกันมากขึ้น และในที่สุดก็คงครอบงำทีวีดาวเทียมได้เกือบทั้งหมด

สื่อที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการศึกษา ต้องหาทางเปิดให้ทุกฝ่ายเข้าถึงได้มากยิ่งไปกว่านี้ในทุกระดับด้วย (เช่น ปฏิรูประบบเงินทุนกู้ยืมเสียใหม่ ให้สามารถเลี้ยงตนเองได้ในระยะยาวและขยายบริการได้มากขึ้น) ในขณะเดียวกัน ก็ต้องหันมาปฏิรูปคุณภาพของการศึกษาอย่างจริงจัง (ซึ่งไม่ใช่แค่แจกแท็บเล็ต) ผมคิดว่าชนชั้นนำเดิมย่อมพอใจกับการกระทำเช่นนี้แน่ เพราะเศรษฐกิจไทยต้องการแรงงานฝีมือในทุกระดับจำนวนมาก

2. หยุดรวมศูนย์ด้านการปกครองและการบริหาร แต่กระจายอำนาจให้แก่คนในท้องถิ่น โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากร หากยุติการรวมศูนย์ลงได้ การเมืองก็จะกระจายไปสู่ท้องถิ่น แทนที่จะมีอยู่เวทีเดียวที่ส่วนกลางดังที่เป็นอยู่ "เจ้าพ่อ" อาจได้ประโยชน์ในระยะแรก แต่ธุรกิจการค้าอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคบางอย่างบ้าง แต่ก็ปรับตัวได้ไม่ยากนัก (ทั้งโดยการติดสินบนผู้นำท้องถิ่นซึ่งจะทำในระยะยาวไม่ได้ และทั้งโดยการต่อรองที่เป็นธรรมซึ่งเป็นทางออกในระยะยาว)

3. กระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะต้องเปิดให้แก่การเจรจาต่อรองจากทุกฝ่ายมากขึ้น หากมีการกระจายอำนาจจริง ชาวบ้านทั่วไปก็สามารถเข้าถึงเวทีต่อรองได้ผ่านผู้นำชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้ควรมองหา "ตัวแทน" ให้มากกว่าผู้ผ่านการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว เช่น กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งอาจจัดองค์กรของตน และได้รับคำรับรองจากรัฐด้วยการแจ้งจดทะเบียน (เฉยๆ) รวมทั้งเอ็นจีโอ ก็อาจมีบทบาทในการต่อรองในกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะด้วย

ผมไม่คิดว่ากลุ่มชนชั้นเดิมส่วนใหญ่จะขัดข้องกับกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะเช่นนี้ อย่างน้อยก็ยังดีกว่านโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียง และเพราะมีกระบวนการที่ดึงให้ทุกฝ่ายร่วมสร้างนโยบายสาธารณะเช่นนี้ แม้แต่นโยบายหาเสียงก็จะถูกตอบโต้ ขัดเกลา ก่อนที่พรรคนั้นๆ จะได้รับเลือกตั้ง

4. ปฏิรูประบบราชการ ไม่ควรทำอย่างที่ผ่านๆ มา คือการปฏิรูปเพื่อให้ส่วนกลางขยายอำนาจควบคุมมากขึ้น แต่ควรมีจุดมุ่งหมายสำคัญสองประการคือ ระบบราชการส่วนกลางที่มีประสิทธิภาพในท่ามกลางอิสรภาพและอำนาจขององค์กรปกครองท้องถิ่น จากคำสั่งและการควบคุมอาจเปลี่ยนเป็นการกระตุ้นและปราม (อย่างฉลาด-เช่น สนับสนุนหรืองดการสนับสนุนทางงบประมาณ) และการเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการให้แก่องค์กรในท้องถิ่น
ประการที่สองก็คือ ระบบราชการต้องมีสำนึกว่า คนชั้นกลางระดับล่างเป็นลูกค้ารายใหญ่ของตน ไม่น้อยไปกว่าคนมีเส้นในหมู่ชนชั้นนำเดิม จะมีสำนึกเช่นนี้ได้ ก็ต้องเปิดให้ประชาชนทุกระดับได้มีส่วนในการประเมินผลงานของหน่วยราชการ และต้องมีผู้รับผิดกับผลการประเมินด้วย


มาตรการทั้ง 4 ข้อนี้ ยังไม่มีผลเปลี่ยน "ระบบ" (การเมือง, วัฒนธรรม ฯลฯ) ในทันที แต่จะมีผลในระยะยาว ซึ่งทุกฝ่ายมีเวลาพอจะปรับตัวเข้ากับระบบใหม่ได้ทัน

ถึงตอนนั้น ข้อเสนอใหญ่ๆ เช่น ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็จะเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมวงกว้าง ด้วยข้อมูลและเหตุผล โดยไม่ต้องปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ และโดยไม่ต้องชกหน้ากัน



.