http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-15

สรกล: 3 G ทู จี /, วีรพัฒน์: ใครฆ่า 3จี ?

.

สรกล อดุลยานนท์ : 3 G ทู จี
โดย สรกล อดุลยานนท์  คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์  วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 16:45:22 น.
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 13 ต.ค.  2555 )


วันก่อนเพิ่งคุยกับอดีตผู้บริหาร "ดีแทค" 
เขาย้อนอดีตให้ฟังว่า ทีมงานดีแทคเคยคุยเรื่อง "โอกาส" ของ "ดีแทค" ในการต่อสู้กับยักษ์ใหญ่อย่าง "เอไอเอส" 
ทีมงานมองว่า 3G คือ "โอกาส" ที่จะทำให้การต่อสู้ทัดเทียมกันมากขึ้น 

รู้ไหมครับ การประชุมครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อไร 
พ.ศ.2545 ครับ 
10 ปีที่แล้ว


บ๊ะเจ้า เราคุยกันเรื่อง 3G มาตั้ง 10 ปีแล้วหรือเนี่ย
ไม่แปลกที่คำว่า "3G" จะถูกนำมาล้อเลียนอยู่เสมอ 
เช่น คนโสดมักจะถูกแซวว่า "แฟน" ก็เหมือนกับ 3G 
"รู้ว่ามี แต่ยังไม่มา" 

แต่ตอนนี้ภาพของ 3G เริ่มชัดเจนขึ้น เพราะจะมีการประมูลในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ 
พูดได้เลยว่าวันนี้คนไทยที่ใช้โทรศัพท์มือถือไม่ต่ำกว่า 90% ต้องการให้เมืองไทยมี 3G ใช้เสียที
"เวลา" นั้นมี "ราคา" 
ยิ่งล่าช้าเท่าไร ความสูญเสียก็เพิ่มขึ้นมากเท่านั้น

แม้จะมีการฟ้องศาลปกครองให้ระงับการประมูล แต่ศาลปกครองยังไม่มีคำสั่งใดๆ ออกมา 
บรรยากาศแบบคลุมเครือเช่นนี้ไม่ดีเลย 
เพราะทำให้ "จินตนาการในด้านลบ" ทำงาน


ภาพหลอนในอดีตเมื่อครั้งที่ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินไม่ให้มีการประมูลเมื่อ 2 ปีก่อน ยังเป็น "ผี" ที่ตามหลอกหลอน กสทช. เอกชนที่เข้าประมูล 
และ "คนไทย" ทั้งประเทศ

คำสั่งของศาลปกครองจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง 
บรรยากาศของการประมูล 3G ในวันนี้คงคล้ายๆ กับการจำนำข้าวของรัฐบาล ไม่สามารถทำให้คนเชื่อมั่นว่ามีการขายข้าวแบบจีทูจี 7 ล้านตันจริงๆ 
น่าแปลกใจอย่างยิ่ง

รัฐบาลน่าจะรู้ว่ายิ่งทำให้เป็น "ความลับ" มากเท่าไร 
คนยิ่งมี "คำถาม" มากเท่านั้น 
และบรรยากาศความคลุมเครือเช่นนี้เองจะเป็นปุ๋ยที่ดีสำหรับ "จินตนาการทางลบ"
ยิ่งคลุมเครือยิ่งงอกงาม

3G นั้นรอคำสั่งของศาลปกครอง 
แต่ "จีทูจี" นั้นรอ "ความจริง"  
และคนที่อธิบายความได้รู้เรื่อง


3G นั้น "รู้ว่ามี แต่ยังไม่มา"
ส่วน "จีทูจี" แรงกว่า 
เพราะ "ไม่รู้ว่ามีหรือเปล่า"

... แต่ยังไม่มาแน่ๆ 



++

จาก ‘ตุลา 16’ ถึง ‘16 ตุลา’ ใครฆ่า 3จี ?
โดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ  www.facebook.com/verapat
ในมติชน ออนไลน์  วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 20:50:20 น.


เส้นทางที่ ‘เสียงข้างน้อย’ ใช้ตรวจสอบยับยั้งการปกครองโดย ‘เสียงข้างมาก’ ได้นั้น คือ ซอยแคบๆ ที่แยก ‘ประชาธิปไตย’ ออกจากถนนสู่ ‘เผด็จการ’
แต่เพื่อไม่ให้ ‘เสียงข้างน้อย’ กลายเป็น ‘เผด็จการ’ เสียเอง (ดังที่เคยบานปลายไปสู่เหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ หรือ ‘14 ตุลา’) การตรวจสอบยับยั้งที่ว่า จึงทำได้ก็แต่โดย ‘ความยินยอม’ ของ ‘เสียงข้างมาก’

‘ความยินยอม’ นี้ไม่อาจเป็นเพียง ‘ความสำนึกตรึกคิด’ และไม่ว่าจะตรึกคิดไปพร้อมกับเสียงเพลงแห่งศีลธรรมอันสูงส่งเพียงใด แต่การตรึกคิดที่ว่า ต้องถูกตราขึ้นในรูปแบบของ ‘กฎหมาย’ ซึ่งประกันสิทธิต่างๆ ให้แก่ ‘เสียงข้างน้อย’ 
ซึ่งสิทธิที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง ก็คือ ‘สิทธิในการฟ้องคดี’ นั่นเอง

‘ตุลาการ’ จึงถูกสร้างมาเพื่อประกันสิทธิของ ‘เสียงข้างน้อย’ ให้สามารถยื่นกระดาษบางๆ เพียงไม่กี่แผ่น แต่ทำให้ความประสงค์อันหนักแน่นของ ‘เสียงข้างมาก’ ชะงักงันได้ โดยไม่ต้องใช้รถถังหรือกระสุนปืน 
ดังนั้น แม้ ‘รัฐสภา’ จะตรากฎหมายให้อำนาจ ‘วุฒิสภา’ ใช้ ‘เสียงข้างมาก’ คัดเลือก กสทช. 11 คน มาเป็นผู้จัดการประมูล 3จี แต่การใช้อำนาจของ กสทช. ก็ย่อมถูก ‘เสียงข้างน้อย’ เช่น นักวิชาการอิสระ หรือ ผู้บริโภค เพียงคนเดียว หรือสมาคมมูลนิธิเพียงไม่กี่แห่ง ใช้ช่องทาง ‘ศาล’ เพื่อตรวจสอบยับยั้งการประมูลได้เช่นกัน

ผู้ที่ศรัทธาในประชาธิปไตย จึงไม่ควรมีปัญหากับ ‘ผู้ที่ไปฟ้องคดี’ แต่หากจะมี ก็อาจต้องมีในกรณีที่ ‘ศาล’ ปล่อยให้ ‘เสียงข้างน้อย’  เข้าไปบีบคั้นจนทำลาย ‘ความยินยอม’ ของ ‘เสียงข้างมาก’ ในที่สุด


การฟ้องคดี 3จี นั้น ‘เสียงข้างมาก’ ยินยอมให้ ‘เสียงข้างน้อย’ ฟ้อง ‘ศาลปกครอง’ ได้ เฉพาะกรณีที่ ‘เสียงข้างน้อย’ นั้น “เดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้” 
หากศาลเห็นว่า ‘เสียงข้างน้อย’ เป็นผู้ที่ห่วงใยและหวังดีโดยคาดเดาถึงอนาคต แต่ไม่มีหลักฐานที่ทำให้เห็นความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ‘เสียงข้างน้อย’ เหล่านั้น ก็ย่อมมาศาลโดยปราศจาก ‘ความยินยอม’ ของ ‘เสียงข้างมาก’

 ส่วนเรื่องที่ว่า ‘ราคาตั้งต้นการประมูล’ นั้นต่ำไป หรือ การจัดแบ่งชุดคลื่นทำให้เกิดการ ‘ฮั้ว’ กันนั้น ในท้ายที่สุด ‘เสียงข้างน้อย’  ก็ยังต้องอาศัย ‘ความยินยอม’ ของ ‘เสียงข้างมาก’ มาเป็นเหตุผลในการอ้าง ซึ่ง ‘ความยินยอม’ ในการประมูล ก็คือ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 45 ประกอบ มาตรา 41 (ตราขึ้นตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 47) ซึ่งบัญญัติว่า
“[การประมูลคลื่น 3จี โดย กสทช.] ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น ในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมและต้องดำเนินการในลักษณะที่มีการกระจายการใช้ประโยชน์โดยทั่วถึงในกิจการด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสมแก่การเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ”
กฎหมายกำหนด ‘หลักการเชิงนโยบาย’ เกี่ยวกับการจัดการประมูลไว้กว้างๆ เพียงเท่านี้ ส่วนหลักเกณฑ์และรายละเอียดเพิ่มเติมนั้น กฎหมายให้ ‘กสทช.’ เป็นผู้ไปดำเนินการตั้งราคาและจัดแบ่งชุดคลื่นความถี่ให้สม “ประโยชน์สูงสุดของประชาชน” ตลอดจนเรื่องอื่น เช่น ความเร็วของ 3จี ที่ต้องได้มาตรฐาน, ราคาที่ต้องไม่แพงเกินไป หรือเรื่องสำคัญที่ยังไม่มีใครพูดถึง เช่น การใช้ ‘เสาเดิม’ มาส่ง ‘คลื่นใหม่’ (แทนที่จะไปสร้าง ‘เสาใหม่’ ให้เปลืองเงินและเวลา) หรือ การก้าวออกจาก ‘ยุคมืด’ ของสัญญาสัมปทาน (ซึ่ง ‘รัฐวิสาหกิจ’ บางรายได้คลื่นไม่ต้องประมูล แต่กลับไม่ทำอะไร ส่วนอีกรายก็ไปทำโครงการลับๆ ล่อๆ กับเอกชนจนส่อทุจริต) ฯลฯ

สมควรย้ำว่า ‘หลักการเชิงนโยบาย’ ที่กล่าวมา ไม่มีข้อใดที่กำหนดให้ กสทช. ต้องกำหนด ‘ราคา’ ให้สูง หรือ ‘รีดกำไร’ เข้ารัฐเป็นเป้าหมายสำคัญเท่านั้น (โปรดอย่าลืม ว่า กสทช. ไม่ใช่ ‘กระทรวงการคลัง’ หรือ ‘กรมสรรพากร’ ที่อยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง) 
ตรงกันข้าม กสทช. ถูกกำหนดให้คำนึงถึง “การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม” ซึ่งในมุมของ กสทช. ก็อาจอธิบายว่า การตั้งราคาที่สูงไป หรือ การปล่อยให้มีการแย่งชุดคลื่นกันได้มากเกินไป อาจทำให้ผู้เข้าประมูลบางรายไม่สามารถ “แข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม” ในที่สุด ฯลฯ (ดูคำอธิบายเพิ่มที่ http://bit.ly/3Gthai )
หากผู้ใดจะไม่เห็นด้วยก็ไม่แปลก หากมี กสทช. ตั้งมาพร้อมกัน 2 ชุด ก็อาจเห็นไม่ตรงกันเสียด้วยซ้ำ

แต่ด้วยเหตุที่ว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ไม่สมบูรณ์แบบ และแม้ กสทช. ทั้ง 11 คน จะไม่อาจเป็นผู้แทนของคนทั้งประเทศ แต่ กสทช. ก็มาจากการเสนอชื่อคัดสรรโดยองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคม และถูกคัดเลือกโดยวุฒิสภาที่อย่างน้อยก็ยังมีความเชื่อมโยงบางส่วนกับประชาชน และด้วยเหตุนี้ ‘เสียงข้างมาก’ จึงมอบดุลพินิจให้แก่ กสทช. ในการจัดการประมูลเพื่อ “ประโยชน์สูงสุดของประชาชน”

คำถามที่ตามมาก็คือ ‘ศาล’ ซึ่งเชื่อมโยงกับประชาชนน้อยยิ่งกว่า กสทช. อีกทั้งเป็นได้เพียงผู้ชี้ข้อกฎหมาย (แต่ไม่ใช่ชี้ข้อนโยบาย) นั้น สมควรจะเข้าไปตีความ “ประโยชน์สูงสุดของประชาชน”  เพื่อตรวจสอบยับยั้ง ‘ราคาตั้งต้นการประมูล’ หรือ การจัดแบ่งชุดคลื่น ที่ กสทช. ดำเนินการมากน้อยเพียงใด ? 
แน่นอนว่า หาก ‘เสียงข้างน้อย’ พบหลักฐาน ‘การทุจริต’ ที่ชี้ให้เห็นว่าการประมูลครั้งนี้จัดขึ้นโดย ‘เลือกปฏิบัติ’ ระหว่างผู้เข้าประมูล หรือเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนแทนที่จะยึด “ประโยชน์สูงสุดของประชาชน” หรือโดยใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ เช่น กำหนดตัวเลขราคาขึ้นมาลอยๆ โดยปราศจากคำอธิบายใดๆ  ‘ศาล’ ในฐานะที่พึ่งของ ‘เสียงข้างน้อย’ ย่อมชอบที่จะอาศัยหลักฐานที่ว่าเข้าไปตรวจสอบยับยั้งการประมูลได้


ตรงกันข้าม หากสิ่งที่ ‘เสียงข้างน้อย’ นำเสนอต่อ ‘ศาล’ เป็นแต่เพียงความห่วงใยและหวังดีบนพื้นฐานของ ‘ความสำนึกตรึกคิด’ ของ ‘เสียงข้างน้อย’ ที่ประสงค์จะเข้าไปกำหนดเสียเองว่า “ประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ” นั้นคืออะไรและวัดอย่างไร ก็เท่ากับว่า ‘เสียงข้างน้อย’ มิได้รับ ‘ความยินยอม’ ของ ‘เสียงข้างมาก’ 
แต่ ‘เสียงข้างน้อย’ กำลังอาศัย ‘ศาล’ มาบิดเบือน ‘ความยินยอม’ ของ ‘เสียงข้างมาก’ ให้แปรเปลี่ยนไปตามใจประสงค์ของตนเสียเอง

น่าคิดเหลือเกินว่า จาก ‘ตุลา 16’ มาสู่ ‘16 ตุลา’ นี้ ‘ศาล’ จะยังปล่อยให้ ‘ประชาธิปไตย’ ถูก ‘คลื่นแทรก’ ดังเดิมหรือไม่ ?



.