http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-31

ปิ่นแก้ว: K-Drama กับกระแสวัฒนธรรมป๊อบ

.

K-Drama กับกระแสวัฒนธรรมป๊อบ: ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
ใน www.prachatai.com/journal/2012/10/43336 . . Fri, 2012-10-26 07:36


จากเสวนา "K-Drama กับกระแสวัฒนธรรมป๊อบ" ที่ Book Re:public เชียงใหม่ ซึ่งนอกจากละครแนว "Trendies" และ "Ajumma" แล้ว "ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี" ยังอภิปรายเรื่องละครเกาหลีแนว "Saguek" ที่พัฒนามาเป็นแนว "Fusion Saguek" ละครเกาหลีอิงประวัติศาสตร์ ที่แปลงเรื่องราวของราชวงศ์เกาหลีโบราณให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรม

วันที่ 20 ต.ค.55 เวลา 16.00 น. ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “K-Dramaกับกระแสวัฒนธรรมป๊อบ” โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์, ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี และดำเนินรายการโดย ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล โดยก่อนหน้านี้ประชาไทนำเสนอการอภิปรายของอาจารย์อุบลรัตน์ (อ่าน www.prachatai.com/journal/2012/10/43317หรือhttp://botkwamdee.blogspot.com/2012/10/rep-kdrama1.html  )


ละครอิงประวัติศาสตร์เกาหลีกับการแปลงราชวงศ์ให้เป็นสินค้า

(ต่อ) ในการนำเสนอของอาจารย์ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เสนอว่าโครงเรื่องในละครเกาหลีคงไม่ต่างจากละครไทย แต่วิธีคิดในการนำเสนอโครงเรื่องของละครเกาหลีมีความต่าง โดยอุตสาหกรรมละครเกาหลีเฟื่องฟูไปทั่วโลก หรือที่รู้จักกันดีในนามของ Korean wave (Hallyu) ถึงขนาดที่แฟนละครในเกาหลีมีชื่อเรียกละครประเภทต่างๆ เช่น แนว Trendies (ละครป๊อปที่เกี่ยวกับวัยรุ่น), แนว Ajumma (ละครเกี่ยวกับผู้หญิงในวัยป้าๆ ทั้งที่แต่งงานแล้ว หรือแต่งงานแล้วหย่าและพบรักใหม่), แนว Makjang (ละครที่มีพล็อตแบบสุดขั้ว สถานการณ์เหลือเชื่อ และบีบคั้นอารมณ์), แนว Sageuk (ละครอิงประวัติศาสตร์ ที่มีพล็อตเกี่ยวกับราชวงศ์ เกี่ยวกับกษัตริย์ เกี่ยวกับการเมือง เกี่ยวกับความขัดแย้งและสงครามในยุคต่างๆ) 
โดยละคร Sageuk แต่ก่อนคนที่นิยมดูจะเป็นชายสูงวัย ยังไม่เป็น Pop Culture ยังดูกันในวงจำกัด แต่ภายหลังปี 2000 มีการปฏิวัติละครแนวนี้ขนานใหญ่ โดยเริ่มจากในเรื่อง Damo (2003) ซึ่งเป็นที่มาของการเรียกว่าเป็น Fusion Saguek คือละครที่รวมเอาพล็อตเรื่องสมัยใหม่ การดำเนินเรื่องและวิธีคิดสมัยใหม่เข้าไปในละครอิงประวัติศาสตร์ ในปีเดียวกันก็มี Da-Jang Guem (2003) ที่มีพล็อตที่ต่างจากละครอิงประวัติศาสตร์อย่างมาก เนื้อเรื่องแม้จะใช้เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เป็นบริบทของเรื่อง แต่เนื้อเรื่องเป็นเรื่องการต่อสู้ของผู้หญิงสามัญชนคนหนึ่งในท่ามกลางอุปสรรคและโรมานซ์ หรือในเรื่อง Hwang Jin Yi (2006)

แม้ละครเหล่านี้จะเป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์ แต่มันพูดด้วยภาษาสมัยใหม่ สื่อสารกับผู้หญิงสมัยใหม่ และพูดเรื่องสิทธิผู้หญิง สิ่งเหล่านี้ทำให้ละครแบบ Sageuk กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Korean Wave ขยายฐานคนดูออกไปอย่างกว้างขวาง ทุกเพศทุกวัย

ปลายทศวรรษ 2000 ยังมีการพัฒนาละครประเภท Fantasy Saguek ซึ่งเป็นละครเกี่ยวกับกษัตริย์ที่ไม่มีตัวตนในประวัติศาสตร์ เช่นเรื่อง The Moon that Embraces the Sun, Roof Top Prince, Dr.Jin  โครงเรื่องละครแบบนี้อาจกล่าวว่าเป็นแบบหลังสมัยใหม่ ที่ก่อกวนวิธีคิดในการแบ่งเวลาแบบเส้นตรงของละครอิงประวัติศาสตร์ หรือทำให้โลกในอดีตมีความเป็นแฟนตาซีเท่าๆ กับโลกในปัจจุบัน ซึ่งทำให้วัยรุ่นชอบดู


ดร.ปิ่นแก้ว กล่าวต่อว่าละครอิงประวัติศาสตร์ของเกาหลีมีความน่าสนใจ เพราะมีความย้อนแย้งในตัวเอง นำไปสู่คำถามที่สำคัญสามประการ คือ หนึ่ง เกาหลีเป็นประเทศที่เป็นสาธารณรัฐ ไม่มีกษัตริย์มากว่าหนึ่งศตวรรษ แต่เกาหลีกลับเป็นประเทศที่ผลิตสร้างละครเกี่ยวกับกษัตริย์ไปทั่วโลกมากที่สุดประเทศหนึ่ง คำถามคือละครอิงประวัติศาสตร์แบบนี้ทำหน้าที่อะไรในทางการเมืองและเศรษฐกิจ ระดับชาติและระดับข้ามชาติ 
สอง คือละครอิงประวัติศาสตร์มีลักษณะและบริบทที่เฉพาะอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ Time ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เฉพาะช่วงเวลาหนึ่ง แง่ Space เกิดในสังคมเฉพาะที่หนึ่ง และแง่ Class คือเป็นเรื่องของชนชั้นสูง แต่ทำไม Saguek จึงกลายเป็นวัฒนธรรมมวลชน ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้  และ สาม คือคนดูเสพหรือบริโภคอะไรจาก Segeuk

ดร.ปิ่นแก้วเสนอว่าละคร Sageuk ได้ตอบสนองต่อแรงปรารถนาและแฟนตาซีสามประการด้วยกัน คือทำหน้าที่ในการสร้างความทรงจำใหม่และสิทธิธรรมใหม่เกี่ยวกับความเป็นชาติขึ้นใหม่ในสังคมโลก, การตอบสนองต่อแฟนตาซีว่าด้วยการรวมชาติ และการแปลงประวัติศาสตร์ราชวงศ์ให้เป็นสินค้าท่องเที่ยว
ปมคำถามแรก คือในประวัติศาสตร์เกาหลี เคยถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่น (1910-1945) ญี่ปุ่นรุกรานเข้าไปในเกาหลีและล้มเลิกระบบกษัตริย์ ผนวกเกาหลีเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์ใหญ่ของญี่ปุ่น แม้หลังจากนั้นก็ไม่มีการรื้อฟื้นราชวงศ์ขึ้นมา การผนวกรวมของญี่ปุ่นทำมากกว่าอาณานิคม คือญี่ปุ่นมาพร้อมกับสมมติฐานว่าโดยเชื้อชาติ เกาหลีสืบเชื้อสายมาจากญี่ปุ่น ผลคือทำให้ในแง่อัตลักษณ์ความเป็นชาติ เกาหลีกลายเป็นชาติที่ว่างเปล่า ไม่มีประวัติศาสตร์ของตัวเอง เกาหลีเป็นชาติที่ไม่มี Origin 

การสร้างละคร Sageuk ขึ้นมา จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการประกอบสร้างความทรงจำเกี่ยวกับความมีรากเหง้าและความเป็นชาติขึ้นมาใหม่ ที่ต่างไปจากญี่ปุ่นและจีน มีความเป็นตัวของตัวเอง ละครจำนวนมากพยายามแสดงให้เห็นว่าเกาหลีในยุคก่อน มีกษัตริย์ที่เข้มแข็ง อุตสาหะในการสร้างชาติ และมีวัฒนธรรมอาหาร ดนตรี สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ มาหลายร้อยปี 
ละครพวกนี้แม้จะมีกษัตริย์เป็นตัวเอกหรือเป็นองค์ประกอบ แต่ไม่ใช่ละครบูชากษัตริย์ เพื่อสร้างชาตินิยมภายใต้ลัทธิบูชากษัตริย์แบบละครไทย ในทางตรงข้าม ตัวเอกที่เป็นกษัตริย์ในยุคต่างๆ ถูกนำมาใช้ในละคร ในลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์ของความมีรากที่ยาวนาน แข็งแกร่ง และสืบเนื่องเพียงเท่านั้น เพื่อบอกว่าเกาหลีแม้เป็นสาธารณรัฐ แต่ไม่ได้เป็นประเทศใหม่ หากเก่าแก่ไม่แพ้จีนและญี่ปุ่น โดยมีกษัตริย์เป็นประจักษ์พยานทางหลักฐาน ความเก่งกล้าสามารถของกษัตริย์จึงทำหน้าที่เพียงเป็นประจักษ์พยานทางวัฒนธรรม ละครหลายเรื่องมีกษัตริย์เป็นแค่บริบท พูดง่ายๆ คือกษัตริย์ในละครเหล่านี้ปรากฏในฐานะ “มรดกทางวัฒนธรรม” ไม่ต่างจากประดิษฐ์กรรมทางวัฒนธรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการกลับไปค้นหา origin ของเกาหลี ซึ่งเริ่มเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อหาหรือประกอบสร้างอัตลักษณ์ของชาติเกาหลีขึ้น

ประการที่สอง Segeuk ได้สร้างแฟนตาซีว่าด้วยการรวมชาติ ซึ่งเป็นความปรารถนาเฉพาะของเกาหลีใต้ เช่น เรื่อง Jumong เป็นเรื่องการรวมดินแดนสามอาณาจักรเข้าด้วยกัน ถ้าดูเรื่องนี้หรือละครอิงประวัติศาสตร์ยุคนี้ มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เพราะทั้งสองอยู่ภายใต้อาณาจักรเดียวกัน หรือเรื่อง King2Hearts ก็สะท้อนความต้องการรวมชาติของเกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือ แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นแฟนตาซีเฉพาะของเกาหลีใต้ฝ่ายเดียว

ประการที่สาม คือ Segeuk คือการแปลงประวัติศาสตร์ราชวงศ์ให้เป็นสินค้าท่องเที่ยว ส่วนนี้อาจจะเป็นผลอันไม่ตั้งใจของความนิยมเรื่องแดจังกึม ทำให้แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่ปรากฏในละครโด่งดังมาก รัฐบาลก็ส่งเสริมและทำให้ประวัติศาสตร์ราชวงศ์กลายเป็นการท่องเที่ยวอย่างแข็งขัน แต่ก็มีภาวะที่ย้อนแย้งที่น่าสนใจ โดยเจ้าชาย Yi Seok เชื้อพระราชวงศ์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ลีแห่งโชซอนที่ยังมีชีวิตอยู่ เคยกล่าวว่าเขาตระหนักว่าคุณค่าของระบบกษัตริย์ในเกาหลีเป็นได้อย่างมากก็เป็นแค่เครื่องหมายในการท่องเที่ยว แม้เขาจะเรียกร้องผ่านสื่อมวลชนให้มีการรื้อฟื้นระบบกษัตริย์ขึ้นมา แต่จะให้เป็นเพียงกษัตริย์เชิงสัญลักษณ์ เขาบอกว่าตนเองพร้อมจะไปทุกหนแห่งเพื่อขอการสนับสนุนการรื้อฟื้นระบบ และถ้ายอมให้ตนไปอยู่วัง ตนจะพานักท่องเที่ยวเที่ยวชมวัง นี่เป็นสิ่งที่ดีไม่ใช่หรือ
และดูเหมือนคนเกาหลีก็ตระหนักดีถึงข้อเท็จจริงอันนี้  ว่าสถาบันกษัตริย์ในสังคมเกาหลีนั้น มีที่ทางเฉพาะ เพียงในประวัติศาสตร์ ในขณะที่ในปัจจุบัน สถาบันดังกล่าวมีคุณค่าก็เพียงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์เท่านั้น โดยในปี 2006 มีการสำรวจความเห็นของประชาชนต่อการรื้อฟื้นระบบกษัตริย์ 54.4% เห็นด้วยว่าควรมีการรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์ ปี 2010 สัดส่วนตกมาเหลือ 40.4%

ในขณะนั้นก็มีการถกเถียงในฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่า ประเทศได้ก้าวหน้าไปไกลแล้วในระบบสาธารณรัฐ กษัตริย์ก็เป็นพลเมืองคนหนึ่ง ไม่ควรนำสถานะนี้มาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เขาอยู่เป็นพลเมืองก็ดีแล้ว อย่าเอาเขามาหารายได้ บางคนประณามสถาบันนี้ที่ทำให้เกาหลีตกเป็นเมืองขึ้นญี่ปุ่น ส่วนฝ่ายเห็นด้วยมักเห็นว่าก็ไม่เสียหายอะไร ถ้าให้มีสถาบันโดยไม่ต้องมีอำนาจทางการเมือง อย่างน้อยก็ทำให้เกาหลีมีสัญลักษณ์ของชาติเพิ่มขึ้นมาอีกอันหนึ่ง


คำถามที่สอง คือ ทำไม Seguek ถึงกลายเป็นวัฒนธรรมมวลชนที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ โดยมีข้อสังเกตว่าละครเหล่านี้แม้ท้องเรื่องจะเกี่ยวกับกษัตริย์หรือกษัตริยา แต่เนื้อหาจริงๆ ไม่ใช่เรื่องกษัตริย์แต่ละองค์ แต่มันเป็นอุปมานิทัศน์ (Allegory) ของสามัญชนในสังคมเกาหลี สะท้อนความคิดของสังคมเกาหลีที่มีต่อบุคคล ไม่ใช่ต่อกษัตริย์ในฐานะที่เป็นเทพ หรือบุคคลเหนือธรรมดา ดังนั้นละครเหล่านี้แม้ท้องเรื่องจะเป็นเรื่องของกษัตริย์ในยุคก่อนสมัยใหม่ ที่สมัยนั้นมองกษัตริย์เป็นสมมติเทพ แต่ในละครกลับทอนเรื่องให้เป็นสมัยใหม่และเป็นวิทยาศาสตร์ กษัตริย์ในแต่ละเรื่องมีลักษณะเป็นคนธรรมดา รู้ร้อนรู้หนาว รู้จักรัก ผิดพลาด กลัว เหลวไหล หรืออ่อนแอ
ละครเกาหลีเหล่านี้กลายเป็นวัฒนธรรมมวลชนได้ ก็เพราะมันได้ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตของบุคคลธรรมดา ไม่ใช่ประวัติชีวิตแบบทวยเทพของชนชั้นสูงใดๆ ดังนั้นจึงเป็นประสบการณ์ร่วมสมัย ซึ่งมนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เข้าใจได้ เห็นใจได้ และดังนั้นจึงสะเทือนใจ หรือบางเรื่องก็เอากษัตริย์มาทำเป็นเรื่องขำขัน (Comedy) เช่น Roof top Prince มีลักษณะการทำให้กษัตริย์เป็นสามัญชนที่ชัดเจน


คำถามที่สาม คือคนดูเสพอะไรจากละครอิงประวัติศาสตร์ คำถามนี้สำคัญที่สุดแต่ตอบยากที่สุด ต้องการการทำวิจัย เพราะคนกลุ่มที่แตกต่างกันน่าจะรับรู้และรับสารที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถนำมาสร้างเป็นความเห็นโดยทั่วไปได้โดยไม่มีการทำวิจัย 
แต่ดร.ปิ่นแก้วได้ตั้งข้อสังเกตจากประสบการณ์ส่วนตัว พบว่าชาวบ้านทั่วไปในไทยนั้นก็ติดละครเกาหลีด้วย ในช่วงที่ทำวิจัยเรื่องเสื้อแดง ในหลายพื้นที่พบว่าไม่ได้ดูข่าวทีวี ไม่ดูตั้งแต่สองทุ่มเป็นต้นไป แต่ชาวบ้านผู้ชายคนหนึ่งกลับบอกว่าถ้าดู ก็ดูละครเกาหลี เมื่อถามว่าทำไมดู เขาตอบว่าก็มันเหมือนการเมืองไทย พวกที่ครองอำนาจคงไม่ปล่อยให้คนอื่นมาแย่งอำนาจไปง่ายๆ หรอก


ดร.ปิ่นแก้วสรุปว่าเราอาจจะตีความได้ว่าละคร Seguek สำหรับคนเกาหลีแล้ว ถ้ามันเปรียบเหมือนอุปมานิทัศน์ของชีวิตสามัญชนตัวแบบในสังคมเกาหลี ที่คนเกาหลีอยากจะเป็น แม้จะอ่อนแอ ผิดพลาด โดดเดี่ยว แต่ก็ฝ่าฟัน เรียนรู้ ค้นพบ สร้างตัวตนและคุณค่าของตนใหม่ขึ้นมา

สำหรับชนชั้นล่างในสังคมไทยแล้ว ละครอิงประวัติศาสตร์ของเกาหลี ที่ท้องเรื่องส่วนใหญ่เปลือยให้เห็นแก่นแท้ของความฉ้อฉล แก่งแย่ง หรือช่วงชิงอำนาจกันเองภายในชนชั้นสูง ละครพวกนี้ทำหน้าที่เป็นอุปมานิทัศน์ให้ชาวบ้าน ในการเปรียบเทียบถึงสิ่งที่พวกเขาคิด หรือมีทัศนะต่อกลุ่มชนชั้นสูงในสังคมไทย อันเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงไม่ได้ และละครไทยไม่มีทางนำธีมเหล่านี้มาทำเป็นละคร


อุบลรัตน์_ปิ่นแก้ว_อภิญญา_ 2 of 4
www.youtube.com/watch?v=QvL4PHtP54c



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อุบลรัตน์_ปิ่นแก้ว_อภิญญา_ 3 of 4
www.youtube.com/watch?v=xEXXkdJoy_c




.