http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-18

ลูกคุณเอาหัวเสียบบันไดเลื่อน หรือเสียบวิดีโอเกม โดย นพ.บรรจบ ชุณห สวัสดิกุล

.
บทความถัดไป - แจกไอโอดีนผสมแท็บเล็ต ช่วยเด็กไทยให้โง่หรือฉลาดกันแน่? โดย นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ลูกคุณเอาหัวเสียบบันไดเลื่อนหรือเสียบวิดีโอเกม
โดย นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล dr.banchob@balavi.com www.balavi.com
คอลัมน์ ธรรมชาติบำบัด ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1674 หน้า 93


ผมว่าแล้วเชียวว่าเจ้าบันไดเลื่อนตามห้างสรรพสินค้าเนี่ยนะ อันตรายสุดๆ ใครที่อ่านมติชนสุดฯ คงจำได้ว่า ผมเคยเขียนเตือนมาแล้วในคอลัมน์นี้เมื่อเดือนมีนาคม 2555 นี้เอง ความว่า
"ขณะที่พาคุณแม่นั่งกินอาหารกันอยู่ ก็มีเสียงโวยวายเกิดขึ้นที่บันไดเลื่อน...ผู้หญิงคนนั้นขึ้นบันไดเลื่อนมา กำลังที่จะถึงหัวเลี้ยวของบันไดเลื่อนซึ่งหักศอก พอดีเธอยื่นหน้าออกไปมองลงไปยังพื้นที่ชั้นล่าง บันไดก็เลื่อนเธอให้ถึงตรงหักศอกพอดี ศีรษะก็เลยไปเกยอยู่ตรงใต้ของบันไดเลื่อนอีกชั้นหนึ่ง เหมือนเอาศีรษะตัวเองเข้าไปในซอกของเครื่องหนีบหมากหรือเครื่องสับกระดาษ ซึ่งมันจะหนีบหัวหนีบคอของเธอให้แตกหักออกไปก็เป็นได้ ...เธอรอดตายมาอย่างหวุดหวิด 
พนักงานขายของร้านอาหารที่ผมเข้าไปกินพูดกับผมว่า "ที่ตรงเนี้ย เกิดเหตุเป็นประจำ วันก่อนก็รายหนึ่ง และก่อนโน้นก็อีกรายหนึ่ง ไม่เห็นทางห้างเขาทำอะไร" 
ผมมองไปก็เห็นได้ว่า ทางห้างได้แต่ติดป้ายเขียนไว้ว่า "ระวังศีรษะ" แต่นั่นคงไม่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้นได้ เพราะธรรมดาถ้าเราเห็นป้ายระวังศีรษะก็คิดแต่เพียงว่า ให้ระวังศีรษะจะโขกเข้ากับอะไร แต่จริงๆ แล้วเหนือบันไดเลื่อนก็ไม่มีอะไรจะโขกหัวหรอก แต่ป้ายดังกล่าวไม่สามารถป้องกันใครบางคนที่บังเอิญจะชะโงกศีรษะออกไปตอนจังหวะบันไดเลื่อนถึงตรงหักศอกพอดี ก็คงเสี่ยงอย่างมากที่จะมีคนถูกหนีบหัว หนีบคอ เหมือนเครื่องสับกระดาษขนาดยักษ์ ซึ่งถ้าสับได้จังหวะพอดี ก็น่าจะมีศีรษะขาดกระเด็นตกลงไปสู่พื้นเบื้องล่างได้
เป็นอันว่าผมได้แต่ถ่ายภาพที่เกิดเหตุมาให้ดูกัน เหตุเกิดขึ้นที่บิ๊กซี สะพานควาย นี่เอง ผู้บริหารบิ๊กซี ทราบแล้วเปลี่ยน เพื่อป้องกันมิให้เครื่องสับกระดาษขนาดยักษ์นี้เฉือนคอใครให้ศีรษะหลุดกระเด็นตกลงไป"


เรียกได้ว่าพูดยังไม่ทันขาดคำก็เกิดเหตุเด็กหญิงอายุ 11 ขวบถูกบันไดเลื่อนหนีบคอ ดูตามภาพถ่ายแล้วบอกได้เลยว่า เหตุเกิดในลักษณะเดียวกัน เพียงแต่น้องหนูหลบไม่ทัน จึงถูกหนีบเข้าจริงๆ 
นี่คือเหตุเศร้าสลดเมื่อเด็กเอาหัวเสียบบันไดเลื่อน เพียงแต่ต่างกรรมต่างสถานที่ เที่ยวนี้เกิดขึ้นที่ฟิวเจอร์ปาร์ก รังสิต



ทีนี้อันตรายจากเทคโนโลยีที่แท้แล้วยังมีอีกเยอะ วันนี้จะชี้ชวนว่า ถ้าลูกคุณแทนที่จะเอาหัวเสียบบันไดเลื่อน เปลี่ยนเป็นเสียบหัวเข้ากับวิดีโอเกมบ้าง ผลพวงจะเป็นอย่างไร? พูดง่ายๆ ก็คืออันตรายของโทรทัศน์และวิดีโอเกมนั่นแหละ

อันตรายอย่างที่สุดถ้าคุณปล่อยให้ลูกของคุณอยู่กับจอโทรทัศน์และวิดีโอเกม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดภาวะสมาธิสั้น โดยมันจะก่อวงจรอุบาทว์ดังนี้คือ :  
การเพ่งจ้องความรวดเร็วบนจอ-->เกิดความพอใจจากสารสื่อนำประสาทที่กระตุ้นเร้า-->เบื่อหน่ายความเชื่องช้าในชีวิตประจำวัน-->ขาดสมาธิการเรียน รุนแรง รบกวนคนอื่น-->ถูกปฏิเสธจากคนแวดล้อม-->หันหาโทรทัศน์และวิดีโอเกม


นี่เป็นเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้ว ดังเช่น ดร.ดักลาส เอ. เจนไทล์ (Douglas A. Gentile Ph.D.) แห่งมหาวิทยาลัยไอโอวา ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะวิจัยซึ่งตีพิมพ์ผลงานในวารสารจิตวิทยาสื่อวัฒนธกรรมสมัยใหม่ของสมาคมจิตวิทยาอเมริกันระบุไว้ว่า 
"ปัญหาสมาธิสั้นเราต้องพิจารณาทั้งสาเหตุจากธรรมชาติและปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดปัญหานี้ด้วย เราให้ความสำคัญแต่ปัจจัยทางชีวภาพและพันธุกรรมทำให้มีข้อสรุปแต่เพียงว่า เด็กสมาธิสั้นมีแต่จะต้องกินยาเท่านั้น ซึ่งทำให้พ่อแม่ยากที่จะรับได้ แต่เวลานี้ที่เราเข้าใจถึงบทบาทของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อภาวะสมาธิสั้นด้วย ทำให้พ่อแม่มีโอกาสเลือกมากขึ้นที่จะลองช่วยเหลือเด็กจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะต้องหันไปพึ่งยา"

เจนไทล์ศึกษาความประพฤติและพฤติกรรมเล่นเกมของเด็กสิงคโปร์จำนวน 3,000 คน อายุระหว่าง 8-17 ปีเป็นเวลา 3 ปี เขาศึกษาความถี่ของการเล่นวิดีโอเกมและระดับความรุนแรงของเกมที่เด็กเล่น แล้วเขาก็ให้ข้อสรุปว่า 
"วิดีโอเกมอาจจะช่วยเพิ่มสมาธิในการใช้สายตาซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการเล่นเกม เช่นว่าถ้าเล่นเกมสงครามทางอากาศ ผู้เล่นจำเป็นอยู่เองที่ต้องใช้สายตากะจำนวนทหารของฝ่ายตรงข้ามที่จะยิงกระสุนใส่เครื่องบินของเรา เพื่อที่จะไม่ให้เครื่องบินของเราถูกยิงตกได้ง่ายๆ แต่ทักษะเช่นนี้ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลยในห้องเรียน 
"ผลร้ายที่เกิดขึ้นมากกว่าผลดีก็คือ ความตื่นเต้นเร้าใจและความรวดเร็วจากผลของคะแนนที่ได้รับหรือการผ่านด่านแต่ละด่านของเกมที่เล่น มันให้ผลรวดเร็วทันใจกว่ามาก เมื่อเทียบกับชีวิตจริงของการเรียนหนังสือที่ต้องใช้ความพยายามอดทนเรียนเป็นเวลายาวนาน เป็นผลให้เด็กพบว่าชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงไม่มีแรงกระตุ้นเร้าเพียงพอ และช่างน่าเบื่อหน่ายเสียจริงๆ"

เจนไทล์ให้ข้อสังเกตอีกว่า เด็กสูญเสียเวลาที่ใช้ไปกับวิดีโอเกมไปเปล่าๆ แทนที่จะค่อยๆ พัฒนาทักษะที่จะเรียนรู้การควบคุมตัวเอง ผลการวิจัยจึงพบว่าเด็กยิ่งใช้เวลากับการเล่นวิดีโอเกมมากเท่าไรก็จะยิ่งควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่อยู่และขาดสมาธิมากเท่านั้น และซ้ำร้ายเด็กยิ่งมีปัญหาเรื่องสมาธิสั้นก็ยิ่งมีแนวโน้มอยากเล่นวิดีโอเกมมากขึ้น กลายเป็นวงจรแห่งความชั่วร้าย 
ประโยคสุดท้ายที่เจนไทล์สรุปจากงานของเขาก็คือ วิดีโอเกมสอนอะไรเด็กๆ บ้าง? คำตอบก็คือ สอนความหุนหันพลันแล่น สอนความต้องการให้ได้ดังใจ และสอนให้มีสมาธิสั้น คำตอบทั้งหมดมีอยู่ในเกมวิดีโอ



เกี่ยวกับจำนวนชั่วโมงที่เฝ้าหน้าจอว่า ขนาดไหนจึงจะเหมาะสม? เอ็ดเวิร์ด สวิงก์ นักศึกษาหลังปริญญามหาวิทยาลัยแห่งรัฐไอโอวา ศึกษาในเด็ก 1,300 คน ในระดับเกรดสาม สี่ และห้า ซึ่งเฝ้าหน้าจอทีวีและคอมพิวเตอร์น้อยกว่าวันละ 2 ชั่วโมง เทียบกับเด็กที่เฝ้าหน้าจอมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน พบว่าการใช้เวลาหน้าจอมากกว่ามีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นสมาธิสั้นมากกว่าเด็กกลุ่มแรกถึง 2 เท่าตัว 
หลังสุดสถาบันกุมารเวชแห่งสหรัฐอเมริกาเห็นด้วยกับเรื่องนี้ และบอกว่าการดูวิดีโอในเด็กวัยเตาะแตะ (2-4 ขวบ) อาจนำไปสู่ภาวะสมาธิสั้นเมื่อโตขึ้น จึงได้กำหนดมาตรการเกี่ยวกับเด็กและทีวีกับคอมพิวเตอร์ไว้ว่า เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่แนะนำให้ดูโทรทัศน์หรือดูจอคอมพิวเตอร์เลย ส่วนเด็กอายุเกิน 2 ขวบ ให้ดูโทรทัศน์หรือจอคอมพิวเตอร์ได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน

นพ.คริสตาคิส ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็ก ที่ซีแอตเติลกล่าวว่า "ผลร้ายของการให้เด็กขวบปีแรกดูโทรทัศน์นั้นจะปรากฏในวัย 7 ขวบ เมื่อเขาต้องใช้สมาธิในการเรียนหนังสือ เพราะภาพที่เคลื่อนไหวบนจอเร็วมากเกินไปสำหรับเด็กเล็กซึ่งเซลล์สมองกำลังเจริญเติบโต ทำให้เกิดการเสียหายอย่างถาวรต่อระบบประสาทของเด็กที่กำลังพัฒนาอยู่" 

ส่วน เจน ฮีลลีย์ จิตเวชเด็กกล่าวว่า "เสียงของทีวีและวิดีโอมันดังเกินไปจนเข้าไปรบกวน "ภาษาภายใน" ของสมองเด็กที่จะหัดคิด หัดแก้ปัญหา และควบคุมการตอบสนองต่อสิ่งเร้าในตัวของเขา"
"เด็กเล็กที่กำลังหัดใช้นิ้วในระหว่างที่ยืดเหยียด หรือกำนิ้วมือเพื่อต่อเชื่อมคำสั่งจากสมองผ่านเส้นประสาทไปยังกล้ามเนื้อมัดเล็กๆ ของเขาจะถูกรบกวนเมื่อเด็กๆ ถูกทิ้งไว้อยู่หน้าจอโทรทัศน์ที่มีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มันจะรบกวนกระแสประสาทน้อยๆ ของเด็กเล็กๆ เหล่านี้ได้"

ดร.คริสโตเฟอร์ ลูคัส (Christopher Lucas) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาเด็กคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยนิวยอร์กกล่าวว่า "เมื่อเด็กเล่นเกมผ่านไปทีละด่าน หรือสะสมคะแนนไปครั้งแล้วครั้งเล่า มันสร้างความสะใจให้เด็กเหมือนกับว่าสมองของเขาได้รับรางวัลอย่างงามๆ อยู่ทุกเมื่อ รางวัลที่สมองของเขาที่ได้รับคือปริมาณสารสื่อนำประสาทโดปามีนที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ ด้วยเหตุนี้เองเด็กสมาธิสั้นซึ่งสมองของเขาขาดโดปามีนอยู่แล้วจึงพบว่าวิดีโอเกมตอบสนองภาวะพร่องโดปามีนในสมองของตนได้อย่างสาแก่ใจ" ซึ่งก็เหมือนกับการกินยามีทัยเฟนิเดต (methyphenidate-Ritalin) ซึ่งไปเพิ่มปริมาณโดปามีนในสมอง

ผลก็คือ วิดีโอเกมเป็นเสมือนสารเสพติดที่กระตุ้นเร้าเด็กให้สนองความสะใจที่โลกแห่งความเป็นจริงไม่มีให้
นี่คือวงจรอุบาทว์เมื่อคุณปล่อยให้ลูกเสียบหัวเข้ากับวิดีโอเกม 



++

แจกไอโอดีนผสมแท็บเล็ต ช่วยเด็กไทยให้โง่หรือฉลาดกันแน่?
โดย นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล dr.banchob@balavi.com www.balavi.com
คอลัมน์ ธรรมชาติบำบัด ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1676 หน้า 93


ด้วยการทำงานในกรอบความรับรู้เก่าๆ แล้วขยายความให้เป็นโครงการ จู่ๆ ก็มีการออกข่าวให้ดูตื่นเต้นว่าการเพิ่มไอโอดีนให้แก่เด็กๆ จะช่วยลดปัญหาเด็กสมาธิสั้นได้
ว่าดังนั้นแล้วผู้จัดทำโครงการก็เชิญนายกฯ ปูไปเปิดงานให้ดูหวือหวา
บอกตามตรงเลยว่า เท่าที่ผมติดตามความรู้เรื่องภาวะสมาธิสั้น รวมทั้งเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดขึ้น ยังไม่เคยมีงานวิจัยใดๆ ที่จะพิสูจน์ให้เห็นได้เลยว่า ภาวะสมาธิสั้นจะสัมพันธ์กับการขาดไอโอดีน 

ดังนั้น การที่นายกปูจะไปแจกไอโอดีนแล้วบอกว่าช่วยแก้ปัญหาสมาธิสั้นในเด็กนั้น เป็นการโกหกสีอะไร?

ตรงกันข้าม สิ่งที่แน่ยิ่งกว่าแช่แป้งก็คือ การเฝ้าหน้าจอไม่ว่าจะเป็นทีวีหรือวิดีโอเกมนั้น เพิ่มโอกาสการเป็นสมาธิสั้นอย่างแน่นอน 
ด้วยเหตุนี้คิดเอาเองก็แล้วกันว่า นโยบายแจกแท็บเล็ตแถมบางโรงเรียนนึกสนุกกว่านั้น จะให้นักเรียนยืมแท็บเล็ตกลับบ้านตอนที่โรงเรียนปิดเทอมด้วย คิดดูก็แล้วกันว่าจะทำให้เด็กๆ ของเราฉลาดหรือโง่กันแน่? 

สองฉบับที่แล้วผมได้ให้ข้อมูลงานวิจัยเรื่องการเฝ้าจอก่อสมาธิสั้นขนาดไหนแล้ว ฉบับนี้ขอขยายความต่อ


ในสหรัฐอเมริกา มูลนิธิครอบครัว เฮนรี เจ. ไคเซอร์ (the Henry J. Kaiser Family Foundation-KFF) เปิดเผยว่า ความที่วิดีโอเกมนั้นแพร่หลายมาก มันเล่นได้กระทั่งบนโทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ตแล้ว ยอดการจำหน่ายวิดีโอเกมในสหรัฐปาเข้าไปถึง 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ในจำนวนนี้ลูกค้ากว่า 2 ใน 3 เป็นลูกค้าอายุระหว่าง 2-18 ปี ซึ่งนั่งเล่นอยู่กับบ้าน ในโรงเรียน มันเป็นกิจกรรมที่ดึงให้เด็กอยู่ตามลำพังคนเดียวโดยตลอด ความนิยมมีความแตกต่างกันระหว่างชาติพันธุ์และเศรษฐฐานะด้วย
ในเด็กโตอายุระหว่าง 8-18 ปี จะพบว่าเด็กผิวสีเล่นมากกว่าเด็กผิวขาว และเด็กในครอบครัวเศรษฐฐานะระดับล่างและปานกลางใช้เวลาอยู่กับสิ่งนี้มากกว่าเด็กในครอบครัวร่ำรวย
ความจริงข้อนี้น่ากลัวมาก ตีความต่อได้ว่า ครอบครัวยิ่งการศึกษาต่ำและยากจน พ่อแม่มักทอดทิ้งให้เด็กอยู่หน้าจอเครื่องเล่นเหล่านี้

ตัวเลขโดยรวมพบว่า เด็กหนุ่มสาวแต่ละคนกว่าจะถึงอายุ 21 ปี ล้วนสะสมชั่วโมงของตนหน้าวิดีโอเกมไว้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ชั่วโมง
ซึ่งถ้าเอาตัวเลขนี้เทียบกับเวลาไปโรงเรียนแล้ว จะพบว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าเวลารวมกันของการไปโรงเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายเพียงแค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้นเอง (ถ้าเด็กจะไปโรงเรียนครบจำนวนชั่วโมงที่กำหนดไว้) มันเท่ากับจำนวนชั่วโมงทำงานของคนที่ทำงานเต็มเวลาสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงเลยทีเดียว 
คิดดูก็แล้วกันว่า เด็กแต่ละคนใช้เวลาเล่นเกมเกือบเท่ากับผู้ใหญ่ทำงานเต็มเวลา ช่างน่าเศร้าใจขนาดไหน



เล่นเกม ท่องเน็ต กับปัญหาการนอน 

การก้าวเข้าสู่ยุคไอที มีผลต่อสุขภาพของเด็กและวัยรุ่นอย่างไร?
งานวิจัยโดย นพ.ปีเตอร์ จี. โพลอส (Peter G. Polos) ของศูนย์การแพทย์ เจ.เอฟ.เค. ในนิวเจอร์ซีซึ่งเสนอในที่ประชุมวิทยาลัยแพทย์ทรวงอกสหรัฐอเมริกา (American College of Chest Physicians-ACCP) พบว่ามากกว่าครึ่งของเด็กที่ใช้เวลาก่อนนอนท่องเน็ตหรือเล่นคอมพิวเตอร์จะมีแนวโน้มการนอนไม่หลับ นอนดิ้น ปวดแข้งขา แล้วมีปัญหาทางด้านอารมณ์ ความประพฤติและความสามารถในการเรียนในเวลากลางวัน เช่น สมาธิสั้น วิตกกังวล ซึมเศร้า

นพ.ปีเตอร์กล่าวว่า "เป็นของแน่อยู่แล้วเมื่อเด็กๆ ทำกิจกรรมที่กระตุ้นเร้าตอนก่อนนอน อันเป็นช่วงเวลาที่ควรจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สงบ" 
นพ.ปีเตอร์และคณะสรุปว่าการใช้อุปกรณ์ไอทีก่อนนอนอาจจะเกิดผลไม่ดีต่อสุขภาพการนอนและปัญหาทางประสาทและอารมณ์ตอนกลางวัน
และบอกว่า "การนอนเป็นลักษณะการสร้างนิสัยอย่างหนึ่งของธรรมชาติ ถ้าเด็กและผู้ใหญ่วัยเยาว์เหล่านี้ฝึกนิสัยตัวเองในลักษณะนี้ ต่อไปก็เป็นไปได้ว่าพวกเขาจะติดนิสัยที่ต้องการการกระตุ้นเร้าก่อนนอนเสมอๆ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่"


แล้ววิดีโอที่ผลิตมาสำหรับเด็กเล็กล่ะ?

คําถามมีขึ้นมาอีกว่า "แล้วพ่อแม่ที่ฝึกเด็กด้วยการให้ดูวิดีโอสำหรับเด็ก อย่างเบบี้ไอน์สไตน์ หรือเทเลทัปปี้ ซึ่งว่ากันว่าทำขึ้นมาสำหรับเด็กเล็กนั้นล่ะ?" 
จากการศึกษาเด็กมากกว่า 2,000 ราย นพ.คริสตาคิสพบว่า สำหรับเด็กอายุ 1-3 ปีนั้น ทุก 1 ชั่วโมงที่เด็กดูวิดีโอเหล่านี้ก็เท่ากับเพิ่มอีกโอกาสอีก 10% ในการมีปัญหาเรื่องสมาธิ และอาจถูกวินิจฉัยว่าเป็นสมาธิสั้นเมื่ออายุ 7 ขวบ 
และถ้าเด็กเตาะแตะคนหนึ่งดูวิดีโอสำหรับทารกเป็นเวลาต่อเนื่องกัน 3 ชั่วโมง ก็จะมีโอกาสมากขึ้น 30% ที่จะเกิดปัญหาเรื่องสมาธิเมื่อเข้าโรงเรียน 


ถ้าอย่างนั้นวิดีโอเหล่านี้มีขายอยู่ได้อย่างไร ถ้ามันมีผลอันน่ากลัวขนาดนั้น? 
คำตอบก็คือเป็นเรื่องของการตลาดที่อ้างว่าเป็นอุปกรณ์เพื่อการศึกษา หรือเป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ของเด็ก แต่ล้วนให้ผลร้ายมากกว่าผลดี
ความเป็นจริงของการใช้วิดีโอเหล่านี้ก็คือ บางครั้งผู้ใหญ่ต้องการซื้อเวลาสำหรับตัวเอง เช่น ต้องการจะได้พักบ้าง หรือบางทีคุณแม่กำลังล้างจานหรือทำงานบ้านอยู่ บ้างก็ขายของหน้าร้านไปด้วยและกำลังรับออร์เดอร์ เพราะฉะนั้น ก็เลยเปิดวิดีโอเหล่านี้ให้ลูกดู ครั้นเมื่องานตัวเองไม่เสร็จ ก็อาจหันกลับไปเปิดวิดีโอซ้ำอีกหลายๆ รอบ คุณแม่บางคนถึงกับอยากได้วิดีโอที่มีความยาวมากกว่า 30 นาทีด้วยซ้ำ

ตัวเลขที่สำรวจโดยมูลนิธิครอบครัวไคเซอร์ (Keiser Famaily Foundation) พบว่า เวลานี้ในสหรัฐอเมริกา เด็กอายุระหว่าง 1-2 ขวบ จำนวนกว่า 26% มีโทรทัศน์อยู่ในห้องนอน และดูโทรทัศน์จากเตียงนอนเล็กๆ ของตน มีครอบครัวกว่า 36% เปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้ตลอดเวลา แม้ว่าจะไม่มีใครดูแล้วก็ตาม 
เรื่องที่น่าสะเทือนใจก็คือ พ่อแม่สมัยนี้ชักจะไม่มั่นใจว่า ถ้าตนขาดวิดีโอเหล่านี้แล้วจะสอนเด็กได้หรือเปล่า

แท้ที่จริงถ้าผู้อ่านจะคิดดูให้ดีมนุษยชาติเราออกลูกสืบหลานมา 50,000 ปีแล้ว โดยไม่เคยได้ใช้โทรทัศน์เป็นสื่อสักหน่อย 
เด็กวัยเตาะแตะเหล่านี้ไม่ได้มีความต้องการภาพบนจอมาดึงดูดความสนใจของเขาสักนิด เด็กๆ สามารถสนุกและเรียนรู้กับของเล่นอย่างง่ายๆ ภายใต้การดูแลของพ่อแม่  
โดโรธีย์ ซิงเกอร์ นักวิจัยเกี่ยวกับโทรทัศน์มหาวิทยาลัยเยลบอกว่า 
"เมื่อเด็กวัยหนึ่งขวบเล่นของเล่น ทุกครั้งที่เขาแกว่ง ยกมันขึ้นหรือวางมันลง เขาก็กำลังเรียนรู้เรื่องของเสียง เรื่องช่องว่าง เรื่องพื้นผิวอยู่ในตัวแล้ว การดูโทรทัศน์ไม่สามารถทดแทนประสบการณ์เหล่านี้ได้"




ก็เด็กนั่งหน้าจอได้นาน
ทำไมยังจะถูกวินิจฉัยว่าสมาธิสั้นอีกเล่า?


นี่เป็นประเด็นคำถามที่พ่อแม่มักจะถามคุณหมอบ่อยๆ คำตอบก็คือ อาการนั่งหน้าจอนานๆ ของเด็กนั่นแหละเป็นข้อบ่งชี้ไปสู่การวินิจฉัยว่าสมาธิสั้น มันเป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างสิ่งที่เคลื่อนไหวบนหน้าจอกับระบบประสาทและพฤติกรรมของเด็ก จนเป็นข้อสรุปของผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ว่า เด็กสมาธิสั้นจะใช้เวลาอยู่หน้าจอมากกว่าเด็กอื่นๆอย่างชัดเจน

เราต้องรู้อย่างหนึ่งว่าชนิดของความสนใจที่เด็กถูกจูงใจให้ติดอยู่กับทีวีและวิดีโอเกมนั้นเป็นคนละประเภทกับความสนใจที่เด็กพึงมีต่อการเรียนหนังสือและกิจวัตรอื่นๆ ในชีวิตประจำวันเลยทีเดียว

สุดท้ายสมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกายังชี้ชัดเลยว่าโทรทัศน์คือเครื่องมือฝึกฝนความรุนแรง และสร้างความอ้วนให้กับเด็กๆ

ตกลงการแจกแท็บเล็ตผสมไอโอดีนให้เด็กๆ ของเรา ช่วยให้เด็กโง่หรือฉลาดกันแน่? ตรองดูเอาเองละกัน



.