http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-16

หนุ่มเมืองจันท์: ความรู้สึก คือ เหตุผลอย่างหนึ่ง

.

ความรู้สึก คือ เหตุผลอย่างหนึ่ง
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th www.facebook/boycitychanFC คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1678 หน้า 24


มีคำถามประลองปัญญามาให้ทายเล่นครับ 
สมมุติว่าถ้าคุณมีทางเลือก 2 ทางในปีหน้า
ทางแรก วันที่ 1 มีนาคม คุณต้องทำงานเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 3 ชั่วโมง 
ทางเลือกที่สอง วันที่ 15 มีนาคม คุณต้องทำงานเพิ่มขึ้นจากเดิม 4 ชั่วโมง
คุณจะเลือกทางไหน

ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะเลือก "ทางที่ 1" 
เพราะด้วยหลักของ "เหตุผล" แล้ว คงไม่มีใครอยากทำงานหนัก 
ทำงานเพิ่ม 3 ชั่วโมงย่อมดีกว่า 4 ชั่วโมง


แต่เชื่อไหมครับ ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐอเมริกา บอกว่ามีคนจำนวนมากที่เลือกทางเลือกที่ 2 
ทำงานเพิ่มขึ้น 4 ชั่วโมง


ประเด็นสำคัญ ก็คือ เขาเจอคำถามนี้วันไหน 
ถ้าถามตั้งแต่ "เดือนมกราคม" 
2 เดือนล่วงหน้าก่อนจะต้องทำงานเพิ่มจริง 
คนจะใช้ "เหตุผล" ในการตอบ 
ใครๆ ก็อยากทำงานเพิ่มน้อยที่สุด 
ทุกคนจะเลือกข้อ 1 คือ ยอมทำงานเพิ่มแค่ 3 ชั่วโมงในวันที่ 1 มีนาคม

แต่ถ้าถามคำถามนี้ "วันที่ 1 มีนาคม" 
ทางเลือกยังคงมี 2 ทางเหมือนเดิม  
แต่ถ้าเลือกทางเลือกที่ 1 เขาจะต้องทำงานเพิ่ม 3 ชั่วโมงในวันที่ 1 มีนาคม เลย
คือ "วันนี้"
แต่ถ้าเลือกทางเลือกที่ 2 เขาจะต้องทำงานเพิ่ม 4 ชั่วโมงในวันที่ 15 มีนาคม
หรืออีก 15 วันต่อมา

เชื่อไหมครับ เมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้ พลังแห่ง "เหตุผล" จะลดลง 
และพลังแห่ง "ความรู้สึก" จะมาแรงแซงโค้ง 
ผลวิจัยบอกว่าคนส่วนใหญ่จะเลือกข้อ 2 
ไม่ยอมทำงานหนักในวันนี้


ขอเลื่อนไปอีก 15 วัน แม้จะต้องทำงานหนักมากขึ้นก็ตาม 
คนส่วนใหญ่เลือกมี "ความสุข" ในวันนี้  
ส่วน "ความทุกข์" นั้น 
ขอตี "เช็คล่วงหน้า" 15 วัน



ผมเป็นคนนิยมหลักของ "เหตุผล" 
และรู้สึกเสมอว่าการตัดสินใจที่ดีต้องมี "เหตุผล" 
แต่ยิ่งนานวัน ผมก็ค้นพบว่าการตัดสินใจของมนุษย์เราไม่จำเป็นต้องใช้ "เหตุผล" เพียงอย่างเดียว 
หลายครั้งเราตัดสินใจด้วย "ความรู้สึก" 
และเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องด้วย

ในแวดวงธุรกิจ ความรู้สึกหลงใหลได้ปลื้มในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อาจนำมาสู่การตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตใหม่ 
และพลังแห่งความรู้สึกทำให้เขาประสบความสำเร็จ

"ต๊อบ" เถ้าแก่น้อย คือตัวอย่างที่ทันสมัยที่สุดในวันนี้ 
ระหว่างการเรียนหนังสือจนจบแล้วค่อยทำธุรกิจ 
กับการลาออกจากมหาวิทยาลัยแล้วลงมือลุยธุรกิจอย่างจริงจัง 
ถ้าใช้หลักของ "เหตุผล" ที่เป็นสากลนิยม 
เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะเลือกเรียนหนังสือให้จบแล้วค่อยทำธุรกิจ

แต่ "ต๊อบ" ใช้ "ความรู้สึก" ตัดสิน 
เพราะทุกครั้งที่อยู่ในห้องเรียน ความคิดของเขาไม่อยู่บนกระดานหรือเสียงของอาจารย์ 
แต่อยู่ที่การคิดว่าจะเพิ่มยอดขายเกาลัดอย่างไร 
ความลุ่มหลงดังกล่าว ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัย 
และเริ่มต้นธุรกิจ "เถ้าแก่น้อย" อย่างจริงจัง

คนที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก ใช้ "ความลุ่มหลง" เป็น "เข็มทิศ" นำทาง 
เพราะเขาเชื่อมั่นว่า ถ้าเรารักหรือลุ่มหลงในสิ่งไหน 
เราจะทำสิ่งนั้นได้ดี 

นักธุรกิจใหญ่จำนวนมากที่เตือนสติผู้ประกอบการรุ่นใหม่ว่าทุกครั้งที่ตัดสินใจ อย่าลืม "สัญชาตญาณ" ของตัวเองเป็นอันขาด 
บางครั้งเราหาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมถึงตัดสินใจไปทางซ้าย 
ทั้งที่ "เหตุผล" ของทางขวาดีกว่า 
"สัญชาตญาณ" ซึ่งมาจากประสบการณ์ในอดีต บอกเขาว่า "ซ้าย" ดีกว่า "ขวา"
และสุดท้ายเขาก็ตัดสินใจด้วย "ความรู้สึก"

จริงๆ แล้วปัญหาเรื่อง "ความรู้สึก" กับ "เหตุผล" นั้น เกิดขึ้นจากคนส่วนใหญ่แยก 2 สิ่งนี้ออกจากกันอย่างสิ้นเชิง 
แบบ "น้ำ" กับ "น้ำมัน" 
เข้ากันไม่ได้


ทั้งที่แท้จริงแล้ว "ความรู้สึก" กับ "เหตุผล" ไม่ได้แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง 
"ความรู้สึก" คือ "เหตุผล" อย่างหนึ่ง 

เพียงแต่เป็น "เหตุผล" ที่มาจากอวัยวะเล็กๆ ขนาดเท่ากำปั้นที่อยู่ตรงหน้าอกข้างซ้าย 
ที่เรียกกันว่า "หัวใจ" 
ไม่ใช่ "เหตุผล" จาก "สมองซีกซ้าย" 
เท่านั้นเอง



"ความรู้สึก คือ เหตุผลอย่างหนึ่ง" เป็นหนังสือเล่มใหม่ของผมครับ
สำหรับคนที่นิยมลัทธิ "เหตุผล" 
หนังสือเล่มนี้คงจะช่วยสะกิดให้เหลียวมองเจ้า "ความรู้สึก" บ้าง
ฟังเสียงหัวใจตนเองบ้าง 
เพราะการตัดสินใจที่ใช้ "สมอง" โดยปราศจาก "หัวใจ" 
เราจะได้ "ความสำเร็จ" ที่ไร้ "ความสุข"


ส่วนคนที่คลั่งไคล้ในลัทธิ "ความรู้สึก" 
หนังสือเล่มนี้ก็จะสะกิดให้รู้ว่า "ความรู้สึก" นั้น เป็นแค่ "เหตุผล" อย่างหนึ่งเท่านั้นเอง 
และโลกนี้ไม่ได้มีเพียง "เหตุผล" เดียว 
ยังมี "เหตุผล" อีกมากมายให้พิจารณา


"ความรู้สึก คือ เหตุผลอย่างหนึ่ง" เป็นหนังสือชุดฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ เล่มที่ 19 แล้วครับ 
เป็นหนังสือตามเทศกาล 
มีงานหนังสือเมื่อไร เจอกัน

สำหรับปีนี้ งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ จัดขึ้นในวันที่ 18-28 ตุลาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เช่นเคย 
และบู๊ธสำนักพิมพ์มติชนก็อยู่ที่โซนพลาซ่าเช่นกัน 
ใครคิดจะตามล่าหาหนังสือ "ความรู้สึก คือ เหตุผลอย่างหนึ่ง" มาที่นี่ได้เลยครับ 

ส่วน "คนเขียน" ไม่ต้องตามล่า เพราะจะไปนั่งนิ่งๆ บริกรรมคาถาและลงอาคมที่บู๊ธมติชน 4 วัน
เสาร์ที่ 20 เวลา 12.00-14.00 น.
อาทิตย์ที่ 21 เวลา 15.00-16.00 น.
อังคารที่ 23 เวลา 15.00-17.00 น.
และอาทิตย์ที่ 28 เวลา 13.00-15.00 น.

ใครว่าง เจอกันครับ




.