http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-14

(ชมคลิป)วงเสวนา“14 ตุลา ในมุมมองคนหลากรุ่น” กระตุ้นคนรุ่นหลังปลุกประวัติศาสตร์มีชีวิต

.

วงเสวนา“14 ตุลา ในมุมมองคนหลากรุ่น” กระตุ้นคนรุ่นหลังปลุกประวัติศาสตร์มีชีวิต(ชมคลิป)
ในมติชน ออนไลน์  วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:30:28 น.


เสวนา 1
www.youtube.com/watch?v=8pplN4qS35w



ที่ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่  14 ตุลาคม  มีการจัดเสวนาเพื่อรำลึกครบรอบ 39 ปี 14 ตุลาคม ประจำปี 2555 ในหัวข้อ "14 ตุลา ในมุมมองคนหลากรุ่น"   โดยมี  ศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตาภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์,  นายวัฒนชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ,นางสาวนภาวัลย์ สิทธิศักดิ์ สมาชิกกลุ่มศึกษาสังคมประชาธิปไตย  พร้อมด้วยนายสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ผู้แทนจากสถาบันปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา  


ศาสตราจารย์ธเนศ  กล่าวถึงแนวทางการสืบสานเจตนารมย์ของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ว่า เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ไม่ควรเป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ เหตุเพราะประวัติศาสตร์จะมีความหมายได้ก็ต่อเมื่อคนรุ่นหลังหรือคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ ควรให้คนรุ่นใหม่เป็นผู้สืบทอดเหตุการณ์  ถ้าให้คนในเหตุการณ์เป็นผู้สืบทอดประวัติศาสตร์ก็จะเป็นเรื่องราวที่พูดถึงกันในวงเหล้ามากกว่า
ธรรมศาสตาภิชาน กล่าวต่อว่า   เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ยังเป็นประวัติศาสตร์แรกที่มีความโดดเด่นมากที่สุดเพราะเป็นเหตุการณ์ที่คนส่วนใหญ่ในประเทศสมัยนั้นมีส่วนร่วม เป็นประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นจริง สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งสามารถยึดโยงได้ แล้วก็เป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดมายาคติที่ทำให้เห็นว่าประชาชนสามารถเอาชนะอำนาจเผด็จการทหารและอำนาจนอกระบบได้    แต่ความเป็นจริงแล้วตามที่บทความที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์เขียนไว้หลังจากเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ว่า ชัยชนะของประชาชนในครั้งนั้นเป็นเพียงก้าวแรกของการที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ...   ซึ่งในตอนนั้นกลุ่มนิสิตนักศึกษาและประชาชนก็สงสัยว่า ทำไมไม่ใช่ชัยชนะอย่างเด็ดขาดของขบวนการประชาธิปไตย จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  ถึงก็พอจะเข้าใจแล้วว่า บทความที่อาจารย์ปรีดีเขียนนั้นหมายความว่าอย่างไร อุปสรรคของขบวนการประชาธิปไตยไม่ใช่แค่พวกเผด็จการทหารอย่างที่นิสิตนักศึกษาในช่วงเวลานั้นเข้าใจ    นอกจากนี้ไม่ควรจัดงานรำลึกเหตุการณ์เพียงอย่างเดียว แต่ควรเรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตยในสังคมไทยต่อไป


ด้านนายวัฒนชัย กล่าวถึงการสืบสานเจตนารมย์ของประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ว่า แม้จะไม่สามารถทำให้เกิดการสืบสานเจตนารมย์ของเหตุการณ์ แต่อย่างน้อยก็ควรให้เกิดกระบวนการเสียก่อน โดยส่วนตัวให้ความสำคัญที่กระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ เช่นการจะล้มรัฐบาลเผด็จการรัฐสภาไม่ควรเกิดจากการรัฐประหาร หรือการปราบปรามยาเสพติดก็ไม่ควรใช้การฆ่าตัดตอน 2,500 ศพ แม้กระบวนการทั้งสองจะทำให้บรรลุผลลัพธ์ แต่ก็ถือเป็นกระบวนการที่มีผลร้ายแรงแล้วส่งผลเสียต่อสังคมในระยะเวลาต่อมา
 อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต    กล่าวต่อว่า  ไม่ควรสืบทอดจิตวิญญาณเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แบบท่องจำ แต่ควรเป็นการสืบทอดด้วยการแสวงหาข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกควบคุมโดยแนวคิดหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นอกจากนี้การส่งเสริมจิตวิญญาณขบถเหมือนกับ
เหตุการณ์อภิวัฒน์ 2475 หรือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก แต่วิญญาณเหล่านี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยถ้าสังคมไทยยังไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์สถาบันตามรัฐธรรมนูญ 
"ถ้าไม่สามารถกำจัดกลุ่มปฎิปักษ์กับคณะราษฎรหรือกลุ่มแนวคิดที่ต้องการให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริงในสังคมไทยได้ เราก็จะเห็นเหตุการณ์เดือนตุลาคมหรือเดือนพฤษภาคมซ้ำไปซ้ำมาในอนาคตไม่ที่ที่สิ้นสุด ในหลายประเทศแม้จะมีการล้อมปราบประชาชนแต่มักจะเกิดขึ้นครั้งเดียว

เพราะหลังจากนั้นแต่ละประเทศจะมีการชำระประวัติศาสตร์เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย ดังนั้นสังคมไทยจะต้องชำระประวัติศาสตร์ความรุนแรงทุกเหตุการณ์ออกไปจากสังคมไทย ไม่ใช่ว่าถ้าวิจารณ์แล้วก็จะต้องถูกไล่ไปอยู่นอกประเทศ ประเทศนี้เป็นของประชาชนทุกคน ไม่มีใครมาไล่ใครออกไปอยู่ประเทศอื่นได้" อาจารย์วิทยาลัยนวตกรรม มหาวิทยาศาสตร์รังสิตกล่าว


ขณะที่ นางสาวนภาวัลย์ กล่าวถึงแนวทางที่จะให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ว่า ควรทำให้ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 มีชีวิตขึ้นมา อาจจะทำห้องนิทรรศการหรือห้องให้ปากคำทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็จะสร้างสีสันให้คนรุ่นใหม่สนใจประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มากยิ่งขึ้น ดังนั้นถ้าทำให้คนรุ่นใหม่สนใจเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตย ก็อาจจะทำให้ประเทศไทยมีการต่อสู้ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็ได้ เพราะถ้านับจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงปัจจุบัน สังคมไทยยังไม่มีการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคมขนานใหญ่อีกเลย



.