http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-06

สู่ยุคใหม่ของระบบลิขสิทธิ์-สิทธิบัตร โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

สู่ยุคใหม่ของระบบลิขสิทธิ์-สิทธิบัตร
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 05 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1677 หน้า 30


คนในวงการเพลง-ดนตรีคนหนึ่งบอกผมว่า นับตั้งแต่กำไรของค่ายเพลงหดหายลง เพราะการลอบก๊อบด้วยระบบดิจิตอล ก็เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว แต่ปรากฏว่าฝีมือด้านเพลงและดนตรีของไทยไม่ได้ตกต่ำลงเลย กลับดีขึ้นด้วยซ้ำ ดังจะเห็นได้จากฝีมือในการประกวดทางทีวี ซึ่งมีหลายรายการ (จนน่าเบื่อ)
ผู้เข้าประกวดซึ่งไม่มีชื่อเสียงอะไร ร้องได้ดีมาก และนักดนตรีก็แสดงฝีมือได้เฉียบคม ผมสรุปเอาเองว่าดีไม่น้อยไปกว่า หรือมากกว่าสมัยเป็นแผ่นด้วย 
ที่เขาพูดจริงหรือไม่ผมไม่ทราบ เพราะความรู้ทางเพลง-ดนตรีไม่ดีพอจะบอกได้ แต่หากจริงดังที่กล่าว ที่เราอ้างกันมาตลอดว่า กฎหมายลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรมีเป้าหมายเพื่อผดุงการสร้างสรรค์ในสังคมให้มีอยู่ตลอดไป ก็อาจไม่จริงก็ได้


อันที่จริง ความคิดว่าการสร้างสรรค์สิ่งใดเป็นสมบัติของบุคคลผู้สร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเรามองสังคมเป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นจากเอกบุคคลจำนวนมาก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ หากไม่มีสำนึกด้านปัจเจกชนนิยม เราก็ไม่นึกว่าการสร้างสรรค์เป็นงานของปัจเจกบุคคล 
ในโลกโบราณจนสืบมาเพียง 300-400 ปีมานี้เอง ใครๆ ก็คิดว่าการสร้างสรรค์เป็นผลผลิตของส่วนรวม ไม่มีใครเป็นเจ้าของอยู่คนเดียวได้ 

(และโลกโบราณก็สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ที่เป็นมรดกสืบมาถึงเราในทุกวันนี้เหลือคณานับ หากเราทุกคนต้องซื้อทรัพย์สินทางปัญญาไปหมด แค่จะกินข้าวก็แพงเสียจนคนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงอาหาร)



กฎหมายลิขสิทธิ์ (ซึ่งต่อมาขยายไปสู่กฎหมายสิทธิบัตร) เพิ่งมาเกิดขึ้นครั้งแรกในอังกฤษ เพื่อรับมือกับการขยายตัวของการพิมพ์อันเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน นี่ว่ากันอย่างตรงไปตรงมานะครับ เพราะที่จริงการขยายตัวของการพิมพ์กับการขยายตัวของทุนนิยมและความคิดปัจเจกชนนิยมอันเป็นส่วนสำคัญของทุนนิยมก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน 
ฉะนั้น เราจึงอาจพูดได้ว่า กฎหมายลิขสิทธิ์-สิทธิบัตรนั้นเป็นผลผลิตของทุนนิยมโดยแท้ นั่นคือทำให้สิ่งสร้างสรรค์กลายเป็นทรัพย์สิน เพื่อนำมาซื้อขายได้ในตลาด 
การเปลี่ยนการสร้างสรรค์จากสมบัติส่วนรวมมาเป็นส่วนบุคคลนี่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นะครับ เพราะเท่ากับการเปลี่ยนวิธีคิดขั้นพื้นฐานทีเดียว

ไม่มีการสร้างสรรค์ใดๆ ในโลกนี้จะเกิดขึ้นได้โดยไม่อาศัยพื้นฐานจากการสร้างสรรค์ของส่วนรวมที่มีอยู่ก่อน แต่ทุนนิยมปฏิเสธสิทธิของส่วนรวมเหนือการสร้างสรรค์อย่างเด็ดขาด ยกทั้งหมดให้แก่บุคคล ส่วนรวมจะเข้าถึงการสร้างสรรค์ได้ ก็ต้องผ่านเงิน 
ดังนั้น ระบบลิขสิทธิ์-สิทธิบัตรซึ่งออกมาใหม่ จึงต้องหาเหตุผล "ทางศีลธรรม" มายืนยันสนับสนุนการดึงเอาทรัพย์สินทางปัญญาให้มาเป็นสินค้าในตลาด และเหตุผลที่ใช้สืบกันมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ การทำให้สิ่งสร้างสรรค์เป็นสินค้าก่อให้เกิดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์ของบุคคล


แต่เรื่องนี้ไม่น่าจะจริงอย่างที่ผมพูดถึงดนตรีและค่ายเพลงข้างต้น
ปรากฏการณ์อย่างเดียวกันนี้เกิดในสหรัฐเช่นเดียวกัน ธุรกิจเพลง-ดนตรีซบเซาลงเพราะการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ปราบไม่อยู่ (ทั้งในและนอกประเทศ) แต่การเล่นและเปิดแสดงเพลง-ดนตรีกลับแพร่หลายมากขึ้น

รายได้หลักของนักแสดงเพลง-ดนตรีเวลานี้ ไม่ได้อยู่ที่แผ่นและลิขสิทธิ์ เท่ากับการได้ออกงานคอนเสิร์ตหรือการแสดงสด ไม่เฉพาะแต่ในโรงคอนเสิร์ตซึ่งมีโชว์เกือบทุกวันเท่านั้น แม้แต่การแสดงเปิดหมวกข้างถนนก็แพร่หลายขึ้นไปพร้อมกัน 
ดูยุติธรรมขึ้นนะครับ นักร้องนักดนตรี (ซึ่งหลายครั้งเป็นทั้งผู้แต่งและผู้เรียบเรียงเสียงประสานด้วย) ออกแรง ผู้ชมก็ควักกระเป๋า "ซื้อ" แรงงานของพวกเขา ตรงไปตรงมา แทนที่จะต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อ "ลิขสิทธิ์" ที่ถูกปั๊มออกมาเป็นล้านๆ ชุด แล้วทำกำไรสูงสุด ไม่ใช่แก่ศิลปินนะครับ แต่แก่นายทุน

อันที่จริงระบบลิขสิทธิ์-สิทธิบัตรที่เราใช้กันในทุกวันนี้ ไม่ได้มุ่งจะให้ผลตอบแทนสูงสุดแก่ผู้สร้างสรรค์ แต่ผู้เผยแพร่หรือพ่อค้าต่างหากที่จะได้ส่วนแบ่งไปประมาณ 90% ในส่วนประมาณ 10% ที่ผู้สร้างสรรค์ได้ไปนั้น ผมก็ยอมรับว่าอาจเป็นจำนวนมากโขทีเดียว หากสิ่งสร้างสรรค์ซึ่งกลายเป็นสินค้าแล้วนั้นขายได้ดี เช่นผู้แต่งนิยายเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ กลายเป็นเศรษฐีระดับไม่ย่อยไปทีเดียว
แต่กี่คนล่ะครับที่จะสามารถได้ผลตอบแทนสูงชนิดเห็นหน้าเห็นหลังอย่างนั้น ส่วนใหญ่ก็ได้มาเพียงเพื่อดำรงชีพ และหลายกรณี ไม่พอจะดำรงชีพด้วยซ้ำ ฉะนั้น ผลตอบแทนทางการเงิน จึงไม่ใช่แรงจูงใจสำคัญนักในการสร้างสรรค์


พ่อค้าทำอะไร หน้าที่หลักก็คือเผยแพร่สิ่งสร้างสรรค์ซึ่งมีความสำคัญเหมือนกันนะครับ และการเผยแพร่นั้นก็ต้องลงทุนและออกแรง ดังนั้น พ่อค้าก็ควรได้ส่วนแบ่งจากกำไรอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ควรจะเป็นสัดส่วนเท่าไรนี่สิครับที่เถียงกันได้ เพราะสัดส่วนที่พ่อค้าได้ไปนั้นมันมากเสียจนน่าตกใจ แต่นักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มอาจชี้ว่า สัดส่วนของกำไรที่พ่อค้าได้นั้น ต้องไม่น้อยไปกว่าการนำเอาเงินไปทำอย่างอื่น ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีใครจะเป็นผู้เผยแพร่สิ่งสร้างสรรค์ พากันไปขายเต้าฮวยหมด 
ยิ่งไปกว่านี้ เป้าหมายของพ่อค้านั้น ไม่ใช่การเผยแพร่สิ่งสร้างสรรค์ แต่คือการทำกำไรมากๆ จากสิ่งสร้างสรรค์ ฉะนั้น เกณฑ์การพิจารณางานที่จะนำไปเผยแพร่ จึงไม่ใช่คุณภาพของงานสร้างสรรค์ชิ้นนั้นๆ แต่เป็นช่องทางการตลาดที่อาจทำให้ได้กำไรมากๆ ต่างหาก งานสร้างสรรค์ชั้นดีจำนวนมากไม่ได้รับการเผยแพร่ เพราะยังไม่มีตลาด ด้วยระบบลิขสิทธิ์-สิทธิบัตรที่ใช้กันอยู่เวลานี้

การแสดงดนตรีเปิดหมวกริมถนนจึงเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างการสร้างสรรค์และสังคมนอกระบบลิขสิทธิ์ จะว่าย้อนกลับไปสู่ยุคโบราณก่อนยุคลิขสิทธิ์ก็ได้ ผมนึกถึงศิลปินเพลงบอกอย่างปานบอดของภาคใต้ และศิลปินหมอลำที่ตระเวนแสดงตามหมู่บ้าน คนเหล่านี้เลี้ยงชีพหรือเสริมการเลี้ยงชีพ ด้วยการนำเอาสิ่งสร้างสรรค์ของตนไปสู่สังคมโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้า

ใช่ว่าจะมีเพียงเท่านี้นะครับ อินเตอร์เน็ตเปิดโอกาสให้ผู้สร้างสรรค์สามารถเสนอผลงานของตนแก่สังคมโดยตรงได้อีกมาก บทกวี, เพลง, การแสดง, ฯลฯ ออนไลน์มีให้เลือกเสพได้มากมาย แม้แต่งานวิชาการที่มีผู้เขียนขึ้นแล้วแจกฟรีทางอินเตอร์เน็ตก็มี  
ในสหรัฐมีการแบ่งปันของที่เป็นประโยชน์หรืองานสร้างสรรค์ฟรีๆ อยู่มาก บางทีผู้สร้างสรรค์ก็อาจขอค่าตอบแทนเท่าที่จะศรัทธาบริจาค ว่ากันว่าช่องทางเผยแพร่สิ่งสร้างสรรค์กำลังจะผ่านช่องทางใหม่นี้มากขึ้นไปเรื่อยๆ ข้ามพ่อค้านายทุนไป  
ยังมีความพยายามเอาลิขสิทธิ์-สิทธิบัตรออกจากระบบทุนนิยมอีกบางอย่าง เช่น มีสมาคมที่รับขึ้นทะเบียนกรรมสิทธิ์สิ่งสร้างสรรค์ โดยระบุระดับของการถือความเป็นเจ้าของที่ต่างกัน (Creative Common) 
แต่จุดมุ่งหมายหลักคือให้คนอื่นได้นำไปใช้ประโยชน์ มากบ้างน้อยบ้าง



ระบบลิขสิทธิ์-สิทธิบัตรที่เราใช้อยู่เวลานี้ กำลังมีปัญหา และคงจะมีมากขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วย เพราะละเลยประโยชน์สาธารณะมากเกินไป 
มหาอำนาจพยายามรักษาระบบนี้ไว้ เพราะประเทศของตนได้เปรียบ 
เครื่องมือที่ใช้เพื่อรักษาไว้คืออำนาจทางเศรษฐกิจ แต่อำนาจเพียงอย่างเดียวจะรักษาระบบที่ถูกตั้งข้อสงสัยมากขึ้นเช่นนี้ไปได้อย่างยั่งยืนแค่ไหน น่าสงสัยอยู่นะครับ

อีกทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ก็กำลังสั่นคลอนทั้งในระยะสั้น และระยะยาวเสียด้วย



.