http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-30

ขยะนิวเคลียร์ : ระเบิดเวลาลูกใหญ่ (5;จบ) โดย อนุช อาภาภิรม

.

ขยะนิวเคลียร์ : ระเบิดเวลาลูกใหญ่ (จบ)
โดย อนุช อาภาภิรม  คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1680 หน้า 39


โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีราคาแพง ใช้เทคโนโลยีสูง พบใช้กันมากในกลุ่มประเทศที่เป็นมหาอำนาจ เช่น สหรัฐ แคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น 
 

หรือไม่ก็เป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางอุตสาหกรรมไปสูง เช่น ประเทศในกลุ่มยุโรปเหนือ และเกาหลีใต้ 
ที่เหลือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจค่อนข้างใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ มีจีน อินเดีย บราซิล เป็นต้น 

การมีราคาแพงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นเกิดในทุกขั้นตอนตั้งแต่การก่อสร้าง การปฏิบัติการและบำรุงรักษา ไปจนถึงการกำจัดขยะนิวเคลียร์ที่มีพิษยาวนาน
การมีราคาแพงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นที่สำคัญมาจากอันตรายกัมมันตภาพรังสี จากยูเรเนียม-235 ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงนั้นเอง


กัมมันตภาพรังสี เป็นอนุภาคต่ำกว่าอะตอมที่พุ่งออกมาด้วยความเร็วสูง บางรังสีมีความเร็วใกล้แสงและมีอำนาจทะลุทะลวงสูง ทำลายเนื้อเยื่อ สามารถเข้าไปรวมตัวในต่อมและไขกระดูกถึงขั้นทำลายสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ โรคมะเร็ง และโรคอื่นอีกมาก กัดกินชีวิตของผู้รับสารกัมมันตรังสีเป็นเวลายาวนาน และทุกข์ทรมาน

ในตอนจบนี้จะได้กล่าวถึงการมีราคาแพงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และปัญหาเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว และก็ควรกล่าวถึงบางประเด็นก่อน นั่นคือ ในการประเมินราคาและอันตรายของพลังงานนิวเคลียร์นั้น อาจแบ่งเป็น 2 กระแส  
กระแสหนึ่งมีลักษณะเอียงข้างพลังงานนิวเคลียร์ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติพลังงานของมนุษย์ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่รัฐบาลและนักวิชาการทั่วไป
อีกกระแสหนึ่งมาจากกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ มีหลายกลุ่มพวกด้วยกัน ที่เห็นว่าพลังงานนิวเคลียร์มีอันตรายมาก ได้ไม่คุ้มเสีย

ในที่นี้จะประมวลสิ่งที่ทั้ง 2 ฝ่ายพอเห็นพ้องกัน และใช้บางรายงานได้แก่ จากสภาคองเกรสของสหรัฐ ผู้อ่านจำต้องตัดสินใจเองว่าจะเข้าข้างไหน หรือยังไม่ตัดสินใจ



โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีราคาแพงอย่างไร

ที่เรียกว่าราคาแพง เป็นการคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์และธุรกิจใน 3 เรื่องใหญ่ เรื่องแรก ได้แก่ ค่าการก่อสร้างแพง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุด บางแห่งประมาณว่าสูงถึงราวร้อยละ 70-80 ของราคาไฟฟ้าที่ผลิตขึ้น มีความเห็นพ้องกันว่า ราคาก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยิ่งแพงขึ้นเรื่อยๆ 
การที่ค่าก่อสร้างแพงทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ส่วนใหญ่ในโลกต้องได้รับการอุดหนุนช่วยเหลือจากรัฐบาลในทางใดทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ระยะเวลาก่อสร้างก็ยาวนานราว 5 ปีหรือกว่านั้น กว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าออกขายได้ ต้องแบกภาระหนี้ยาวนาน

ในสหรัฐนับแต่ปี 2008 มีแผนการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์หลายแห่งใน 9 รัฐเป็นอย่างน้อย ที่ล้มเลิกหรือเลื่อนเวลาออกไป ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะความกังวลในเรื่องความปลอดภัยหรือมีพวกฮิปปี้มานั่งประท้วง 
แต่เป็นเพราะความเป็นจริงทางการเงิน โครงการในรัฐอื่นก็ชะลอออกไป เนื่องจากราคาประเมินก่อสร้างเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวเป็นใกล้ 10 พันล้านดอลลาร์ต่อเตาปฏิกรณ์
ในทั่วโลก รัฐบาลทั้งหลายมีจีนและรัสเซียเป็นต้นเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ใหม่ 65 หน่วย (ดูบทความของ Michael Grunwald ชื่อ The Real Cost of U.S. Nuclear Power ใน time.com 250311)  

ค่าใช้จ่ายราคาแพงในกลุ่มที่ 2 ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการและการบำรุงรักษา ซึ่งประกอบด้วยการรักษาความปลอดภัยจากการก่อวินาศกรรม และอื่นๆ การรักษาความปลอดภัยในขณะปฏิบัติงาน 
ซึ่งในประการหลังนี้อาจต้องมีค่าใช้จ่ายมากอย่างคาดไม่ถึง เช่น หลังจากอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น ได้มีการทดสอบมาตรการรักษาความปลอดภัยโรงไฟฟ้าในสหภาพยุโรปซึ่งพบว่ามีจุดอ่อนข้อบกพร่องที่ต้องใช้เงินหลายพันล้านยูโรเพื่อแก้ไข 
ในการรักษามาตรฐานความปลอดภัยที่สูงทั้งสองประการนั้น จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ที่มีการฝึกฝนมาอย่างดี และจ้างในราคาแพง เพราะต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูง

นอกจากนี้ ราคาเชื้อเพลิงยูเรเนียมก็มีราคาแพง เคยขึ้นสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์ ปัจจุบันราคาอยู่ที่ราว 50 ดอลลาร์ และมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้นอย่างช้าๆ แต่ก็ควรคำนึ่งถึงปัจจัยเชื้อเพลิง ยูเรเนียมราคาแพงเอาไว้ด้วย

ค่าใช้จ่ายที่แพงกลุ่มที่ 3 เป็นค่าใช้จ่ายเฉพาะเรื่อง ซึ่งมีหลายประการด้วยกัน ได้แก่ 
ก. ค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะนิวเคลียร์ซึ่งมีความยุ่งยาก ดูเป็นเรื่องยืดเยื้ออย่างไม่รู้จบ 
ข. ค่าใช้จ่ายในการ "ปลดระวาง" โรงไฟฟ้าที่หมดอายุการใช้งานแล้ว ซึ่งประมาณกันว่า ตั้งแต่ 40 ถึง 60 ปี และค่าใช้จ่ายในการปิดโรงงานที่เต็มไปด้วยสารกัมมันตรังสีนี้มีค่าใช้จ่ายไม่น้อย บางแห่งระบุว่าราว 300 ล้านดอลลาร์หรือกว่านั้น คิดเป็นเงินไทยเกือบ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งทางโรงงานจะต้องเตรียมเงินไว้ใช้ในการนี้ อนึ่ง ถ้าหากอายุใช้งานสูงสุด 60 ปี ในราว 30 ปีข้างหน้า โลกจะเต็มไปด้วยโรงงานนิวเคลียร์ที่เก่าชรา และเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น 
ค. ค่าใช้จ่ายในอุบัติเหตุ ซึ่งหากเกิดขึ้นร้ายแรงก็ก่อความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลดังกรณีโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาที่ 1 ในญี่ปุ่น
ง. ค่าใช้จ่ายในเงินประกันภัย 
จ. ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งอาจสนับสนุนให้การก่อการร้ายรุนแรงขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายที่บางองค์กรเพิ่มขึ้น ที่อุตสาหกรรมไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องรับผิดชอบ

รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ เข้าด้วยกันแล้ว ก็เห็นพ้องกันว่าค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์สูงกว่าจากเชื้อเพลิงประเภทถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ 
แต่ผู้ที่เห็นด้วยด้วยกับพลังงานนิวเคลียร์บางรายเห็นว่าในบางเงื่อนไขอาจทำให้ไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ราคาถูกกว่าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้



ปัญหาขยะนิวเคลียร์ : กรณีสหรัฐ

สหรัฐผลิตไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์มากที่สุดในโลก มีกฎหมายหลายฉบับที่ออกมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 มีหน่วยงานหลายแห่งที่ช่วยกำกับดูแลอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ กล่าวได้ว่าเป็นประเทศที่จัดการเรื่องขยะนิวเคลียร์อย่างเอาจริงเอาจังและรอบด้าน เป็นการจัดการแบบประเทศเศรษฐีมหาอำนาจ ถือเป็นแบบฉบับได้ 
ปัญหาและการท้าทายจากขยะนิวเคลียร์ในสหรัฐที่จะนำมากล่าวนี้ ใช้รายงานของสำนักงานตรวจสอบรัฐบาลของสภาคองเกรสเป็นสำคัญ 
สำนักงานนี้ได้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วเป็นระยะให้แก่สมาชิกสภาเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของรัฐบาลในประเด็นดังกล่าว รวมทั้งเพื่อประกอบการออกกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้  
เอกสารชิ้นที่ใช้นี้ได้ชี้ให้เห็นถึงการท้าทายของขยะนิวเคลียร์ที่สะสมขึ้นทุกทีในเตาปฏิกรณ์เชิงพาณิชย์ (ดูเอกสารชื่อ Spent Nuclear Fuel- Accumulating Quantities at Commercial Reactors Present Storage and Other Challenges ใน gao.gov สิงคาคม 2012 )

การท้าทายจากปัญหาขยะนิวเคลียร์กล่าวโดยย่อ ได้แก่ เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วเป็นวัสดุสารที่มีอันตรายร้ายแรงที่สุดที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ขณะนี้มันได้ถูกทิ้งสะสมไว้ตามเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชิงพาณิชย์ทั่วประเทศเกือบ 7 หมื่นตัน และทุกปีมีปริมาณสะสมเพิ่มขึ้น 2,000 ตัน  
กว่าจะสร้างศูนย์เก็บรักษาเชื้อเพลิงใช้แล้วนี้เป็นการถาวรและเปิดบริการใช้ได้ ก็คาดว่าปริมาณขยะนิวเคลียร์ตามโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็จะเพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 140,000 ตัน 
โดยคาดว่าศูนย์ดังกล่าวจะสามารถให้บริการเก็บรักษาได้อีก 15-40 ปีข้างหน้า และการจะขนย้ายเชื้อเพลิงใช้แล้วจากโรงไฟฟ้าไปยังศูนย์เก็บรักษาจนหมดก็ต้องใช้เวลาหลาย 10 ปี  
การท้าทายยังมีมากกว่านั้นในเมื่อในราวปี 2040 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกือบทั้งหมดในสหรัฐที่กำลังใช้งานในปัจจุบันจะหมดอายุการใช้งาน และต้องปิดโรงงาน

ดังนั้น การปฏิบัติตามข้อผูกพันในเรื่องการจัดการเชื้อเพลิงใช้แล้วตามมาตรฐานก็จะมีความจำกัด และอันตรายสำคัญของขยะนิวเคลียร์ ได้แก่ การแผ่กัมมันตภาพรังสีที่มีอันตรายสูงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อันเนื่องจากการที่น้ำหล่อเย็นพร่องลง ทำให้แท่งเชื้อเพลิงลุกเป็นไฟและแผ่รังสีออกมา
เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วประกอบด้วยสารกัมมันตรังสีหลายชนิดด้วยกัน มีอายุการสลายตัวต่างกัน จะยกตัวอย่าง 3 ชนิดที่ปรากฏเป็นข่าว ได้แก่ 
ก. ไอโอดิน-131 ที่แผ่รังสีรุนแรง แต่มีอายุไม่นาน ภายใน 3 เดือนก็สลายตัวหมดไป สารกัมมันตรังสีชนิดนี้สามารถเข้าไปรวมที่ต่อมไทรอยด์ทำให้เกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ ดังนั้น ประชาชนที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ขึ้น ก็จะแนะนำให้กินยาเม็ดไอโอดินเพื่อป้องกันมะเร็งดังกล่าว
ข. สารซีเซียม-137 เป็นสารกัมมันตรังสีสำคัญที่ปรากฏเป็นข่าวในกรณีอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมาที่ 1 ในญี่ปุ่น สารนี้เป็นตัวการทำให้เชื้อเพลิงที่ใช้แล้วร้อนจัด และสามารถปนเปื้อนในดิน ต้องใช้เวลานานถึง 300 ปีจึงสลายตัวได้หมด 
ค. พลูโตเนียม-239 สลายตัวอย่างช้าๆ โดยค่อยๆ สลายตัวเป็นสารกัมมันตรังสีอื่น ได้แก่ ทอเรียมและเรเดียม เป็นต้น จนที่สุดเป็นตะกั่วที่มีความเสถียร กว่าที่พลูโตเนียมนี้จะสลายตัวหมดต้องใช้เวลาหลายล้านปี แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้วยิ่งมีอายุนาน และเย็นลงมาก ก็จะมีอันตรายน้อยลง แต่แท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วดังกล่าวก็ยังมีสารที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมเป็นเวลาหลายหมื่นปี



สำหรับขั้นตอนการกำจัดขยะนิวเคลียร์ตามโรงงานนั้นมีอยู่ 2 ขั้นด้วยกัน ได้แก่ ขั้นแรกการแช่ในบ่อน้ำเย็น ขยะเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ต้องแช่ในบ่อน้ำเย็นที่โดยทั่วไปลึกประมาณ 40 ฟุต (ราว 12 เมตร) โดยให้ระดับน้ำอยู่เหนือแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วอย่างน้อย 20 ฟุต  
บ่อนี้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหนา 4-6 ฟุต บุด้วยเหล็กกล้า การแช่ต้องใช้เวลานานอย่างน้อย 5 ปีจึงค่อยเย็นลง โดยต้องรักษาอุณหภูมิไม่ให้สูงเกิน 120 องศาฟาเรนไฮต์ (48.8 องศาเซลเซียส)  
ถ้าแท่งเชื้อเพลิงที่เพิ่งใช้เกิดกระทบกับอากาศ อุณหภูมิจะสูงขึ้นเป็นหลายร้อยหรือหลายพันองศาฟาเรนไฮต์

ขั้นที่ 2 ได้แก่ การเก็บแบบแห้ง หลังจากหล่อในน้ำเย็นนานหลายปีจนค่อยเย็นลง ทั้งเนื้อที่ที่จะเก็บรักษาเชื้อเพลิงใช้แล้วก็ไม่พอเพียง จึงได้คิดหาวิธีเก็บรักษาแบบแห้งขึ้น โดยการนำเชื้อเพลิงใช้แล้วใส่ในกล่องเหล็กกล้าหุ้มด้วยเหล็กกล้าหนาอีกชั้น หรือหุ้มด้วยเหล็กกล้าและคอนกรีตหนาเพื่อป้องกันความร้อนและการแผ่รังสี แล้วยกขึ้นจากน้ำ นำมาเก็บไว้ในที่โล่ง ปฏิบัติการนี้ต้องทำอย่างระมัดระวัง และมีค่าใช้จ่าย ประมาณว่า การเปลี่ยนไปเก็บในกล่องเหล็กกล้าหุ้มคอนกรีต 5 แห่งจะใช้เงินราว 5.1 ล้านดอลลาร์ และมีแนวโน้มสูงขึ้น 
การเก็บแบบแห้งก็ยังต้องการการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ ที่จะปลอดภัยในระยะเวลาราว 60 ปี 
อย่างไรก็ตาม การเก็บรักษาในที่โล่ง ก็เกิดอันตรายจากการก่อวินาศกรรมและพวกก่อการร้ายมาขโมยเชื้อเพลิงใช้แล้วเหล่านี้ไป
นอกจากนี้ การเก็บไว้ในกล่องเหล็กผนึกมิดชิด ก็จะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าสารกัมมันตรังสีสาลายตัวไปเพียงใด

การเก็บรักษาใน 2 ขั้นนี้เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว แม้กระนั้นต้องใช้ช่างเทคนิคที่ชำนาญและมีค่าใช้จ่ายไม่น้อย ซ้ำยังไม่ยั่งยืน ต้องการศูนย์กำจัดเชื้อเพลิงใช้แล้วอย่างถาวร เพราะเชื้อเพลิงเหล่านี้ยังมีอันตรายต่อไปอีกนับหมื่นปี ซึ่งรัฐบาลกลางจำต้องเข้ามามีส่วนในการอุดหนุนและกำกับดูแล 
คาดหมายว่าถ้าหากสามารถตกลงว่าจะสร้างศูนย์เก็บรักษาเชื้อเพลิงนิวเคลียร์แห่งแรกของสหรัฐที่ภูเขายักกา ในรัฐเนวาดาได้ ก็จะสามารถเปิดบริการได้ในปี 2032 แต่ถ้าจำต้องไปสร้างในที่อื่นเนื่องจากโดนต่อต้านอย่างหนัก กว่าจะเปิดได้ต้องเลื่อนไปปี 2052 
การสร้างศูนย์เก็บรักษาเชื้อเพลิงใช้แล้วถาวร 2 แห่งราคา 16-30 พันล้านดอลลาร์ ถ้าหากรวมค่าการดูแลในกระบวนการเก็บรักษาครั้งสุดท้ายนี้ทั้งจะมีมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์



แนวโน้มปัญหาขยะนิวเคลียร์

ขยะนิวเคลียร์มีแนวโน้มที่จะพอกพูนเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ เพราะว่ามนุษย์ปัจจุบันมีอาการเสพติดพลังงาน เมื่อบริโภคพลังงานสูงขึ้น ชีวิตก็มีความสุขสบายคล้ายเสพฝิ่น เกิดความรู้สึกต้องการเสพเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
คาดหมายว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่งโลกจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในประเทศตลาดเกิดใหม่ มีจีน รัสเซีย และอินเดีย เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากแรงกดดันของความต้องการการพัฒนาอุตสาหกรรมและภาวะที่เชื้อเพลิงฟอสซิล 
เช่น กรณีประเทศไทย ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะร่อยหรอลงไปมากภายใน 15 ปีข้างหน้า จำต้องเดินไปตามหนทางโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีราคาแพงและเสี่ยงอันตรายสูง 



.