http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-15

“สุธาชัย”แสวงจุดร่วมแดง-สงวนจุดต่าง“ทักษิณ” ย้อนบทเรียน 14-6 ตุลา และพฤษภา 53

.

“สุธาชัย”แสวงจุดร่วมแดง-สงวนจุดต่าง“ทักษิณ” ย้อนบทเรียน 14-6 ตุลา และพฤษภา 53
สัมภาษณ์พิเศษ ในประชาชาติธุรกิจออนไลน์ updated: 15 ต.ค. 2555 เวลา 07:01:13 น.


สัมภาษณ์พิเศษ

เคยร่วมต่อสู้ขับไล่เผด็จการใน 14 ตุลาคม 2516
เคยร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลเสนีย์ ปราโมช ดำเนินคดีกับ "จอมพลถนอม กิตติขจร" อันเป็นชนวนของ 6 ตุลาคม 2519
เคยร่วมจับปืนสู้อำนาจรัฐร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ใช้ชื่อจัดตั้งว่า "สหายสมพร" เขาคือ "สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ" อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังเหตุการณ์นองเลือดครั้งล่าสุด เมื่อพฤษภา ปี"53 เขาถูกจับขัง 8 วันในค่ายทหาร


เมื่อนาฬิกาประวัติศาสตร์หมุนผ่านการนองเลือด 14 ตุลา มา 39 ปี ผ่านการล้อมปราบ 6 ตุลา มา 36 ปี ผ่านการกระชับพื้นที่พฤษภา 53 มา 2 ปี
คนที่ถูกกระทำจาก 3 เหตุการณ์ อย่าง "อาจารย์ยิ้ม" ได้บันทึกความรู้สึกผ่าน "ประชาชาติธุรกิจ" ว่าทำไม เขาถึงยังคิดว่าชนชั้นนำยังคงเป็นปัญหาต่อการประชาธิปไตยไทย และทำไมเขาถึงตั้งคำถามกับพรรคเพื่อไทยว่า"ลืมเพื่อน"



- ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา จนถึงพฤษภาคม 2553 สภาพสังคมไทยและประชาธิปไตยเปลี่ยนไปไหม
คิดว่าเปลี่ยนไปเยอะ เพราะก่อนหน้าเหตุการณ์ 14 ตุลา ระบบการเมืองเป็นเผด็จการค่อนข้างยาว ถ้ามีประชาธิปไตยมีการเลือกตั้งก็อยู่ในช่วงสั้น แต่หลัง 14 ตุลา กลับเปลี่ยนไปทางตรงกันข้าม แม้มีการรัฐประหาร แต่การเมืองที่ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีรัฐสภา ไม่มีพรรคการเมืองจะเป็นแค่ช่วงสั้น ๆ สะท้อนว่าหลัง 14 ตุลา ประชาธิปไตยอยู่นานขึ้น 
หลังพฤษภาทมิฬ 35 เห็นว่าการเมืองเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ซึ่งดำเนินเรื่อยมาจนถึงปี 2549 จนเกิดการรัฐประหาร และรื้อฟื้นประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ไม่สำเร็จ มีคนต่อต้าน

ปี 2549 วิกฤตจึงเกิดขึ้นจากที่กลุ่มคนชั้นนำกลุ่มหนึ่งที่พยายามให้บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ถอยหลังเข้าคลองไปสู่ระบบอื่น เช่น ระบบคนดี แต่ในที่สุดก็แพ้ ความพยายามในการอุ้มพรรคเสียงข้างน้อยมาเป็นรัฐบาลก็จบลงอย่างน่าอับอาย ที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ก็ชี้ให้เห็นว่าชนชั้นนำไม่สามารถทำการเมืองแบบอื่นที่ไม่ใช่ระบบรัฐสภา หรือการเลือกตั้งได้


- ประชาธิปไตยตั้งแต่ 14 ตุลา จนถึงปัจจุบันเติบโตขึ้นหรือยัง หรือย่ำอยู่กับที่ 
ถ้าไม่มีเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 เห็นได้ว่าประชาธิปไตยโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าพูดถึงประชาธิปไตยในเชิงประชาชนมีอำนาจ และต่อสู้ จะเห็นว่าพัฒนาขึ้น เพราะประชาชนไม่ยอมต่อการทำรัฐประหาร แต่ถ้ามองในเชิงระบบประชาธิปไตยอาจสะดุด แต่มองในแง่ประชาชนอาจไม่สะดุด พอมาถึงวันนี้ การรัฐประหารจะทำให้ประเทศกลับไปสู่เผด็จการ ผมคิดว่าไม่น่าจะทำได้ หรือทำได้ก็ต้องนองเลือด ประชาชนต้องต่อต้านมากมายมหาศาล


- ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุ 14 ตุลา และ 6 ตุลา คือความเหลื่อมล้ำทางสังคม
คิดว่า "ระบอบสฤษดิ์" ทำให้ความเหลื่อมล้ำมันทวีขึ้น แม้มีการพัฒนาประเทศมากมายมหาศาลก็จริง แต่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาช่องว่างระหว่างชนชั้น จึงเป็นการเร่งให้เกิดความขัดแย้งในกรณี 14 ตุลา 
แต่ปัญหาที่ทำให้เกิดการรัฐประหารในระยะหลัง ไม่ได้เกิดจากความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่เป็นปัญหาทางการเมืองมากกว่า เช่น รัฐประหารปี 2549 ไม่เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำเลย


- ถ้าต้นเหตุการรัฐประหารปี 2549 คือการเมือง จุดไหนที่ถึงขั้นทำให้แตกหัก
จุดแตกหักอยู่ที่ชนชั้นนำไทยเป็นชนชั้นนำที่โง่ สายตาสั้น คับแคบ รอคอยไม่เป็น จริง ๆ ระบบประชาธิปไตยทั่วโลก กติการ่างไว้ชัดเจนว่าต้องคอยอีก 4 ปี ถ้าไม่รีบร้อนปานนั้น ระบบทักษิณก็เสื่อมลงเรื่อย ๆ เลือกตั้งครั้งต่อไป รัฐบาลทักษิณก็อยู่ไม่ได้ และแพ้การเลือกตั้งไปเอง แต่พอทำรัฐประหารแล้วใช้มาตรการต่าง ๆ มาเล่นงานคุณทักษิณไม่สำเร็จ และทำให้คุณทักษิณ (ชินวัตร) กลายเป็นฮีโร่


- เป็นเพราะอะไรที่ทำให้ชนชั้นนำรอคอยการเปลี่ยนผ่านตามระบบไม่ได้ 
ปัญหาชนชั้นนำไทย คิดไม่เป็นประชาธิปไตย ยังไม่เคยเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นทางศิวิไลซ์ในการแก้ปัญหา คิดจะทำอะไรก็ทำ คิดจะล้มรัฐบาลใครก็ทำตามใจชอบ และคิดว่าประชาชนไม่มีพลัง คิดว่าประชาชนซื้อได้ ตามสถานการณ์ไม่ทัน วันนี้ประชาชนเลือกพรรคการเมืองไม่ได้เลือกเพราะซื้อเสียง แต่ประชาชนเลือกพรรคการเมืองเพราะคิดว่าเป็นประโยชน์


- ผลลัพธ์ของรัฐประหารปี 2549 ที่ทำให้ประชาธิปไตยภาคประชาชนเติบโตขึ้นมา
ผมคิดว่าใช่


- เวลานี้คนเสื้อแดงเติบโตมากแค่ไหน 
คงพูดยาก คนเสื้อแดงในทางปริมาณเติบโตมาก ในวันที่กลุ่มนิติราษฎร์จัดงาน 2 ปีนิติราษฎร์ (เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 55) ขณะเดียวกัน นปช.ก็จัดโรงเรียน นปช. คนก็เต็มทั้งสองที่ กลายเป็นว่าจัดเวทีอะไร คนเสื้อแดงก็เต็ม ประชาชนจำนวนมากสนับสนุนคนเสื้อแดง ส่วนจะโตด้านอุดมการณ์ความคิดแค่ไหน...ผมคิดว่าด้านประชาธิปไตยโอเค
ใครมาละเมิดประชาธิปไตยคิดว่ามีปัญหา แต่จะไปไกลกว่านั้นไหม คิดว่ายัง...ต้องรออีกระยะ


- คนเสื้อแดง แบ่งเป็นฝ่ายหนึ่งสนับสนุนพรรคเพื่อไทย คุณทักษิณ อีกฝ่ายหนึ่งสนับสนุนนิติราษฎร์ 
ผมคิดว่ากลุ่มคนเสื้อคงไม่จำเป็นต้องเป็นเอกภาพ ความไม่เป็นเอกภาพนี่ต่างหากที่เป็นเครื่องมือสำคัญทำให้ขยายตัว เติบโต ถ้าคนเสื้อแดงมีเอกภาพทางความคิด คิดเหมือนกันเปี๊ยบ เป็นแท่งเดียวกัน คิดว่าโตไม่ได้ขนาดนี้ ตัวอย่างที่โตไม่ได้เพราะความคิดเป็นแท่งเดียวกันหมด คือ คนเสื้อเหลือง เพราะคนเสื้อเหลืองไม่มีความหลากหลายทางความคิด ต้องเชื่อแต่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เชื่อคุณจำลอง ศรีเมือง

แต่คนเสื้อแดงสามารถคิดต่างกัน แต่มีจุดร่วมเดียวกัน คือไม่เอาอำมาตย์ ไม่ว่าปีกไหน เป็นรูปธรรม คือไม่เอาพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยกับการฆ่าคนเมื่อปี 2553 ไม่เห็นด้วยกับตุลาการภิวัตน์


- คิดว่าเสื้อแดงตอนนี้ ถ้าให้จำแนกออกมา คิดว่ามีกี่แบบ 
มีกี่กลุ่มคงพูดไม่ได้ แต่เอาแค่ที่มี agenda ร่วม คือเสื้อแดงทุกกลุ่มมีคุณทักษิณเป็นจุดร่วม มีตั้งแต่รักจนถึงไม่เกลียด แค่การที่ไม่เกลียดทักษิณก็กว้างแล้ว


- ทำไมคนเสื้อแดงต้องมีจุดร่วมเดียวกันคือคุณทักษิณ
(สวนทันที) แต่ทักษิณไม่ใช่เรื่องเดียวที่ร่วม ผมคิดว่าประชาธิปไตยเป็นจุดร่วมอีกอย่างหนึ่ง ที่มีจุดร่วมกันมากคือการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คนไม่เห็นด้วยกับศาล ตุลาการภิวัตน์ ทักษิณเป็นอันหนึ่งเท่านั้น


- คิดว่าข้อหาที่คุณทักษิณถูกคณะรัฐประหารวาดขึ้นมาใส่ร้าย เทียบกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่วาดภาพว่านักศึกษายุคนั้นเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นญวนได้หรือไม่ 
ใช่ครับ มันจะคล้ายกันบ้าง แต่คิดว่าข้อหา 6 ตุลา มันคงไม่คล้ายกับคุณทักษิณ แต่มันคล้ายกับการใส่ร้ายป้ายสีคนเสื้อแดงมากกว่า เรื่องคอมมิวนิสต์ก็คือเรื่องชายชุดดำ คือการสร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมในการฆ่า เพราะถ้าไม่มีชายชุดดำพวกเขาจะเอาอะไรมาอธิบายว่า การเอาทหารมายิงคนกลางเมืองมันชอบธรรมได้อย่างไร นานาชาติเขาก็ไม่รับฟัง แต่ความพยายามสร้างชายชุดดำขึ้นมาเพื่อรองรับตรงนี้


- แต่ภาพเหตุการณ์ กับรายงานของ คอป.สรุปออกมาว่ามีชายชุดดำจริง ถ้าคิดว่าไม่มีชายชุดดำ แล้วคนที่อยู่ในภาพคืออะไร 
ปัญหาชายชุดดำไม่ได้อยู่ที่มีหรือไม่มี...ก็อาจมีคนใส่ชุดดำ แต่ปัญหาคือมันใช้เป็นเหตุในการฆ่าคนไม่ได้ ต่อให้มีชายชุดดำเต็มพรืดทั้งม็อบก็ไปฆ่าเขาอย่างนั้นไม่ได้ และปัญหาชายชุดดำอยู่ที่โครงเรื่อง ถ้าชายชุดดำมีจริง คิดว่าโครงเรื่องมันเหลวไหล เพราะชายชุดดำไม่มีที่มาทางประวัติศาสตร์ และอนาคต แต่วันดีคืนดีปรากฏขึ้นมาวันที่ 10 เม.ย. 53 กลายเป็นชนวนให้ยิงกัน แล้วชายชุดดำก็อยู่เรื่อยมาจนถึง 19 พ.ค. 53 หลังจากนั้นชายชุดดำหมดอนาคต หายสาบสูญ ไม่มีตัวตนเหลืออยู่ มองในเชิงโครงเรื่องนี่มันคืออะไร มันง่ายขนาดนั้นเชียวหรือ แล้วทำไมคนไทยจำนวนมากถึงเชื่อแบบนี้


- ภาพที่ชายชุดดำถือปืนอาก้า แล้วมีประกายไฟพุ่งออกจากปากกระบอกปืน มันยังอธิบายไม่ได้ด้วยภาพอีกหรือว่าชายชุดดำก็เป็นผู้ยิงเหมือนกัน
ไปดู 90 กว่าศพ ตายด้วยปืนอาก้าไหม ไม่มีสักศพ การอ้างว่าชายชุดดำก่อเหตุการณ์ 10 เม.ย. 53 ทำให้ พ.อ.ร่มเกล้า (ธุวธรรม) ตาย ถามว่าตายด้วยอาก้าหรือเปล่า แต่ พ.อ.ร่มเกล้าตายด้วยระเบิดของกองทัพเอง หรืออาจเป็นปืนของกองทัพเอง (เน้นเสียง)


- เหตุการณ์ 10 เม.ย. และ 19 พฤษภา 53 เป็นการสร้างละครขึ้นมาเพื่อให้เกิดการสังหารหมู่ 
ละครสร้างทีหลัง เพราะเอาทหารมาปิดล้อม แล้วกระชับพื้นที่ มาอ้างว่าไม่ใช่สลายการชุมนุม พูดแรง ๆ คือโคตรโกหก มันต่างตรงไหน แค่เล่นลิ้นเท่านั้น 90 กว่าศพ ตายเพราะตรงนี้ เป็นคำสั่งรัฐบาลสั่งให้สลายการชุมนุม  
แต่ที่พูดตรง ๆ ไม่ได้ เพราะมันผิด จึงต้องแต่งนิยายขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การฆ่าต่างหาก เพื่อเอาไว้หลอกชนชั้นกลาง เอาไว้หลอกคนที่ไม่รู้ แต่นิยายนี้ไม่เวิร์กเลยในโลกนานาชาติ

ต่างประเทศไม่เชื่อ มีแต่เราเชื่อกันเองในไทย มันคือความเหลวไหลในเรื่องโครงเรื่อง ถ้าคนเสื้อแดงมีอาวุธสงครามอยู่ในมือ มีชายชุดดำปกป้อง ถามตรง ๆ ว่าทหารจะตายแค่นี้ไหม


- เมื่อคิดว่าการสังหารประชาชนเป็นฝีมือของพรรคประชาธิปัตย์ แต่พอพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ทำไมถึงตั้งคำถามว่าพรรคเพื่อไทยลืมเพื่อน
ผมคิดว่าเป็นความขี้ขลาดและความไม่จริงจังของรัฐบาลชุดนี้ต้องพูดกันตรง ๆ ปัญหาคือความไม่กล้า เกรงใจอำมาตย์มากเกินไป ฉะนั้นจึงไม่กล้าทำอะไรเลย 
แต่ความเกรงใจมีรากฐาน แม้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้เสียงประชาชน แต่กลไกต่าง ๆ ไม่ได้อยู่ในมือเขา จึงเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่เขาเกรงใจกองทัพ เกรงใจศาลมากเกินไป เมื่อเกรงใจ ในที่สุดก็วิตกเกินจริง จึงไม่ทำอะไรเลย หรืออาจต้องการประนีประนอมมากเกินไป แต่คิดว่าจะล้มเหลว เพราะฝ่ายอำมาตย์ไม่ประนีประนอมด้วย


- เมื่อรัฐบาลขี้ขลาด สุดท้ายเป็นการเกี้ยเซียะ เพื่อให้อยู่ในตำแหน่งจนถึงครบวาระ
แต่ถ้าอยู่อย่างนั้นแล้วประชาชนไม่มีประโยชน์อะไร ก็ไม่ต้องอยู่เสียดีกว่า แต่เขาก็มีสิทธิทำอย่างนั้น แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วย


- สิ่งที่อยากให้รัฐบาลทำเพื่อลบข้อครหาว่าลืมเพื่อนคือสิ่งใด
1.ปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมดถ้าเยียวยาได้ก็เยียวยา แต่ต้องปล่อยเขาก่อน เรื่องนโยบายสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องทำ เป็นเรื่องที่ถือสามาก แต่เขาไม่ทำ
2.แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ผมไม่เห็นด้วยกับการถอยให้กับศาล แต่ถ้าเขาไม่ทำ ผลก็ตกที่ตัวเขาเอง
3.แก้ไขมาตรา 112


- 14 ตุลา 6 ตุลา และพฤษภา 53 ประชาชนได้บทเรียนอะไรจาก 3 เหตุการณ์นี้ 
บทเรียนคือประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง มีบทบาทในการต่อสู้มากขึ้น สามารถเรียกร้องสิ่งที่ไม่เป็นธรรมได้ แต่คนที่ไม่ได้บทเรียนคือคนชั้นนำ ไม่ยอมสรุปบทเรียน 6 ตุลา ก็เห็นอยู่ว่าฆ่าคนแล้ว รัฐประหารมันแก้ปัญหาไม่ได้ นอกจากแก้ปัญหาไม่ได้แล้วยังทำให้สังคมร้าวลึกกว่าเดิม ถ้าไม่มีฆ่ากันเลย แก้ปัญหา สมานฉันท์ ปรองดอง ง่ายกว่านี้เยอะ

ชนชั้นนำไม่รู้ว่าประชาชนไปถึงไหนแล้ว ประชาชนไม่เคยทำลายประชาธิปไตย ประชาชนไม่เคยก่อรัฐประหาร ประชาชนไม่เคยล้มกระดาน แต่พวกเขาล้มกันเอง ที่ประชาชนไม่ล้มกระดาน เพราะเขาได้ประโยชน์จากประชาธิปไตย 



.