http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-20

จำนำข้าว รักษาโรคจนของชาวนา แนวทางดีแล้ว แต่ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีต้องดีด้วย โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

จำนำข้าว รักษาโรคจนของชาวนา แนวทางดีแล้ว แต่ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีต้องดีด้วย
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1679 หน้า 20


ความแตกต่างของอุณหภูมิในบรรยากาศเหมือนความแตกต่างทางชนชั้น ต่างกันมากก็เกิดลมพัดแรง กลายเป็นพายุ
ในรอบ 10 ปีนี้ มีพายุปฏิรูปพัดเข้ามากระทบกับสังคมไทยหลายลูก มาทั้งลมและฝน 
พายุลูกแรก คือ 30 บาทรักษาทุกโรค จากนั้นก็มีกองทุนหมู่บ้าน หวยบนดิน ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท พายุลูกล่าสุดที่พาน้ำฝนโปรยไปทั่วประเทศ คือการรับจำนำข้าวราคาสูง 
ทั้งหมดคือพายุของการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะพอใจหรือไม่พอใจ พายุก็มาแล้ว

วันนี้มาว่ากันเรื่อง พายุจำนำข้าวที่พัดใส่คนหลายกลุ่ม



150 ปีที่ชาวนาไทยปลูกข้าวส่งขายต่างประเทศ 

ข้าวเป็นผลิตผลหลักในระบบเศรษฐกิจแบบเลี้ยงตัวเองของไทยมานาน  
ปี 2398 สมัย ร.4 มีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ผลของสนธิสัญญานี้ ทำให้ต้องยกเลิกพระคลังสินค้า และระบบภาษีแบบเก่า การค้าข้าวจึงขยายตัว ข้าวมีราคาสูงขึ้น 
สมัย ร.5 ระบบเศรษฐกิจของไทย เปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบเลี้ยงตัวเอง ไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบการค้า การเลิกทาสทำให้มีแรงงานอิสระเป็นพลังการผลิต มีการเพิ่มผลผลิตข้าว โดยเพิ่มพื้นที่การปลูกข้าว และขุดคลองต่างๆ ใช้ในการชลประทาน 
ข้าวจึงเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย

กรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์กลางการค้าข้าว ซึ่งอยู่ในมือพ่อค้าชาวจีนเกือบทั้งสิ้น เพราะเมื่อ 100 ปีที่แล้วคนจีนก็เป็นเจ้าของโรงสีไฟขนาดใหญ่ในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีนเกือบทั้งหมด และพ่อค้ากลุ่มนี้ก็ได้ตั้ง...สมาคมค้าข้าวสยาม...ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2461 
ส่วนนโยบายพยุงราคาข้าวเปลือก เพิ่งเริ่มทำในรัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปี 2518 และได้พัฒนามาเป็นโครงการ รับจำนำข้าวเปลือก ในปัจจุบัน
แต่การส่งออกยังอยู่ในมือพ่อค้ากลุ่มเดิมเพียงแต่เปลี่ยนชื่อเป็น... สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย (Thai Rice Exporters Association)


นโยบายจำนำข้าวราคาสูงของรัฐ
กระทบใครบ้าง?


ข้าวจากชาวนากว่าจะถึงมือผู้บริโภค ต้องผ่านกระบวนการค้าขายหลายต่อ สมัยก่อนจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาและนำไปส่งโรงสีขนาดกลาง เมื่อโรงสี สีเป็นข้าวสาร จะนำไปขายในท้องถิ่น ถ้ามีมากก็ส่งขายเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งจะต้องขายผ่านนายหน้าที่เรียกว่า...หยง... 
จากนั้นข้าวสารจากแหล่งต่างๆ จะถูกรวบรวมและส่งออกไปจำหน่ายในระบบขายส่งทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งก็ต้องผ่านนายหน้าซึ่งเป็นหยงเช่นกัน 

แต่สภาพการค้าขายข้าวในวันนี้เปลี่ยนไปมากเพราะชาวนาจะนำข้าวไปจำนำกับโรงสีโดยตรงและเมื่อข้าวครบกำหนดระยะจำนำ รัฐก็สามารถนำไปขายในระบบ G to G หรือนำไปประมูลให้กับบริษัทเอกชน 
จะเห็นว่าคนที่สูญเสียผลประโยชน์มีตั้งแต่คนกลางระดับหมู่บ้านจนถึงพ่อค้าส่งออก



จำนำข้าว... แนวทางดี
แต่ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีไม่ดี ก็ล้มเหลวได้


ยุทธศาสตร์สามอย่างคือราคาและคุณภาพ, แหล่งรับจำนำและแหล่งเก็บ, แหล่งขายและเงื่อนไขการขาย 

ราคาควรยกเหนือกว่าตลาดนับว่าถูกต้องแล้ว แต่ไม่ควรกำหนดตายตัว ควรจะปรับเปลี่ยนได้ตามฤดู แต่จะต้องกำหนดว่าเหนือกว่าตลาดกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อดึงราคาขึ้นอยู่เสมอ ในอดีตผู้ค้าส่งออกไม่เคยขาดทุนเพราะขายเหนือกว่าราคาที่ซื้อก็ได้กำไร ไม่ต้องผลิต ไม่เสี่ยงกับภัยธรรมชาติ คนขาดทุนคือชาวนา ถ้าซื้อราคาต่ำ ขายถูกยิ่งขายง่าย ราคาขายข้าวจึงถูกกว่าน้ำชาขวด แม้จะขายมากถึง 1 ใน 3 ของโลกก็ไม่มีใครคิดดึงราคาให้สูงขึ้นอย่างจริงจัง งานนี้จะได้รู้ว่ามีโอกาสทำได้จริงแค่ไหน 
คุณภาพเรื่องความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับ 1 เพื่อสุขภาพของคนทั้งโลกและเพื่อไม่ให้มีปัญหาในการขาย และควรแบ่งแยกชนิดของข้าวให้ละเอียดมากขึ้นเพื่อให้ผู้ซื้อมีสิทธิ์เลือกบริโภคข้าวพันธุ์ต่างๆ ข้าวพันธุ์ดีที่คนนิยมควรทำราคาให้สูง วิธีนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาของพันธุ์ข้าวได้ดีที่สุด

แหล่งรับจำนำ ถ้ามีน้อยเกินไป ชาวนาจะเสียเปรียบ เพราะไม่ได้รับความสะดวก ผู้ซื้อจะกดราคา การกำหนดให้มีโรงสีหรือแหล่งรับซื้อให้เสรีมากที่สุด น่าจะเป็นวิธีที่น่าจะเกิดการแข่งขันและลดการเอาเปรียบชาวนาได้ดีที่สุด โครงการรับจำนำข้าว ตัวอย่างจดหมายร้องเรียน...จากจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน 
"หลักเกณฑ์การรับจำนำข้าวเปลือกที่กำหนดให้ เกษตรกรสามารถจำนำข้าวได้ในพื้นที่ของตัวเองหรือในอำเภอที่มีพื้นที่ติดกันเท่านั้น ห้ามโรงสีรับจำนำข้าวนอกพื้นที่ หลักเกณฑ์ข้อนี้ทำให้เกิดช่องว่างขนาดใหญ่ในการทุจริต ทำให้อำนาจต่อรองตกไปอยู่กับโรงสีในพื้นที่ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น โดยร่วมมือกันกดราคา โดยการรู้เห็นเป็นใจจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง การเปิดรับจำนำข้าวเปลือกนาปี พฤศจิกายน 2554-มกราคม 2555 ด้วยการดำเนินการของข้าราชการที่เปิดจุดรับจำนำข้าวน้อย สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก ต้องเข้าคิวรอจำนำข้าวกันข้ามคืน เปิดโอกาสให้โรงสีเอาเปรียบด้วยการตัดเปอร์เซ็นต์ความชื้นข้าวอย่างไม่เป็นธรรม เกษตรกรต้องตกอยู่ในภาวะจำยอม การแก้ไขคือต้องเปิดโอกาสให้สามารถเปิดจุดรับจำนำข้าวได้โดยเสรีจากโรงสีต่างพื้นที่ จะเป็นการทำลายการผูกขาดของอิทธิพลในท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ชาวนามีทางเลือกในการจำนำผลผลิตของตัวเองได้มากขึ้น"
นี่คือตัวอย่างการหาช่องทางกอบโกยประโยชน์ ซึ่งคงมีมากกว่านี้ แต่ไม่ใช่เหตุผลที่รัฐจะเลิกนโยบายนี้

แหล่งขาย ในที่นี้หมายถึงตลาดต่างประเทศและในประเทศซึ่งจะชี้ขาดที่ราคาและเงื่อนไข ซึ่งอาจไม่เหมือนกัน แม้เป็นการขายแบบ G to G ก็มีความแตกต่างขึ้นอยู่กับปริมาณที่ซื้อ การส่งมอบ การชำระเงิน การแลกเปลี่ยนข้าวกับสินค้าก็สามารถทำได้ เพียงแต่จะทำให้ขาดเงินสดหมุนเวียน 
การยกราคาให้สูงพอสมควรอาจจะทำให้ขายได้มากกว่าการยกราคาสูงสุด 
ความสามารถของผู้กำหนดราคาจำนำในแต่ละช่วงฤดูจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็พอเข้าใจได้ว่าการกำหนดนโยบายครั้งแรกอาจจำเป็นต้องตั้งตามราคาประเมินเป็นตัวเลขกลมๆ แต่เมื่อผ่านประสบการณ์มาระยะหนึ่ง ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น 

ส่วนข่าวที่ว่าจะมีคนไปตั้งบริษัทนายหน้าที่ต่างประเทศเพื่อขายข้าวของรัฐบาลทำกำไร เรื่องนี้ควรส่งเสริมให้มีมากๆ จะได้ช่วยกันขาย


พ่อค้าข้าว... โรงสี... ชาวนา... รัฐบาล
ต้องได้ความร่วมมือในความขัดแย้ง


กลุ่มพ่อค้าข้าวในที่นี้หมายถึงผู้ค้าข้าวส่งออกต่างประเทศซึ่งปัจจุบันรวมตัวอยู่ในนาม สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ปัจจุบัน มีสมาชิกเกือบ 200 บริษัท
หลังจากทำกำไรมาตลอดในรอบเกือบร้อยปี ครั้งนี้นับว่าได้รับผลกระทบหนักที่สุด 
กลุ่มพ่อค้าไม่เชื่อว่านโยบายของรัฐบาลจะสามารถดึงราคาข้าวให้สูงได้ แม้ประเทศไทยจะส่งข้าวออกประมาณ 1 ใน 3 ของการค้าข้าวทั้งโลก เนื่องจากพ่อค้าไม่สามารถซื้อข้าวในราคาสูงแข่งกับรัฐบาลได้ 
เป้าหมายของพ่อค้าส่งออกจึงอยากผลักดันให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบาย อย่างน้อยก็ต้องลดราคาซื้อให้ใกล้เคียงกับราคาตลาดหรือซื้อจำนวนหนึ่งให้มีข้าวเหลืออยู่ในตลาดในราคาที่ซื้อได้ แต่รัฐไม่ยอม จึงต้องมีการปะทะกันบ้าง 
ที่จริงยังมีทางออกที่จะได้ประโยชน์ทุกฝ่ายรัฐบาลควรร่วมมือกับผู้ส่งออกทุกกลุ่ม แบ่งผลประโยชน์ให้บ้าง พวกเขาเป็นมือขายข้าวอาชีพ น่าจะช่วยได้

กลุ่มโรงสี ปัจจุบันโรงสีข้าวในประเทศไทยมีจำนวนมากจนไม่มีข้าวมาให้สีได้หมดทุกโรง มีการก่อตั้ง "สมาคมโรงสีข้าวไทย" ("Thai Rice Mills Association") ขึ้นในเดือน ตุลาคม 2521 กว่า 30 ปี เดิมโรงสีเป็นกลไกขั้นกลางที่ผลิตข้าวสารขายและส่งให้ผู้ค้ารายใหญ่ 
แต่ปัจจุบันโรงสีขนาดใหญ่เริ่มหันมาทำข้าวถุง ขายแข่งกับผู้ค้าข้าวภายในประเทศ และต้องการทำการส่งออกเอง 
นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบกับผู้ค้าข้าวส่งออกเพราะโรงสีมีความรู้เรื่องข้าว พันธุ์ข้าวด้วยระบบการค้าสมัยใหม่ที่สามารถค้าขายผ่านอินเตอร์เน็ต 
ผู้จัดการโรงสีรุ่นใหม่เป็นคนหนุ่มทันสมัย รู้จักใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย ใช้ภาษาอังกฤษคล่อง พวกเขาจะเดินหน้าทำการค้าส่งออกด้วยระบบที่ทันสมัยด้วยตนเองแน่นอน นี่เป็นกลไกสำคัญของรัฐที่ต้องร่วมมือและควบคุมอย่างยุติธรรม



อย่าดูหมิ่นชาวนาเหมือนดั่งตาสี
เดี๋ยวนี้ไม่มีชาวนานั่งเป่าขลุ่ยบนหลังควายอีกแล้ว

พวกเขาเปลี่ยนระบบการผลิตไปเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่น ใช้รถไถนา จ้างรถเกี่ยวข้าวนวดข้าว มีรถกระบะวิ่งไปขายถึงโรงสี 
พวกเขาลงแรงน้อยลง แต่ต้องลงทุนมากขึ้น ทั้งค่าแรง ค่าปุ๋ย ถ้ามีปัญหาภัยธรรมชาติ ก็ต้องเป็นหนี้อย่างน้อย 3 ปีแต่พวกเขามีความรู้มากขึ้น ใช้เครื่องมือสื่อสารมากขึ้น รู้ข่าวทันคน พวกเขาเพิ่งจะมีโอกาส และขอโอกาสนั้นเติบโต 
ถึงวันนี้ เราได้ยินชื่อ...สมาคมชาวนาไทย ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 ช่วงนี้มีบทบาทออกมาสนับสนุนนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลและปะทะกับนักวิชาการที่คัดค้านนโยบายนี้

ที่จริงองค์กรจัดตั้งของชาวนาเคยมีชื่อเป็นที่รู้จัก เมื่อชาวนาชาวไร่ประมาณ 4,000 คน จากภาคกลาง เหนือ ตะวันออก และอีสาน ได้ประกาศก่อตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ในการชุมนุม ณ ท้องสนามหลวง เมื่อพฤศจิกายน พ.ศ.2517 โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไข ปัญหาค่าเช่านา ปัญหาที่ดินทำกิน และหนี้สิน ปัญหาราคาข้าวและพืชผลตกต่ำ 
แต่การต่อสู้ของชาวนา ต้องเผชิญกับการข่มขู่คุกคามและการลอบสังหารผู้นำชาวนา ในสังกัดสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน-ตุลาคม 2518 มีการลอบสังหาร ผู้นำชาวนาไปไม่น้อยกว่า 8 คน เช่นที่ สุรินทร์, อุดรธานี, นครสวรรค์, ลำปาง, เชียงราย, ลำพูนและ เชียงใหม่ 3 คน

31 กรกฎาคม ลอบสังหาร พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง ประธานภาคเหนือ และรองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ความขัดแย้งดำเนินต่อไปจนถึงรัฐประหาร 6 ตุลาคม และผู้นำชาวนาบางส่วนก็ต้องหนีเข้าไปสู้ในป่า  

ศึกหนักในวันนี้ของชาวนาไม่เท่าในยุคก่อนซึ่งต้องเดิมพันทั้งชีวิตและผืนนา งานนี้ไม่ถึงตายหรอก ชาวนารุ่นก่อนตายก็ไม่กลัว



ความเห็นทีมวิเคราะห์

1. นโยบายการจำนำข้าวเป็นแนวทางที่ดีที่จะยกระดับรายได้ของเกษตรกร และสร้างกำลังซื้อในระดับล่างเพื่อทดแทนการกำลังซื้อจากฝรั่งซึ่งกำลังลำบาก รัฐหวังให้เงินแสนล้านหมุนวนกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าในต่างจังหวัดหลายๆ รอบ เหมือนพรวนดิน รดน้ำ ที่โคนต้น

2. ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีต้องดีมากๆ จึงจะสำเร็จ เพราะคนที่เคยทำมาหากินอยู่ในวงจรข้าว ถูกกระทบผลประโยชน์อย่างแรง การต่อต้านก็ต้องมีมากเป็นธรรมดา 
วันนี้ถ้ารัฐต้องการบรรลุเป้าหมาย จะต้องลงในรายละเอียดทางยุทธวิธีทุกขั้นตอนเพื่อป้องกันการทุจริตให้มากที่สุด 
มีคนเปรียบเทียบการจำนำข้าวเช่นเดียวกับการพยุงราคาก๊าซหุงต้มที่ต้องทำเพราะให้ทุกครัวเรือนมีก๊าซราคาถูกใช้ แม้จะรู้ว่ามีคนแอบนำไปขายทำกำไรในประเทศเพื่อนบ้านอย่างผิดกฎหมาย 
แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลหลักที่จะยกเลิกนโยบายนี้ ถ้าจะยกเลิกคงเป็นเหตุผลอื่น และก็เหมือนกับอีกสารพัดโครงการของทุกรัฐบาล ที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง, การจัดซื้อที่คาดได้ว่าจะมีการทุจริต แต่ไม่ใช่ข้ออ้างล้มโครงการ

3. แนวทางการทำงานคือแสวงหาความร่วมมือจากทุกกลุ่มให้มากที่สุด ไม่ใช่สร้างศัตรูมากที่สุด แต่ชาวนาเองต้องตระหนักว่า...รัฐบาลเป็นแค่ตัวช่วย ถ้าอยากมีชีวิตที่ดีขึ้นต้องรู้จักสู้เอง 
สำหรับพ่อค้าข้าวและโรงสีคงจะมีการเปลี่ยนแปลงผลประโยชน์กันบ้างพอสมควร รัฐต้องส่งคนลงไปประสานงาน

4. การต่อสู้เกี่ยวกับนโยบายเรื่องจำนำข้าว เป็นการต่อสู้ทางการเมืองและเศรษฐกิจคู่กันไป 
ในทางการเมืองนี่เป็นศึกหนักของรัฐบาล เป็นนโยบายที่ท้าทาย มีตัวชี้วัดความสำเร็จที่มองเห็นได้ รัฐบาลต้องวางแผนให้ละเอียดมากขึ้น ถ้าพลาดจะถูกรุมยำทันที 
งานนี้ไม่หมูเหมือน 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ดูแล้วก็ยังไม่หนักมาก ฝ่ายตรงข้ามอาจมีตัวแทนออกมาชนบ้าง แม้แต่พ่อค้าเองก็สงวนตัว คงไม่อยากให้ใครมาตรวจสอบธุรกิจตนเองและไม่มีใครอยากได้ชื่อว่า เป็นผู้กดขี่ชาวนา

5. นโยบายจำนำข้าวเพื่อยกรายได้เกษตรกร เป็นพายุใหญ่ลูกที่ 3 ของแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว ถ้าสะดุดลง จะมีผลให้การปฏิรูปรวมชะงักได้ 

(โอกาสหน้าทีมวิเคราะห์จะมาพยากรณ์อากาศ เรื่อง เส้นทางพายุปฏิรูปของทักษิณให้ฟัง)

ทีมงานขอจบการวิเคราะห์ด้วยเพลง "อาลัยพ่อหลวงอินถา" ของวงลูกทุ่งสัจจธรรม รามคำแหง เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ที่โชกเลือด ในวัยหนุ่ม

ปืน...ที่ดังสิ้นสั่งสิ้นเสียง
เหลือเพียงๆ แต่ชื่อพ่ออินถา 
ทิ้งแนวร่วมชาวนา
พ่ออินถาเหมือนเป็นเช่นร่มไทร 
วิญญาณ...พ่ออยู่แห่งไหน
ทุกคนแสนห่วงอาลัย
ทุกคนร้องไห้ พากันหลั่งน้ำตา




_______________________________________________________________________________________________

อาลัยพ่อหลวงอินถา.mp4
www.youtube.com/watch?v=MEOB3TgIN1E




.