http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-01

พม่าแซงไทยใน“ยูเอ็นจีเอ” โดย วรรัตน์ ตานิกูจิ

.

พม่าแซงไทยใน“ยูเอ็นจีเอ”
โดย วรรัตน์ ตานิกูจิ worrarat@matichon.co.th  คอลัมน์ วิเทศวิถี
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 01 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 15:13:30 น.


...ใครต่อใครที่จับตาดูการเดินทางไปเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาครั้งแรกของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี 
คงมองผลการเดินทางเยือนครั้งนี้แตกต่างกันไป สำหรับคนเสื้อแดงที่มีบางส่วนมาต้อนรับและรอส่งที่หน้าโรงแรมพลาซ่า แอทธินี ในนครนิวยอร์ก กับคนเสื้อเหลืองที่ขนคนมาประท้วงต่อเนื่องกันหลายวันหน้าโรงแรมที่พักแห่งเดียวกัน 
การเดินทางครั้งนี้ถือว่าเป็นความสำเร็จหรือไม่ ย่อมเป็นมุมมองที่ต่างกันคนละขั้ว


ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างไร นาทีนี้ประเทศไทยก็ยังมีนายกรัฐมนตรีหญิงที่ชื่อยิ่งลักษณ์ ซึ่งแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามักจะพูดไม่ค่อยคล่องแคล่วในที่สาธารณะ หรือเป็นนายกรัฐมนตรีนอมินีของพี่ชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 
แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ระหว่างการมาร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) สมัยที่ 67 ครั้งแรกนี้ คือ นายกรัฐมนตรีหญิงของไทยมีความอึดมากกว่าที่ใครต่อใครคาดคิด 
เห็นได้จากการเข้าร่วมกำหนดการที่ค่อนข้างอัดแน่นในทุกๆ วันตั้งแต่เช้ายันค่ำ 

ใครที่อยากรู้ว่าการขึ้นพูดในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติสมัยที่ 67 ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นอย่างไร สามารถเปิดดูที่เว็บไซต์ของสหประชาชาติได้ตามสะดวก


หากจะให้คำจำกัดความสั้นๆ คงต้องบอกว่าไม่มีอะไรที่เหนือความคาดหมาย และถือว่าเอาตัวรอดไปได้ เพราะขนาดในเวทีเอเปคซึ่งมี 21 เขตเศรษฐกิจ มาตรฐานการอ่านหรือพูดภาษาอังกฤษของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ได้ถือว่าย่ำแย่ที่สุดเมื่อเทียบกับผู้นำอีกหลายชาติ แต่จะถูกใจคนฟังแค่ไหนก็ขึ้นกับจริตของแต่ละคน

ขณะที่ในเวทีอื่นๆ ที่เดินทางไปเข้าร่วมนอกเหนือจากนั้นในกรอบสหประชาชาติ อาทิ การเข้าร่วมงานเลี้ยงที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมโครงการ Every Woman Every Child ที่เป็นความริเริ่มของ นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของสตรีและเด็กให้ได้ถึง 16 ล้านคนภายในปี 2558 น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์คนแรกในงานดังกล่าว

อย่างไรก็ดี หากจะถามว่าอะไรน่าจะเป็นความสำเร็จที่แท้จริงของการเดินทางมาร่วมประชุมครั้งนี้ความสนใจของผู้คนควรเปลี่ยนมาจับจ้องที่การพบปะกันระหว่าง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับ เจ้าชายอับดุลอาซิส บิน อับดุลลาห์ อับดุลอาซิส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่คณะทูตถาวรซาอุดีอาระเบียในนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่25 กันยายน ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐมากกว่า

เพราะนี่คือการพบปะกันในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 21 ปี

ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็ทราบดีว่าสิ่งที่จะหารือกันคือปัญหาที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศประสบภาวะชะงักงันมาอย่างยาวนาน ไม่ใช่เพียงการหารือกันระหว่างไปร่วมงานหรือด้วยเหตุผลอื่นเช่นที่ผ่านมาในอดีต


สิ่งที่เห็นทำให้เข้าใจว่าดูเหมือนฝ่ายซาอุดีอาระเบียก็ต้องการเผยแพร่ข่าวการพบปะหารือครั้งนี้ด้วยเช่นกัน เพราะไม่เพียงแต่จะอนุญาตให้สื่อมวลชนไทยสามารถขึ้นไปเก็บภาพการหารือได้เท่านั้น แต่ยังมีสื่อซาอุดีอาระเบียอีกหลายสำนักพากันขึ้นไปถ่ายภาพการหารือที่มีขึ้นเช่นกัน

แน่นอนว่าคงไม่อาจมีข้อสรุปใดๆ ที่ชัดเจนได้ในการพูดคุยเพียงครั้งเดียว หลังจากนี้ คงต้องมีการเดินหน้าแก้ไขสิ่งที่ยังค้างคาความรู้สึกกันต่อไป แต่อย่างน้อยประตูอีกบานหนึ่งก็ถูกแง้มออกมาให้ได้เห็นแสงสว่างกันบ้าง แม้จะเป็นเพียงแสงแรกก็ตามที

สัจธรรมหนึ่งในชีวิตคือหากไม่คาดหวัง จะไม่ผิดหวัง เพียงแต่คิดว่าเมื่อมีโอกาส เราได้ทำอย่างดีที่สุด แล้วผลจะเป็นอย่างไรก็คงต้องคอยดูกันต่อไป


อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าเอกภาพในการทำงานของหน่วยราชการไทย โดยเฉพาะความพยายามที่จะแข่งกันให้ข่าว อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการและความพยายามในการแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้เช่นกัน

อีกเรื่องสำคัญที่มีความคืบหน้าคือการหารือระหว่างผู้นำไทยและพม่าในความร่วมมือเพื่อการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่สองฝ่ายได้ตกลงจะตั้งคณะกรรมการขึ้นเป็น 3 ระดับ เพื่อเดินหน้าผลักดันโครงการดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศความร่วมมืออีกครั้งในการประชุมผู้นำอาเซียนเดือนพฤศจิกายนนี้ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

ประเด็นหลักที่ผู้นำชาติต่างๆ พูดถึงอย่างมากในเวทียูเอ็นจีเอครั้งนี้คงไม่มีเรื่องใดร้อนแรงเท่าปัญหาในซีเรีย ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้ยังหาทางออกแบบสันติวิธีใดๆ ไม่ได้ และยังมองไม่เห็นหนทางเช่นกันว่าจะยุติลงเมื่อใด ขณะที่ชาติมุสลิมหลายชาติตั้งคำถามถึงเสรีภาพที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐยังคงยกย่องเชิดชู หลังเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกอันมีสาเหตุจากวิดีโอเจ้าปัญหา อินโนเซนซ์ ออฟ มุสลิมส์ ที่ชาวอเมริกันเชื้อสายยิวเป็นผู้นำขึ้นเผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทูบ



ขณะที่หนึ่งในผู้ที่ได้รับความสนใจเป็นลำดับต้นๆ ย่อมต้องมีชื่อประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่า ที่เดินทางมากล่าวถ้อยแถลงในเวทียูเอ็นจีเอปีนี้ หลังผลักดันการปฏิรูปประเทศไปสู่ประชาธิปไตยจนได้รับความยอมรับจากประชาคมโลก แม้จะยังมีการตั้งเงื่อนไขอะไรบางอย่างก็ตามที ซึ่งเป็นห้วงเวลาเดียวกับที่ นางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่าเดินทางเยือนสหรัฐเช่นกัน ซึ่งข่าวว่าทั้งคู่ยังได้พบกันในโรงแรมที่พักของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ด้วย

แต่ที่สร้างความตกตะลึงมากกว่าการมาปรากฏตัวในเวลาเดียวกันของผู้นำรัฐบาลและผู้นำฝ่ายค้านพม่าในสหรัฐคือคำพูดของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ที่ชื่นชมยกย่องการแสดงบทบาทของซูจีในด้านประชาธิปไตยกลางเวทียูเอ็นจีเอ ที่เชื่อเถิดว่าหากเป็นเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้คงไม่มีใครคาดคิดว่า
จะได้ฟังคำยกย่องชื่นชมซูจีออกจากปากผู้นำพม่าเป็นแน่


พม่าที่ว่าเปลี่ยนยาก เขายังเปลี่ยนแปลงแล้ว
ส่วนไทยไม่รู้ต้องรอถึงเมื่อไหร่จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ประเทศเราพ้นจากความขัดแย้งไปและเดินไปข้างหน้ากันได้เสียที



.