.
วิกฤติหนี้ลุกลาม : ร้อนกันไปทั้งโลก (6)
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1665 หน้า 38
วิกฤติหนี้ของกรีซในขณะนี้ดูจะมีการประเมินใกล้เคียงกันว่าคงจะเอาไม่อยู่
รัฐบาลไทยเองก็ได้เร่งศึกษาและเตรียมรับมือด้วยมาตรการถึง 10 ประการด้วยกัน ซึ่งมีตั้งแต่การเตรียมรับมือทางการเงินการคลัง เช่น ดูแลเรื่องอัตราดอกเบี้ย การไหลเข้าออกของเงิน การรักษากระเป๋าของเศรษฐีคือตลาดหลักทรัพย์ ไปจนถึงการส่งเสริมการส่งออก และการดูแลแรงงานไทยในสหภาพยุโรป ที่อาจถูกเลิกจ้าง
นับว่าค่อนข้างครอบคลุม แต่ก็ควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะว่าการลุกลามค่อนข้างเร็ว และอาจเกิดเหตุไม่คาดคิดได้
ในขณะนี้มีข่าวว่าวิกฤติหนี้ได้ลามสู่มอลตาที่เป็นประเทศเกาะเล็กๆ มีประชากรไม่ถึง 5 แสนคน ต้องเข้าโครงการไถ่ถอน แต่สมรภูมิสำคัญต่อไปน่าจะอยู่ที่ สเปน และอิตาลี ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่มาก ถ้าหยุดการลุกลามที่นี้ไม่อยู่ก็น่าจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก
ในตอนนี้จะกล่าวถึงวิกฤติหนี้กรีซต่อ ในส่วนของชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนชาวกรีกที่ต้องประสบความทุกข์ยากและเผชิญกับสถานการณ์ที่มีแนวโน้มจะเลวร้ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ-สังคมและการเมือง ความปั่นป่วนและความไร้เสถียรภาพทางการเมือง รัฐบาลผสมจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 ก็ไม่ได้รับอาณัติเด็ดขาดจากประชาชน
วิกฤติของกรีซน่าจะเป็นบทเรียนสำหรับประเทศอื่นที่จะเตรียมรับมือเมื่อเกิดวิกฤติขึ้น ป้องกันไม่ให้ปัญหาใหญ่โตเกินไป
และระมัดระวังไม่ให้การแก้ไขปัญหากลายเป็นการก่อปัญหาใหม่ที่อาจเลวร้ายไปกว่าเดิม
ความยากลำบาก 10 ประการของกรีซ
จากวิกฤติหนี้สาธารณะ
ประเทศไทยเคยผ่านวิกฤติหนี้ในปี 2540 แต่นั่นเป็นหนี้ของสถาบันการเงินและบริษัทใหญ่ต่างๆ รัฐบาลได้เข้ามาช่วยไถ่ถอนสถาบันการเงินให้ดำเนินกิจการต่อไปได้
แต่อย่างนั้นก็ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ดิ่งเหว การว่างงานพุ่งสูง เป็นความทรงจำในความยากลำบากที่ดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน
แต่วิกฤติหนี้กรีซเป็นวิกฤติหนี้สาธารณะ กล่าวอย่างง่ายคือไม่ใช่สถาบันการเงินและบริษัทใหญ่ที่ล้มละลาย แต่เป็นตัวรัฐบาลเองที่ไม่สามารถชำระหนี้ ผลกระทบจึงรุนแรงและยืดเยื้อกว่า
มีผู้สรุปความยากลำบากและความผันผวนไม่แน่นอนในสังคมกรีกยามเผชิญวิกฤติไว้ 10 ประการ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจได้ชัดว่าเหตุใดชาวกรีกจึงได้ลุกขึ้นต่อต้านมาตรการมัธยัสถ์ของรัฐบาลอย่างสุดชีวิต จนกลายเป็นการจลาจลทั่วประเทศ
ความยากลำบากดังกล่าว ได้แก่
1. การขาดแคลนอาหาร ในประเทศที่ถือว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างเช่น กรีซ การขาดแคลนอาหารดูเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อ เมื่อมีอาหารวางเต็มชั้นซูเปอร์มาร์เก็ตเสมอ แต่แท้จริงระบบการกระจายอาหารในประเทศที่พัฒนาแล้วมีความไม่มั่นคงสูงมาก เนื่องจากใช้ระบบขนส่งแบบพอดีเวลา (Just-in-time)
เมื่อเศรษฐกิจกรีกอยู่ในภาวะถดถอยเป็นปีที่ 5 และอัตราการว่างวานสูงกว่าร้อยละ 22 ครัวเรือนกรีกจำนวนไม่น้อยเริ่มขาดอาหาร
ในกลางเดือนมิถุนายนมีรายงานข่าวว่าชาวกรีกนับจำนวนพันเข้าแถวกันรับกล่องอาหารที่นำมาแจก ซึ่งมีทั้งหญิงชราและแม่และเด็ก (ดูรายงานข่าวชื่อ Starving Greeks queue for food in their thousands as debt3wracked country finally forms a coalition government?but how long will it last? ใน dailymail.co.th 190612)
และยังว่าหน่วยงานของรัฐบางแห่งเช่นเรือนจำ รัฐบาลตัดเงินงบประมาณ ทำให้เรือนจำหลายแห่งใช้เงินอย่างจำกัดจำเขี่ยมาหลายเดือน จนทำให้นักโทษหลายร้อยคนอดอยากหิวโหย และยังชีพอยู่ได้ด้วยองค์การสาธารณะกุศลในท้องถิ่น
มีภาพยนตร์ชื่อ Soylent Green (1973) แสดงเรื่องการอดอยากในสังคมอนาคต ที่แย่งอาหารกันถึงเหยียบย่ำกันตาย มีคนเปรียบเทียบว่ากรีกก็จะเป็นเช่นนั้น เรียกว่า Soylent Greek
อย่างไรก็ตาม กรีซเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ มีอาหารอร่อยประเทศหนึ่งในยุโรป สถานการณ์คงไม่เลวร้ายถึงปานนั้น
2. การขาดแคลนยารักษาโรค ซึ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ในกรีซ นิตยสารบลูมเบิร์กรายงานว่า มีนา มาฟโร ที่เป็นเจ้าของร้านขายของเล็กๆ ในเขตชานเมืองเอเธนส์ของชนชั้นกลาง ต้องเที่ยวตระเวนไปตามบริษัทผลิตยาเพื่อหายามาให้ลูกค้า โดยเฉพาะยาประเภททำให้เลือดบางและยาแก้แพ้
มีนา กล่าวว่า สถานการณ์เลวร้ายขึ้นทุกวัน ร้านขายยาราว 12,000 แห่งทั่วประเทศกรีซ ต้องเผชิญกับการขาดแคลนยาถึงเกือบครึ่งหนึ่งของยา 500 ตำรับที่ใช้มากที่สุดในกรีซ กระทั่งยาแอสไพรินแก้ปวดลดไข้ก็ยังขาดแคลน
ดังนั้น จึงไม่ต้องกล่าวถึงยาแก้หอบหืด ยาละลายลิ่มเลือด และอินซูลิน เป็นต้น
ทำให้ยามีราคาแพงขึ้นมาก บริษัทประกันสุขภาพก็ไม่ยอมจ่ายเงินค่ายาเพิ่ม โดยให้บริษัทยาและโรงพยาบาลทดรองจ่ายไปก่อน ในเดือนเมษายน 2012 เดือนเดียวบริษัทประกันสาธารณะได้เป็นหนี้บริษัทยาถึง 422 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกว่าจะได้รับเงินคืนก็กินเวลาถึง 1 ปี
ร้านขายยาบางแห่งไม่ยอมรับกรมธรรม์สุขภาพ และบีบให้ลูกค้าต้องจ่ายเงินสด มาตรการมัธยัสถ์ของรัฐบาลที่พยายามตรึงราคายาให้ต่ำ ยิ่งกลับส่งผลเสีย เนื่องจากผู้ค้ายาส่งยาไปขายนอกประเทศกรีซซึ่งจะได้ราคาดีกว่า เช่น บริษัทยาโนโว นอร์ดิสก์ของเดนมาร์กหยุดการส่งยาอินซูลินที่มีราคาสูงมาที่กรีซในปี 2010 เมื่อรัฐบาลกรีซบังคับให้ลดราคายาลงร้อยละ 25 ระบบยาในกรีซปัจจุบันกล่าวได้ว่าอยู่ในภาวะยุ่งเหยิงมาก (ดูบทความของ Naomi Kresge ชื่อ Greek Crisis Has Pharmacists Pleading For Aspirin As Drug Supply Dries Up ใน Bloomberg.com 110612)
ในประเทศไทยเองแม้ไม่ได้ประสบวิกฤติเศรษฐกิจหนักเท่ากรีซ ก็ยังปรากฏว่ามียาหลายขนานขาดตลาดไป แต่ก็ยังมีขนานอื่นใช้ทดแทนกันไปได้
3. ระบบข่ายไฟฟ้า (Power Grid) กรีซเสี่ยงต่อการล่มสลาย กรีซเป็นประเทศที่มีทรัพยากรพลังงานน้อย ต้องนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเกือบทั้งหมดเข้ามา โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า วิกฤติเศรษฐกิจทำให้เงินขาดมือในการซื้อก๊าซจากบริษัทแก๊สของรัสเซีย ตุรกี และอิตาลี จนต้องมีการประชุมฉุกเฉินในกลางเดือนมิถุนายนเพื่อหาเงินก้อนราว 300 ล้านยูโร เพื่อจ่ายเงินค่าก๊าซ นอกจากนี้ ยังขาดเงินในการซ่อมบำรุงสถานีไฟฟ้าอีกด้วย
บรรษัทไฟฟ้าสาธารณะ เป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในกรีซเป็นรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลถือหุ้นร้อยละ 51 แต่มีหนี้สินมาก และขาดเงินสด เนื่องจากรายได้ลดลง ผู้ใช้ไฟผัดผ่อนชำระเงิน และไม่มีสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อรายใหม่ให้
สำนักจัดระดับความน่าเชื่อถือ เอสแอนด์พี ได้ลดระดับความน่าเชื่อถือถึงขั้นต่ำสุด ถ้าต่ำกว่านี้หมายถึงว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
บรรษัทไฟฟ้าดังกล่าวต้องหาเงินมา 525 ล้านยูโรภายในปลายเดือนมิถุนายนเพื่อรีไฟแนนซ์หนี้ เนื่องจากความสำคัญของข่ายไฟฟ้า ในที่สุดก็ต้องหาเงินมาจนได้ แต่อันตรายที่ระบบไฟฟ้าในกรีซจะดับแบบจำกัดวงเป็นระยะ ยังคงดำรงอยู่ (ดูบทความชื่อ Greece moves from bailout to blackout ใน gulfnews.com 120612)
4. การขาดแคลนน้ำสะอาดและน้ำจืด บริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นภูมิภาคที่ถูกคุกคามด้วยการขาดแคลนน้ำจืด กรีซที่มีภูมิประเทศเป็นเกาะจำนวนมาก มีน้ำใต้ดินน้อย ที่มีก็เป็นน้ำเค็มเสียไม่น้อย การขาดน้ำบริโภคนี้ยังลามไปถึงประเทศสเปน เช่น เมืองบาร์เซโลนาซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ต้องสั่งน้ำจืดเข้าในกลางเดือนพฤษภาคม 2008 เพื่อสนองความต้องการแก่นักท่องเที่ยวจำนวนมาก เนื่องจากประเทศประสบภัยแล้งหนัก น้ำสะอาดงวดแรกจำนวน 23 ล้านลิตร สำหรับคน 180,000 บริโภคใน 1 วัน และยังต้องนำเข้าต่อไปอีก
กรีซเป็นประเทศท่องเที่ยว ต้องการน้ำสะอาดจำนวนมาก วิกฤติเศรษฐกิจทำให้การผลิตและการส่งน้ำประปามีราคาแพงขึ้นตามค่าไฟฟ้าและการขนส่ง คาดว่ากรีซอาจต้องนำเข้าน้ำสะอาดจากตุรกี
5. ในช่วงวิกฤติทางเศรษฐกิจ บัตรเครดิตและบัตรเดบิตอาจใช้งานไม่ได้ สิ่งนี้ยังไม่เกิดขึ้นในกรีซ บัตรทั้ง 2 เหมือนบัตรวิเศษที่ใช้ทำอะไรได้แทบทุกอย่าง ตั้งแต่การถอนเงินไปจนถึงการจับจ่ายใช้สอย นิยมเรียกว่า "เงิน/ธนบัตรพลาสติก" ซึ่งใช้กันแพร่หลายมากขึ้นทุกที จนเกิดการคาดหมายว่า จะเข้ามาแทนที่ธนบัตรกระดาษ แต่วิกฤติครั้งนี้ได้ชี้ว่ามันอาจไม่เป็นเช่นนั้น เงินพลาสติกทำท่าว่าจะสู้เงินกระดาษไม่ได้ และเงินกระดาษก็ทำท่าว่าจะสู้เงินที่จับต้องได้ไม่ได้
ในเดือนมิถุนายนมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ทางการเงินระดับสูงของสหภาพยุโรปได้เปิดเผยว่า มีการประชุมหารือในกรณีที่กรีซต้องออกจากเขตยูโรหรือยูโรโซนว่า อาจจำต้องจำกัดการถอนเงินจากตู้เอทีเอ็ม มาตรการการควบคุมทางการเงินอื่น รวมทั้งการตั้งด่านตรวจทั่วสหภาพยุโรป (ดูรายงานข่าวชื่อ EU admits discussing plans to limit withdrawals from cash machines and impose border checks if Greece quits euro ใน dailymail.co.uk 120612)
การที่กรีซจะออกจากเขตยูโรถือเป็นสถานการณ์เลวร้ายที่สุด แต่มันก็เป็นไปได้สูง
6.เกิดอาชญากรรม การจลาจลและการปล้นชิงสินค้ากันอย่างกว้างขวาง นี้เกิดขึ้นแล้วในที่ต่างๆ รวมทั้งที่กรีซ ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น องค์การธุรกิจเอกชนดูจะเตรียมพร้อมรับมืออย่างเต็มที่ ตัวอย่างเช่น บริษัทดิกสันผู้ค้าปลีกเครื่องอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของกรีซ มีร้านค้าสาขาเกือบ 100 แห่งได้จัดหาบานเหล็กเพื่อป้องกันร้านของตนในยามเกิดการจลาจล และสามารถที่จะปิดร้านได้อย่างรวดเร็ว
ปฏิบัติการเช่นนี้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทในยุโรปก็เห็นด้วย การตระเตรียมนี้รวมทั้งการส่งออกเงินสดออกจากกรีซทุกวัน ตัดหนี้เสีย ขจัดลูกค้าที่เครดิตเสีย และพร้อมที่จะกลับไปใช้เงินแดรกมา (Drachma) ของกรีซ ตลอดจนการเตรียมรับมือกับความปั่นป่วนทางการขนส่งด้วย (ดูบทความของ David Jones ชื่อ Insight : European firms plan for Greek unrest and euro exit ใน reuters.com 280512)
7. ในช่วงล่มสลายทางการเงิน ผู้คนจะหันไปใช้การแลกเปลี่ยนสินค้าโดยตรง นี้เคยเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในช่วงการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ซึ่งแม้แต่บริษัทอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนเงินสดก็ยังใช้ระบบบาร์เตอร์
8. อัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้น มีตัวอย่างอันน่าเศร้าสลดนี้ปรากฏเป็นข่าวจำนวนมาก บางคนเผาตัวเองตายเป็นการประท้วง นอกจากนี้ ยังมีการขยายตัวของโรคจิตประสาท อาการซึมเศร้า ติดสุรา กลายเป็นปัญหาใหญ่ทางการแพทย์และสาธารณสุขขึ้นมา
9. การเสื่อมค่าของเงินตรา ในช่วงเกิดวิกฤติ เงินยูโรเสื่อมค่าลงไปมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ คาดหมายว่าถ้าหากกรีซออกจากเขตยูโร และพิมพ์ธนบัตรของตนขึ้นมาใช้เอง ค่าเงินนั้นก็จะลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจทั้งภาคการเงินการบริการและภาคอุตสาหกรรมอ่อนแอมาก
10. เมื่อเรื่องเลวร้ายหนักขึ้น รัฐบาลก็ไม่สามารถช่วยอะไรประชาชนได้ ขณะนี้รัฐบาลกรีซอยู่ในภาวะลูกผีลูกคน ไม่มีผู้ใดหวังมากนักว่าจะแก้ปัญหาอะไรได้ ถ้าหากเหตุการณ์เลวร้ายลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดประชาชนก็ต้องช่วยตัวเอง (ดูบทความชื่อ 10 Things That We Can Learn About Shortages And Preparation From The Economic Collapse in Greece ใน theeconomiccollapse.com 030612)
เหตุการณ์ทั้ง 10 ประการนี้ เป็นการบรรยายถึงการล่มสลายทางเศรษฐกิจ-สังคม ซึ่งจะมีแบบรูปคล้ายกันทั่วโลก เนื่องจากมีการเชื่อมโยงเป็นเศรษฐกิจโลกเดียวกัน
แต่การล่มสลายของอารยธรรมไม่ได้หมายถึงจุดจบของโลก
มนุษย์ผู้ต้องการอยู่รอดและปรารถนาสิ่งที่ดีกว่าย่อมหาทางสร้างสังคมใหม่บนซากปรักหักพังของสังคมเก่าต่อไป
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย