.
มัน
โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 11:59:30 น.
ดูเอามัน
ก็ต้องยอมรับ "มัน"
ไม่ผิดหวัง สำหรับ มหายุทธ์ "แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550"
เพราะมากด้วย "ยุทธวิธี" ที่จะเอาชนะคะคานกัน
ทำให้เราได้ดูได้ฟังคลิป ของ ประธานรัฐสภา ที่ว่ากันว่า วัตรปฏิบัติหนึ่งที่จะต้องไม่พลาดเลย นั่นก็คือ หากยังนั่งอยู่ในตำแหน่งนี้ การทำตัวเป็น พระประธานในโบสถ์ ที่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต้อง "นิ่ง-เงียบ-สงบ" โดยเคร่งครัด
หากวันใด พระประธาน เกิดอัดอั้น อยากจะพูด อยากจะแสดงออก แบบคุมตัวเองไม่อยู่
ก็ทำให้เราได้เห็น "คลิป" ของท่านประธาน สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ว่อนไปทั้งประเทศ อย่างนี้แหละ
โทษใครก็ไม่ได้นอกจากตัวเอง
เสียหายหลายแสน
เสียหายพอๆ กับคลิปของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง นายจรัญ ภักดีธนากุล ทั้ง นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ที่อีกฝ่ายงัดออกมาสู้
ทางฟากนี้นั้น การนั่งบนบัลลังก์ในฐานะ "ผู้ชี้ขาด" ต้องหนักต้องแน่น และมี "หลัก" หลักเดียว
เมื่อวานเป็นอย่างไร วันนี้ก็ต้องเป็นอย่างนั้น
แต่การที่ ทำให้คนเกิดความรู้สึก มีหลายๆ หลัก ความน่าเชื่อถือก็ลดฮวบฮาบ และระส่ำระสายถึงขนาดต้องถอนตัวออกจากการพิจารณา ทั้งถอนได้และถอนไม่ได้
ปั่นป่วนอย่างที่เห็น
อีก "มัน" หนึ่ง ก็เป็นความมัน จากการได้ฟังพยานสำคัญๆ
หลายคน เช่น อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลองสามารถ ทำให้คำว่า "และ" ทำให้คำว่า "หรือ" กลายเป็นคำคำเดียวได้
ก็นับเป็นความมหัศจรรย์ของ "นักวิชาการ" ระดับครีมของประเทศ
ที่เห็นแล้ว หัวเราะไม่ออก ร้องไห้ไม่ได้
เช่นเดียวกับ ที่หัวเราะไม่ออก ร้องไห้ไม่ได้ เมื่อเราได้เห็น กองทัพปลดแอกประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ใส่ชุดทหารป่า โบกธงแดง ปกป้องศาลรัฐธรรมนูญ ปกป้องสถาบัน
ช่างคิดค้นอะไรที่ มหัศจรรย์จริงๆ
สะท้อนว่า งานนี้ต่างฝ่ายต่างแพ้ไม่ได้
มีอะไรก็ต้องงัดมาสู้กันในทุกท่า
"มัน" จริงๆ
แต่เป็น ความ "มัน" ที่แค่สนองอารมณ์หยาบๆ เท่านั้น
หากคิดหรือพิจารณาให้ละเอียดขึ้น "ความมัน" แบบนี้ ไม่น่าพิสมัยเท่าไหร่
เพราะที่ฝ่ายต่างๆ แสดงออกมา ให้เราได้ "มัน" นั้น แท้จริงแล้ว มีค่าใช้จ่ายมหาศาล
เป็นค่าใช้จ่าย จากการ "กัดกินตัวเอง"
ทำให้ความเชื่อมั่น ความเชื่อถือ ความศรัทธา ต่อการใช้ "อำนาจ" ของแต่ละสถาบันข้างต้น ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายนักวิชาการ ฝ่ายมวลชน สั่นคลอนอย่างมาก
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้ "การใช้อำนาจ" เพื่อที่จะบริหารงานบ้านเมือง และเพื่อที่จะตัดสิน หรือบังคับให้คนอื่นเดินตามครรลองที่ถูกต้อง กลายเป็นเรื่องที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์
รัฐบาล-สภา แม้จะมีพรรคเสียงข้างมากเป็น ผู้กุม "อำนาจรัฐ" แต่ก็ไม่อาจใช้อำนาจนั้นได้อย่างเต็มไม้เต็มมือ กลายเป็นรัฐบาลเป็ดง่อย
ขณะที่ ในฝ่ายตุลาการ ซึ่งรวมถึงองค์กรอิสระทั้งหลาย ก็ถูกตั้งคำถามเรื่องการใช้อำนาจ ว่าเป็นไปอย่างเที่ยงตรงหรือไม่
เหล่านี้จึงทำให้เกิดภาวะสับสน อลเวงกันไปทั่ว
นี่ยังไม่รู้ว่า ผลการตัดสินเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 13 กรกฎาคม จะออกมาอย่างไร
แต่ไม่ว่าจะออกมาอย่างไร ก็เชื่อว่า "วุ่น" แน่นอน
อย่างที่บอก ถ้าหวังจะเอาความมัน ก็ได้มันแน่ๆ
เพียงแต่เตือนใจไว้หน่อยว่า ที่ 'มันๆ' นั้นคือ "การกัดกินตัวเอง"
จนร่างกายจะ "พิการ" ถาวรแล้ว
++
สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร : 2475, 2555
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:04 น.
แม้งานรำลึก 80 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ค่อนข้างคึกคัก
แต่เป็นความคึกคักที่ไม่ได้ทำให้อุ่นใจว่าคนไทยยังคงให้ความสำคัญต่อเจตนารมณ์ของคณะราษฎรสักเท่าไหร่
..เจตนารมณ์ที่พยายามจะตอก 6 เสาหลักประชาธิปไตย คือ "เอกราช/ปลอดภัย/เศรษฐกิจ/เสมอภาค/เสรีภาพ/การศึกษา" ลงกลางแผ่นดิน..
ความคึกคักของ "80 ปี 24 มิถุนายน"
เป็นเพียงการใช้เป็นเวทีสะท้อนความเชื่อของ "ตน-กลุ่ม-สี" ฝ่ายตัวเองเท่านั้น
สะท้อนเพื่อบอกว่า การแตกแยก-แบ่งขั้ว ที่เป็น "วิกฤต" ของประเทศ ยังคงดำเนินต่อไป
แต่ละฝ่ายพยายามอธิบายและเชื่อมโยงจุดยืนของฝ่ายตนเอง เพื่อให้ประสานเข้ากับเหตุการณ์ 24 มิถุนายน
มากกว่าที่จะมุ่งไปสู่จุดหมาย "ประชาธิปไตย" ที่คณะราษฎรต้องการ
ยกตัวอย่างให้ดูสัก 2 เวที
ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเสวนาเรื่อง "วิกฤตและความขัดแย้งทางการเมืองเชิงสถาบัน"
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ระบุว่า "รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ถูกร่างขึ้นมาโดยสวนทางกับการพัฒนาประชาธิปไตย
"มีการสร้างกลไกองค์กรอิสระขึ้นมา และมีอำนาจเปลี่ยนแปลง หรือล้มล้างผลการเลือกตั้ง และฝ่ายบริหารประเทศ
"การรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 ครั้งนี้
ขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายประการ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นกระบวนการถูกต้องตามมาตรา 291 ไม่ขัดต่อมาตรา 68
"การที่ศาลรัฐธรรมนูญกล้ากระทำขัดต่อกฎหมายเอง เชื่อว่าผลการวินิจฉัยน่าจะมีแนวโน้มไปในเชิงการแก้รัฐธรรมนูญอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เปิดช่องทางให้ยื่นถอดถอนคณะรัฐมนตรี และยุบพรรคการเมือง
"อันจะนำไปสู่สุญญากาศทางการเมืองขึ้น"
นายจาตุรนต์ไม่ได้ขยายความต่อว่า แล้วจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้นหลังนั้น
แต่คงเดาไม่ยาก
เชื่อว่าทันทีที่รัฐบาลเพื่อไทยถูกหักโค่นลงด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มวลชนเสื้อแดงและฝ่ายที่ไม่ต้องการเห็นการเมืองนอกระบบ คงไม่นิ่งเฉยอยู่แน่ๆ
ตัดไปที่เวทีเสวนา "80 ปี รัฐธรรมนูญไทยกับก้าวต่อไปของประชาธิปไตย" ซึ่งจัดโดยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ที่ห้องประชุม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในวันเดียวกัน 21 มิถุนายน 2555
นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเชิดชูรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่าเป็นรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียวในประเทศที่มาจากการลงประชามติ
แต่มีความพยายามของ "นักการเมืองพลเรือน" มาแก้ไข ใครเป็นคนสั่ง . . ส.ส. และ ส.ว. รู้ดี
"ถ้าไม่อยากให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ขอเตือนคนที่อยู่ในรัฐสภา รัฐบาล และคนที่อยู่ต่างประเทศ ว่าอย่าเดินเกมทำให้คนในสังคมรู้สึกยอมไม่ได้
"หรือหักกับอำมาตย์ ทหาร เขาก็ยอมไม่ได้
"...อย่าเร่งรีบก้าวข้าม ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ในเดือนสิงหาคม มีโอกาสที่จะเกิดพายุใหญ่หลายลูกหรืออาจเกิดอะไรขึ้นทางการเมือง"
ทั้งนายจาตุรนต์และนายสุรพลพูดถึงเรื่อง "รัฐธรรมนูญ" เดียวกัน
ซึ่งไม่ว่าจะแก้ไขสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ ต่างคาดหมายว่าจะนำไปสู่ "อะไรบางอย่าง"
เป็นอะไรบางอย่างที่ชวนให้หนาวเหน็บ และสยดสยอง
ตอนนี้เราเห็น "เงื่อนไขอำมหิต" โผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ
หลัง พ.ศ.2475 การต่อสู้ของอำนาจใหม่และเก่ายืดเยื้อสิบห้าปี ที่สุดคณะราษฎรถูกโค่นล้มลงในการรัฐประหาร 2490
ยังไม่รู้ว่าปี 2555 จะเกิด "วิกฤต" ร้ายแรงและยืดเยื้อไปกี่ปี
แต่หลายคนได้กลิ่น "คาวเลือด"
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย