.
ฝากคู่มือการทูตฉบับใหม่ให้ "สมเกียรติ-ประสงค์"ไปต้มกิน
โดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 14:50:55 น.
อคติและเหตุผลส่วนตัวกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำลายคู่แข่งทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สะท้อนให้เห็นจากกรณีที่นายสมเกียรติ อ่อนวิมลและนายประสงค์ สุ่นสิริ ได้ออกมาโจมตีรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้ตอบรับคำเชิญของนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เพื่อให้เดินทางไปกัมพูชาและเข้าร่วมในการหารือทวิภาคีร่วมกัน
โดยทั้งนายสมเกียรติและนายประสงค์มองว่า เป็นพฤติกรรมที่ผิดมารยาททางการทูต ให้อภัยไม่ได้ และทำให้ประเทศไทยต้องเสียภาพลักษณ์ในสายตาระหว่างประเทศไม่น่าเชื่อว่า คำกล่าวหาเหล่านี้จะออกมาจากปากของบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ (มายาวนาน – นานเกินไปด้วยซ้ำ) และจากปากของคนที่อ้างว่าเป็นอาจารย์ทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ผมไม่ขอวิจารณ์ในรายละเอียดสิ่งที่ทั้งสองท่านได้ออกมาโจมตีคุณยิ่งลักษณ์ แต่ขอให้พื้นที่ตรงนี้ อธิบายหลักปฏิบัติทางการทูตเพื่อสร้างความกระจ่าง ในฐานะที่ผมเองเคยดำรงตำแหน่งข้าราชการการทูต กระทรวงการต่างประเทศมาถึง 16 ปี เพื่อให้นักศึกษาที่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสาธารณชนทั่วไปได้เข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดดีมากขึ้น และมองเหตุการณ์อย่างที่ควรจะเป็น ที่ไม่ถูกบดบังด้วยอคติหรือความเกลียดชังส่วนตัว
หลักพิธีการการทูต หรือ protocol มาจากภาษากรีก มีความหมายว่า “the first glue” น่าจะแปลได้ว่า เป็นกลวิธีที่ใช้ในการเชื่อมความสัมพันธ์กับต่างประเทศให้มีความแนบแน่น หลักปฏิบัติทางการด้านทูตมีความเปลี่ยนแปลงมาตลอด ไม่เคยหยุดนิ่ง เพื่อก้าวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะการปฏิวัติทางด้านการสื่อสาร
ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ในปัจจุบัน การเขียนจดหมายเชิญระหว่างผู้นำสองประเทศอาจจะเป็นเรื่อง “เชย” ไปแล้วด้วยซ้ำ ผู้นำระหว่างประเทศสื่อสารโดยตรงเพียงแค่ยกหูโทรศัพท์ถึงกัน ก้าวข้ามผ่านกฏระเบียบที่จุกจิกและกินเวลา สมัยก่อน การทรวงต่างประเทศของไทยส่งข้อมูลถึงสถานเอกอัครราชทูตในต่างประเทศผ่านระบบโทรเลข ต่อมาพัฒนาเป็นการส่งด้วยแฟกซ์ และในปัจจุบัน ก็ส่งด้วยไปรษณีย์อิเล็กทรกนิกส์เป็นหลัก ชี้ให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนตัวเองของกระบวนการทางการทูตตลอดเวลากลับมาถึงประเด็นในเรื่องการออกหนังสือเชิญผู้นำต่างประเทศ
จริงอยู่ แม้จะมีกฏเกณฑ์ที่ได้กำหนดถึงระดับและความเหมาะสมของหนังสือเชิญ โดยเฉพาะผู้ส่งสารและผู้รับสารควรจะเป็นบุคคลที่ดำรงอยู่ในตำแหน่งเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน แต่กฏเกณฑ์นี้ไม่มีการกำหนดตายตัว มีการแปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์ของแต่ละประเทศ
ทั้งนายสมเกียรติและนายประสงค์ควรจะเข้าใจว่า สถานะของแต่ละประเทศในประชาคมโลกไม่มีความเท่าเทียมกัน (แม้ระบบขององค์การสหประชาชาติจะถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมของประเทศสมาชิก แต่ในความเป็นจริง ประเทศเล็กๆ ยังขาดอำนาจการต่อรองต่อประเทศมหาอำนาจ)แต่ประเทศเล็กได้รับประโยชน์จากการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศใหญ่
แม้ว่าในบางครั้ง อาจจะต้องยอมเสียภาพลักษณ์และความภาคภูมิใจในชาติไปบ้าง สยามยอมส่งส่วยให้จักรพรรดิจีน เพื่อได้ผลประโยชน์ทางการการค้าตอบแทน ถ้าคิดแบบโบราณ อาจจะดูเป็นการเสียความภาคภูมิใจทางการทูต แต่ความเป็นจริงอยู่ที่ ประเทศเล็กมักมีตัวเลือกทางด้านนโยบายน้อยและจำกัด ทำเท่าที่จะทำได้ การที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เชิญนายกยิ่งลักษณ์นั้น ในมุมมองของการทูตสมัยใหม่ โดยเฉพาะหากมองจากสภาพภูมิรัฐศาสตร์ของโลกในปัจุบันที่มีสหรัฐฯ เป็นประเทศมหาอำนาจ (ที่แท้จริง) ประเทศเดียว (แม้จะมีประเทศมหาอำนาจเกิดใหม่ อย่างจีนและอินเดีย แต่สหรัฐฯ ก็เป็น hegemon ในระบบโลกหลายขั้วในขณะนี้) ถือว่าเป็นเรื่องปกติ
นางฮิลลาลีมีหนังสือขอพบประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ของอัฟกานิสถานหลายครั้ง ครั้งล่าสุด ได้พบปะกันที่กรุงโตเกียวด้วยซ้ำ ตำแหน่งรัฐมนตรีของสหรัฐฯ เป็นตำแหน่งพิเศษ ชื่อภาษาอังกฤษคือ Secretary of State หรือหากแปลตรงตัวคือ “เลขานุการของรัฐ (รัฐบาล)” และเป็นผู้ที่มีบทบาทโดยตรงในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในบริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าประเทศในภูมิภาคนี้จะเกลียดสหรัฐฯ เพียงใด
แต่การได้พบปะกับรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ถือเป็นเรื่องสำคัญของผู้นำประเทศ ประธานาธิบดียูโดโยโนของอินโดนีเซียให้การรับรองนางฮิลลารีหลายครั้ง ไม่เห็นต้องมีข้อจำกัดว่า จะต้องเป็นระดับรัฐมนตรีต่างประเทศด้วยกันเท่านั้นจึงจะเป็นเรื่องที่ถูกตามทำนองคลองธรรมทางการทูตเท่านั้น
ฉะนั้น ข้ออ้างของนายสมเกียรติที่ว่า หากมีการเชิญไปเยือนต่างประเทศเป็นทางการ จะต้องเป็นการเชิญโดยผู้ดำรงตำแหน่งระดับเดียวกัน หรือระดับที่สูงกว่าผู้ที่ถูกเชิญ และต้องเป็นการเชิญไปเยือนประเทศของผู้เชิญ และจะไปพบในประเทศที่สาม (กัมพูชา) ไม่ได้นั้น เพราะเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ “ตลก” (คำของนายสมเกียรติ) ทำให้เสื่อมเสียเกียรติของชาติเสียหายต่อเกียรติภูมิของประเทศ ทำให้ไทยด้อยศักดิ์ศรีตามไปด้วย ประชาชนชาวไทยต้องรู้สึกถึงความเสียเกียรติในการนี้ด้วยเช่นกัน
ผมถือว่าเป็นคำกล่าวอ้างที่เต็มไปด้วยความมีอคติ บิดเบือนจากสภาพความเป็นจริงของโลกการทูตในปัจจุบัน หรือพูดง่ายๆ ครับ คุณสมเกียรติพยายาม “bullshitting”ในปี 2540 ขณะที่นายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ เพิ่งขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้เดินทางไปพักผ่อนในฝรั่งเศส ก็ได้ขอพบนายไลเนล จอสแปง นายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศส แทนที่จะขอพบประธานาธิบดีฌาค ชีรัค (ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่เท่ากัน) เรื่องนี้ทำให้ชาวฝรั่งเศสเสียหน้าหรือไม่?
นี่ยังไม่รวมนับอีกหลายกรณีที่ผู้เชิญมีตำแหน่งที่ต่ำกว่าออกหนังสือเชิญผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า อาทิ การเชิญของผู้ว่ามณฑลกวางโจวต่อนายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงของสิงคโปร์ให้ไปเยือน หรือกรณีที่นายฮิลลารีเชิญนายกรัฐมนตรีแคนาดาในการหารือร่วมที่เม็กซิโก ฯลฯผู้นำมณฑลต่างๆ ของจีนเคยมีหนังสือเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ของไทยไปเยือนจีน อย่างนี้ผิดหลักการทูตหรือไม่?
ยังมีคำถามอื่นๆ อีกมากที่ไม่อาจหาคำตอบได้จากสมุดคู่มือทางการทูตปกติ อาทิ ทำไมผู้นำบางประเทศยินยอมเชิญดาไล ลามะ (ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้นำที่ขาดความชอบธรรมของจีน) ให้ไปเยือนประเทศตน ทั้งๆ ที่ถือว่าอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่มีต่อจีนด้วยซ้ำ ในความสัมพันธ์ที่ไทยมีกับต่างประเทศนั้น อาจกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มาเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยการที่ไทยเป็นพันธมิตรทางการทหารของสหรัฐฯ และไทยก็มีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ ตลอดช่วงสงครามเย็น และการที่นางฮิลลารีเชิญนายกยิ่งลักษณ์ให้ไปหารือร่วมในกัมพูชาสามารถอธิบายได้หลายเหตุผล
เหตุผลพื้นๆ ก็คือ ขณะนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังอยู่ในฤดูการประชุมอาเซียนโดยมีกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ การจัดเวทีการหารือทวิภาคีจึงเป็นการต่อยอดจากการประชุมต่างๆ ที่จะมีขึ้นในกัมพูชาอยู่แล้ว การขอพบนายกยิ่งลักษณ์จึงเป็นเหตุผลทั้งในแง่ของความสัมพันธ์ทวิภาคีและพหุภาคี ในแง่พหุภาคี สหรัฐฯ อาจต้องการช่วยส่งเสริมบทบาทของไทยในอาเซียน สหรัฐฯ อาจมีความสนใจในการแก้ไขปัญหาไทย-กัมพูชา จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะเชิญผู้นำไทยเดินทางไปยังกรุงพนมเปญ
นอกจากนี้ ปีนี้จะเป็นปีสำคัญที่สหรัฐฯ จะให้ร่วมลงนามให้การสนับสนุนการจัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในอาเซียน ซึ่งในความเป็นจริง ความร่วมมือนี้ได้มีการจัดตั้งมานานพอสมควรแต่ยังไม่ได้รับการรับรองจากประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์อย่างสหรัฐฯ และไทยก็เป็นหัวหอกสำคัญในการล็อบบี้ให้สหรัฐฯ ร่วมลงนาม การร่วมหารือกับระหว่างนายกยิ่งลักษณ์และนางฮิลลารีมีประเด็นสำคัญเหล่านี้ ซึ่งเป็นประโยชน์ของไทยโดยตรง ในด้านความสัมพันธ์ทวิภาคี
ผมมีความเชื่อว่า สหรัฐฯ กำลังมีการปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ที่มีต่อไทย
ที่ผ่านมา การมองการเมืองไทยยังเป็นแบบเก่า แบบที่สหรัฐฯ ลงทุนอย่างมากในสถาบันกษัตริย์โดยมองข้ามพัฒนาการทางด้านประชาธิปไตยที่เกิดจากกลุ่มรากหญ้า ชัยชนะของยิ่งลักษณ์มาจากกลุ่มคนเหล่านี้ สหรัฐฯ มีความปรารถนาที่จะเข้าถึงความเป็นจริงทางการเมืองแบบใหม่ของไทย
การพบปะกันครั้งนี้จึงมีประโยชน์โดยรวมในแง่ของพัฒนาการทางการเมืองของไทย แต่ทั้งนี้ รัฐบาลหลายชุดๆ ก่อนหน้านี้ รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศในยุคเก่า มีความดัดจริตสูง มองการต่างประเทศจากมุมมองของการเป็นมหาอำนาจ ทั้งๆ ที่ไทยเองขาดสมรรถภาพในหลายๆ ด้าน ทั้งในด้านความมั่นคงทางการเมืองและความเข้มแข็งทางการทหาร ไทยไม่ใช่จีน ที่สามารถต่อรองกับสหรัฐฯ ได้ เพราะตัวเลือกในการดำเนินนโยบายต่างประเทศเรามีน้อย
ท้ายที่สุด หากทั้งนายสมเกียรติและประสงค์อยากจะหาตัวบุคคลที่ทำลายความงดงามทางการทูตของไทย จนเป็นเหตุที่นำไปสู่สงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน สองท่านนี้น่าจะมีเวลาว่างในการวิจารณ์กรณีที่นายกษิต ภิรมณ์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศที่ออกมาด่าทอผู้นำกัมพูชา เช่น เรียกว่าเป็นคนบ้า เป็นกุ๊ย เป็นเจ้าพ่อของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นชาติ
อย่าเลือกปฏิบัติซิครับ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย