http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-07

วาระอู่ตะเภา: การถอยร่นครั้งที่3! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

วาระอู่ตะเภา : การถอยร่นครั้งที่ 3 !
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1664 หน้า 39 


"ในการรบด้วยวิธีรับ การถอยไปจนถึงปลายทางของการถอยนั้น 
โดยพื้นฐานแล้วจัดอยู่ในขั้นถูกกระทำ คือขั้นตั้งรับ"
ประธานเหมา เจ๋อ ตุง 
ธันวาคม ค.ศ.1936



หลังจากรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ฟื้นตัวจากภาวะน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 แล้ว ก็มีท่าทีว่ารัฐบาลจะมีความเข้มแข็งมากขึ้น อย่างน้อยสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่หรือที่อาจเรียกได้ว่าเป็น "มหาอุทกภัย" ของสังคมไทยนั้น ไม่สามารถที่จะทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องลงจากอำนาจแต่อย่างใด 
ประกอบกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพก็ดูจะเป็นไปอย่างราบรื่นพอสมควร หรืออย่างน้อยก็อยู่ในสภาวะที่ประคับประคองความสัมพันธ์ดังกล่าวให้เดินไปข้างหน้าได้ 
และยิ่งพิจารณาคู่ขนานกับการขยายตัวของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งต้องยอมรับว่ามีฐานะเป็น "ฐานหลัก" ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยแล้ว ก็มองเห็นถึงแนวโน้มที่รัฐบาลน่าจะอยู่ในอำนาจได้นานขึ้น

แต่แนวโน้มเช่นนี้ก็มักมีปัจจัยแทรกซ้อนอยู่เสมอ 

ด้านหนึ่งปัจจัยแทรกซ้อนกลับกลายเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับกลุ่มคนเสื้อแดง ที่แม้จะดู "ม่วนซื่น" จากสงกรานต์สามชาติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่ก็ดูจะมีอาการสะดุดลงในกรณีการ "โฟนอิน" ในวาระครบรอบปีของเหตุการณ์ล้อมปราบที่สี่แยกราชประสงค์และวัดปทุมวนารามในวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา  
ซึ่งการนำเสนอภาพลักษณ์เปรียบเทียบของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถึงการลงจากเรือของคนเสื้อแดงและกำลังจะขึ้นรถต่อไปสู่อนาคตนั้น เป็นเสมือนการส่งสัญญาณถอยห่างออกจากขบวนของคนเสื้อแดง
แต่ก็ดูเหมือนมีความพยายามจะแก้ไขความเข้าใจผิดดังกล่าว เพราะตระหนักว่าเมื่อใดก็ตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือพรรคเพื่อไทยไม่มีฐานที่มั่นจากกลุ่มคนเสื้อแดงแล้ว โอกาสจะถูกทำลายทางการเมืองนั้นมีอยู่อย่างมาก

และความเป็นจริงในทางการเมืองสำหรับ ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยที่อาจจะหงุดหงิดอย่างมากกับการเคลื่อนไหวของขบวนคนเสื้อแดง ก็อาจจะต้องยอมรับว่า ฐานหลักของพรรคอาจจะไม่ใช่ระบบหัวคะแนนในแบบเก่าแล้ว 
แต่ฐานที่เป็นแรงขับเคลื่อนของพรรคจนนำพรรคไปสู่ชัยชนะนั้น ได้แก่ การขยายตัวของกลุ่มคนเสื้อแดงในหลายๆ พื้นที่ของประเทศต่างหาก


ด้วยการมีฐานที่มั่นทางการเมืองที่เข้มแข็งเช่นนี้ ทำให้สถานะของรัฐบาลอยู่รอดโดยไม่ถูกทำลายทางการเมืองลงอย่างง่ายๆ เช่นในอดีต และแม้ขบวนของคนเสื้อแดงจะหงุดหงิดกับรัฐบาลในหลายๆ เรื่อง แต่ในที่สุดแล้ว การมีสถานะเป็นขบวนการเมืองที่ปฏิเสธทิศทางการเมืองของปีกอนุรักษนิยม-จารีตนิยม ทำให้กลุ่มเสื้อแดงยังคงต้องสนับสนุนพรรคเพื่อไทยต่อไป 
อย่างน้อยในระยะสั้น กลุ่มคนเสื้อแดงยังอาจจะต้องอยู่กับพรรคเพื่อไทย และในขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยก็ยังต้องอยู่กับขบวนของคนเสื้อแดงเช่นเดียวกัน


รัฐบาลเพื่อไทยที่ฟื้นตัวได้จากภาวะน้ำท่วมนั้นดูจะใช้ยุทธศาสตร์ของการ "ประคองตัว" เป็นทิศทางหลัก โดยเชื่อว่า หากพวกเขายอมประนีประนอมกับกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยม-จารีตนิยมแล้ว ก็น่าจะทำให้รัฐบาลมีโอกาสอยู่ในเวทีการเมืองได้นานขึ้น

ลักษณะของทิศทางเช่นนี้เป็นนโยบายแบบ "ยอมตาม" ทางการเมือง หรือที่เปรียบเทียบได้กับ "Appeasement Policy" ของรัฐบาลอังกฤษในช่วงสุดท้ายก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้นในยุโรป
รัฐบาลอังกฤษในขณะนั้นเชื่ออย่างมั่นใจว่า การใช้นโยบายแบบยอมตาม หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ หากยอม "ตามใจ" ฮิตเลอร์แล้ว รัฐบาลเยอรมันจะพอใจกับสิ่งที่ได้รับในการผนวกดินแดนของเชคโกสโลวาเกียบางส่วนเข้าเป็นของตน และจะไม่ขยายพื้นที่ด้วยการรุกเข้าไปผนวก "ฉนวนโปแลนด์" หรือขยายสงครามไปสู่การบุกโปแลนด์  
แต่นโยบายแบบยอมตามที่ใช้ยุทธวิธีแบบ "ตามใจ" เพื่อให้ฮิตเลอร์พึงพอใจกับท่าทีของอังกฤษนั้น กลับถูกมองว่าเป็นเพราะรัฐบาลอังกฤษอ่อนแอต่างหาก จึงต้องยอมตามฮิตเลอร์ 
และถ้าอังกฤษในสายตาของเยอรมนีอ่อนแอแล้ว การตัดสินใจเปิดสงครามกับโปแลนด์ก็ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ต้องกังวลแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลอังกฤษก็อาจยอมตามอีกก็ได้ 
กว่ารัฐบาลอังกฤษจะตั้งตัวได้ว่า นโยบายดังกล่าวเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงก็ช้าไปเสียแล้ว เพราะกองทัพนาซีได้รุกเข้าตีโปแลนด์ จนเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรป 
บทเรียนจากการใช้นโยบายยอมตามของรัฐบาลอังกฤษกลายเป็นข้อคิดให้รัฐบาลของหลายๆ ประเทศในยุคหลังสงครามเชื่อว่า เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลใช้นโยบายยอมตามแล้ว ฝ่ายข้าศึกจะตีความว่าเป็นความอ่อนแอและจะรุกด้วยการมีข้อเรียกร้องอื่นตามมา และอาจจะตามมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

หากฝ่ายเรายอมตามหรือ "ตามใจ" ไปเรื่อย ก็จะกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในที่สุด



ถ้าเปรียบเทียบกับการเมืองภายในของไทยปัจจุบัน เราเริ่มเห็นชัดถึงการใช้นโยบายแบบยอมตามเมื่อมีการผลักดันร่างพระราชบัญญัติปรองดองเข้าสู่สภา สุดท้ายรัฐบาลตัดสินใจยุติการผลักดันดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะนำไปสู่การชุมนุมขนาดใหญ่ของฝ่ายต่อต้าน 
หลังการการลดแรงกดดันด้วยการนำเอาร่างดังกล่าวออกไป รัฐบาลได้นำเอาร่างกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีแนวโน้มว่า หากมีการลงเสียงกันจริงๆ ในสภาแล้ว รัฐบาลก็น่าจะชนะญัตติดังกล่าวได้ 
แต่ด้วยความกลัวของกลุ่มอนุรักษนิยม-จารีตนิยมที่มีส่วนอย่างสำคัญต่อการกำเนิดของรัฐธรรมนูญ 2550 (ฉบับปัจจุบัน) ว่า การแก้ไขดังกล่าวจะทำให้พลังของพวกเขาในการควบคุมการเมือง และการมีบทบาทในรัฐสภาจะถูกลดทอนลง 
กลไกที่ถูกผลักออกมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้จึงกลับสู่กลไกเก่า อันได้แก่ กระบวนการ "ตุลาการภิวัตน์" โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ออกคำสั่งท้วงติงว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจมีผลกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศได้

การยอมของฝ่ายรัฐสภา (ประธานสภาผู้แทนราษฎร) และฝ่ายรัฐบาล (นายกรัฐมนตรี) มีผลอย่างมีนัยสำคัญในทางกฎหมาย เพราะเท่ากับเป็นการแสดงออกอย่างมีผลผูกพันในอนาคตว่า สถาบันของฝ่ายนิติบัญญัตินั้นยอมรับอำนาจในการแทรกแซงของฝ่ายตุลาการ
ซึ่งเท่ากับเป็นการทำให้การถ่วงดุลระหว่างสถาบันทั้งสองเกิดความเปลี่ยนแปลง หรือเป็นสถานภาพที่อำนาจของสถาบันหนึ่งคร่อมทับแบบเหนือกว่าอำนาจของอีกสถาบันหนึ่ง


การตัดสินใจแบบยอมตามในครั้งที่ 2 นี้มีเสียงวิจารณ์อย่างมาก เพราะมีความเห็นจากกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนของสายวิชาการมีความเห็นแย้งกับการปฏิบัติของศาลรัฐธรรมนูญอย่างมาก จนหลายฝ่ายเชื่อว่า หากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติตัดสินใจ "แข็งข้อ" กับความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็น่าจะมีเสียงสนับสนุนอยู่พอสมควร 
แต่ในที่สุด ฝ่ายรัฐบาลก็มีท่าทีแบบโอนอ่อนผ่อนตามกับการเรียกร้องของศาลรัฐธรรมนูญ และกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยม

กรณีที่น่าสนใจในปัจจุบันคือ ปัญหาการร้องขอขององค์การบริหารอวกาศและการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือที่คนไทยรู้จัดในชื่อย่อว่า "นาซา" (NASA) โดยนาซาได้ทำคำร้องขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อทำการสำรวจสภาวะอากาศของโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่มีการก่อตัวของพายุมรสุมอยู่ค่อนข้างมาก 
คำขอนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งพรรคฝ่ายค้านมีฐานะเป็นรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา แต่ผลจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ทำให้การเมืองเปลี่ยนขั้วของความเป็นรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นแกนนำมาเป็นพรรคเพื่อไทย คำขอของนาซาจึงเป็นเรื่องที่ตกค้างมาจากรัฐบาลเดิม 
แต่เมื่อรัฐบาลปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะตอบรับคำขอดังกล่าว กลับต้องเผชิญกับการเรียกร้องของพรรคฝ่ายค้านให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 
และในขณะกลุ่มการเมืองในปีกอนุรักษนิยม เช่น บรรดาวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งก็มีทิศทางการเรียกร้องไม่แตกต่างกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกมาแสดงบทบาทของผู้ตรวจการรัฐสภา ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันได้กลายเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งของกลุ่มอนุรักษนิยมในการกดดันรัฐบาล ก็มีข้อเรียกร้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

และน่าสนใจว่า ผู้ตรวจการรัฐสภาบางท่านออกมากล่าวต่อต้านสหรัฐอเมริกา ด้วยทัศนะแบบ "ฝ่ายซ้าย" ในอดีต 
ความน่าสนใจอีกส่วนหนึ่งก็คือ กลุ่มเหล่านี้ในอดีต โดยเฉพาะในส่วนของพรรคฝ่ายค้านล้วนแต่เคยมีความใกล้ชิดกับฝ่ายสหรัฐมาก่อน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันกลับยืนเป็นฝ่ายที่คัดค้านไม่ให้สหรัฐเข้ามาใช้อู่ตะเภาในภารกิจทางวิทยาศาสตร์



หากเราพิจารณาการใช้อู่ตะเภาในบริบทของงานทางวิทยาศาสตร์แล้ว ก็ถือได้ว่าเป็นหัวข้อการวิจัยที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะปัจจุบันนักความมั่นคงในหลายสำนักถือเอาว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศหรือที่เป็นหัวข้อในทางทฤษฎีที่กล่าวถึง "Climate Change and Security" นั้น ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเด็นความมั่นคงที่สำคัญในโลกปัจจุบัน ดังจะเห็นได้ว่า งานวิจัยปัจจุบันมีหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับผลของความเปลี่ยนแปลงของอากาศในหลายๆ เรื่อง 
การสำรวจสภาวะอากาศเช่นนี้น่าจะเป็นองค์ความรู้สำคัญสำหรับประเทศในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รับรู้ถึงการก่อตัวของพายุมรสุมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในพื้นที่แถบนี้ และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงดังจะเห็นได้จากกรณีน้ำท่วมอย่างมากในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่เกิดกับหลายๆ ประเทศ
การสำรวจดังกล่าวจึงไม่เป็นเพียงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ยังจะเป็นประโยชน์กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอีกด้วย เพราะองค์ความรู้ชุดนี้จะมีประโยชน์อย่างยิ่งกับการรับมือของประเทศในภูมิภาคกับปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ ตลอดรวมถึงการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจเกิดจากพายุและน้ำท่วมในรูปแบบต่างๆ

หากรัฐบาลและสังคมไทยยอมรับกับการสร้างองค์ความรู้ในส่วนนี้แล้ว รัฐบาลอาจจะต้องสร้างความชัดเจนในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 
1. การอนุญาตให้นาซาใช้อู่ตะเภาเพื่อภารกิจทางวิทยาศาสตร์นั้นจะไม่ครอบคลุมการอนุญาตให้สหรัฐ ใช้ฐานทัพนี้เพื่อภารกิจทางทหารเป็นอันขาด  
2. การดำเนินการทางวิทยาศาสตร์จะต้องมีนักวิทยาศาสตร์ไทยเข้าร่วมเพื่อการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ มิใช่เป็นการดำเนินการแบบเอกเทศของนาซาเท่านั้น 
3. ในอนาคตควรให้มีนักวิทยาศาสตร์จากอาเซียนเข้าร่วมในโครงการนี้ เพราะเป็นการสำรวจเขตอากาศของอาเซียน ก็น่าที่จะมีนักวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคเข้าร่วมด้วย
4. รัฐบาลต้องกล้าชี้แจงข้อปัญหาต่างๆ ให้ชัดเจน เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจใน 3 ระดับ คือ ระดับของสังคมไทย ระดับของอาเซียน และระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจกับจีนที่อาจมีความคลางแคลงใจในกรณีนี้

หากทำเช่นนี้แล้ว แม้รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจะถูกบังคับใช้มาตรา 190 เช่น ในรัฐบาลสมัคร ก็ถือว่า รัฐบาลพยายามดำรงสถานะในการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารไว้จนถึงที่สุด

แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ยินยอมถอยอีกเป็นวาระ 3 อันอาจกลายเป็นการถอยร่นครั้งใหญ่ของรัฐบาลได้ไม่ยากนัก
แต่ที่สำคัญก็คือ การถอยครั้งนี้อาจเป็นการส่งสัญญาณว่า รัฐบาลกรุงเทพฯ ไม่มีอำนาจในตัวเองแล้ว แม้จะทำความตกลงในเรื่องเล็กๆ ที่เป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ก็ทำไม่ได้

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐบาลกำลังส่งสัญญาณว่า รัฐบาลหมดความเป็นฝ่ายบริหารไปแล้วจากการถูกข่มขู่ หรือเป็นการรัฐประหารด้วยการ "แบล็กเมล์" นั่นเอง!



.