.
หนึ่งร้อยปีโอรสนโรดม
: ฮุน เซน-บทบาทแห่งการสถาปนาอำนาจใหม่ ก่อนการล่มสลายเขมรแดงและฟุนซินเปก
โดย อภิญญา ตะวันออก คอลัมน์ อัญเจียขะแมร์ (กระฮอม)
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1664 หน้า 41
1.
การรื้อฟื้นความเจ็บปวดผ่านจากเหตุการณ์รัฐประหารของ นโรดม รณฤทธิ์ ดังกล่าว มีส่วนทำให้เห็นว่า จุดอ่อนไหวของพรรคฟุนซินเปกที่สำคัญ คือการสืบทอดราชศักดิ์สันดานจากโคตรวงศ์ประเพณี
แต่ไหนแต่ไรมานั้น ฟุนซินเปกคราบใหม่ในพรรคเก่าสังคมราชนิยม ซึ่งล้มเหลวและไม่เคยสังคายนาตัวเอง ไม่ว่าจากครั้งรัฐประหารโดย ลอน นอล หรือการปฏิวัติครั้งใหญ่โดยกลุ่มเขมรแดง
ฟุนซินเปกที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาภายหลัง ค.ศ.1980 โดยเงื่อนไขสงครามการเมือง จึงมิได้มีลักษณะที่จะสังคายนาสถานะของพรรคให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแต่อย่างใด
โดยเฉพาะผู้นำพรรคพระกรุณา นโรดม สีหนุ นั้น แทบไม่เคยเปลี่ยนแนวคิดต่อวิถีการเมืองสมัยใหม่แต่อย่างใด
รณฤทธิ์นั้นก็เคยยอมรับกลายๆ ว่า รัฐธรรมนูญสมัยบิดาของตน ไม่เปิดโอกาสให้พัฒนาประชาธิปไตย แต่สังคมเขมรขณะนั้น จำเป็นต้องเป็นต้องอาศัยการเมืองในลักษณะดังกล่าวๆ คือ มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่ควบคุมอำนาจเบ็ดเสร็จในรัฐสภา
อีกทั้งอาจกล่าวได้ว่า การเกิดขึ้นรัฐประหารของ ลอน นอล นั้น แทบจะทำไม่ได้เลย หากสีหนุไม่เล่นการเมืองแบบเจ้านาย คือเมื่อคิดจะทิ้งบ้านเมืองไปพักร้อนคราวละ 2-3 เดือน และปล่อยให้ผู้ใกล้ชิดขึ้นมากุมอำนาจบ่อยครั้งคราวละนานๆ ท่ามกลางสงครามอันไม่ปกติของประเทศบ้านเพื่อนบ้าน การเกิดรัฐประหารในสมัยสีหนุจึงเป็นไปเพราะการ "คลาย" อำนาจของสีหนุเอง
จึงไม่ผิดนัก เมื่อเกิดรัฐประหาร 1997 รณฤทธิ์ซึ่งไม่เคยได้รับคำแนะนำและคำปลอบใจจากบิดาแต่อย่างใด
เนื่องจาก ที่ผ่านมานั้น แม้จะเป็นโอรสองค์เดียวในบรรดา 14 องค์ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกก็ตาม แต่รณฤทธิ์ก็ยอมรับว่า เขาไม่เคยได้รับการยกย่องหรือแม้แต่ของขวัญชมเชยจากบิดาเลยสักครั้ง แม้กระทั่งรถยนต์ส่วนตัวสักคันที่ปรารถนา พระองค์ก็ไม่เคยได้มาเช่นลูกๆ คนอื่น
ขณะที่คำชมเชยกลับมีให้อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นคู่กรณีของรณฤทธิ์เอง
"เขาไม่ได้เรียนหนังสือมาน้อย แต่กลับมีความเฉลียวฉลาดอย่างน่าประทับใจ" นั่นคือคำกล่าวอย่างบ่อยครั้งของสีหนุที่มีต่อ ฮุน เซน ถึงความเป็นคนฉลาดเฉลียวมากอย่างที่ไม่อาจจะพบได้ทั่วไปในกัมพูชา
คำวิจารณ์ถึงบุคลิกอันแตกฉาน และชุ่มโชกไปด้วยประสบการณ์ทางการเมืองที่ร่ำเรียนมาจากระบอบสังคมนิยมฮานอย นับเป็นความเชี่ยวกราก "อย่างที่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นในตัวผู้ใดมาก่อน นอกจากข้าพเจ้าเอง"
รณฤทธิ์ซึ่งจมกับความเจ็บปวดซ้ำซากจากอดีต ความเป็นลูกที่พ่อไม่รัก มารดาที่ทิ้งไปมีครอบครัวใหม่ และเสียชีวิตไปตั้งแต่เขายังหนุ่ม ทั้งหมดเป็นเสมือนม่านหมอกที่บดบังสัญญาณร้ายที่ผ่านจากคำกล่าวเตือนของสีหนุ กรณีที่พระองค์ทรงระบุ ความสามารถอันเอกอุยิ่งของรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศที่ชื่อ ฮุน เซน ขณะนั้น ตั้งแต่ที่อนุสัญญาปรองดองในข้อตกลงปารีส ที่ทรงเป็นเพียงหนึ่งในภาคี กระทั่งเปลี่ยนสถานะเป็นพระมหากษัตริย์
กล่าวกันว่า นี่เป็นความเห็นทางการเมืองอันแหลมคมครั้งหนึ่งของ พระบาทนโรดม สีหนุวรมัน ที่มีต่อ สมเด็จเดโชฮุน เซน
โดยที่ผ่านมานั้น เสด็จสีหนุซึ่งภาคหนึ่งใช้เวลาไปกับภารกิจกึ่งเพ้อฝันด้านศิลปะ ดนตรีและภาพยนตร์
ในบางครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเห็นทางการเมืองในพระองค์จึงเจือรสไปด้วยอารมณ์ดราม่า ดังจะเห็นได้จากข้อเขียน บทความ หรือจดหมายส่วนพระองค์อย่างสม่ำเสมอ
ทว่าเมื่อผ่านพ้นยุค ลอน นอล-กลุ่มเขมรแดงมาเป็นนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ดูเหมือนพระองค์จะเปลี่ยนท่าทีลงไปมาก
ขณะเกิดเหตุการณ์กรกฎาคม 1997 นั้น แม้จะประทับอยู่ถึงกรุงกรุงปักกิ่งก็ตาม แต่เสด็จสีหนุวรมัน ซึ่งเพิ่งครองราชย์ได้เพียง 3 ปี กลับอยู่ในภาวะวางเฉยอย่างเคร่งครัด ดังจะเห็นได้จาก แม้กระทั่งความเห็นอกเห็นใจเบื้องต้นที่น่าจะทำได้แก่โอรสของพระองค์ ก็ยังไม่มี
หากด้านหนึ่งนั้น ก็ชี้ให้ชัดเช่นกันว่า นี่คือ การยึดอำนาจที่ผ่านการวางแผนมาอย่างแยบยล และเป็นพิสูจน์ให้หลายฝ่ายเห็นว่า การยึดอำนาจของฮุน เซ็นในปี ค.ศ.1997 นี้ คือระเบียบวิธีแห่งชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จต่อกลุ่มการเมืองขั้วตรงข้าม
และแม้แต่ ต่อระบอบสถาบันพระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชาใหม่ ที่เต็มไปด้วยลักษณะอันพิเศษ
2.
จะโดยที่รณฤทธิ์ได้กลายเป็นนักการเมืองไปแล้วก็ว่าได้ ที่ทำให้เขากล้าจะวิพากษ์วิจารณ์ความเป็น "นโรดม" อย่างทีเล่นทีจริงราวกับไม่ตั้งใจ
กรมพระรณฤทธิ์นั้นเคยล้อพระบาทนโรดมที่ 1 ผู้เป็นอัยกาทวดว่า "มีวันหยุดพักเพียงหนึ่งวันในรอบปี" คำล่วงเกินนี้หมายถึงการที่พระมหากษัตริย์เขมรพระองค์นี้มีพระสนมหม่อมห้ามจำนวน 365 คนที่หย่อนปีไป 1 วัน เพื่อจะเหน็บแนมตัวเองที่ถูกบิดากล่าวหาว่าเป็น "เพลย์บอย" ขณะที่สีหนุเองนั้นทรงมีชายา 6 คน โดยที่ "ทรงเป็นพ่อของคนทั้งประเทศ แต่ไม่เคยแป็นพ่อจริงๆ ของลูก"
ดูเหมือนรณฤทธิ์นั้นจะติดกับดักของความเจ็บปวดอย่างไม่เลิกรา แม้กระทั่งช่วงที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจให้กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งก็ตาม
แต่สัมพันธภาพดังกล่าวก็ยังตกอยู่ในเงาสลัวของความเป็นนายกับบ่าว ดังเช่นที่เคยถูก ฮุน เซน ตราหน้าเมื่อขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วว่า เป็นแค่คนถือหนังสือให้สีหนุเซ็น ขณะที่ตนเองนั้นเป็นตัวแทนของภาคีรัฐบาลพนมเปญ
คำสบประมาทครั้งแล้วครั้งเล่าที่มีต่อฐานะอันต่ำกว่าบิดาทางการเมืองของรณฤทธิ์ดูจะไม่เคยถูก สมาชิก "นโรดม" กันเองหยิบยกขึ้นมาปกป้องหรือให้การคุ้มครองเขาเลยแต่อย่างใด
พระกรุณาสีหนุแม้ขณะนั้นจะยกตำแหน่งหัวหน้าพรรคฟุนซินเปกแล้วก็ตาม ก็ยังทรง "รู้สึกสำราญ" ต่อคำยกย่องที่ได้มาลอยๆ จากฝ่ายตรงข้ามต่อคำทับถมโอรสในพระองค์
นี้เป็นอีกข้อหนึ่งที่รณฤทธิ์ตัดพ้อและข้องใจ ดังจะเห็นได้จากคำให้สัมภาษณ์หลังรัฐประหารไม่นาน
"อันที่จริง ฉันเองก็ไม่มีทั้งพ่อและแม่ ความรู้สึกที่มีให้กับพ่อและแม่ของฉัน แต่มันคือความรักต่อประเทศชาติบ้านเมือง"
เมื่อเดินหน้าวิจารณ์พระมหากษัตริย์ในฐานะของบิดาที่ไร้จิตวิญญาณเยี่ยงนั้น รณฤทธิ์ก็เปิดเผยความลับในจดหมายฉบับหนึ่งหลังเหตุรัฐประหารที่เขามีไปถึงพระองค์ที่ปักกิ่ง ทว่าเขาไม่เคยได้รับการตอบกลับ และทราบต่อมา หนังสือกราบบังคมในนามคณะผู้แทนฝ่ายรณฤทธิ์ฉบับนั้น ไม่เคยไปถึงกษัตริย์สีหนุแต่อย่างใด
ในทางตรงกันข้าม ไม่นานจากนั้นกลับมีจดหมายทูลขอความเห็นในนามคณะผู้แทนฝ่าย ฮุน เซน ที่กราบขอพระปรมาภิไธย
จึงเห็นแล้วว่า ขณะนั้น ไม่เพียงแต่ยึดอำนาจจากรัฐบาลร่วมเท่านั้น แต่ระบอบ ฮุน เซน ยังแทรกซึมเข้าไปถึงชั้นในราชสำนัก โดยเฉพาะกลุ่มหลักๆ ในคณะองคมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งผ่านโดยตัวแทนรัฐบาล โดยเฉพาะมาดามเก็ก สีโสดา หรือมาดามนานู ผู้มีความใกล้ชิดกับ สมเด็จฮุน เซน
3.
อย่างน่าประหลาด ที่ความระคนหม่นหมองในหมู่สมาชิกราชนิกุล "นโรดม" จะเกิดขึ้นและถ่ายผ่านถึง 3 ช่วงเวลาอายุคน โดยมีความยุ่งเหยิงทางการเมืองที่เรียกว่า "รัฐประหาร" เป็นตัวกำหนด
เมื่อเหตุการณ์ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา บรรดาวงศานโรดมคนสำคัญ ต่างต้องประสบเคราะห์กรรมจากเหตุทางการเมืองทั้งสิ้น
เริ่มจากพระมหากษัตริย์นโรดมที่ 1 พระอัยกาทวดนโรดม รณฤทธิ์ องค์เจ้าดวงจักรและองค์เจ้ายุคนธรปิตุลาในพระกรุณาสีหนุผู้เป็นบิดา และ กรมพระนโรดม รณฤทธิ์
ผู้ซึ่งกล่าวว่า ทราบมาตั้งแต่อายุ 14 ปีว่า ไม่มีโอกาสจะขึ้นเป็นองค์รัชทายาท มีสิ่งที่บ่งบอกให้เห็นว่า รณฤทธิ์ก็ไม่ต่างจากโอรสนโรดมองค์อื่น นั่นคือ ความปรารถนาจะเป็นองค์รัชทายาท
เป็นความปรารถนาดุจเดียวที่เกิดขึ้นในอดีตกับดวงจักรและยุคนธร โอรสองค์โตลำดับที่ 1-2 ผู้ตกอยู่ในห้วงชะตากรรมแห่งรัฐประหารเงียบโดยรัฐมนตรีที่นายข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสให้การหนุนหลัง
ดวงจักรนั้นดูจะโลดโผนและสร้างวีรกรรมจนต้องไปเสียชีวิตในเรือนจำที่ประเทศอัลจีเรีย ต่อมาในปี ค.ศ.1897 หนึ่งร้อยปีก่อนรัฐประหารยุค รณฤทธิ์ ยุคนธร ซึ่งขึ้นมามีบทบาทในฐานะโอรสองค์โตเริ่มถูกกดดันให้เป็นตัวแทนบิดาในการต่อสู้กับกลุ่มตัวแทนฝรั่งเศส
ความปรารถนาที่จะได้เป็นองค์รัชทายาททำให้ยุคนธรเดินทางไปปารีสในปี ค.ศ.1900 เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่กษัตริย์นโรดม ทว่า เขากลับต้องโทษในข้อหากบฏ จนต้องหนีมาพึ่งสิงคโปร์และมาเลเซียและถูกคุกคามจากกงสุลใหญ่ฝรั่งเศสที่ทั้งสองประเทศให้ความเกรงใจจนยุคนธรต้องหลบหนีไปศรีลังกาและไทย
ตลอดเวลายุคนธรต้องเผชิญกับความยากลำบากนั้น ดูเหมือนพระบิดาของพระองค์จะทรงวางเฉยที่จะยื่นมือให้ความช่วยเหลือในชะตากรรมของโอรสจนหมดรัชกาล และในที่สุดฝรั่งเศสก็แต่งตั้งพระน้องยาเธอในราชนิกุลสีโสวัตให้ขึ้นครองราชย์
รณฤทธิ์นั้น ประสบต่อการยึดอำนาจอย่างยิ่งยวดเพียงครั้งเดียว ก็ดับความฝันทั้งหมดที่ทรงปรารถนา แม้กระทั่งการขายที่ทำการพรรคที่ทรงถูกครหา
ไม่มีใครหรอกที่รู้ว่า ชีวิตที่ถูกตอกตรึงด้วย ราชพลีในนามของโอรสนโรดมนั้น ช่างเจ็บปวดเยี่ยงใด ไม่ว่าจะเป็นดวงจักร ยุคนธร จักรพงษ์ สิริวุธ รณฤทธิ์ หรือแม้แต่องค์นโรดม สีหนุ
ผู้ซึ่ง ภายหลังปี 1997 ประสบกับ "รัฐประหารเงียบ" ไม่ต่างจากกษัตริย์นโรดมที่ 1 ผู้เป็นอัยกาเมื่อศตวรรษก่อน
และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ไม่กี่ปีต่อมา ทรงสละราชสมบัติและเสนอให้องค์คณะมนตรี พิจารณาแต่งตั้งโอรสในพระชายาโมนีนาฏ พระบาทนโรดม สีหมุนี ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย