.
การเมืองในเสื้อแดง โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 09 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 11:12: น.
( ที่มา คอลัมน์ กระแสทัศน์ ใน นสพ.มติชน รายวัน 9 กรกฎาคม 2555 )
..ปัจจัยเดียวที่จะรักษาขบวนการเสื้อแดงไว้ได้ คือปัจจัยภายนอก เช่นหากเกิดรัฐประหารขึ้น, ยุบพรรคเพื่อไทย, หรืองดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา, หรือตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ฯลฯ..
..................................
การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเป็นการเคลื่อนไหวมวลชนที่ใหญ่สุด เท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ไทย ครอบคลุมผู้คนกว้างขวาง ทั้งในเขตเมืองและชนบท ด้วยจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่แตกต่างกัน อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ความหลากหลายของจุดมุ่งหมายทางการเมือง เป็นทั้งพลังและเป็นทั้งความอ่อนแอ ในส่วนที่เป็นพลังอาจเห็นได้จาก เมื่อกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า "แกนนำ" ถูกจับกุมคุมขัง มวลชนถูกล้อมปราบอย่างป่าเถื่อน แต่ชั่วเพียงไม่นานก็เกิด "แกนนอน" และการรวมตัวเคลื่อนไหวอย่างคึกคักและต่อเนื่องยิ่งกว่าเดิม ขบวนการฟื้นกลับมาใหม่ในเวลาไม่นาน
อันที่จริง การถูกล้อมปราบในเมษายน-พฤษภาคม 2553 กลับเป็นโอกาสให้ขบวนการเสื้อแดงได้เรียนรู้การเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อีกหลายรูปแบบ จนในที่สุดแม้ขาดการจัดองค์กรที่มีประสิทธิภาพ ก็สามารถเลือกพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาลได้ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น
ขบวนการเสื้อแดงเพิ่งเกิดขึ้นหลังรัฐประหารเกือบ 2 ปี ในระหว่างที่ พธม.ยึดทำเนียบรัฐบาลอยู่นั้น ในวันที่ 2 กันยายน 2551 ฝ่ายต่อต้านการรัฐประหาร กลุ่มที่มีคุณเนวิน ชิดชอบ เป็นผู้นำ ได้วางแผนยกกำลังไปล้อมทำเนียบ เพื่อตัดการส่งเสบียงอาหารให้ฝ่ายเสื้อเหลือง แต่แผนการนี้ไม่ได้แจ้งให้ผู้นำกลุ่มต่อต้านรัฐประหารอื่นๆ ทราบ ผลจึงเป็นความล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะเกิดการปะทะกันระหว่างคนสองกลุ่ม จนเป็นผลให้ผู้ประท้วงของ นปช.เสียชีวิตไปหนึ่งคน เกิดความตึงเครียดภายในของกลุ่ม นปช.
จากความล้มเหลวครั้งนี้ ในที่สุดก็ปรับเปลี่ยนยุทธวิธี คือหันมาสู่การชุมนุมด้วยมวลชนจำนวนมหาศาล ซึ่งสวมเสื้อแดงพร้อมกัน และชุมนุมตามโรงคอนเสิร์ตใหญ่ๆ หรือสนามกีฬา นับจากนั้นจึงเกิดอัตลักษณ์ขบวนการคนเสื้อแดงอันเป็นที่รู้จักของทุกฝ่ายขึ้น
นับจากเมื่อเกิดขบวนการเสื้อแดงในปลายปี 2551 การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงครั้งใหญ่คือ การขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ที่มาจากค่ายทหารในสงกรานต์เลือด 2552 (เพิ่ง 8 เดือนหลังรวมตัวเป็นเสื้อแดง) และการประท้วงใหญ่ที่สะพานผ่านฟ้าฯ-ราชประสงค์ใน 2553 (20 เดือนหลังรวมตัว) แม้ว่าประสบความล้มเหลวจนบาดเจ็บล้มตายกันมากทั้งสองครั้ง แต่ก็แสดงให้เห็นการขยายตัวอย่างรวดเร็วของขบวนการไปทั่วประเทศ ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นความอ่อนประสบการณ์ในการดำเนินการทางการเมืองไปพร้อมกัน เพราะประสบการณ์ทางการเมืองของคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ คือการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (ซึ่งการตัดสินใจของเขาก็มักถูกผู้มีอำนาจล้มล้างไปเสมอ) และการประท้วงบนท้องถนน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นความอ่อนแอ (หรือในแง่ตรงข้ามจะถือว่าเป็นพลังก็ได้) ที่สุดของคนเสื้อแดง คือการจัดองค์กร
ดังที่กล่าวแล้วว่า ขบวนการคนเสื้อแดงประกอบด้วยคนหลากหลายมาก ล้วนมีจุดประสงค์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน เพราะกำเนิดของขบวนการมาจากการรวมกลุ่มคนที่ต่อต้านการรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 หลายกลุ่มที่เคยต่อต้านก็ไม่ได้เข้าร่วมขบวนการ และที่จริงในช่วงแรกนั้น การต่อต้านก็ยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ขยายไปครอบคลุมคนในเขตหัวเมืองและชนบทอย่างปัจจุบัน
การรวมตัวกันของกลุ่มต่อต้านรัฐประหารก็เกิดขึ้นจากความสมัครใจของแต่ละกลุ่ม โดยไม่มีการตกลงกันในเงื่อนไขรายละเอียด เป็นการรวมตัวกันทางยุทธศาสตร์ เพื่อให้มีกำลังมากขึ้น ภายใต้อุดมการณ์กว้างๆ เช่น "ประชาธิปไตย", การเคารพการตัดสินใจของประชาชน ซึ่งแสดงออกด้วยผลการเลือกตั้ง, และการ "ไม่เอารัฐประหาร" เป็นต้น ฉะนั้นแม้แต่คนที่รังเกียจทักษิณก็อาจยอมให้กลุ่มอื่นชูทักษิณขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องความเป็นธรรม มองทักษิณเป็นยุทธวิธี เพราะรู้ว่าทักษิณมีฐานความนิยมกว้างขวาง
กลุ่มใดจะ "นำ" ความเคลื่อนไหวขึ้นอยู่กับ "สื่อ" ที่มีในมือ
สื่อของขบวนการเสื้อแดงคือ สื่อประเภทที่เรียกกันว่า "สื่อใหม่" นับตั้งแต่ทีวีดาวเทียม, วิทยุชุมชน, และสื่อออนไลน์ ส่วนสื่อตามประเพณีหรือที่เรียกว่า "สื่อเก่า" นั้น ขบวนการเสื้อแดงมักจะเข้าไม่ถึง แต่ในขณะเดียวกันขบวนการก็ได้ประโยชน์จากสื่อ "โบราณ" อยู่ไม่น้อย นั่นคือการสื่อกันโดยตรงจากปากต่อปาก โดยเฉพาะปากแม่ค้าในตลาด, ปากแท็กซี่, และปากแม่บ้าน
กลุ่มที่สามารถกุมการนำได้ คือกลุ่มที่เข้าถึงสื่อดังกล่าวได้มากสุด แม้ไม่ปฏิเสธความสามารถเฉพาะตัวของคนเหล่านี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนเหล่านี้มี "ทุน" ที่จะเข้าถึงได้มากสุด "ทุน" ที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องมาจากทักษิณหรือครอบครัวชินวัตรเพียงอย่างเดียว บางส่วนซึ่งอาจเป็นส่วนใหญ่กว่า น่าจะมาจากนักการเมืองท้องถิ่น นอกจากนี้ความสามารถในการสร้างพันธมิตรกับสื่อท้องถิ่น ก็มีส่วนช่วยให้เข้าถึงกลุ่มคนรักอุดรได้เป็นต้น แม้แต่การชูทักษิณขึ้นเป็นสัญลักษณ์ ก็ช่วยให้ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มคนรักทักษิณในสื่ออีกมาก
สื่อทำให้ นปช.ขยายตัวจากกลุ่มต่อต้านรัฐประหารไปสู่มวลชนทั่วประเทศ แต่มวลชนที่เข้าร่วมก็หาได้มีจุดมุ่งหมายทางการเมือง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่ ตลอดเวลา 4 ปีที่ร่วมมือกันมา ก็ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้การเมืองไทยลึกซึ้งขึ้น จนสามารถมองเห็นอุปสรรคในเชิงโครงสร้าง ที่ทำให้การเรียกร้องประชาธิปไตยสำเร็จได้ยาก ต่างคนต่าง "ตาสว่าง" แม้ว่าจะ "สว่าง" กันคนละเรื่องก็ตาม แม้กระนั้น ต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองแต่ละอย่าง มวลชนคนเสื้อแดงต่างเลือกยุทธวิธีที่จะตอบโต้ไปในทิศทางที่ใกล้กัน แต่ไม่เหมือนกัน
ความไม่เหมือนนี้ ทำให้การนำของ "แกนนำ" ยิ่งมีความสำคัญขึ้น แต่ที่น่าสงสัยก็คือ ที่เรียกกันว่า "แกนนำ" ในเวลานี้ก็มีปัญหาที่อาจนำไปสู่ความแตกแยกกันเองได้ง่าย เช่นนโยบายของพรรคเพื่อไทยมิได้สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเมืองของมวลชนคนเสื้อแดงไปทุกกลุ่ม "แกนนำ" ซึ่งเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคจะเลือกระหว่างอะไรมวลชนหรือพรรคที่ยังร่วมมือกันต่อไปได้ ด้วยเหตุผลของสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น คือการพลิกผันของสถานการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์อย่างเด่นชัด ทั้งกับพรรคเพื่อไทยและขบวนการคนเสื้อแดง
ปัจจัยภายนอกต่างหากที่เป็นตัวกดดันให้ขบวนการคนเสื้อแดงต้องร่วมมือกันต่อไป ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ความไม่เป็นเนื้อเดียวกันเช่นนี้ ไม่ได้เป็นลักษณะของขบวนการคนเสื้อแดงอย่างเดียว ในปัจจุบันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในขบวนการของฝ่าย "อำมาตย์" เช่นกัน องคาพยพของฝ่าย "อำมาตย์" ต่างเคลื่อนไปในทิศทางที่ไม่สู้จะประสานกันนัก เช่นกองทัพซึ่งได้ความมั่นใจว่า พ.ร.บ.กลาโหมจะไม่ถูกแก้ไข และงบประมาณทหารจะไม่ถูกลดทอนในอนาคตข้างหน้า ก็ไม่มีเหตุที่จะเป็นหัวขบวนหรือหนังหน้าไฟให้แก่ฝ่าย "อำมาตย์" อีกต่อไป )
แม้กระนั้น ก็พอสังเกตเห็นได้ว่า การนำของ "แกนนำ" ในช่วงนี้หาความชัดเจนไม่ได้ ในขณะที่มวลชนกำลังห่วงเรื่องการนำทักษิณกลับบ้าน และ/หรือรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจริง "แกนนำ" ไม่สามารถบอกได้ว่า จะต้องเคลื่อนไหวอย่างไรกับสองกรณีนี้ แต่กลับแสดงความห่วงใยว่าพรรคเพื่อไทยอาจถูกยุบ หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ออกมาว่า การแก้ไข ม.291 เป็นการล้มล้างการปกครอง
ฉะนั้นจึงต้องแสดงพลัง ด้วยการชุมนุมย่อยตามจังหวัดต่างๆ พร้อมทั้งเรียกร้องผ่านวิทยุชุมชนว่า หากศาลรัฐธรรมนูญชี้เช่นนั้น จะต้องรวมตัวกันออกไปชุมนุมครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ได้อธิบายว่า ชุมนุมเพื่ออะไร รังแต่จะถูกมองว่ากดดันศาลหรือขี้แพ้ชวนตี เพราะเมื่อคำชี้ขาดของศาลไม่ตรงตามความต้องการของตน ก็ใช้ม็อบช่วยกดดัน เนื่องจากขั้นตอนของการต่อสู้ได้ผ่านมาแล้ว คือการตัดสินใจแพ้มติของพรรคเพื่อไทยในสภา
เช่นเดียวกับการเรียกร้องความสามัคคีที่กำลังโหมอย่างหนัก แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะสามัคคีไปทำไม เกือบไม่ต่างจากการเรียกร้องความสามัคคีที่มีมากว่า 100 ปีของฝ่าย "อำมาตย์" คือสามัคคีกันจำนนต่อผู้นำ ไม่ว่าจะเป็น "อำมาตย์" หรือพรรคเพื่อไทยกระนั้นหรือ
ขบวนการเสื้อแดงกำลังเผชิญกับวิกฤตที่หนักหน่วงที่สุด ความอ่อนแอและความเปราะบางทั้งหมดของขบวนการจะยิ่งซ้ำเติมวิกฤตให้หนักยิ่งขึ้น เราได้เห็นการล่มสลายของขบวนการเสื้อเหลืองมาแล้ว
หากแก้วิกฤตไม่ได้ ขบวนการเสื้อแดงคงไม่ล่มสลายถึงขนาดนั้น แต่พลังที่เคยมีจะหดหายไปมาก กลายเป็นกลุ่มย่อยๆ ที่ดำเนินการเป็นอิสระของตนเอง (ซึ่งก็อาจถือเป็นพลังอีกอย่างหนึ่งได้ และดีกว่าเดิมเสียอีก หากมีการจัดองค์กรที่ทำงานในลักษณะประสานกันแทนการ "นำ" อย่างโดดเดี่ยว)
ปัจจัยเดียวที่จะรักษาขบวนการเสื้อแดงไว้ได้ คือปัจจัยภายนอก เช่นหากเกิดรัฐประหารขึ้น, ยุบพรรคเพื่อไทย, หรืองดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา, หรือตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ฯลฯ
เสื้อแดงทุกกลุ่มจะกลับมาร่วมมือกันอีก เพื่อเผชิญสถานการณ์การเมืองเฉพาะหน้า ผลักความต่างของแต่ละกลุ่มไว้เบื้องหลัง
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย