.
รณฤทธิ์ : ชีวิตในหล่มรัฐประหาร
โดย อภิญญา ตะวันออก jayakhm@yahoo.com คอลัมน์ อัญเจียขะแมร์ (กระฮอม)
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1662 หน้า 42
ในการรำลึกถึงภาวะโดดเดี่ยวและจำยอม กลางนครที่รายรอบด้วยศัตรูและภัยโหดที่ชวนให้หวาดระแวงอย่างพนมเปญ
รณฤทธิ์นั้น-แทบจะไม่ต้องกล่าวว่า เขาอยู่ในสถานะของผู้นำที่ถูกกระทำอย่างน่าเจ็บปวดจากอำนาจการเมืองทั้งในและนอกประเทศ
แม้จะรับทราบจากสายข่าวระดับสูงในพรรคซีพีพีตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 1997 แล้วว่า ฮุน เซน จะลงมือยึดอำนาจ กระนั้นสิ่งที่ กรมพระนโรดม รณฤทธิ์ พอจะกระทำได้ก็คือ การเดินสายแคมเปญเขมรแดง และการไปตีกอล์ฟ-งานอดิเรกชิ้นใหม่ที่มาพร้อมกับงานการเมือง
จริงๆ แล้ว แม้จนถึงบัดนี้ ก็ไม่มีใครเลยที่จดจำว่าวงสะวิงของเขาเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับจำนวนถุงกอล์ฟของ สมเด็จเดโชฮุน เซน ที่ถูกร่ำลือว่า มีจำนวนมากมายในปัจจุบัน
สมัยนั้น เขมรยังมีสนามกอล์ฟวีไอพี เพียงแห่งเดียวทางตอนใต้พนมเปญ ที่มักคลาคล่ำไปด้วยบรรดาชนชั้นนำทางการทูต นักธุรกิจและนักการเมืองท้องถิ่นที่พากันมาพบปะสังสันทน์ในวันหยุด
รณฤทธิ์ไปที่นั่นเหมือนสิงห์ แต่จริงๆ แล้วเหมือนเดินเข้าทางปากถ้ำเสือ เพราะตั้งแต่เจ้าของสนามกอล์ฟไปถึงบอดี้การ์ด ล้วนเป็นที่ทราบกันดีว่าใกล้ชิดกับ นายฮุน เซน
แต่ในเดือนมิถุนายของปีนั้น มีสิ่งผิดสังเกต เมื่อผู้นำประเทศอันดับหนึ่งพบว่า ที่นี่คลาคล่ำไปด้วยหน่วยเปเอ็ม (pm-police military) หรือหน่วยตำรวจรักษาการ-เต็มพรืดไปหมด
กองกำลังประดับอาวุธเฉพาะกิจกลุ่มนี้ ที่สำคัญคือหน่วยทหารเขมรแดง ที่ยอมปลดอาวุธเข้ามาเป็นทหารรัฐบาลในนามกองยุทธพลเขมรภูมินห์ภายใต้การนำของ นายพลแก กิมยาน ผู้ช่วยผู้บัญชาการ และ นายพลเตีย บันห์
นี่เป็นเกมการเมืองที่ล้ำลึกที่ไม่อาจมองข้าม เพราะก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน นายพลยึก บุนชัย ในนามผู้ช่วยผู้บัญชาการกองทัพในโควต้าพรรคฟุนซินเปกนั่นเอง เพิ่งจะเสร็จกิจแถลงข่าวกลุ่มเขมรแดงและการเสียชีวิตของ นายศอน เซน
และในห้วงเวลาเดียวกันนั้นเอง กรมพระรณฤทธิ์ก็เพิ่งประกาศแนวร่วมพันธมิตรฝ่ายตนที่มีเขมรแดงจากเขตอัลลองแวงรวมด้วย
นี่เป็นการส่งสัญญาณตบหน้ารณฤทธิ์และขุนพลอย่างจัดแจ้ง ราวกับจะเป็นการสั่งสอน หลังจากที่เพิ่งเกิดเหตุการณ์ปะทะกันในเมืองหลวง และฟุนซินเปกต้องสังเวยหน่วยการ์ดฝ่ายตนไป 4-5 คน ในจำนวนนั้น
อันที่จริง กรมพระรณฤทธิ์นั้น เคยผ่านเหตุการณ์อันน่าระทึกขวัญจนเกือบจะเรียกได้ว่า เขาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ถูก "หักหน้า" กลางอากาศอย่างบ่อยครั้งทั้งก่อนและหลังรับตำแหน่ง ไม่ว่าจะถูกเชิญให้ลงจากเครื่องบินในทันที เนื่องจาก "กำปั่นเหาะ" ลำนั้น จะไม่มีวันเหินฟ้าอย่างเด็ดขาดตราบใดที่เขายังไม่ลุกจากเก้าอี้
ยังไม่นับการถูกต้อนรับจากนักธุรกิจโรงแรมที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับพรรคซีพีพีอย่างเย็นชาเกินกว่าที่ราชนิกูลและผู้นำอย่างรณฤทธิ์จะเชื่อได้
และดูเหมือน ฮุน เซน จะชมชอบวิธี-หนามหยอกเอาหนามบ่งกับรณฤทธิ์ไปเสียทุกเรื่อง การสัพยอกที่ว่านี้ รวมไว้ซึ่งการยิงกันอย่างอึกทึก ใจกลางนครพนมเปญยามดึกราวกับการแผดคำรามของเสียงรัฐประหารอย่างบ่อยครั้งนั้นด้วย
อย่างไรก็ตาม รณฤทธิ์เองนั้น มิได้นิ่งเฉยอย่างที่ใครเข้าใจ ตรงกันข้าม เขาพยายามอย่างมากที่จะประวิงเวลาแห่งความน่าหวาดหวั่นนี้ออกไป
โดยว่า เมื่อได้พบปะกับ นายพลแก กิมยาน ในพิธีส่งมอบฮ่องกงอย่างเป็นทางการ ณ สถานทูตจีน
รณฤทธิ์ได้ร้องขออีกครั้งให้ผู้นำทหารพรรคประชาชนกัมพูชาท่านนี้ช่วยหว่านล้อม นายฮุน เซน เพื่อยุติศึกปะทะกันในกองกำลังทั้งสองฝ่าย
อีกด้านหนึ่งนั้น รณฤทธิ์ซึ่งรู้ดีว่า หากซีพีพีลงมือเผด็จศึกยึดอำนาจเมื่อใด โอกาสที่ฝ่ายตนจะชนะแทบเป็นศูนย์ก็ว่าได้
ด้วยเหตุนี้ ในช่วงนั้น เขาเรียกเอกอัครทูตมาเลเซียและสิงคโปร์เข้าพบ เพื่อขอแรงอีกทางหนึ่งในการหนังสือโน้มน้าว ฮุน เซน ต่อประเด็นดังกล่าว
จะเห็นว่า รณฤทธิ์กำลังอยู่ในภาวะจนตรอก สิ่งที่เขาสารภาพต่อ ฮาริช เมห์ตา ในบันทึก Warrior Prince Norodom Ranariddh, Son of King Sihanouk of Cambodia ราว 3 ปีต่อมาชี้ให้เห็นว่า เขาถูกโดดเดี่ยวอย่างทารุณจากหมู่นักการทูตทั้งอาเซียนและชาติยุโรป ที่พากันเพิกเฉยต่อการกระทำของ ฮุน เซน อย่างที่ตนไม่อาจประเมินได้
โดยเฉพาะประเทศแม่แบบฉบับแผนการปรองดอง ที่รณฤทธิ์และสมาชิกในครอบครัวถือครองสัญชาติที่ 2 และเป็นประเทศที่เขาหนีภัยไปอาศัยชั่วคราวอย่างฝรั่งเศส
รณฤทธิ์กล่าวว่า เขาออกจากพนมเปญทันทีในเช้าตรู่วันที่ 4 กรกฎาคม โดยคำแนะนำจาก 3 นายพลฟุนซินเปก โดยมีเจ้าหญิงรัตนาออกเดินทางไปด้วย
เหลือแต่จักรพงษ์ลูกชายคนโตที่ไม่ยอมติดตาม เพราะไม่เชื่อในข่าวดังกล่าว จนไม่กี่ชั่วโมงต่อมาเมื่อเขาถูกติดตามจากวิทยุสื่อสารของกลุ่มบอดี้การ์ด เด็กหนุ่มหวาดกลัวและหาทางรับความช่วยเหลือจากสถานทูตฝรั่งเศส แต่ไม่มีผู้รับเรื่อง
ดูจะบังเอิญที่เวลานั้นเจ้าหน้าที่คนสำคัญในสถานทูตหลายแห่งจะพากันไปตากอากาศที่กรุงเทพฯ
รณฤทธิ์ไม่เคยลืมถึงวิธีอันเย็นชาที่เขาได้รับ ในทันทีที่ราตรีอันยาวนานจากเหตุการณ์รัฐประหารของเขาเริ่มขึ้นและจบลง
โดยเฉพาะความผิดหวังที่มาจากรัฐบาลฝรั่งเศสโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ นายอูแบร์ เวดริน ยอมรับ ฮุน เซน และ นายอึง ฮวด ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ต่อสาธารณชน นั่นยังไม่หลอนเท่ากับที่เรียกเขาว่า เป็นขั้ว "ปาร์ตี้ที่สาม" ซึ่งรณฤทธิ์ถือว่า การถูกกระทำอย่างไร้ความปราณี
จึงเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ที่แม้อยู่ในฝรั่งเศสในช่วงนั้น แต่รณฤทธิ์กลับไม่เคยได้พบใครในรัฐบาลฝรั่งเศส ที่ไม่ได้ไปพักร้อน เพียงแต่หากเขาจะยอมรับในฐานะ "ปาร์ตี้ที่สาม" ในการพบปะอย่างเป็นทางการเท่านั้น นั่นคือสิ่งที่เขาไม่อาจยอมรับได้
ดังนั้น แม้สหประชาชาติและสหรัฐจะหนุนหลังประกาศรับรองรณฤทธิ์ในฐานะผู้นำที่ถูกต้องตามชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างไร
ในกัมพูชาบุคคลเดียวที่เขาเคยติดต่อได้ ก็หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันแห่งความราบคาบ เมื่อบ้านพักของเขาถูกกองกำลังทหารเข้ายึดครองและทุบทำลาย แม้แต่พื้นห้องก็ยังถูกแซะลงไป เพื่อหาทรัพย์สินที่อาจจะฝังอยู่ตามชอกมุมตามที่ต่างๆ
ก่อนหน้านั้นเพียง 2 สัปดาห์ รณฤทธิ์เพิ่งฉลองวันเกิดให้ธิดาคนเดียวด้วยสร้อยคอเส้นหนึ่ง ด้วยความรีบร้อนหนีตาย สองพ่อลูกไม่ได้เอาอะไรติดตัวออกมานอกจากบัตรเครดิตและชีวิตที่เหลือรอด
โชคดีที่ขณะนั้น เจ้าหญิงมารี ชายาได้พักรักษาตัวอยู่ในฝรั่งเศสก่อนเกิดเหตุการณ์ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในครอบครัว
เมื่อเกิดเหตุรัฐประหารครั้งแรกในปี ค.ศ.1970 ในรัฐบาลสีหนุนั้น รณฤทธิ์ซึ่งมีอายุได้เพียง 26 ได้สูญเสียตำหนักบนถนนสุธารสอันมรดกตกทอดมาจาก "ย่าน้อย" ผู้เลี้ยงดูเขามาตั้งแต่แบเบาะ เมื่อเกิดเหตุดังกล่าวเขาอยู่ในฝรั่งเศสเป็นนักศึกษาด้านกฎหมาย
ตำหนักหลังนี้ต่อมาได้กลายเป็นตำหนักของเอกอัครราชทูตรัสเซียในสมัยรัฐบาลเฮง สัมริน
เมื่อเขากลับเข้าไปพนมเปญครั้งใหม่ในปี ค.ศ.1991 ที่พำนักของรณฤทธิ์ตั้งอยู่บนถนนสมเด็จปาน นับเป็นชัยภูมิที่ห้อมล้อมไปด้วยที่ตั้งของฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองยุทธพลเขมรภูมินทร์
แต่อันที่จริง ชีวิตของรณฤทธิ์นั้น ตกเป็นเป้าแห่งการถูกกระทำจากเหตุการณ์รัฐประหารที่กลายเป็นบาดฉกรรจ์ในใจรณฤทธิ์ทั้ง 2 ครั้ง
ในรัฐประหารครั้งแรก ค.ศ.1970 มันได้พรากเอาความสัมพันธ์ที่ร้าวลึกจนยากจะเยียวยาระหว่างรณฤทธิ์และบิดานโรดม
ทว่า แต่ในรัฐประหาร 1997 นั้น มันได้กลายเป็นบาดแผลแห่งความขมขื่น ที่ลูกคนหนึ่งจะมีรู้สึกต่อบิดาเป็นคำรบสอง
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย