แก้รัฐธรรมนูญง่ายนิดเดียว ทางใคร..ทางมัน
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1664 หน้า 20
ที่จริงพายุเศรษฐกิจจากยุโรปค่อนข้างรุนแรง แม้ไทยจะอยู่ไกลแต่ก็จะได้รับผลกระทบ ทั้งรัฐบาลและเอกชน แม้จะเตรียมตั้งรับแต่บางภาคธุรกิจ อาจได้รับผลกระทบมากพอสมควร พายุลูกนี้คงไม่มีผลทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยลดลง เพราะปีที่แล้วขนาดน้ำท่วมมิดหลังคาก็ยังทะเลาะกันไม่เลิก
หลังเลือกตั้งใหม่ๆ เคยเขียนเรื่อง ชนะเลือกตั้งแต่ยังไร้อำนาจ และต่อมาก็เรื่อง 300 วันอันตราย ถึงวันนี้แม้ชนะเลือกตั้งมา 1 ปี รัฐบาลก็ยังไร้อำนาจ และเมื่อผ่าน 300 วันจนครบปี ก็ยังอยู่ในอันตราย ทั้งรัฐบาล และรัฐสภา เผลอเมื่อไร ถูกยุบ!
เพื่อตอบคำถามว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป จะต้องมองสถานการณ์ปัจจุบันให้ชัดเจนและวิเคราะห์ว่าแต่ละฝ่ายจะมีแนวทางการต่อสู้และวางยุทธศาสตร์ไว้อย่างไร
สรุปสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น และอาจจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้
หลายเดือนมานี้ผู้เขียนได้มีโอกาสกินเนื้อลูกแกะหลายครั้ง ทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมหมาป่าบอกว่า ลูกแกะทำน้ำขุ่น มีความผิดต้องจับมากิน เพราะเนื้อนุ่มของลูกแกะ ทำให้หมาป่าหาข้ออ้างสารพัด เพื่อจะจับลูกแกะกินเป็นอาหาร สุภาษิตในนิทานนี้ยังใช้ได้ดีในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันที่บางฝ่ายต้องถูกหาเรื่องให้ผิดจนได้
1. หนูน้อยหมวกแดง จตุพร แม้จะเล็ดลอดผ่านป่ามาได้ระยะหนึ่ง แต่วันนี้หมาป่าปลอมตัวเป็นคนแก่ใส่เสื้อคลุมดำซุ่มคอยตะครุบอยู่ในบ้าน
ถ้าหากจตุพรต้องถูกขังแล้ว อดอาหารประท้วงจริง คงจะมีเรื่อง และที่อาจจะเกิดขึ้น คือมีคนมาร่วมอดอาหารจำนวนมากแถวๆ หน้าศาล หน้าคุก ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องใหญ่
เรื่องราวของระบบยุติธรรมแบบไทยๆ คงถูกโฟกัส และนำไปเผยแพร่ทั่วโลก คงได้เป็นดารานำ กันทั้งผู้ที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง
2. กลุ่มอำนาจเก่ามิได้มีแผนรัฐประหารด้วยกำลังทหารแต่อย่างใด ดังเช่นที่เคยวิเคราะห์ไว้เมื่อเดือนก่อน ข่าวการรัฐประหารเมื่อต้นเดือนมิถุนายน เป็นการตั้งใจปล่อยข่าวเพื่อให้แผนแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายปรองดองหยุดชะงัก
แต่แผนรุกที่มีเป้าหมายล้มรัฐบาลยังคงเป็นการใช้อำนาจตุลาการและอำนาจจากองค์กรอิสระต่างๆ ที่จะลิดรอนกำลังของรัฐบาล โดยกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญที่การต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ในทางยุทธวิธี อาจจะใช้หลายเรื่องราวที่สร้างปัญหาทางกฎหมายให้กับฝ่ายรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย
3. การใช้อำนาจตุลาการในเกมรุก ไม่ง่ายเหมือนปี 2551 ผู้วิเคราะห์ได้ประเมินว่า การยึดอำนาจครั้งแรกจากนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ทำให้คนเหล่านี้เกิดความย่ามใจ แต่เมื่อเห็นปฏิกิริยาต่อต้านของประชาชนที่หันมาจับตาพฤติกรรมของตุลาการ และองค์กรอิสระ ก็เลยใช้เกมโยนก้อนหินถามทาง
แต่ก้อนหินก้อนนี้ เป็นก้อนหินขนาดใหญ่ที่โยนลงน้ำ เกิดทั้งเสียงทั้งคลื่น กลายเป็นวิกฤติของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไปยับยั้งการลงมติวาระ 3 การแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ซึ่งดูแล้วจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นระบบยุติธรรมทั้งระบบ มิใช่เฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ
เรื่องนี้ จาตุรนต์ ฉายแสง ได้อธิบายรายละเอียดในการปราศรัยที่ลานคนเมืองในค่ำวันที่ 30 มิถุนายน (ควรไปหามาฟัง) ว่า...ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้อำนาจลุกล้ำเข้ามาลึกมากและประเมินว่าการแก้รัฐธรรมนูญคงทำได้ลำบาก และจะมีเรื่องร้ายเกิดขึ้นตามมา
4. รัฐบาลต้องการถอยและประคองตัว ใช้ยุทธวิธี ถอยพลาง สู้พลาง เปิดโปงธาตุแท้และสันดานของฝ่ายตรงข้ามให้ประชาชนเห็น ขณะเดียวกันก็ประคองความเป็นรัฐบาลไปเรื่อยๆ
ตามข่าววงในแจ้งว่ามีผู้หวังดี บอกว่าให้ส่งคนไปให้การต่อศาล พร้อมแนะนำว่าต้องให้การอย่างไร แล้วเรื่องจะเรียบร้อย
คำถามก็คือ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไร? จะเชื่อฟังและทำตามศาล หรือ...
มีผู้เสนอว่า ไม่ต้องไปสนใจ ไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไรก็เป็นเรื่องของศาล เพราะนั่นเป็นความเห็นของตุลาการ สภาซึ่งเป็นตัวแทนอำนาจนิติบัญญัติยังไงก็ต้องโหวตเพื่อเดินหน้าทำงานตามอำนาจของตนเองต่อไป ความเห็นที่สองคือถ้าสภาและศาลมีความเห็นไม่เหมือนกัน ก็ให้นำประเด็นนี้ถามประชาชนโดยการลงประชามติ
5. คนเสื้อแดงต้องการสู้ ในความคิดเห็นที่ต่างกัน ทั้งแนวทางและยุทธวิธี เพราะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้อำนาจลุกล้ำเข้ามาในสภา และจะรุกคืบไปเรื่อยๆ
ความเห็นที่ 1 คือไม่ควรยอมรับอำนาจตุลาการ ไม่ควรส่งคนไปให้ปากคำในการไต่สวน เพราะถ้าไปเท่ากับยอมรับกระบวนการแทรกแซง
ถ้าศาลตัดสินว่าไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเดินต่อไปลำบาก หรือถ้าศาลให้ทำต่อได้ และสภาก็ดำเนินการโหวตวาระสามจนผ่าน แบบนี้ก็เท่ากับยอมรับว่าศาลมีอำนาจยับยั้งการลงมติของสภา ดังนั้น ต่อไป ถ้ามีคนขอให้ตุลาการยับยั้ง เรื่องอื่นๆ สภาก็จะทำงานอย่างยากลำบากทุกครั้ง
ความเห็นที่สอง การแก้รัฐธรรมนูญควรชิงลงคะแนนวาระสาม โดยไม่ต้องรอคำตัดสินของตุลาการชุดนี้เพราะเป็นอำนาจคนละสาย
ความเห็นที่ 3 เรื่องนี้จึงควรแก้ไขให้เด็ดขาด แต่นี่เป็นลักษณะเฉพาะของตุลาการชุดนี้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องไปยุบศาลรัฐธรรมนูญ แต่คงมีการพยายามถอดถอนและดำเนินคดีตัวบุคคลในข้อหาพยายามล้มรัฐบาลและรัฐสภา แม้จะใช้เวลานานก็ต้องทำ ซึ่งจะมีผลให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น
6. ผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม ที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของคนในระบบยุติธรรม ที่จะคัดค้านในกรณีที่เกิดความไม่ถูกต้อง ในกระบวนการทำงานปัจจุบันยังมีน้อยเกินไป ทั้งนักวิชาการด้านกฎหมาย ทนาย อัยการ ผู้พิพากษา ส่วนใหญ่เงียบกันหมด
ทั้งที่คนเหล่านี้รู้ดีว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่ไม่กล้าใช้ความรู้มาสู้อธรรม ถ้าเกรงกลัวอำนาจมืดขนาดนี้ จะทำหน้าที่ให้ความยุติธรรมประชาชนได้อย่างไร สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ถ้าส่วนใหญ่ยังเอาตัวรอดด้วยการตัดสินแบบถูกก็ได้ ผิดก็ได้ เพื่อจะดำรงฐานะอยู่ไปวันๆ ก็ไม่ควรทำหน้าที่ให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน
เพราะถ้ากระแสความไม่เชื่อถือคนที่เป็นผู้ตัดสินขึ้นสูง ก็ต้องเปลี่ยนผู้ตัดสินที่ชี้ถูกผิด ซึ่งต่อไปอาจจะเป็นคณะลูกขุนจากประชาชน และนี่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของระบบตุลาการ สิ่งที่ทุกคนในวงการต้องตระหนักในวันนี้คือเชื้อโรคร้ายได้ก่อตัวขึ้นในวงการยุติธรรมและลุกลามออกไปเรื่อยๆ ถ้าไม่รีบรักษาให้หาย ต้องพังทั้งระบบแน่นอน
7. การถอยกรณีร่วมมือกับ NASA ที่มาสำรวจเมฆและฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศตั้งแต่ความสูง 200 เมตร และขึ้นไปเหนือชั้น สตราโตสเฟียร์ เล็กน้อย กรณีนี้ทุกคนรู้ว่ารัฐบาลสั่งถอย เพราะกลัวศาล ไม่ได้กลัวฝ่ายค้าน ซึ่งดูแล้วในประเทศไทยไม่มีใครได้ประโยชน์จากการถอยแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีผู้วิเคราะห์ให้ฟังว่า
- การคัดค้านเรื่องนี้ พวกที่ค้านรู้อยู่แล้วว่าโครงการนี้อาจจะทำให้รัฐบาลได้ข้อมูลที่สามารถนำมาประเมินดินฟ้าอากาศได้ละเอียดมากขึ้น มีนักวิทยาศาสตร์ไทยเคยขึ้นบินไปร่วมโครงการมาแล้วที่ฮ่องกง ตั้งความหวังกันว่า อาจได้ความรู้ใหม่ที่ใช้ในการสร้างฝนเทียม หรือนำมาใช้ประเมินปริมาณฝนและควบคุมปริมาณน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมได้ดีขึ้น แต่มีคนบางกลุ่มต้องการให้น้ำท่วมใหญ่อีกครั้งเพื่อรัฐบาลจะได้ล้มลงเร็วขึ้น
- คัดค้านเพื่อปูทางไปสู่การใช้อำนาจตุลาการเพื่อเล่นงานรัฐบาล เช่นเดียวกับกรณีเขาพระวิหาร โดยข้ออ้างว่า...อาจนำไปสู่การเสียดินแดน ซึ่งกรณีนี้ก็อาจอ้างได้ว่า อาจทำให้ประเทศไทยเสียอธิปไตยหรือถูกรุกล้ำในน่านฟ้า
- ส่วนรัฐบาลที่ถอยออกมาไม่เพียงเพื่อความปลอดภัย แต่ก็ต้องการให้ผู้คัดค้านตกเป็นจำเลยของสังคมเพราะเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการล้มโครงการทางวิทยาศาสตร์นี้ ในขณะที่โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งเป็นหัวหอกคัดค้านก็ประกาศว่าจะฟ้องร้องทุกคนถ้างุบงิบอนุมัติ
เรื่องนี้ คงมีการถลกหนังกันในสภา ในโอกาสต่อไป
สรุปสถานการณ์
หมาป่าแก่ยังจ้องจะกินลูกแกะและขย้ำหนูน้อยหมวกแดงเหมือนเดิม
ความเห็นของทีมวิเคราะห์...ประชาชนรับได้ต่อการถอยกรณี NASA แต่ถ้าถอยกรณีแก้รัฐธรรมนูญ ชาวบ้านรับไม่ได้และจะบอกว่า รัฐบาลปอดแหก ฟังคำขู่และคำลวงศัตรูมากเกินไป ยอมรับอำนาจเถื่อน หลังรัฐประหาร 2549 ทุกอย่าง
ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามเลือกใช้เพื่อความได้เปรียบ รัฐบาลเชื่อศัตรูแต่ไม่เชื่อมั่นประชาชน จึงเกิดความกลัวต่อแรงบีบทุกด้าน ทั้งๆ ที่ในปี 2553 ที่กลุ่มอำนาจเก่ามีทุกอย่างอยู่ในมือ แต่เมื่อประชาชนลุกขึ้นสู้แบบ...เบาๆ ก็ยันกันอยู่ได้
วันนี้การสนับสนุนต่อรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของประชาชนไม่ได้ลดลง แถมมีอำนาจรัฐบางส่วนอยู่ในมือ แต่รัฐบาลใช้กระบวนท่าตั้งรับมากไป ถ้าเป็นรัฐบาลโดยไม่แก้ไขสิ่งผิดให้ถูกต้อง ก็จะไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลชุดก่อน
กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะนี่คือห่วงโซ่แห่งความอยุติธรรมที่ผูกระบบประชาธิปไตยไว้กับเสาเผด็จการอย่างหนาแน่น เมื่อความขัดแย้งมาถึงจุดนี้ รัฐบาลต้องเลือกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญต่อหรือไม่?
ถ้าตามใจกลุ่มอำนาจเก่า ก็ต้องขัดแย้งกับประชาชนที่ต้องการเดินขึ้นจากหุบเหว ครั้งนี้ประชาชนได้แก้รัฐธรรมนูญตามคำแนะนำของ คุณจรัญ ภักดีธนากุล คุณเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง คุณพิภพ ธงไชย คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่บอกว่าแก้ง่ายนิดเดียวให้รับร่างปี 2550 ไปก่อน
ถึงวันนี้ การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่ง่ายแบบขาวหรือดำอย่างที่คิด อาจจะบอกว่าการแก้ไขทำได้ ไม่ล้มล้างการปกครอง แต่...ควรทำดังนี้ 1...2...3... แล้วทีนี้ทั้งรัฐบาลและสภาจะทำตามมั้ยล่ะ?... รอได้มั้ยอีก 5-6 ปีเท่านั้น? ครั้งนี้พวกเขารับรองว่าไม่โกหก เหมือนคราวที่แล้ว ที่บอกว่าแก้ง่ายนิดเดียว!!
ทีมวิเคราะห์คาดว่า รัฐบาลและสภาจะถอยจนสุดทาง และถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่เห็นด้วยก็จำเป็นต้อง ทางใคร...ทางมัน
.