http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-21

วีรพัฒน์: ‘ประชามติ’ โดยการ ‘Vote No’ไม่เอา ส.ส.ร.

.

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์: ‘ประชามติ’ โดยการ ‘Vote No’ ไม่เอา ส.ส.ร.
ใน www.prachatai.com/journal/2012/07/41673 . .  Sat, 2012-07-21 17:53


วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
นักกฎหมายอิสระ
www.facebook.com/verapat



ข้อเสนอแนะ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ที่ให้ ‘รัฐสภา’ ทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง ส.ส.ร. นั้น ฟังแล้ว‘ตลก’อย่างไร ผู้เขียนอธิบายไปแล้ว ( http://bit.ly/talok13 )  
จนมาถึงวันนี้ ‘ตลก ศุกร์ 13’ ที่ว่า ก็ได้กลายร่างเป็น ‘ฝันร้าย’ ของประชาธิปไตยไทยไปเรียบร้อย 

ฝันร้ายที่หนึ่ง ศาลได้ลดสถานะตนเองจาก ‘ผู้ชี้ขาด’ ว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ มาเป็นเพียง ‘ที่ปรึกษา’ ว่าอะไรควรไม่ควร  
ฝันร้ายที่สอง แทนที่ศาลจะ ‘วินิจฉัยปัญหา’ ให้สังคมเดินหน้าต่อได้ ศาลกลับ ‘สร้างปัญหา’ เพิ่มความขัดแย้งต่อไปว่า การแก้ไข มาตรา 291 วาระ 2 นั้นได้ตกไปแล้วหรือไม่ ? และสภาจะต้องเดินหน้าต่อไปอย่างไร ?  
ฝันร้ายที่สาม  ศาล ‘ชิง’ อ่านคำวินิจฉัยให้มีผลไปก่อน แต่กลับ ‘ยื้อ’ ไม่ให้สังคมได้ตรวจสอบคำวินิจฉัย กล่าวคือ ศาลเก็บสิ่งที่อ่านไปปรับแก้ และรอให้ตุลาการประชุมเห็นชอบอีกครั้ง ซึ่งขัดกับกฎหมายที่กำหนดให้คำวินิจฉัยมีผลในวันอ่าน และเป็นเด็ดขาด

โฆษกศาลยังแถลงอีกว่า ตุลาการมีเวลาทำคำวินิจฉัยส่วนตน 60 วัน ซึ่งขัดกับกฎหมายที่กำหนดให้ตุลาการแต่ละคนต้อง ‘เขียนคำวินิจฉัย’ ให้เสร็จก่อนการลงมติ ซึ่งบัดนี้ก็ยังไม่ชัดว่า ศาลได้ลงมติเรื่องการลงประชามติ ตามที่ข่าวรายงานจริงหรือไม่ ? และหากมีการงดเว้นไม่ลงมติ จะถือว่าศาลทำผิดกฎหมายหรือไม่ ? (ดู http://bit.ly/Praden2 )


แต่ฝันร้ายที่น่ากลัวที่สุด ก็คือ การที่ ‘สมาชิกพรรคเพื่อไทย’ บางท่าน ดูจะมีอาการ ‘ฝันหลอน’ ตามศาล โดยพร้อมจะยอมทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยง ‘การถูกยุบพรรค’ 

หากพรรคการเมืองใด ยอมให้ ‘กฎหมายถูกทำลาย’ และ ‘ประชาธิปไตยถูกทำร้าย’ เพียงเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของพรรคตนไว้ พรรคแบบนี้ หากจะถูกยุบไป ก็คงไม่น่าเสียดายนัก!



ผู้เขียนย้ำว่า พรรคการเมืองและรัฐสภาต้องยึด ‘รัฐธรรมนูญ’ ให้อยู่เหนือ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ !

กล่าวคือ เมื่อ รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 บัญญัติว่า ‘รัฐสภา’ มีหน้าที่ต้องเดินต่อไปยังวาระ 3 และไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจศาลมา ‘เสนอแนะ’ เรื่องการทำประชามติ อีกทั้งศาลเองก็ ‘ยืนยัน’ ไปแล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ ดังนั้น สภาจึงมี ‘หน้าที่’ ต้องเดินหน้าต่อไปสู่วาระ 3 (เพื่อลงมติว่า เห็นชอบการแก้ไข มาตรา 291 หรือไม่)

คำถามสำคัญ ก็คือ รัฐสภาจะเดินหน้าต่อไปด้วย ‘ท่าที’ อย่างไร ให้ถูกต้องตามกฎหมาย และหลักแหลมแยบยลในทางการเมือง เป็นธรรมและลดแรงกดดันจากทุกฝ่าย ไปในเวลาเดียวกัน ?

เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว ผู้เขียนขอเสนอแนวคิด การลงประชามติโดยการ ‘Vote No’ ไม่เอา ส.ส.ร. ซึ่งมีหลักการดังนี้ 

1. เมื่อศาลไม่ได้เจาะจงว่า ‘การลงประชามติ’ ที่ศาลเสนอนั้นเป็นอย่างไร สภาจึงมีสิทธิตีความและพิจารณาแสวงหาวิธีการลงประชามติที่เหมาะสมและไม่ขัดต่อหลักกฎหมายได้

2. ก่อนการลงมติในวาระที่ 3 รัฐสภาสามารถประกาศ ‘คำมั่นทางการเมือง’ แก่ประชาชน ดังนี้

2.1 ในวันเลือกตั้ง ส.ส.ร. หากประชาชนได้กาช่อง ‘ไม่ประสงค์ลงคะแนน’ (Vote No) รวมกันสูงเป็นลำดับที่ 1 จากคะแนนทั้งหมด รัฐสภาจะยอมรับว่า ประชาชนมีมติไม่ต้องการให้มี ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และสภาก็จะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกการตั้ง ส.ส.ร. (โดยยอมรับข้อจำกัดว่า อาจมีประชาชนบางส่วนต้องการให้มี ส.ส.ร. แต่ไม่ประสงค์เลือก)

2.2 ตรงกันข้าม หากประชาชนเสียงข้างมากตัดสินใจลงคะแนนเลือก ส.ส.ร. สภาก็ย่อมเคารพมติของประชาชนในการเดินหน้าให้มี ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

3. หากกการ Vote No ยังไม่ชัดพอ สภาสามารถใช้อีกวิธีโดยให้ ‘ผู้ที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ’ ส่งตัวแทนมาลงสมัครเป็น ส.ส.ร. ในแต่ละเขต โดยบรรดาผู้สมัครเหล่านี้ สามารถประกาศให้ชัดแจ้งว่า หากพวกตนได้รับเลือกเข้าไปเป็น ส.ส.ร. เสียงข้างมาก พวกตนก็จะลาออกจากการเป็น ส.ส.ร. เพื่อทำให้กระบวนการ ส.ส.ร. ต้องยุติลงตาม ร่าง มาตรา 291/15 และรัฐสภาก็ให้คำมั่นจะสนับสนุนการยุติลงดังกล่าว


วิธีที่นำเสนอมามานี้ เป็นการอำนวยให้ประชาชนสามารถ ‘ลงมติยับยั้ง’ การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ตั้งแต่ก่อนการแก้ไขทั้งฉบับจะเริ่มขึ้น ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีกฎหมายรองรับ อีกทั้งประหยัดงบประมาณ เพราะทำไปในคราวเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร.

ที่สำคัญ แม้สุดท้าย ส.ส.ร. จะเดินหน้ายกร่างรัฐธรรมนูญจนแล้วเสร็จ แต่ก็ต้องให้ประชาชน ‘ลงประชามติ’ อีกครั้งว่า จะเก็บรัฐธรรมนูญฉบับเดิมไว้ หรือจะยอมรับร่างฉบับใหม่ ซี่งก็สอดคล้องกับความห่วงใยและข้อเสนอแนะของศาลอยู่ดี

จากที่นำเสนอมา จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ใดจะต้อง ‘ฝันหลอน’ ตามศาล โดยยอมให้กระบวนการในวาระที่ 2 ตกไป หรือยอมทำประชามติก่อนการลงมติ วาระ 3 ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่มีตัวเลือกชัดเจน อีกทั้งสิ้นเปลืองงบประมาณ

เว้นแต่ว่า จะมีผู้ใด ที่ไม่ได้สนใจประชาชน แต่หวังเพียงจะรักษาอำนาจของพรรคพวกตนไว้ แม้จะต้องแลกกับการ ‘ทำลายกฎหมาย’ และ ‘ทำร้ายประชาธิปไตย’ ก็ตาม !



.