http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-06

วรศักดิ์: แก้รายมาตรา ?!, ถนนสายเสรีภาพ

.

วรศักดิ์ ประยูรศุข : แก้รายมาตรา ?! 
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12  มติชน ออนไลน์  วันพฤหัสบดีที่ 05 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 19:35:17 น.


ศาลรัฐธรรมนูญจะเปิดการไต่สวนพยาน คดีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วันที่ 5-6 ก.ค.นี้ 
วันแรกเป็นพยานผู้ร้อง อีกวันเป็นของผู้ถูกร้อง
โฆษกศาลยืนยันว่าจะไม่มีการเตะถ่วง ซึ่งหมายความว่า น่าจะได้ทราบผลการวินิจฉัยกันในเร็ววัน 
ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะคดีนี้สร้างความวิตกวิจารณ์ให้สังคมอยู่พอสมควร

ศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง  
เริ่มตั้งแต่การรับเรื่อง ซึ่งยังถกเถียงกันไม่จบว่า  
จะต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดหรือไม่ 
นักกฎหมายหลายคนออกมาแสดงความเห็นว่า ตัวบทมาตรา 68 ไม่อาจคิดเป็นอย่างอื่น นอกจากให้ยื่นอัยการสูงสุด สอบสวนข้อเท็จจริง แล้วยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ 
ส่วนศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า ให้ไปอ่านตัวบทภาษาอังกฤษ จะเข้าใจชัดขึ้น ก็ถูกโต้อีกว่า ฉบับภาษาอังกฤษ ก็ให้ความหมายไม่ต่างจากภาษาไทย 
เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ร่างเป็นภาษาไทยแล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ใช่กฎหมายรุ่นแรกๆ อย่างประมวลแพ่งที่ร่างเป็นภาษาอังกฤษ เวลาสงสัยจึงกลับไปตรวจทานจากภาษาต้นร่างได้


ที่สำคัญ อัยการสูงสุด ที่รับคำร้องเหมือนกัน ได้ประชุมพิจารณา และมีคำวินิจฉัยออกมาเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 
สรุปว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เข้าข่ายมาตรา 68 ข้อเท็จจริงของผู้ร้อง ไม่พอฟังว่า มีพฤติการณ์หรือการกระทำอันเป็นเหตุให้อัยการสูงสุดต้องยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกกระทำการตามความในมาตรา 68 
อัยการสูงสุดปิดกล่อง พร้อมออกตัวไว้เรียบร้อยว่า เป็นการวินิจฉัยเฉพาะส่วนของอัยการ ไม่ขอก้าวล่วงไปยังศาลรัฐธรรมนูญ 

อาจจะมีคนไม่เห็นด้วยกับอัยการสูงสุด แต่อีกไม่น้อยอ่านคำวินิจฉัยของอัยการแล้ว เห็นว่าเรื่องน่าจะยุติตามเหตุผลและข้อกฎหมายที่อัยการวินิจฉัย 
ภาระหนักเลยตกอยู่บนสองบ่าของศาลรัฐธรรมนูญ 
และยิ่งหนัก เมื่อมีคำให้สัมภาษณ์ของประธานศาลระหว่างการเสวนาของศาลรัฐธรรมนูญที่ชะอำ ปรากฏตามสื่อ 
เรื่องราวบานปลายไปใหญ่โต เพราะยิ่งนานวัน ยิ่งไม่แน่ใจว่า คดีมาตรา 291 จะนำไปสู่อะไร


พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงก็ยังนั่งไม่ติด ต้องลุกไปเดินสายเปิดเวทีปราศรัย 
ก็ต้องเข้าใจเหมือนกัน เคยโดนยุบพรรคมา 2 หน 
ถ้ายังนั่งเย็นใจอยู่ได้ คงผิดปกติ

สองสามวันมานี้ มีข่าวจากพรรคเพื่อไทย ทำนองว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่ใช้มาตรา 68 แบบเต็มสูบ 
แต่จะใช้วิธีการ เพื่อให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบยกร่างทั้งฉบับยุติลง และให้พรรคเพื่อไทยแก้ไขเป็นมาตรา 
ฟังดูเหมือนกับว่า จะถอยกันอีกคนละก้าวครึ่งก้าว


แต่ในทางปฏิบัติจริงจะเป็นไปได้หรือไม่ จะมีใครหลอกใครอีก ยังต้องรอดู 
แล้วจะทำยังไงกับนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาที่บอกว่าจะตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 

การไต่สวนพยานวันสองวันนี้ น่าจะบอกได้ว่า การเมืองจะยุ่งขึ้นอีกหรือไม่ 



++

วรศักดิ์ ประยูรศุข : ถนนสายเสรีภาพ
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12  มติชน ออนไลน์  วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:01: น.
ภาพจาก : nidapoll.nida.ac.th


หัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่เรตติ้งไม่เคยตก คือเรื่องของ "สื่อ" 
เพราะบทบาทสื่อในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ 
ช่องทางและลูกเล่นในการสื่อมากขึ้นเรื่อย ยิ่งมีสมาร์ทโฟน มีแท็บเล็ต แม้ 3 จี ยังครึ่งๆ กลางๆ ก็ถือว่าก้าวหน้าไปมาก

สื่อมีอิทธิพล แต่ก็ต้องใช้ในทางส่งเสริมคุณค่าที่ถูกต้อง
ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นเครื่องมือของอิทธิพลอำนาจที่ไม่ชอบธรรม 
ตัวอย่างจาก 6 ตุลาฯ 2519 นั้นชัดเจน

มาถึงยุคนี้ วิชาการด้านสื่อเติบโต เปิดสอนแทบทุกสถาบัน 
โลกของสื่อขยายกว้าง ด้วยความก้าวหน้าของระบบอินเตอร์เน็ต 
แต่ถามว่า บทบาทของสื่อทำหน้าที่ได้ตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นหรือยัง
หรือยังรักษาบทบาทสถาบันส่งเสริมความเกลียดชัง
ส่งเสริมให้คนฆ่ากันเหมือนอดีต ก็ยังตอบให้เต็มปากเต็มคำไม่ได้


วันก่อน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ จัดปาฐกถาหัวข้อ "สื่อ..และที่ทางของเสรีภาพในสังคมไทย?" ในวาระครบรอบ 7 ปี ของการก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวประชาไท

การปาฐกถาของ อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์กฎหมาย จากธรรมศาสตร์ วิจารณ์การทำงานของสื่อตรงไปตรงมาดี
อาจารย์วรเจตน์เห็นว่า ปัญหาประชาธิปไตยที่ยังไม่พัฒนาไปอย่างเต็มที่ อุปสรรคสำคัญไม่ใช่เรื่องของการศึกษาของประชาชน อย่างที่ชอบพูดกัน 
แต่อยู่ที่ระดับของความมีเสรีภาพของสื่อ ความสามารถในการใช้เสรีภาพของสื่อ และความสามารถของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลที่มีความหลากหลาย 

สำนึกในทางประชาธิปไตยที่ เกิดจากความสามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีความแตกต่างหลากหลาย จนทำให้ตัดสินใจทางการเมืองได้นั้น มีความสำคัญมาก

อาจารย์วรเจตน์ระบุว่า สื่อมวลชนไทยมีปัญหาในแง่การนำเสนอข้อมูลข่าวสาร 
จากประสบการณ์ที่เคยเป็นแหล่งข่าวให้สื่อ แต่หลายครั้งเวลานำเสนอ กลับแยกไม่ออก ระหว่างความเห็นของสื่อกับข้อเท็จจริงที่นำเสนอ
พร้อมกับยกตัวอย่างครั้งที่คณะนิติราษฎร์เสนอลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร 2549 สื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง บิดเบือนข้อเท็จจริง สรุปว่า คณะนิติราษฎร์เสนอให้มีการนิรโทษกรรมให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 
ผลเป็นยังไง คนที่ติดตามข่าวคงพอทราบ

อาจารย์วรเจตน์เรียกร้องให้สื่อใช้ความกล้าหาญ 
เสนอข่าวข้อเท็จจริงของบางอำนาจ ที่สื่อมักหลีกเลี่ยง หรือเซ็นเซอร์ตัวเอง

ก่อนสรุปว่า ขณะที่สื่อทางเลือกเกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่การปรับตัวของสื่อกระแสหลักยังน้อยมาก ทำให้สื่อกระแสหลัก ตามไม่ทันประชาชนจำนวนหนึ่ง หรือจำนวนมากยิ่งขึ้นทุกที

"ถ้าสื่อมวลชนกล้าที่จะนำเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะที่ผมกล่าวมาแล้ว จะทำให้การใช้เสรีภาพของสื่อถูกต้องและครบถ้วนรอบด้านมากขึ้น เต็มไปด้วยความรับผิดชอบต่อบุคคลมากขึ้น" อาจารย์วรเจตน์กล่าว

เป็นข้อเรียกร้องที่ท้าทายไม่น้อย
อย่างน้อยๆ ก็ท้าทายให้คิดว่าเส้นทางของเสรีภาพสื่อได้ละเว้นวิ่งข้ามอะไรมาบ้าง และส่งผลอย่างไร?



.