http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-07

สรกล: ไม่เหมือนเดิม, 6 ตุลา ครั้งที่ 2

.

ไม่เหมือนเดิม
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์  วันเสาร์ที่ 07 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:10 น.
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม 2555 )



เจอนักธุรกิจกี่คน ทุกคนล้วนแต่เบื่อ "การเมือง" กันทั้งสิ้น
ล่าสุด "ธนินท์ เจียรวนนท์" ก็ย้ำอีกครั้งในงาน 36 ปีหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ 
ถ้าการเมืองไทยนิ่ง เศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างมโหฬาร 
โดยเฉพาะในวันที่ "อาเซียน" กำลังเป็นซุปเปอร์สตาร์ ที่ทั้ง "จีน" และ "สหรัฐอเมริกา" ต้องเอาใจ

ขนาดการเมืองไทยรบกัน 2-3 ปีติดต่อกัน เศรษฐกิจไทยยังเติบโต
เจอน้ำท่วมใหญ่ก็ยังโต 
แล้วคิดดูสิว่าถ้าการเมืองนิ่ง เมืองไทยจะเป็นอย่างไร


ถามว่านักการเมืองรู้ไหม
รู้ยิ่งกว่ารู้ 
แต่เพราะรากของความขัดแย้งหยั่งลึกลงในสังคมไทยยากที่จะถอนออกได้ง่ายๆ การเมืองจึงไม่ "นิ่ง" เสียที

"ความรัก" ทำให้คนตาบอดฉันใด
"ความแค้น" ก็ทำให้จิตใจของคนมืดบอด
ฉันนั้น
คิดถึง "เป้าหมาย" ที่จะทำลายล้างคู่ต่อสู้ทางการเมืองโดยไม่สนใจว่า "วิธีการ" นั้นถูกต้องหรือไม่

กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญชัดเจนที่สุด 
ปรมาจารย์ด้านกฎหมายกันทั้งนั้น แต่ไม่ละอายใจเลย
กล้าพูดในสิ่งที่ตนเองไม่เชื่อ


คนเราเวลาพูดในสิ่งที่ไม่เชื่อ ตรรกะมักสับสน 
เพราะแทนที่จะคิดถึง "เหตุ" ก่อน "ผล"
กลับปักธงที่ "ผล" แล้วค่อยหา "เหตุ" มาสนับสนุน

พอวิธีคิดผิด คำพูดก็เลยสับสน 
แค่สรุปว่าคำว่า "และ" กับ "หรือ" มีความหมายเหมือนกัน 
อาจารย์ภาษาไทยทั่วประเทศก็งงแล้ว


หรือคนบางคนลืมไปว่าพูดอะไรไว้ในอดีต ในวันที่ไม่ได้ปักธงไว้ล่วงหน้า 
เมื่อคิดอย่าง แต่พูดอย่าง เพราะ "ความแค้น" บังตา
หรือมี "ธง" อยู่ในใจ
ตรรกะจึงสับสน

โบราณเขาจึงบอกว่าคนพูดความจริง
ต่อให้พูด 100 ครั้งก็ยังเหมือนเดิม
แต่คนพูดโกหก พูดกี่ครั้งย่อมไม่เหมือนเดิม



++

6 ตุลา ครั้งที่ 2
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์  วันเสาร์ที่ 04 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555 )


"สมคิด เลิศไพฑูรย์" ไม่ได้ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 
เขาเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลังเหตุการณ์ "ฆ่ากลางเมือง" ประมาณ 2-3 ปี 
แม้ไม่มีประสบการณ์ตรง แต่กลิ่นคาวเลือดในธรรมศาสตร์ยังคงอบอวลอยู่ในความรู้สึกของนักศึกษาธรรมศาสตร์ในรุ่นต่อมา

"สมคิด" ในฐานะนักกิจกรรมเก่า วนเวียนอยู่ที่ตึกกิจกรรม เขาต้องเคยได้ฟัง "ธงชัย วินิจกุล" เล่าเรื่องเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 
"ธงชัย" นั้นเป็นอดีตผู้นำนักศึกษาฯ ที่ปราศรัยบนเวทีเป็นคนสุดท้าย 
เขาพยายามอ้อนวอนให้ "ผู้บ้าคลั่ง" หยุดยิงด้วยน้ำตา 
ไม่แปลกที่ "ธงชัย" เล่าเรื่อง 6 ตุลา 19 ให้รุ่นน้องฟังครั้งใด 
เขาจะร้องไห้

ความรับรู้ของ "สมคิด" คงไม่แตกต่างจากนักกิจกรรมธรรมศาสตร์ในช่วงเวลานั้น

แต่วันนี้ "สมคิด" กลับใช้เหตุผลเรื่อง 6 ตุลา 19 เป็นข้ออ้างในการไม่อนุญาตให้กลุ่มนิติราษฎร์ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยในการเคลื่อนไหวเรื่อง ม.112  
"สมคิด" เกรงว่าเหตุการณ์จะลุกลามเป็น 6 ตุลา ครั้งที่ 2 
เขาไม่อยากให้เกิดเหตุเช่นนี้ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง

ในมุมหนึ่ง นี่คือ "ความปรารถนาดี" ต่อมหาวิทยาลัย 
แต่เป็นความปรารถนาดีต่อ "วัตถุ" มากกว่า "ลมหายใจ"

กลัวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเสียหายหากเกิดเหตุความรุนแรง 
"สมคิด" ลืมไปว่า "ธรรมศาสตร์" ไม่ใช่ อาคาร 
แต่ "ธรรมศาสตร์" คือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น


ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ "ฆ่ากลางเมือง" ที่ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จะพบว่าไม่ใช่เพราะธรรมศาสตร์ปล่อยให้นักศึกษาชุมนุมในมหาวิทยาลัยจึงเกิดเหตุ "ฆ่ากลางเมือง" ขึ้นมา
แม้จะไม่ "ฆ่า" ที่ธรรมศาสตร์
แต่สุดท้าย เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ก็ต้องเกิดขึ้น

เพียงแต่เปลี่ยน "สถานที่" และ "เวลา" เท่านั้น

เพราะฝ่ายหนึ่งมีเจตจำนงที่แน่วแน่ว่าต้องการจะ "ฆ่า"
ต่อให้ไม่มีการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ ไปชุมนุมที่ไหน เขาก็จะฆ่าอย่างแน่นอน 
ปัญหาจึงไม่ใช่อยู่ที่ "สถานที่" และ "เวลา"

แต่อยู่ที่คนวางแผนใช้ความรุนแรงปราบปรามนักศึกษาต่างหาก 

นักศึกษายุคนั้นเคยเจ็บปวดกับการถูกป้ายสีว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" 
ป้ายสีว่า "ธรรมศาสตร์" มีอุโมงค์ลับ มีอาวุธปืน ฯลฯ 

แต่วันนี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังจะยอมสยบให้กับข้อกล่าวหาเช่นนี้อีก 
ถ้า "นิติราษฎร์" ทำผิด ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย 
ถ้าไม่เห็นด้วยกับ "นิติราษฎร์" ก็ให้ออกมาแสดงความคิดเห็นค้าน
สถาบันการศึกษาควรจะส่งเสริมบรรยากาศการถกเถียงแบบปัญญาชนเช่นนี้ไม่ใช่หรือ

"ธรรมศาสตร์" ต้องเปิดประตูและปลุกเร้าให้เกิดการสันดาปทางความคิด
ไม่ใช่ปิดประตูด้วย "วิสัยทัศน์" ที่เห็น "อาคาร" สำคัญกว่า "ลมหายใจของเสรีภาพ"

6 ตุลา ครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้นหรือไม่ จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับการปิดหรือเปิดประตูธรรมศาสตร์ 
แต่ขึ้นอยู่กับว่ามีคนอยากทำ และกล้าลงมือทำหรือไม่

อย่าลืมว่าโลกวันนี้ไม่เหมือนกัน 25 ปีที่แล้ว

ทำแบบเดิม แต่ผลลัพธ์อาจไม่เหมือนเดิม



.