http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-12

คอร์รัปชั่น กับการเกิดใหม่ของ ศก.ฟิลิปปินส์

.
คอลัมน์ ต่างประเทศ ในฉบับต่อมา - “ดีพีเจ” ในวันที่ไร้ “โชกุนเงา”

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

คอร์รัปชั่น กับ การเกิดใหม่ ของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์
คอลัมน์ ต่างประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 102


มีนักเดินทางหลายคนยืนยันว่า กรุงมะนิลา นครหลวงของฟิลิปปินส์ กำลังเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น พัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน แม้ด้วยสายตาผิวเผินจากภายนอก โรงแรมหรูหราทั้งหลายในเมืองหลวงคลาคล่ำไปด้วยนักลงทุนต่างชาติ ทั้งที่เป็นอเมริกัน ยุโรป และแน่นอน จากหลายประเทศในเอเชีย ที่กำลังมองหาลู่ทางและโอกาสที่ดีๆ จากการลงทุนในประเทศนี้ 
แคเรน วอร์ด นักวิเคราะห์เศรษฐกิจของธนาคารเอชเอสบีซี ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในปีนี้เอาไว้ว่า จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) น่าจะขยายตัวเพิ่มจาก 3.7 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีก่อนหน้านี้ เป็น 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้ขนาดเศรษฐกิจของประเทศนี้ที่จัดอยู่ในอันดับที่ 43 ของโลก น่าจะขยับปรับตัวขึ้นไปสู่อันดับที่ 16 ได้ภายในปี 2050
อย่างไรก็ตาม การประเมินของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ดูจะไม่สอดคล้องกับตัวเลขที่ว่านั้นเท่าใดนัก ไอเอ็มเอฟ ชี้ว่า ถึงจะปรับตัวสูงขึ้นไม่น้อย แต่เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ก็ยังล้าหลังบรรดาประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยเฉพาะประดา "เสือ" จากอาเซียนทั้งหลาย รวมทั้งไทย เวียดนาม และแน่นอนที่สุด อินโดนีเซีย ที่กำลังติดลมบนอยู่ในเวลานี้ ที่เห็นกันกระจะๆ ก็คือ เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในขณะที่คาดกันว่า อินโดนีเซีย จะสามารถดึงเงินลงทุนเข้ามาได้มากถึง 27,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้

ประเมินกันว่า ฟิลิปปินส์จะมีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพียง 3,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้นเอง
โดยบรรทัดฐานหลายต่อหลายอย่าง ยังคงแสดงให้เห็นว่า ฟิลิปปินส์ อยู่ในสถานะยากลำบากไม่น้อย


ในทางหนึ่ง นี่เป็นประเทศที่ประชากรอีก 1 ใน 5 ตกอยู่ในสภาพ "ยากจน" ถึงขีดสุด นั่นหมายถึงว่ามีรายได้ต่อวันอยู่ระหว่าง 38-39 บาท ต่ำกว่าระดับรายได้ต่ำที่สุดที่ธนาคารโลกกำหนดเอาไว้ 1.24 ดอลลาร์ต่อวัน 
ในอีกทางหนึ่ง ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่ต้องพึ่งพา "รายได้" ที่ประชากรของประเทศไปทำมาหารับประทานอยู่ในต่างแดนมากมายอย่างน่าพิศวง แหล่งที่มาของเงินตราต่างประเทศที่สำคัญที่สุดของฟิลิปปินส์ มาจากบรรดา "แม่บ้าน" ที่เดินทางออกไปทำงานอยู่ในหลายๆ ประเทศ ตั้งแต่ ฮ่องกง ยันนิวยอร์กและคูเวต ส่งเงินกลับประเทศแต่ละปีมากมายถึง 20,000 ล้านดอลลาร์
ว่ากันว่า "แม่บ้าน" ทั้งหลายที่ทำงานอยู่ในต่างแดนนั้น คิดเป็นสัดส่วนของประชากรทั้งประเทศแล้วมากถึง 12 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว 

รายงานขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ให้เหตุผลเอาไว้ชัดเจนว่า เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ยังไม่สามารถก้าวเดินไปไหนได้ เนื่องเพราะภาคธุรกิจ "สำคัญ" ทั้งหลายยังคงตกอยู่ภายใต้การ "ควบคุม" แบบ "ผูกขาด" ของบรรดาชนชั้นหัวกะทิในสังคมเท่านั้นเอง
ตรงจุดนี้นี่เองที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ ประธานาธิบดีเบนิโญ อะคีโน ที่ 3 กำลังได้รับการยอมรับมากขึ้นตามลำดับ ในฐานะผู้นำฟิลิปปินส์ที่มีทั้ง "ความสามารถ" ในการบริหารและ "ไม่คอร์รัปชั่น" 
ซึ่งหาได้ยากเย็นอย่างยิ่งในประเทศนี้



จอห์น ฟอร์บส์ อดีตนักการทูตชาวอเมริกันที่ใช้ชีวิตอยู่ในฟิลิปปินส์มานานกว่า 40 ปี ยืนยันว่า ความเคลื่อนไหวในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในยุคของประธานาธิบดีผู้นี้นั้น จัดอยู่ในระดับที่ "ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" ไม่ว่าจะในยุคไหน รัฐบาลชุดใหม่ดูเหมือนมุ่งมั่นจะเปลี่ยนแปลงสภาวะ "ทุนนิยมพวกพ้อง" อันหมายถึงว่า ไม่ว่า คุณจะมีขีดความสามารถมากมายแค่ไหน ทำอะไรได้ดีอย่างไร ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า คุณรู้จักใครบ้างในคณะรัฐมนตรีแล้วเต็มใจที่จะ "จ่าย" เบี้ยบ้ายรายทางมากมายแค่ไหนเท่านั้นเอง 
ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ 'ประธานาธิบดีอะคีโน' ในการปราบปรามคอร์รัปชั่นก็คือ การดำเนินคดีคอร์รัปชั่นกับ มาเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย่ อดีตประธานาธิบดี ผลลัพธ์ของคดีอาจยังต้องใช้เวลาอีกเนิ่นนานไม่น้อยตามกระบวนการยุติธรรมที่ขึ้นชื่อลือชาของฟิลิปปินส์ แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณตั้งแต่วันแรกในการดำรงตำแหน่งว่าไม่เอาด้วยกับการคอร์รัปชั่น ซึ่งเห็นกันได้ชัดเจนว่าเป็นตัวถ่วงสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ 

โรเอล แลนดิงกิน ผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนคนสำคัญของฟิลิปปินส์ ที่ยังทำหน้าที่ตามสัมมาชีพของตนไปตามครรลอง แม้รัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว พบว่า กระทรวงกิจการสาธารณะ ที่เคยมีชื่อเสียงมหาศาลในเรื่องของการ "ฮั้ว" การ "โกง" และการประมูลงานซ้ำซ้อน ฉ้อฉล ไม่โปร่งใส เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายในยุคของประธานาธิบดีอะคีโน ที่รณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชั่นด้วยคำขวัญ "ดาอัง มาตูวิด" ("ตรงไปตรงมา") การประมูลใหม่ๆ ในยุคนี้ ไม่เพียงตรงไปตรงมาอย่างชัดเจนและตรวจสอบได้เท่านั้น ยังเกิดขึ้นภายใต้แรงกดดันมหาศาลจาก บรรดา "เจ้าพ่อ" ทั้งหลายในวงการด้วยอีกต่างหาก 

ความสูญเสียในทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์จากคอร์รัปชั่น เห็นได้ชัดเจนจากกรณีเรื่อง "ข้าว" ประเทศนี้แม้จะอยู่ในสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่ได้ผิดแผกแตกต่างจากประเทศที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับต้นๆ ของโลกมากมายเท่าใดนัก แต่กลับเป็นประเทศที่ "นำเข้า" ข้าวรายใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง เหตุผลประการหนึ่งนั้น เป็นเพราะความไม่ใส่ใจ ไม่ลงทุนและไม่พัฒนาในเชิงวิชาการการเกษตร รวมทั้งสาธารณูปโภค และชลประทานต่างๆ ให้ดีพอ
อีกเหตุผลหนึ่งนั้น รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังปล่อยให้บรรดา "ชิปปิ้ง" ระดับ "เจ้าพ่อ" ทั้งหลาย ขูดรีดค่าขนส่งข้าวจาก มินดาเนาทางใต้ขึ้นมายังมะนิลาทางเหนือ ในราคาที่สูงกว่าราคาขนส่งข้าวที่สั่งจาก แคลิฟอร์เนีย เสียอีก


เหตุผลแปลกๆ ทั้ง 2 อย่าง ทำให้เกิดการขาดแคลนข้าวเป็นระยะๆ ในประเทศ แต่แทนที่รัฐบาลจะวิตกกับสภาวะดังกล่าว บรรดาผู้นำฟิลิปปินส์หลายต่อหลายคนที่ผ่านมา ยังไม่ใส่ใจ กลับถือว่านั่นคือ "โอกาส" ที่ดี เพราะการขาดแคลนข้าวคือเหตุผลที่ทำให้ องค์การอาหารแห่งชาติ สามารถออกใบอนุญาตให้กับ "พวกพ้อง" ของคนในรัฐบาลสามารถนำเข้าข้าวได้ ยิ่งต้องจ่ายเงินค่าข้าวไปมากเท่าใด สัดส่วนของเงินที่ "ใต้โต๊ะ" ที่ได้รับก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น 
ในปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี อาร์โรโย่ ปล่อยให้มีการนำเข้าข้าวในราคาสูงถึง 125 ดอลลาร์ต่อตันเป็นจำนวนมหาศาล นั่นไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกข้าวภายในประเทศเท่านั้น ยังกระทบไปถึงราคาข้าวในตลาดโลก ที่พุ่งกระฉูดขึ้นไปทันทีทันใด ก่อให้เกิดภาวะ "ขาดแคลน" ขึ้นชั่วคราวในตลาดโลก กลายเป็นจลาจลอาหารขึ้นตั้งแต่ แคเมอรูนไปยันเฮติเลยทีเดียว 

น่าสนใจไม่น้อยที่ เพียงแค่ 2 ปีเศษที่เข้ามารับตำแหน่ง ประธานาธิบดีอะคีโน ลงทุนเรื่องระบบชลประทานไปไม่น้อยแล้วก็เห็นผลทันตา แม้จะยังคงมีภาวะพายุฝนฟ้าคะนองอยู่ตามปกติ แต่ชาวนาฟิลิปปินส์สามารถปลูกข้าวได้มากมายกว่าที่เคยทำได้ จนเชื่อกันว่า อีกไม่ช้าไม่นาน ฟิลิปปินส์ก็สามารถยุตินำเข้าข้าวจากต่างประเทศได้โดยสิ้นเชิง 
นักวิเคราะห์ยอมรับกันว่า ลำพังเพียงประธานาธิบดีเพียงผู้เดียวกับการรณรงค์ปราบปรามคอร์รัปชั่น ยังไม่แน่นักว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ใหญ่โตแบบพลิกฟ้าชั่วข้ามคืน กระนั้น การ "เอาจริง" ของผู้นำประเทศก็ส่งผลอย่างสำคัญให้ "กลไก" ของตลาดและธุรกิจสามารถทำงานได้ด้วยตัวเองอีกครั้ง

นักธุรกิจ นักลงทุน ทั้งที่เป็นต่างชาติและที่เป็นคนฟิลิปปินส์เอง เริ่มต้นลงทุนใหม่ของตนอีกครั้ง และพร้อมที่จะ "ท้าทาย" อำนาจธุรกิจเดิมที่ไม่ได้อาศัยฝีไม้ลายมือ แต่อาศัยเพียงเส้นสาย แบบ "ใครดีใครได้" อีกครั้งหนึ่งแล้ว 
นี่เองที่จะเป็นพลังสำคัญในการ "เกิดใหม่" ของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในอนาคตอันใกล้ !!



+++

“ดีพีเจ” ในวันที่ไร้ “โชกุนเงา”
คอลัมน์ ต่างประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1664 หน้า 103


สัปดาห์นี้ขอโฟกัสความเป็นไปที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นกันบ้าง

เพราะตอนนี้สถานการณ์การเมืองที่นั่นกำลังกลับมาร้อนระอุอีกครั้ง เมื่อ นายอิจิโร โอซาวา นักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งคนหนึ่งในดินแดนอาทิตย์อุทัย วัย 70 ปี เจ้าของฉายา "โชกุนเงา" และ "ผู้พิฆาต" จูงมือพรรคพวกในมุ้งการเมืองของเขาอีก 49 คน ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น (ดีพีเจ) พรรครัฐบาลที่อยู่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี โยชิฮิโกะ โนดะ ไปเมื่อต้นอาทิตย์ที่ผ่านมา
เป็นการถอนยวงสมาชิกพรรคพ้นร่มเงาของดีพีเจที่ค่อนข้างใหญ่อยู่มากพอควร แม้ว่าการตบเท้าลาออกไปของ ส.ส. ในมุ้งการเมืองของโอซาวาจำนวน 38 คน และสมาชิกสภาสูงหรือวุฒิสภาอีก 12 คนนั้นจะไม่ได้ทำให้พรรคดีพีเจของโนดะสูญเสียการครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นไปก็ตามที 
แต่การถอนยวงลาออกครั้งนี้ก็ได้ทำให้เสียงของดีพีเจสูญหายไปในสภาผู้แทนราษฎรถึง 38 เสียง เหลือ 249 เสียง จากเดิมที่มีอยู่ 289 เสียง

มองตามหลักการง่ายๆ นั่นย่อมจะส่งผลกระทบต่อการจะโหวตหรือจะลงคะแนนเสียงผ่านความเห็นชอบในร่างกฎหมายหรือเดินหน้าผลักดันแนวนโยบายใดๆ ในสภาของฝ่ายรัฐบาลได้
เว้นเสียแต่ว่าจะมีการรอมชอมกันเกิดขึ้นกับฝ่ายค้านภายใต้ผลประโยชน์ร่วมกัน


การตบเท้าลาออกของสมาชิกพรรคดีพีเจในกลุ่มก๊วนของโอซาวาแม้จะทำคนในพรรคโดยเฉพาะนายโนดะเองและคนร่วมวงการเมืองแต่ต่างขั้ว อึ้งกันไปบ้าง 
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายเกินไปหรือยากที่จะเข้าใจได้ 
เพราะรอยแตกร้าวทางความคิดต่างของโอซาวาปรากฏให้เห็นมาได้เป็นระยะๆ แต่มาถึงจุดแตกหักเมื่อสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นผ่านความเห็นชอบเมื่อสัปดาห์ก่อนในร่างกฎหมายเก็บภาษีสินค้าหรือภาษีการขายเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า 
หรือจากเดิมที่เคยเก็บอยู่ 5 เปอร์เซ็นต์ ปรับเพิ่มเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ภายใน 3 ปีข้างหน้า


เหตุผลของรัฐบาลนายโนดะที่ให้ไว้ในการที่จะต้องจัดเก็บภาษีสินค้าเพิ่มนั้นก็เพราะเล็งเห็นว่ามาตรการทางภาษีนี้จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศที่พอกพูนขึ้นเป็นภูเขาลูกโตอยู่ในขณะนี้ได้ทางหนึ่ง  
แต่มาตรการนี้ถูกคัดค้านอย่างหนักจากโอซาวาและสมาชิกในกลุ่มก๊วนของเขาที่เห็นว่ามาตรการดังกล่าวขัดต่อแนวนโยบายของพรรคดีพีเจที่ได้รณรงค์หาเสียงเอาไว้ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งทำให้พรรคดีพีเจกวาดชัยชนะในครั้งนั้นและพลิกขั้วกลายมาเป็นรัฐบาลได้อยู่ในขณะนี้ 
แน่นอนว่าโดยหลักการแล้วปรากฏการณ์ ส.ส. แปรพักตร์หรือลูกพรรคเอาใจออกห่าง ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของพรรคการเมืองนั้นๆ อย่างแน่นอน แต่จากการประเมินของสื่อมวลชนญี่ปุ่นและประดานักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญกลับมองในเชิงบวกว่าการออกไปจากพรรคดีพีเจของโอซาวาน่าจะเป็นผลดีต่อนายโนดะเสียมากกว่า 
เพราะจะทำให้เขาสามารถควบคุมเสียงที่แตกแยกกันอยู่ภายในพรรคให้อยู่ในมือตนเองได้มากขึ้นและเขาเองยังจะขยับตัวทำงานได้สะดวกมากขึ้นเมื่อไร้เงาก้างชิ้นใหญ่อย่างโอซาวาขวางคออยู่

รายงานของหนังสือพิมพ์อาซาฮีที่อ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดนายโนดะบอกว่าสัมผัสได้ชัดว่าการลาออกจากพรรคของโอซาวา ทำให้โนดะมีความโล่งใจและมีความเชื่อมั่นเกิดขึ้นในหมู่สมาชิกพรรคดีพีเจมากกว่า 
เพราะการยกก๊วนลาออกของสมาชิกมุ้งโอซาวา จะทำให้โนดะสามารถผลักดันการเจรจาความตกลงในเรื่องต่างๆ กับพรรคฝ่ายค้าน นั่นคือพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) และพรรคโคเมะอิโตะ พันธมิตรเก่าได้อย่างสะดวกโยธิน 
ยิ่งไปกว่านั้น หนทางการจะรักษาเก้าอี้หัวหน้าพรรคดีพีเจในการเลือกตั้งภายในพรรคที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนนี้ของโนดะก็ดูจะสดใสมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกโล่งใจดังกล่าวสำหรับโนดะเองแล้วน่าจะเป็นไปได้เพียงแค่ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะแม้การผ่านร่างกฎหมายปรับขึ้นภาษีสินค้าของรัฐบาลจะได้รับความร่วมมือช่วยเหลือในการโหวตให้ผ่านจากพรรคแอลดีพีและพรรคโคเมะอิโตะก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการผลักดันนโยบายและร่างกฎหมายด้านต่างๆ ของพรรคดีพีเจในภายภาคหน้าจะได้รับความร่วมมือจากพรรคแอลดีพีหรือพรรคโคเมะอิโตะไปได้ตลอด 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่พรรคแอลดีพีควบคุมเสียงข้างมากอยู่ในสภาสูง ซึ่งเมื่อตกอยู่ในสภาวการณ์เช่นนั้น อำนาจต่อรองจะพลิกขั้วมาอยู่ที่พรรคแอลดีพีในทันที เมื่อถึงเวลานั้นโนดะก็จะต้องหาแนวทางรับมือให้ได้



ในส่วนของโอซาวาเองนั้นการตัดสินใจลาออกจากพรรคดีพีเจก็ถือเป็นการเดิมพันทางการเมืองครั้งใหญ่ของเขาเช่นกัน 
แม้มีรายงานที่ชัดเจนว่าโอซาวาจะไปตั้งพรรคการเมืองใหม่เหมือนอย่างที่เขาเคยทำในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้วเมื่อครั้งที่โอซาวานำ 54 ส.ส. แปรพักตร์ออกจากพรรคแอลดีพีในปี 2536 ที่ขณะนั้นเป็นพรรครัฐบาลและสามารถสั่นคลอนเสถียรภาพของพรรคแอลดีพีจากที่เป็นรัฐบาลพรรคเดียวให้กลายมาเป็นรัฐบาลผสมในอีก 2 เดือนถัดมาได้ก็ตาม 
แต่มีการมองกันว่าเสียง ส.ส. ที่มีอยู่ในมือโอซาวาไม่ได้มีมากเพียงพอที่จะเป็นไม้เด็ดในการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลโนดะได้ หรือการที่จะไปจับมือกับพรรคการเมืองอื่นเพื่อกลับมาต่อกรกับดีพีเจในการสู้ศึกเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าก็ยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่าจะมีอะไรที่เหนือกว่าแต่อย่างใด

ตอนนี้เราคงได้แต่รอดูกันว่ารัฐบาลภายใต้พรรคดีพีเจในวันที่ไร้เงานักการเมืองเก๋าเกมอย่างโอซาวาจะทำงานต่อไปได้จนครบวาระหรือไม่
หรือจะสะดุดตออะไรเข้าให้จนต้องถ่ายเลือดกันใหม่อีก...



.