.
บทความปี 2554 ครบรอบปี - กก.พิทักษ์อำนาจรัฐ โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ต้องการรัฐบาลเด็กดี
โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12
จากมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 17:59:20 น.
ข้อกล่าวหาที่มีผู้ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 นั้น มีถ้อยความกล่าวหา รัฐบาล ส.ส. ส.ว. ประธานสภา เอาไว้อย่างดุเดือด ซึ่งผู้คนทั่วบ้านทั่วเมืองกล่าวขวัญกันอย่างมาก
เช่นที่ระบุว่า เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68
ด้านหนึ่ง การวินิจฉัยตามตัวบทกฎหมาย คงต้องรอฟังมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกันต่อไป หลังจากเพิ่งไต่สวนพยานเสร็จไปหมาดๆ
แต่อีกด้าน มองผ่านสายตาประชาชนเอง เขาก็งงกันทั่วว่า ในเมื่อรัฐบาลขณะนี้ ได้อำนาจทางการเมืองมาอยู่ในมือแล้ว นั่งบริหารประเทศมาเกือบปีแล้ว
แถมเป็นอำนาจจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเป๊ะๆ
แล้วเขาจะกระทำการเพื่อให้ได้อำนาจมาโดยมิชอบอีกอย่างไรกัน
รวมทั้งมองเห็นอย่างชัดเจนได้ว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่รัฐบาลและพรรคร่วมลงมือแก้ไข จนเป็นเหตุให้ถูกยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว
เป็นรัฐธรรมนูญจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
พื้นฐานแนวคิดของการจัดทำรัฐธรรมนูญ เพื่อลดทอนอำนาจพรรคการเมือง โดยร่างขึ้นในบรรยากาศที่เกลียดชังและหวาดระแวงอำนาจจากฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้ง
ต่อมามีการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 แล้วพรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะ ด้วยอำนาจจากมือประชาชนกว่า 15 ล้าน
รัฐบาลที่มีฐานจากการใช้สิทธิใช้เสียงของประชาชนแท้ๆ จึงลงมือแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับผลพวงการรัฐประหารทันที
ตั้งแต่จุดเริ่มต้นและขั้นตอนการดำเนินการ จึงเป็นไปตามหลักของฝ่ายที่มาด้วยการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งสิ้น
ข้อกล่าวหาของฝ่ายที่ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องขัดกับสายตาประชาชนคนดูอย่างมาก
ทั้งหลายทั้งปวง ในช่วงวิกฤตรัฐธรรมนูญคราวนี้ ถือเป็นการต่อสู้อย่างเปิดเผยตัวตนชัดเจน
ระหว่างฝ่ายที่ปกป้องรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งเป็นฝ่ายที่ไม่ยอมรับอำนาจของสภาที่มาจากสิทธิเลือกตั้งของประชาชน
กับฝ่ายที่ปฏิเสธรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร ต้องการแก้ไขเพื่อลดทอนบรรดากับดัก ขวากหนาม และกลไกที่สร้างขึ้นมาเพื่อปิดกั้นอำนาจที่มาจากมือประชาชน
วันนี้เป็นการต่อสู้ระหว่าง กลุ่มอนุรักษนิยมทางการเมือง ซึ่งไม่ยอมรับการเติบโตของระบอบการเลือกตั้ง เห็นว่ารัฐบาลในประเทศนี้ ต้องเป็นเด็กดีของระบบเก่าๆ
กับฝ่ายเสรีประชาธิปไตย ที่เห็นว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องมีอำนาจเต็มเปี่ยมในการควบคุมบ้านเมือง
ระหว่างที่รอจุดตัดสินชี้ขาด คงต้องสลับบรรยากาศด้วยเรื่องตลกๆ
อันเนื่องจากมุขสำคัญที่ฝ่ายค้านยกขึ้นมาโจมตีเสมอๆ คือ จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างรัฐไทยใหม่ คนจะถูกจับไปไถนา เอาไปล้างสมอง
คือวาดภาพว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์นั่นแหละ
มุขนี้จึงยิ่งฮา เมื่อวันนี้มีอดีตสหายแต่งชุดทหารของพรรคคอมมิวนิสต์มายืนโบกธงแดงหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิทักษ์สถาบันหลักของชาติ
และต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
+++
บทความปี 2554 ครบรอบปี
กก.พิทักษ์อำนาจรัฐ
โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12
จากมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพิ่งประชุมสรุปผลการตรวจสอบเหตุการณ์ 12 มีนาคม-19 พฤษภาคม 2553 ไปเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อจะนำมาแถลงต่อสาธารณะในช่วงวันสองวันนี้ กระนั้นก็ตามมีข้อมูลเผยแพร่เป็นข่าวออกมาแล้ว
ไม่ได้ผิดไปจากที่คาดคิด เพราะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดนี้ แสดงจุดยืนแน่วแน่ในกรณี 91 ศพมาตลอดว่าเห็นพ้องกับผู้กุมอำนาจรัฐ
เมื่อไม่นานมานี้มีเหตุการณ์ตลกร้าย ไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่ลาออกจากภาคีมรดกโลก
ไทยน่าจะเป็นประเทศแรกในโลกอีกเหมือนกัน ที่มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มายืนดูคนตายเพราะการชุมนุมประท้วง 91 ศพแล้วบอกว่า รัฐบาลและกลไกอำนาจรัฐทำถูกต้อง
บทสรุปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เพิ่งประชุมกันไปนั้นบอกชัดเจนว่า "รัฐบาลอภิสิทธิ์กระทำภายใต้หลักกฎหมาย" "ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เกินกว่าเหตุ" "ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน"
ส่วนการชุมนุมของ นปช.นั้น "มิใช่การชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ" "ละเมิดสิทธิผู้อื่น"
สรุปว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ทำถูกทุกอย่าง ส่วน นปช.ทำผิดทุกอย่าง
อาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร แห่งคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เคยเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงอาจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ภายหลังผ่าน 19 พฤษภาคม 2553 ไม่กี่วัน
เขียนในฐานะนักวิชาการด้านมานุษยวิทยาด้วยกัน โดยอาจารย์ยุกตินั้นรุ่นอ่อนเยาว์กว่า
"มานุษยวิทยามิได้แยกตนเองจากกระแสโลก หลักการสำคัญๆ ของมานุษยวิทยาสอดคล้องไปกับหลักการสากล ในเรื่องของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานก็เช่นเดียวกัน นักมานุษยวิทยาย่อมเห็นตรงกันว่า การทำลายชีวิตมนุษย์และการปิดกั้นสิทธิในการแสดงตัวตนของมนุษย์ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้"
อาจารย์ยุกติเขียนอีกตอนหนึ่งถึงปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ว่า
"คนที่ยืนอยู่บนพื้นที่เหล่านั้นย่อมสำคัญกว่าพื้นที่และที่ว่าง หรือหากจะให้ผมอ้างนักทฤษฎีหรือใครต่อใครมายืนยันว่าคนสำคัญกว่าพื้นที่ ก็คงจะต้องยกชื่อนักมานุษยวิทยามาหมดโลกนั่นแหละ แต่คนที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีและลึกซึ้งที่สุดคงไม่พ้นนักภูมิศาสตร์ชื่ออองรี เลอร์แฟบวร์ ที่วิพากษ์การทำพื้นที่ให้ไร้ความเป็นมนุษย์ เพื่อการที่ผู้มีอำนาจจะได้สามารถแปลงพื้นที่เหล่านี้ไปเป็นผลผลิตและการขูดรีดมนุษย์ ถ้าพูดแบบเลอร์แฟบวร์ ซึ่งอาจารย์ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย ถ้อยคำแบบ ศอฉ.และรัฐบาล เป็นภาษาที่นายทุนอำมหิตใช้เข่นฆ่าผู้คนอย่างไม่เห็นหัวมนุษย์ชัดๆ"
จดหมายเปิดผนึก ยังวิพากษ์ "อาจารย์อมราผู้เป็นศาสตราจารย์ทางมานุษยวิทยา" อีกหลายแง่มุม หาอ่านได้ในหลายๆ เว็บไซต์
ที่อยากจะเสริมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดนี้ ซึ่งอันที่จริงก็มีผู้ทรงภูมิความรู้มากมาย แต่เหมาะสมกับความเป็นนักสิทธิมนุษยชนหรือไม่
เอาง่ายๆ กรณี พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด ซึ่งเป็นนายตำรวจมือดี เติบโตมาในสายกองคดี เป็นอดีตผู้ช่วย ผบ.ตร.ด้านกฎหมายและสอบสวน ตำแหน่งสุดท้ายคือที่ปรึกษา สบ10 ด้านความมั่นคง
เกียรติประวัติในชีวิตตำรวจดีงาม
ทั้งชีวิตก็คือผู้รักษากฎหมาย แล้วจิตวิญญาณนักสิทธิมนุษยชนก่อเกิดขึ้นเมื่อไร
เพียงแค่นี้ก็พอจะเข้าใจกรรมการสิทธิชุดนี้ได้ไม่ยาก
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย