http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-12

ใบตองแห้ง: เถื่อนมาก็เถื่อนไป?

.

'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: เถื่อนมาก็เถื่อนไป ?
ใน www.prachatai.com/journal/2012/07/41516 . . Thu, 2012-07-12 20:02


ใบตองแห้ง
12 ก.ค.55



ศุกร์ 13 จะออกมาอย่างไร หลายคนคาดการณ์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ให้แก้มาตรา 291 ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่ไม่ยุบพรรคตัดสิทธิ ล้มระบอบรัฐสภา 
แต่ไม่ว่าออกมาทางร้าย หรือร้ายแรงที่สุด ผลที่เกิดขึ้นแน่นอนคือ มวลชนเสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตยจะตระหนักว่า ระบอบประชาธิปไตยแบบอำมาตย์กำลังดื้อรั้นรักษาอำนาจโดยไม่คำนึงถึงเหตุผล ความชอบธรรม หรือกฎกติกา โดยถือดีว่ามีอำนาจศาลและอำนาจปืนอยู่ในมือ

เราไม่สามารถรอมชอมกับระบอบประชาธิปไตยแบบอำมาตย์ได้ ทั้งที่ได้พยายามต่อสู้ในกติกาแล้ว

ภายหลังการยุบพรรคไทยรักไทย ยุบพรรคพลังประชาชน จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร มวลชนเสื้อแดงลุกฮือขึ้นสู้ ในเดือนเมษายน 2552 และเมษา-พฤษภา 2553 ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นการใช้กำลังทางกายภาพตอบโต้ความรุนแรงที่เป็นนามธรรมของรัฐประหารและศาล ฝ่ายอำมาตย์คิดว่าการยั่วยุให้มวลชนทนไม่ไหวจะเป็นโอกาสให้อ้างความชอบธรรมใช้กำลังปราบปราม แล้วชาวบ้านโง่ๆ ถูกหลอก ถูกซื้อ ถูกยิงตายซักหลายสิบคนก็คงจะฝ่อไป แต่พวกเขาคิดผิด แม้การยิงหัวไพร่เสื้อแดงจะได้ใจสลิ่ม ผู้ดีชาวกรุง ดารา ไฮโซ แต่ในชนบทอันกว้างใหญ่ ในภาพรวม ในทางสากล พวกเขาพ่ายแพ้ทางการเมือง จนกระทั่งพรรคเพื่อไทยกลับมาได้ชัยชนะล้นหลาม โดยได้รับการสนับสนุนจากนานาประเทศด้วย  

ความพยายามก่อรัฐประหารโดยศาลครั้งนี้ ชัดเจนว่าเป็นไปอย่างดันทุรัง ในการรับคำร้องตามมาตรา 68 ซึ่งผิดทั้งแง่กระบวนการและเนื้อหา
ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยทั้งที่ไม่มีอำนาจ ใช้อำนาจโดยพลการอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ถามว่าพวกเขาไม่ตระหนักหรือ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากชี้ผิด ยุบพรรค ตัดสิทธิ

สงครามกลางเมืองสิครับ มวลชนจะลุกฮือขึ้นมาตะโกนว่า กูทนไม่ไหวแล้วโว้ย


ในแง่หนึ่งคือการหยั่งเชิงของฝ่ายอำมาตย์ ถ้าประชาชนทนไม่ไหวลุกฮือ มันก็คือโอกาส ที่จะเอากำลังทหารออกมารักษาความสงบ โค่นรัฐบาล แล้วเดินไปตามสูตรอียิปต์บวก ม. 7 ขอรัฐบาลพระราชทาน อย่างที่บิ๊กจิ๋วดักคอ
แต่ในขณะเดียวกัน ฝ่ายอำมาตย์ก็ไม่มั่นใจว่า ถ้าประชาชนทนไม่ไหว แล้วพวกเขา “เอาอยู่” หรือไม่ เป็นสถานการณ์ที่ประเมินยาก แม้แต่ฝ่ายรัฐบาล เพื่อไทย นปช.ก็ยังประเมินไม่ออก ว่าขณะนี้มวลชน “ตาสว่าง” เพียงไร และพร้อมจะสู้ถึงที่สุดแค่ไหน มันจึงเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง หากไปถึงจุดนั้น

หากไม่กล้าแตกหัก ก็อาจรัฐประหารครึ่งใบ ไม่ยอมให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ไม่ยุบพรรคตัดสิทธิ แบบนั้นจะกลับมาสร้างภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกให้รัฐบาลเพื่อไทยและมวลชนเสื้อแดง คือมวลชนโกรธแค้น แต่ไม่รู้จะระบายออกอย่างไร เพราะอีกด้านหนึ่งก็ต้องรักษาอำนาจของรัฐบาล มวลชนไม่สามารถออกมาก่อความไม่สงบ ชุมนุม ปิดถนน ก่อความรุนแรง ที่จะกลายเป็นบั่นทอนเสถียรภาพรัฐบาล ฝ่ายรัฐบาลเอง ก็น่าจะต้องกล้ำกลืนยอมรับคำสั่งศาล ขณะที่มวลชนไม่ยอมรับ และต้องการระบายความแค้น นี่เป็นปัญหาที่จะต้องจัดการให้ดี และต้องเข้าใจการแยกกันเดิน
มวลชนต้องแสดงพลัง เพื่อตอบโต้ฝ่ายอำมาตย์ นี่เป็นสิ่งที่ต้องยืนยัน เพราะถ้าไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ของนักวิชาการและมวลชนมาตั้งแต่ต้น ฝ่ายอำมาตย์ก็คงไม่ลังเลที่จะใช้แผน 1 ฉะนั้นการที่พรรคเพื่อไทยจะบอกให้มวลชนเสื้อแดงยอมรับคำสั่งศาล จึงเป็นเรื่องงี่เง่า แต่แน่นอนว่าสำหรับรัฐบาลอาจต้องเลือกเดินอีกอย่าง เพื่อรักษาฐานอำนาจและพยุงตัวอยู่ในกระแสสาธารณะที่คนทั่วไปยังไม่อยากให้แตกหัก ด้านนี้มวลชนก็ต้องเข้าใจรัฐบาลเช่นกัน แต่ไม่จำเป็นต้องบอกว่าเห็นพ้องกัน มวลชนสามารถตอบโต้อย่างเต็มที่ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล
รัฐบาลเองก็ควรตอบโต้ในกรอบของรัฐบาลด้วย เช่น แม้ประกาศว่ายอมรับคำสั่งศาลเพื่อความสงบของบ้านเมือง แต่ก็เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทันที แบบสวนหมัดกัน ให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด รื้ออำนาจ ที่มา องค์ประกอบขององค์กรอิสระ โดยทำได้รวดเร็วเพราะไม่ต้องเลือกตั้ง สสร.ไม่ต้องลงประชามติด้วย



ไม่ว่าผลจะออกมาทางร้าย หรือร้ายแรง สิ่งที่ควรตระหนักคือ เราไม่สามารถรอมชอมกับอำมาตย์ได้ ทั้งที่สังคมไทยควรจะใช้กระบวนการประชาธิปไตยเจรจา ต่อรอง ปรับโครงสร้างอำนาจ ให้เกิดความสมดุล และต่อสู้ความคิดกันไปภายใต้ระบอบประชาธิปไตยปกติ
ประชาธิปไตยแบบอำมาตย์กลัวความเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงอย่างเลี่ยงไม่พ้น พวกเขามีเวลาอีกไม่กี่ปี จึงดิ้นรนรักษาอำนาจ และถ้าจำเป็นก็พร้อมจะแตกหัก พวกเขาหวังว่าจะยั่วยุให้ประชาชนทนไม่ไหว เพื่อนำไปสู่การใช้กำลัง ใช้กองทัพ ในรูปแบบที่ไม่ใช่รัฐประหาร แต่อ้างได้ว่าเพื่อรักษาความสงบ เพียงแต่พวกเขาก็กลัวอยู่เหมือนกันว่าการยั่วยุให้ประชาชนทนไม่ไหวนี้ มันจะบานปลายไปเพียงไร

2-3 วันก่อนผมเพิ่งคุยกับธงชัย วินิจจะกูล ธงชัยฝากข้อคิดว่า การอภิวัฒน์ 2475 ที่ฝ่ายอำมาตย์อ้างว่าชิงสุกก่อนห่ามนั้นเป็นการบิดเบือนประเด็น เพราะความเป็นจริง ไม่มีการปฏิวัติหรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ไหน เกิดขึ้นโดยประชาชนพร้อม ตื่นตัว รู้แจ้ง เห็นอนาคตหมดจด แต่มันเกิดขึ้นเพราะประชาชน “ทนไม่ไหว” กับระบอบที่ดำรงอยู่ เท่านั้นเอง นี่แม้แต่การปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งธงชัยบอกว่า คนยังเข้าใจผิดที่ว่าฌอง ฌาค รุสโซ มีอิทธิพลต่อการปฏิวัติฝรั่งเศส เพราะงานของรุสโซในสมัยนั้นไม่มีใครอ่าน แต่คนรุ่นหลังไปจับมา match กัน การปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดขึ้นเพราะประชาชนทนไม่ไหว เท่านั้นเอง ไม่ได้มีทฤษฎีชี้นำอะไรหรอก
เมื่อทนไม่ไหวก็โค่นล้มระบอบ ต่อมาการปฏิวัติฝรั่งเศสจึงวุ่นวายสับสนจนฆ่ากันเอง

อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นนักโทษการเมืองที่ติดคุก 2 ปีหลัง 6 ตุลา ธงชัยก็ยืนยันว่าไม่อยากเห็นการปฏิวัติ หรือการเปลี่ยนแปลงด้วยความรุนแรง
ผมเอง ซึ่งเคยเข้าป่าจับปืนอยู่ 4 ปี ก็เห็นด้วย เพราะเอาเข้าจริงมันไม่เคยมีการปฏิวัติที่ “ฟ้าสีทองผ่องอำไพ” ปฏิวัติฝรั่งเศสฆ่ากันเอง ปฏิวัติจีน รัสเซีย ก็ฆ่ากันเอง ปฏิวัติคิวบา นิคารากัว ไม่เคยเป็นไปตามความฝันอันงดงาม เพราะเมื่อคุณปฏิวัติแล้วก็ต้องใช้อำนาจปกป้องค้ำจุนการปฏิวัติ
แล้วอำนาจนั้นก็กลืนกินตัวเอง
ประชาธิปไตยเท่านั้น ที่เป็นทางออก ไม่ใช่ “ปฏิวัติประชาชน”

เพียงแต่ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เราไม่ได้เป็นผู้กำหนด ฝ่ายอำมาตย์เป็นผู้กำหนดให้เกิดความรุนแรง ในสถานการณ์เช่นนี้เราจะบอกให้มวลชนหงอ นั่งพับเพียบ ก็ไม่ได้ เพราะยิ่งไม่สู้ เขายิ่งได้ใจ แน่นอนด้านหนึ่งเรามีอาวุธคือเหตุผล หลักการประชาธิปไตย และความชอบธรรม แต่เมื่อเขาไม่สนใจหลักการเหล่านี้แล้ว ต้องการใช้กำลัง เราก็มีแต่มวลชนและอารมณ์โกรธแค้นของมวลชน เป็นอาวุธต้าน

ผมไม่ได้บอกให้ใช้กำลังเพื่อการเปลี่ยนแปลง เพราะเป้าหมายคือการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ ในวิถีประชาธิปไตย ไม่เอาการเปลี่ยนแปลงด้วยความรุนแรง แต่ในขั้นตอนระหว่างนั้น บางครั้งก็จำต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อต้าน การแสดงอารมณ์ของมวลชน ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ในกรอบ นอกกรอบ มันก็คือการตอบโต้โดยธรรมชาติ ที่ส่งผลให้ฝ่ายตรงข้ามต้องยับยั้งชั่งใจ


นี่เป็นเรื่องลำบากใจสำหรับผู้นำการเคลื่อนไหวมวลชน ว่าในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อแต่ละครั้ง จะกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวอย่างไร เพราะต้องรับผิดชอบทั้งจุดมุ่งหมาย ชีวิตคน ผลทางการเมือง และชัยชนะหรือความพ่ายแพ้

ถ้าเขาใช้อำนาจเถื่อนมาแล้วเราเถื่อนไป ใช้กำลัง ใช้อารมณ์ นอกจากสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อแล้ว ชัยชนะที่ได้มาด้วยความรุนแรงยังไม่คุ้มกับความสูญเสีย แต่ถ้าเขาเถื่อนมา แล้วเรายังสู้ไปกราบไป นอกจากไม่ชนะแล้ว เขาก็คงไม่เอาเราไว้อยู่ดี จะยิ่งบดขยี้อีกต่างหาก



.