.
AEC
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมิติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 12:19:51 น.
( ที่มา คอลัมน์ กระแสทัศน์ ของ นสพ.มติชนรายวัน 30 กรกฎาคม 2555 )
ผมจะจั่วหัวเรื่องเป็นภาษาไทยก็ได้ แต่จะทำให้ผมดูไม่พร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า
ในทรรศนะของผู้รู้ประเภทต่างๆ ในเมืองไทย ภาษาอังกฤษดูจะเป็นมิติหลักเพียงมิติเดียวของการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เพราะตรงกันข้ามกับความคิดเริ่มต้นในการประชุมอาเซียน ที่จะสร้างพื้นที่แห่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อปกป้องตนเองและแข่งขันกับภูมิภาคอื่น
ท่ามกลางความเติบใหญ่อย่างรวดเร็วของจีนและอินเดีย ท่านผู้รู้ในเมืองไทยมองประชาคมเศรษฐกิจเป็นเวทีการแข่งขันกันเองในระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน มากกว่าเวทีแห่งความร่วมมือ
หลายท่านพูดถึงความถนัดภาษาอังกฤษของพม่า, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ว่าเป็นข้อได้เปรียบเหนือไทย ข้อนี้จริงอย่างแน่นอน แต่ได้เปรียบทางไหน? คำตอบคือได้เปรียบในการได้งานทำ เมื่อตลาดงานกว้างขึ้นในประชาคม นายจ้างย่อมอยากจ้างคนที่สื่อสารกันได้มากกว่าเป็นธรรมดา
แต่ที่จริงแล้ว การรู้ภาษาที่สองอย่างดี ทำให้ประเทศเหล่านั้นได้เปรียบในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลและความคิดที่แตกต่างออกไปกว้างขวางขึ้น (ส่วนจะก้าวหน้าหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) แต่ความรู้ทางภาษาอย่างเดียวไม่พอ เพราะระบบการศึกษาของประเทศต้องกระตุ้นให้ผู้คนไขว่คว้าหาความรู้ใหม่ๆ ด้วย หากระบบการศึกษาไม่เอื้ออำนวย ความรู้ภาษาที่สองก็ทำให้ประชาชนมีความถนัดจะเป็นคนรับใช้ในครอบครัวคนต่างประเทศเท่านั้น
อันที่จริง แม้ในภาษาไทยเอง ก็มีข้อมูลความรู้ใหม่ๆ ให้ค้นหามากมาย แต่คนไทยก็ไม่ค่อยได้ใช้ภาษาที่ตัวถนัดเพื่อการนี้เท่าไรนัก
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ควรนำเราไปสู่ปัญหาที่ลึกกว่าภาษาอังกฤษเพื่อหางานทำ เช่นนำเราไปสู่การเปรียบเทียบคุณภาพการศึกษาระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกัน และหากดูลำดับมหาวิทยาลัยอาเซียน จะพบว่ามหาวิทยาลัยไทยอยู่ในตำแหน่งค่อนข้างบ๊วย เมื่อเทียบกับสิงคโปร์, มาเลเซีย, และฟิลิปปินส์ ความได้เปรียบไม่ได้อยู่ที่ภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่มีอะไรที่เป็นแก่นสารกว่าซึ่งผู้รู้ไทยไม่ใส่ใจเท่ากับงานคนรับใช้
ที่วิศวะ, นักบัญชี, พยาบาล ฯลฯ ไทยไม่ถูกเลือกใช้ในตลาดอาเซียน อาจไม่เฉพาะแต่ภาษาอังกฤษไม่ดี แต่ความรู้ในสาขาอาชีพของตัวก็ไม่ดีโดยเปรียบเทียบกับคนอื่นก็อาจเป็นไปได้
แต่ความได้เปรียบของคนอื่นอาจเป็นคุณแก่เราก็ได้ เช่นเพราะเป็นประชาคมเดียวกัน โอกาสที่เราจะเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพเหล่านั้น เพื่อพัฒนาตัวเราเองก็เป็นไปได้ง่ายขึ้น หากมองประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในเชิงร่วมมือ แทนที่มองแต่มิติด้านการแข่งขันเพียงอย่างเดียว
ยิ่งกว่านั้น ควรคิดในทางกลับกันบ้างว่า ในฐานะร่วมประชาคมเศรษฐกิจเดียวกัน เรามีอะไรจะให้คนอื่นบ้าง ไม่ใช่คิดแต่จะเอาเพียงอย่างเดียว
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่เข้มแข็ง ทำงานได้ดี จะเป็นประโยชน์ต่อเราและประเทศอาเซียนอื่นๆ ในระยะยาวเสียยิ่งกว่างานคนรับใช้ที่จะได้มาในช่วงนี้
การผนึกกำลังทางเศรษฐกิจของกลุ่มอาเซียน มีความหมายถึงความเข้มแข็งของทุกประเทศ และประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับร่วมกัน
หากนำไปสู่ฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของประชาชนใน 10 ประเทศ ย่อมหมายความว่า เราจะเป็นตลาดที่ใหญ่ครึ่งหนึ่งของจีนและอินเดีย และน่าจะมีกำลังซื้อสูงกว่าทั้งสองแห่งนั้นด้วย จึงเป็นตลาดสำคัญของโลก ที่คุ้มแก่การลงทุนในด้านต่างๆ ไม่แพ้จีนและอินเดียเช่นกัน
การผนึกกำลังได้แท้จริงจึงน่าเป็นเป้าหมายที่เหนือกว่าการขยายตัวของตลาดงานจ้าง มีสามอย่างเป็นอย่างน้อยที่สำคัญยิ่งในการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคม แต่ไม่ค่อยได้รับความใส่ใจมากไปกว่าภาษาอังกฤษและภาษาชาติอื่นของอาเซียน
1. เราควรรู้จักเพื่อนอาเซียนของเราให้มากขึ้น ไม่เฉพาะแต่การเต้นระบำรำฟ้อน แต่ควรรวมถึงประวัติศาสตร์, ชีวิตความเป็นอยู่, ปัญหาที่เขาเผชิญอยู่, การเมืองและเศรษฐกิจ, ความภาคภูมิใจ, ความละอาย ฯลฯ ของเขาด้วย การเรียนภาษาของเขาไม่ใช่เพื่อหางานทำในประเทศของเขาเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่าก็เพราะภาษาเป็นสะพานไปสู่ความรู้จักคุ้นเคย สามารถทำความเข้าใจเขาจากจุดยืนของเขาเอง ไม่ใช่จากคำพิพากษาตายตัวของเรา (ซึ่งมักรับมาจากฝรั่งอีกทีหนึ่ง)
คนไทยควรเป็นคนน่ารักแก่เพื่อนบ้านมากกว่าที่เราเป็นอยู่อย่างมาก และนั่นคือทางที่จะได้มาซึ่งความรักความเข้าใจจากเพื่อนบ้านตอบแทน เป็นความไว้วางใจที่เหมาะสำหรับการร่วมทุน, ร่วมตลาด, และร่วมธุรกิจกันได้ในระยะยาว
น่าสังเกตด้วยว่า ครูตามโรงเรียนชายแดน และอาจารย์ในราชภัฏชายแดน ดูจะสำนึกประเด็นนี้ยิ่งกว่าผู้รู้ในกรุงเทพฯ โรงเรียนและราชภัฏหลายแห่งจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมเพื่อนบ้านให้แก่นักเรียนและนักศึกษาของตน
2. อาชีพ 7 อย่างที่กำลังจะเปิดเสรี ไม่ใช่ช่องสำหรับตลาดงานของคนในอาชีพนั้นๆ เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการปรับมาตรฐานเข้าหากันของประเทศกลุ่มอาเซียนด้วย เช่นภาระของนักบัญชี ไม่ใช่เพียงการต้องไปสอบให้ได้รับใบอนุญาตในประเทศอื่นเท่านั้น แต่หมายถึงความพยายามของวงวิชาชีพบัญชี ที่จะปรับระบบเข้าหากัน ให้ได้มาตรฐานที่สูงจนเป็นที่ยอมรับของโลก (มาตรฐานบัญชีของประเทศเดียว ย่อมต่อรองเพื่อการยอมรับได้ยากกว่ามาตรฐานของ 10 ประเทศ) จะเกิดตลาดงาน และเปิดโอกาสให้คนอาเซียนประมูลงานนอกอาเซียนได้สะดวกขึ้น
3. มาตรฐานวิชาชีพของทั้ง 7 สาขานั้น หากร่วมกันพัฒนาให้เป็นระบบที่โปร่งใส และอาจถูกตรวจสอบจากสาธารณชนได้ง่ายขึ้น ก็จะมีการโอนย้ายทุน และฝีมือแรงงาน ได้สะดวกกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ เพราะมีความไว้วางใจต่อกันมากขึ้น
นี่เป็นการมองเฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่ก็มีส่วนในการปรับระบบการเมืองของแต่ละประเทศเข้าหากันด้วย ในเวลานี้อาเซียนทุกประเทศล้วนเป็นประชาธิปไตยแบบไม่เสรีทั้งสิ้น การที่สาธารณชนทั้งในแต่ละประเทศ หรือข้ามประเทศ (เช่นในกรณีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์) สามารถตรวจสอบข้อมูลได้แจ่มกระจ่าง เท่ากับเพิ่มพลังของสังคมอาเซียนในการกำกับควบคุมรัฐและทุนให้มีมากขึ้น อันจะเป็นผลดีต่อประชาธิปไตยของแต่ละประเทศในระยะยาว
ในขณะเดียวกันก็จะช่วยลดคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในทุกประเทศอาเซียนด้วย
ประเทศไทยพร้อมหรือไม่ที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคตอันใกล้?
หากเรายังสนใจอยู่แต่เพียงโอกาสของการจ้างงาน หรือปกป้องตลาดงานภายในประเทศ เราก็ยังไม่พร้อม
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย