ใครคือ “มหาเทวีแม่ลูกสอง” ผู้มิใช่ “มหาเทวีสองแม่ลูก”
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1667 หน้า 76
ชื่อบทความชิ้นนี้ไม่ได้ตั้งใจจะหาเรื่อง "คำ กวน วอน" ด้วยการพลิกศัพท์ดอกนะคะ
คำว่า "มหาเทวีแม่ลูกสอง" กับ "มหาเทวีสองแม่ลูก" นั้นมีอยู่จริง เป็นฉายาที่พบอยู่ในตำนานจารึกยุคที่อาณาจักรล้านนากำลังรุ่งโรจน์ ราวพุทธศตวรรษที่ 20-21
สมัญญาแรก "มหาเทวีแม่ลูกสอง" นั้นมีการถกเถียงกันอย่างหนักว่าควรหมายถึงใครกันแน่ เพราะจารึกที่พบนั้นมีเพียงชิ้นเดียว แถมยังอยู่สูงลิบลิ่ว ถึงแหงนคอตั้งบ่าอย่างไรก็มองไม่เห็น ด้วยจารอยู่บนแผ่นทองจังโก (แผ่นทองเหลืองปิดทองคำเปลว) ที่หุ้มองค์พระบรมธาตุหริภุญไชยโน่น
ส่วนฉายาหลัง "มหาเทวีสองแม่ลูก" เป็นจารึกที่พบกลาดเกลื่อน อาจหมายถึง "แม่-ลูก" คู่ไหนก็ได้ จารึกแต่ละหลักจึงไม่จำเป็นต้องหมายถึง "แม่-ลูกคู่นั้นเพียงคู่เดียว" เสมอไป
"มหาเทวีแม่ลูกสอง"
แสนสับสนโอละแม่...
"มหาเทวี" คือพระราชมารดาของกษัตริย์ เป็นตำแหน่งสำคัญที่สุดในบรรดาขัตติยนารีล้านนา ถือว่ามีบทบาทสูงกว่าสมัยที่ยังเป็นพระอัครมเหสี สามารถชี้นำควบคุมกิจการบ้านเมืองให้แก่ลูกผู้เป็นยุวกษัตริย์ในฐานะ "อดีตราชินี" หรือซูสีไทเฮาผู้มากประสบการณ์
เรื่องราวของ "มหาเทวีแม่ลูกสอง" พบอยู่บนแผ่นทองบุองค์ระฆังเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย ระหว่างลายกลีบบัวบาน 8 ดอก สลับด้วยพระพุทธรูปดุนนูนประทับยืนปางถวายเนตร 5 องค์ และพระพุทธรูปลีลา 3 องค์
พื้นที่ใกล้กับพระพุทธรูป 3 ใน 8 องค์ พบจารึกอักษรฝักขามระบุนามของผู้สร้าง
2 ใน 3 เป็นพระมหาเถระ จารึกหนึ่งลบเลือนมีเพียงคำว่า "มหาเถร..." ชื่อตอนท้ายหายไป ส่วนจารึกที่ชัดอีกด้านเขียนว่า "มหาเถรสุเมธังกร"
จารึกที่เหลืออีกหนึ่ง คือทิศตะวันตกเฉียงเหนือกลับทิ้งปริศนา ถอดความได้ว่า
"เจ้ามหาเทวีผู้เป็นแม่แก่เจ้าพระญาทั้งสองพี่น้อง ผู้เป็นมหาอุบาสิกาแก่ฝูงสงฆ์ทั้งหลาย ด้วยผลแห่งการสร้างพระพุทธรูปขอให้ถึงซึ่งมหานิพพาน และได้พบพระศรีอาริยเมตไตรย"
อุตส่าห์พบจารึกแต่กลับไม่ระบุศักราช การปรากฏจารึกนี้จึงไม่ทราบว่าหมายถึง "แม่คนไหนที่มีลูกชายเป็นราชาถึงสองคน" ยิ่งพระธาตุหริภุญไชยถือเป็นวัดสำคัญที่สุดของล้านนา กษัตริย์ทุกองค์ต้องทำนุบำรุงอยู่แล้ว ก็ยิ่งชวนให้คลำทางยากขึ้นไปกันใหญ่
นักวิชาการหลายฝ่ายพยายามถอดรหัสไล่เลียงความเป็นไปได้ เพื่อตามหา "มหาเทวีแม่ลูกสอง" แห่งราชวงศ์มังราย มีข้อสันนิษฐานหลายแนวทาง ตามลำดับองค์ความรู้ที่ค้นพบดังนี้
แนวทางแรก เคยพุ่งตรงไปยัง "พระมหาเทวีอโนชา" หรือ "พระนางโป่งน้อย" มเหสีของพระญายอดเชียงราย ซึ่งระบุไว้ในชินกาลมาลีปกรณ์ว่า เป็นพระมารดาของกษัตริย์สองพี่น้อง คือพระเมืองแก้ว กับพระเมืองเกษเกล้า (พระญาแก้ว-พระญาเกส) แต่แล้วเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมาพิพิธภัณฑ์หริภุญไชยจัดสัมมนาเปิดประเด็นเรื่องพระญาแก้ว-พระญาเกส ได้ข้อสรุปว่าชินกาลมาลีปกรณ์เป็นเอกสารเพียงเล่มเดียวที่ระบุว่าทั้งสองเป็นพี่น้องกัน แตกต่างไปจากตำนานอื่นทุกเล่ม ซึ่งกล่าวว่า พระญาเกสเป็นโอรสของพระญาแก้ว
ฉะนี้แล้ว ประเด็นที่เคยเชื่อกันว่า "มหาเทวีแม่ลูกสอง" หมายถึงพระนางโป่งน้อยจึงตกไป แต่ไม่ตกสำหรับฉายา "มหาเทวีสองแม่ลูก" อันเป็นคู่แม่-ลูกที่พบว่าทำบุญมากที่สุดในบรรดาจารึกล้านนา โชคดีที่จารึกหลายหลักระบุศักราชชัด แม้จะไม่ระบุพระนามจริง
ในเมื่อ พระนางโป่งน้อย-พระญาแก้ว ได้กลายเป็น "มหาเทวีสองแม่ลูก" ไม่ใช่ "มหาเทวีแม่ลูกสอง" ไปเสียแล้ว ทำให้นักวิชาการล้านนาเจองานเข้าอย่างหนัก
เริ่มด้วย ดร.ฮันส์ เพนธ์ รวมทั้ง รศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้สันนิษฐานแนวทางที่สองว่า อาจหมายถึง พระมเหสีของพระญาไชยสงคราม (ขุนคราม) ซึ่งไม่ทราบนาม ผู้เป็นชนนีของพระญาแสนภูกับท้าวน้ำถ้วม
อันที่จริงขุนครามมีโอรสสามองค์ องค์สุดท้องชื่อท้าวน่านเชียงของ แต่องค์ที่ได้เสวยราชย์ครองเมืองเชียงใหม่-เชียงรายมีแค่สอง บางทีนัยที่ว่า เป็นแม่แก่เจ้าพระญาทั้งสอง จึงอาจไม่จำกัดว่าต้องมีลูกชายแค่สองคนเท่านั้น ทว่าในบรรดาโอรสหลายองค์ ต้องมีอยู่สองที่ได้เป็นกษัตริย์
หากแนวทางนี้เป็นจริง ย่อมส่งผลสะท้านสะเทือนถึงเขาพระสุเมรุ ขั้นพลิกประวัติศาสตร์ล้านนาอย่างถล่มทลายทีเดียว เหตุเพราะเราไม่เคยพบจารึกอักษรฝักขามในล้านนาที่เก่าเกินไปว่าศิลาจารึกวัดพระยืนที่ลำพูน ยุคพระญากือนา (1912) มาก่อนเลย
หากจารึกมหาเทวีแม่ลูกสองเขียนขึ้นในยุคพระญาแสนภู (กษัตริย์ลำดับ 3 หลานปู่พระญามังราย) ก็เท่ากับว่าแผ่นทองจังโกนี้ต้องเก่ากว่าศิลาจารึกวัดพระยืนร่วม 5 ทศวรรษ มาถึงจุดนี้ชักจะทำให้หลายคนผงะ
ทฤษฎีนี้จึงถูกแขวนพักไว้ก่อน
สำหรับแนวทางที่สาม เชื่อกันว่าหมายถึง "พระนางจิตราเทวี" มเหสีในพระญาผายู ผู้เป็นมารดาของพระญากือนา และท้าวมหาพรหม องค์น้องนี้ได้นั่งเมืองเชียงรายในฐานะอุปราช เป็นทฤษฎีที่มีผู้สนับสนุนอย่างแน่นหนา
อาทิ อ.ฉ่ำ ทองคำวรรณ นักจารึกวิทยาผู้คร่ำหวอดด้านจารึกล้านนา เป็นผู้ปริวรรตถอดคำแปลสู่ภาษาไทย ก็ยืนยันว่าไม่เคยเห็นจารึกชิ้นใดที่เก่าเกินไปกว่าจารึกวัดพระยืนได้ โดยเฉพาะพัฒนาการด้านรูปแบบอักขระ ฉะนั้น จารึกมหาเทวีแม่ลูกสองชิ้นนี้จึงกำหนดอายุให้ไม่เกินพระญากือนา
ต่อมาผู้สันทัดกรณีด้านพระพุทธปฏิมา อาทิ สุรศักดิ์ ศรีสำอางค์ และ ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ แห่ง ม.ศิลปากร ต่างก็สนับสนุนทฤษฎีนี้ โดยนำพระพุทธรูปลีลาบนแผ่นดุนนูนที่อยู่ใกล้กับจารึก ไปเปรียบเทียบกับพระพุทธรูปลีลาที่วัดป่าสักเชียงแสน อันเป็นผลงานสมัยพระญากือนา ว่ามีรูปแบบละม้ายศิลปะสุโขทัยเหมือนๆ กัน อันเป็นการรับอิทธิพลผ่านมาทาง "พระมหาสุมนเถระ" ที่เดินทางจากสุโขทัยมายังวัดพระยืน
ฟังๆ ดูแล้ว ก็มีน้ำหนักมากพอที่ชวนให้คล้อยตาม และน่าจะยุติปริศนา "มหาเทวีแม่ลูกสอง" ไว้เพียงเท่านี้ แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่
ปรัศนีแห่ง "มหาเทวีแม่ลูกสอง"
ยังไม่อวสาน
ปี2552 ดิฉันได้รับมอบหมายให้เรียบเรียงหนังสือเรื่อง "พระธาตุหริภุญไชย" สิ่งที่คาใจก็คือการหาข้อสรุปไม่ลงตัวว่าใครคือ "มหาเทวีแม่ลูกสอง" บนจารึกองค์พระธาตุนั่น จึงได้ขอคำปรึกษาจาก อ.พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร
ท่านกลับเห็นแย้ง ไม่เชื่อว่าคำจารึกนั้นทำขึ้นในยุคพระญากือนา ด้วยเหตุผลสามประการที่น่ารับฟังยิ่ง
ประการแรก วัดพระธาตุหริภุญไชยเป็นวัดหลวง หากพระญากือนามาบูรณะปฏิสังขรณ์จริง ไฉนจึงไม่พบเรื่องราวที่กล่าวอ้างเหตุการณ์สำคัญเช่นนี้ในเอกสารตำนานอื่นใดอีก
ในทางกลับกัน ตำนานเอกสารหลายเล่มกลับระบุชื่อกษัตริย์ล้านนาองค์ต่างๆ ว่ามีส่วนมาบูรณะพระธาตุหริภุญไชย บ้างก็ยกยอดฉัตร บ้างก็ปิดทองคำเปลว บ้างก็สร้างเสริมความสูง บ้างก็ซ่อมแผ่นทองจังโกที่ชำรุด แต่ในทำเนียบนามเหล่านั้น กลับไม่มีชื่อของพระญากือนา
ในส่วนนี้ ฝ่ายที่เชื่อว่ามหาเทวีแม่ลูกสองทำขึ้นในสมัยพระญากือนา ก็อาจแย้งได้ว่า เหตุเพราะตำนานที่เขียนขึ้นนั้นเป็นตำนานฝ่ายวัดป่าแดงที่เน้นการสรรเสริญบารมีของพระเจ้าติโลกราชและพระเมืองแก้วเป็นสำคัญ โดยพยายามบลัฟพระญากือนาให้ด้อย จึงอาจจงใจลบชื่อให้ตกหล่นไปก็เป็นได้
ประการที่สอง พระญากือนาพยายามสถาปนานิกายใหม่คือสวนดอก แน่นอนว่าต้องเป็นคู่แข่งกับนิกายหริภุญไชยดั้งเดิม ฉะนี้แล้ว พระญากือนาสมควรจะไปยุ่มย่ามกับพระธาตุหริภุญไชยอีกล่ะหรือ?
ประการสุดท้าย นอกจากอาจารย์พิเศษแล้ว หลายคนยังสงสัยว่าทำไมจึงมีการปรากฏนามของพระมหาเถรสุเมธังกร ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นพระสังฆราชาองค์สำคัญในสมัยพระเจ้าติโลกราช แม้บางท่านแย้งว่า "สุเมธังกร" เป็นฉายา ตำแหน่ง และอาจมีหลายองค์ ไม่ใช่ชื่อเฉพาะก็ตาม
หากคิดเช่นนี้ ไยจึงไม่ฟันธงไปเลยเล่า ว่ามหาเทวีองค์นั้นคือพระมารดาของพระเจ้าติโลกราช ในเมื่อตำนานหลายฉบับระบุแน่ชัดว่า มหาราชผู้นี้ได้บูรณะปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุหริภุญไชยครั้งใหญ่เพื่อฉลองสหัสวรรษ 2000
การที่ไม่มีใครกล้าจินตนาการถึงแม่ของพระเจ้าติโลกราช ก็เพราะพระญาสามฝั่งแกนนั้นมีชายาหลายองค์ พระมหาเทวีผู้เป็นมารดาของพระเจ้าติโลกราชมิใช่มเหสีเอก ทั้งยังคลุมเครือว่าพระเจ้าติโลกราชมีพระอนุชาด้วยไหม หรือแม้แต่น้องชายต่างมารดาคนไหนบ้างที่ได้นั่งเมือง คือยุคนั้นเราพบแต่เหตุการณ์ในทำนองซูเปอร์ฮีโร่ "ข้ามาคนเดียว" ตลอดรัชกาล ทำนองหากพ่อแม่พี่น้องคนใดเผยอหน้ามาทาบบารมีก็ต้องมีอันเป็นไป
หรือนี่เรากำลังจะบอกว่า จารึกทองจังโกบนองค์ระฆังสองชิ้นนั้นทำขึ้นต่างยุคกัน ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีคำว่าพระมหาเถรสุเมธังกร ทำในยุคพระเจ้าติโลกราช ประมาณ พ.ศ.2000 ส่วนด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ที่มีคำว่ามหาเทวีแม่ลูกสอง ทำขึ้นในยุคพระญากือนา อาจร่วมสมัยหรือหลังจากจารึกวัดพระยืนปี 1912 เล็กน้อย
หากเป็นเช่นนั้นจริง ทำไมพระเจ้าติโลกราชจึงไม่ทำลายทองจังโกของพระญากือนานั้นเสีย เหมือนกับที่พยายามเปลี่ยนแปลงตำนาน ทุบทิ้งศิลาจารึกต่างๆ ที่กล่าวถึงบุญญาบารมีของพระญากือนาเจ้าลัทธิสวนดอกลงอย่างมากมาย ที่เล็ดรอดหลงเหลือก็มีเพียงศิลาจารึกวัดพระยืน เนื่องจากเป็นเขตอรัญวาสีอยู่นอกเมืองลำพูน จึงรอดพ้นจากปากเหยี่ยวปากกามาได้
ฤๅมาดแม้นพระเจ้าติโลกราชจะรับรู้ว่าสร้างขึ้นในสมัยพระญากือนา แต่ก็เห็นว่าเป็นความตั้งใจของ "แม่" ไม่เกี่ยวกับ "ลูก" จึงไม่อยากละลาบละล้วงจ้วงจาบ และมันก็อยู่สูงเท่านกเขาเหินมากเกินกว่าจะให้ใคร (นักจารึกวิทยารุ่นหลัง) มาซอกแซกอ่านได้ ถึงอ่านออกก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร เพราะไม่ระบุนามอยู่ดี
ในเมื่ออาจารย์พิเศษปฏิเสธพระญากือนา ภารกิจของดิฉันจึงยังไม่จบ ต้องค้นคว้าต่อว่า ควรหมายถึงใคร
ในที่สุดก็เสนอแนวทางที่สี่ เนื่องจากพบข้อมูลว่าในสมัยพระญาแสนเมืองมาก็มีการบูรณะแผ่นทองจังโกหุ้มองค์พระธาตุ เป็นไปได้ไหมว่า จารึกนั้นทำขึ้นในสมัยพระญาแสนเมืองมา (เป็นโอรสของพระญากือนา เป็นบิดาของพระญาสามฝั่งแกน และเป็นอัยกาของพระเจ้าติโลกราช)
ส่วน "มหาเทวีแม่ลูกสอง" ยังคงเป็น "พระนางจิตราเทวี" ตามข้อสันนิษฐานเดิม เพียงแต่ว่ามีอายุยืนยาวในฐานะ "เจ้าตนย่า" มาจนถึงยุคที่หลานชายคือพระญาแสนเมืองมาได้ครองราชย์ ครั้นพระเจ้าติโลกราชมาบูรณะอีกครั้ง เหตุที่ไม่ทำลายจารึกของปู่ (แสนเมืองมา) ก็เพราะมีใจฝักใฝ่ในนิกายป่าแดงเหมือนกัน
ทฤษฎีประนีประนอมขนาดนี้แล้ว น่าจะช่วยคลี่คลายความตึงเครียดในการค้นหา "มหาเทวีแม่ลูกสอง" ให้จบลงเสียที แต่แล้วที่ไหนได้
เมื่อดิฉันไปพลิกอ่านตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญไชย ที่มหาสิงฆะ วรรณสัย ปริวรรตจากคัมภีร์ใบลานอักษรธรรม ระบุปีที่เขียนคือ 2109 ได้พบข้อความชวนระทึกใจอีกว่า "มหาเทวีผู้เป็นมเหสีของพระเมืองเกษเกล้า (ก็คือจิรประภา) ผู้เป็นแม่แก่โอรสทั้งสอง ได้ทำการบูรณะบุทองจังโกแด่องค์พระธาตุเจ้าหริภุญไชย"
อุแม่เจ้า! จิรประภามหาเทวีจอมนางมากตำนาน ก็มีลูกชายสองคนกับเขาด้วย คือท้าวซายคำ (ครองราชย์ต่อจากพระญาเกส) และเจ้าจอมเมือง (เพียงแต่สงสัยว่าองค์น้องได้นั่งบัลลังก์ที่ไหนหรือเปล่า) อันเป็นเนื้อหาที่คล้ายคลึงกันมากกับจารึกบนแผ่นทองจังโก
จึงขอเพิ่มมหาเทวีจิรประภาให้ช่วยกันพิจารณาอีกรายเป็นแนวทางที่ห้า ไม่ทราบว่ายังมีใครอยากเสนอแนวทางที่หก เจ็ด แปด อีกบ้างไหม?
.