http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-30

เขื่อนราษีไศล-หัวนา ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ทวนความจำและข้อเสนอ

.

เขื่อนราษีไศล-หัวนา ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ทวนความจำและข้อเสนอ
จาก www.prachatai.com/journal/2012/07/41790 . . Sun, 2012-07-29 23:21


จดหมายเปิดผนึกถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี)

กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการ เขื่อนราษีไศล-เขื่อนหัวนา
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕

เรื่อง การแก้ไขปัญหากรณีผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศลและโครงการเขื่อนหัวนา

เรียน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี)

ตามที่รัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน และภาคประชาชนในนามองค์กรเครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ได้มีการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาผลกระทบจากกรณีเขื่อนทั้งสองเขื่อนจนเกิดผลเป็นรูปธรรมในบางส่วน เช่น การแต่งตั้งประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา และการอนุมัติ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบอนุมัติในหลักการจ่ายเงินชดเชยแก่ราษฎร เป็นเงิน ๑๓๓,๕๔๒ ล้านบาท แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถจ่ายเงินค่าชดเชยดังกล่าวได้ เหตุเพราะกรมชลประทานยังไม่มีงบประมาณดำเนินการ

ปัจจุบันก็ยังมีปัญหาอุปสรรคอีกหลายด้าน และหลายเรื่องที่ไม่สามารถดำเนินการต่อเนื่องให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา และมีความจำเป็นที่จะต้องปรึกษาแนวทางด้านนโยบายที่ชัดเจน เพื่อให้เป็นแนวทางในการแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ซึ่งแยกออกเป็นรายกรณีดังนี้


ก. กรณีเขื่อนราษีไศล

ความเป็นมา
เขื่อนราษีไศล เป็นองค์ประกอบหนึ่งของโครงการโขง ชี มูล  วัตถุประสงค์เพื่อยกระดับและเก็บกักน้ำในลำน้ำมูนและลำสาขา และผันน้ำโขงเข้ามาเติมปริมาณในพื้นที่ชลประทานของโครงการ เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอุปโภคบริโภคและเกษตรกรรมและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ที่รับผิดชอบโครงการในขณะนั้นให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านในพื้นที่ว่าจะก่อสร้างเป็นฝายยาง เก็บน้ำแค่ริมตลิ่งน้ำแม่มูน เริ่มก่อสร้างเมื่อปี ๒๕๓๔ ตรงบริเวณปากห้วยทับทันไหลลงสู่แม่น้ำมูน ตัวโครงการตั้งอยู่บริเวณ บ้านดอนงูเหลือม ตำบลหนองแค  อำเภอราษีไศล  จังหวัดศรีษะเกษ ดำเนินการโดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เริ่มกักเก็บน้ำเมื่อปี ๒๕๓๖  การดำเนินงานโครงการไม่มีไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมก่อนดำเนินโครงการ ขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของชุมชน และไม่มีการกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น 

เมื่อมีการเก็บกักน้ำได้เกิดผลกระทบขึ้นอย่างกว้างขวาง จึงทำให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผ่านมาแล้วกว่า ๑๐ รัฐบาล

ภายหลังการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมปี ๒๕๔๕ เป็นผลให้การแก้ปัญหาเขื่อนราษีไศลถูกโอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

จากการออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมเรียกร้องของชาวบ้านในนามสมัชชาคนจนราษีไศล-หัวนา ตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ จนถึงปัจจุบัน ได้เกิดแนวทางการแก้ไขปัญหา คือ (๑) การแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศล เพื่อพิจารณาชดเชยการสูญเสียที่ดินทำกินของราษฎร ปัจจุบันคงเหลืออีกประมาณร้อยละ ๓๐  (๒) การศึกษาวิจัยผลกระทบด้านสังคม โดยสถาบันวิจัยสังคมของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ปัจจุบันผลการศึกษาดังกล่าวได้ผ่านมติรับทราบและเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยมีแนวทางในการป้องกันแก้ไขและฟื้นฟูผลกระทบอย่างยั่งยืน ดังนี้

๑. แผนแก้ไขและป้องกันผลกระทบ
๑) การแก้ไขผลกระทบจากการสูญเสียที่ดินและพื้นที่การใช้ประโยชน์
        ๑.๑. การจ่ายค่าชดเชยที่ดิน ๑.๒จ่ายค่าสูญเสียรายได้จากการใช้ประโยชน์ในบุ่งทาม    ๑.๓ ให้ตั้งคณะทำงาน/กรรมการชดเชยผลกระทบ

๒) การแก้ไขและป้องกันผลกระทบทางกายภาพ
         ๒.๑) เร่งรัดการสร้างประตูระบายน้ำเพิ่ม (Dike) ๒.๒) เร่งรัดการปรับปรุงคันไดค์/ซ่อมแซม ๒.๓) เร่งรัดการติดตั้งสถานีสูบน้ำบนพนังกั้นน้ำ ๒.๔) การสร้างบันไดน้ำในลำน้ำมูน ลำห้วยเสียว,ห้วยทับทัน ๒.๕) สร้างแนวคันกั้นน้ำใหม่ ๒.๖)สร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ๒.๗)จัดสร้างคลองส่งน้ำระบบท่อพร้อมติดตั้งสถานีสูบน้ำ ๒.๘ ค่าบำรุงรักษาซ่อมแซม ๒.๙) ค่าชดเชยที่ดิน

๒. แผนควบคุมติดตาม/เฝ้าระวัง/ใช้ประโยชน์
๑) การตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการเขื่อนราศีไศล ๒) การศึกษาเพื่อติดตามสถานภาพผลกระทบและประเมินผลทุก ๕ ปี (คณะทำงาน/ทีมประเมินผล) ๓) การตั้งกองทุนเพื่อประกันความเสี่ยง ๔) การตั้งอาสาสมัครเฝ้าระวัง-พิทักษ์สิ่งแวดล้อม

๓. แผนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๑) แหล่งน้ำ/การใช้น้ำ ๒) ป่าทาม ๓) ทรัพยากรดิน

๔.แผนฟื้นฟู/สร้างความเข้มแข็ง
๑) พัฒนาอาชีพ ๒) องค์กรชุมชน กองทุน วิสาหกิจ สวัสดิการชุมชน

๕. แผนการจัดการความรู้พื้นที่ชุ่มน้ำป่าทาม
๑) การจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการฟื้นฟูป่าทามแม่น้ำมูน ๒) การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ๓) สนับสนุนการเรียนรู้ของเยาวชน ๔) การจัดทำวิทยุชุมชนและสื่ออื่นๆ

กลไกในการแก้ไขปัญหา
๑. กรณีการจ่ายค่าชดเชยที่ดินทำกินได้นำเอามติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๒๒ เมษายน  ๒๕๓๙ โดยให้นำเอามติ ครม. ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๒ มาอนุโลมใช้ และมติ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ มาประกอบกันเพื่อจัดทำเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเขื่อนราษีไศล โดยกระบวนการ ๙ ขั้นตอนในการพิจารณา โดยคณะกรรมการในสมัยรัฐบาลท่าน มี รตอ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

๒. คณะรัฐมนตรีเห็นชอบผลการศึกษาและแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแนวทางในการป้องกันแก้ไขและฟื้นฟูผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศล  โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเป็นประธาน เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้ครอบคลุมครบทุกด้าน จะต้องมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน ๕ ชุด เพื่อร่างแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา และนำเสนอต่อ คณะรัฐมนตรี

๑. คณะอนุกรรมการด้านการบริหารจัดการบริหารเขื่อนราศีไศล(ตั้งแล้ว)

๒. คณะอนุกรรมการแก้ไขและป้องกันผลกระทบทางกายภาพ(ตั้งแล้ว)

๓. คณะอนุกรรมการด้านการฟื้นฟูชีวิตชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ (ตั้งแล้ว)

๔. คณะอนุกรรมการจัดการองค์ความรู้พื้นที่ชุ่มน้ำป่าทาม(ตั้งแล้ว)

๕. คณะอนุกรรมการศึกษาและพิจารณาการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง จากการสูญเสียป่าทามที่เป็นแหล่งประกอบอาชีพและยังชีพ(ยังไม่ได้ตั้ง)

ปัญหาและอุปสรรค

๑. กรณีค่าชดเชยที่ดินยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจริงทั้งหมด
         ๑.๑) กรณีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนราษีไศลแต่อยู่เหนือระดับน้ำ + ๑๑๙ ม.รทก. รัฐบาลไม่รับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดจากผลกระทบดังกล่าว โดยให้คำนิยามว่าเป็นที่ “นานอกอ่าง” ซึ่งความเป็นจริงผลกระทบน้ำท่วมจริงถึงไหนก็จะต้องแก้ไขปัญหาและเยียวยาถึงตรงนั้น ด้วยความเสมอภาคและเท่าเทียม

        ๑.๒) กรณียังมีราษฎรผู้ตกหล่นยังไม่ได้ตรวจสอบที่ดินทำกินและทรัพย์สินในปี ๒๕๔๖ หลายครอบครัว เนื่องจากกระบวนการแก้ไขปัญหาในขณะนั้น ไม่เอื้ออำนวยต่อการยื่นคำร้องของราษฎร

๒. กรณีการแก้ไขปัญหาตามผลการศึกษา ปัจจุบันคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแนวทางในการป้องกันแก้ไขและฟื้นฟูผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศล ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเป็นประธานได้แต่งตั้งอนุกรรมการ จำนวน ๔ ชุดแต่ในปัจจุบันยังเหลืออีกคณะอนุกรรมกรรอีก ๑ ชุด ที่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้ง คือ คณะอนุกรรมการศึกษาและพิจารณาการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง จากการสูญเสียป่าทามที่เป็นแหล่งประกอบอาชีพและยังชีพ ตามผลการศึกษา

แนวทางในการแก้ไขปัญหา เสนอต่อรัฐบาล
๑. เร่งรัดกรณีการจ่ายค่าชดเชยที่ดิน ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ ที่ได้อนุมัติจ่ายเป็นเงิน ๑๓๓,๕๔๒ ล้าน

๒. เร่งรัดให้มีการประชุมอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการเขื่อนราษีไศลระดับจังหวัดทั้ง ๓ จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และศรีสะเกษ เพื่อพิจารณาการแก้ไขปัญหาตามอำนาจหน้าที่ให้แล้วเสร็จโดยเร่งด่วน

๓. เร่งดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาและพิจารณาการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง จากการสูญเสียป่าทามที่เป็นแหล่งประกอบอาชีพและยังชีพ หรือ ค่าสูญเสียรายได้จากการใช้ประโยชน์บุ่งทาม ตามผลการศึกษาของสถาบันวิจัยสังคมของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ซึ่งมีมติ ครม. เห็นชอบไปแล้ว

๔. รัฐบาลควรเร่งรัดการแก้ไขปัญหากรณีผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลให้แล้วเสร็จทุกกรณี เนื่องจากราษฎรได้รับความเดือดร้อนมานานกว่า ๒๐ ปีมาแล้ว



ข. กรณีเขื่อนหัวนา

ความเป็นมา
เขื่อนหัวนาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของโครงการโขง ชี มูล ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน  กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ  สร้างกั้นแม่น้ำมูนที่บ้านกอก ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๑๖ มิ.ย ๒๕๓๕ ตัวเขื่อนมีประตูเหล็กควบคุมน้ำขนาด ๑๒.๕ x ๗.๕ เมตร  จำนวน  ๑๔ บาน เพื่อเก็บกักน้ำ ๑๑๕.๖๒ ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับ ๑๑๕ ม.รทก. ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำ ขนาด ๑๘.๑๑ ตร.กม. โดยปลายน้ำจะจรดบานประตูเขื่อนราษีไศล ระยะทางตามลำน้ำมูน ประมาณ ๙๐ กิโลเมตร งบประมาณในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น ๒,๕๓๑.๗๔ ล้านบาท ปัจจุบันเหลือเพียงการถมลำน้ำมูนเดิม เพื่อเปลี่ยนเส้นทางน้ำให้ไหลผ่านเขื่อน โครงการก็จะเสร็จสมบูรณ์

ในการก่อสร้างเขื่อนหัวนา ไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมก่อนการก่อสร้าง ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน และไม่มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาผลกระทบ เช่นเดียวกับเขื่อนราษีไศล ทำให้ชาวบ้านในเขตพื้นที่เขื่อนหัวนามีความวิตกกังวลต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การอพยพชาวบ้านออกจากหมู่บ้าน และยังมีความกังวลว่าน้ำอาจท่วมที่ทำกิน เมื่อมีการเก็บกักน้ำแล้วได้ส่งผลกระทบเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการสูญเสียป่าทามและที่ทำกินของชาวบ้าน โดยไม่ได้รับการดูแลแก้ไขจากรัฐบาล ซึ่งมีกรณีเขื่อนราษีไศลเป็นตัวอย่าง และด้วยกระบวนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา ทำให้เพิ่มความกังวลให้กับชาวบ้าน เช่น

        กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ได้ให้ข้อมูลกับสภาตำบลในพื้นที่ว่า จะก่อสร้างเป็น “ฝายยาง” เพื่อเก็บน้ำไว้เพียงระดับตลิ่งแม่น้ำมูน โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใดๆ ณ บ้านหัวนา ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ แต่เมื่อลงมือก่อสร้างกลับสร้างเขื่อนคอนกรีต ขนาด ๑๔ บานประตู ณ บ้านกอก ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ห่างจากที่ตั้งเดิม ตามลำน้ำเป็นระยะทางประมาณ ๑๐ กิโลเมตร

        การก่อสร้างหัวงานของโครงการ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน จ่ายค่าชดเชยที่ดินเฉพาะในส่วนที่มีเอกสารสิทธิ์ ในราคาที่ประมาณไร่ละ ๑๔,๐๐๐ บาท ซึ่งต่ำกว่าความเป็นจริงในท้องถิ่น ส่วนที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์จะจ่ายให้เฉพาะที่ดินที่มีตอฟางข้าวอยู่เท่านั้น โดยจ่ายในอัตราไร่ละ ๘,๔๐๐ บาท และพื้นที่ส่วนใหญ่ของราษฎรไม่ได้รับการชดเชย

        การสร้างพนังกั้นน้ำ บริษัทรับเหมามาขุดดินในที่สาธารณะของชุมชน และที่ดินของชาวบ้าน โดยพลการ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ปฏิเสธความรับผิดชอบดังกล่าว

        พนังกั้นน้ำเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน เนื่องจากไม่สามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำมูนได้ตามปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านโพนทรายพนังกั้นน้ำทำให้น้ำท่วมดินปั้นหม้อซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติของชุมชน

        พ.ศ.๒๕๓๖ ในพื้นที่ อ.ราษีไศล อ.อุทุมพรพิสัย กรมที่ดินได้ร่วมกับสภาตำบล ออกหนังสือสำคัญ สำหรับที่หลวง (นสล.) และส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชยที่ดินของชาวบ้าน นสล. ดังกล่าว ทับที่ดินของชาวบ้านทั้งที่มีและไม่มีเอกสารสิทธิ์

        พ.ศ.๒๕๔๓ กรมพัฒนาฯร่วมกับชาวบ้านปักหลักเขตระดับน้ำ ๑๑๕ ม.รทก. แต่ในช่วงฤดูฝนของปีนั้นเอง เมื่อเกิดน้ำหลาก ระดับน้ำเมื่อเทียบกับหลักระดับของกรมพัฒนาฯ มีความแตกต่างกันมาก บางหลักท่วมแล้ว บางหลักยังห่างจากระดับน้ำทำให้ชาวบ้านไม่เชื่อขอบเขตระดับน้ำของกรมพัฒนาฯ

ด้วยความวิตกกังวลของชาวบ้านดังกล่าวนั้น เมื่อมีการเก็บกักน้ำของเขื่อนราษีไศลซึ่งได้เกิดผลกระทบที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าอย่างชัดเจนและรุนแรง ทำให้ชาวบ้านในเขตพื้นที่เขื่อนหัวนาได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาในนามสมัชชาคนจน จึงได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อคราวประชุมวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ดังนี้

๑) เห็นชอบให้ระงับการถมลำน้ำมูนเดิมไว้ก่อน เพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

๒) เห็นชอบให้เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดโครงการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.๒๕๔๐

๓) เห็นชอบให้ตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรที่คาดว่าจะเสียหายจากการดำเนินโครงการฝายหัวนาร่วมกับราษฎร

ภายหลังการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมปี ๒๕๔๕ เป็นผลให้การแก้ปัญหาเขื่อนราษีไศลถูกโอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

กลไกการแก้ไขปัญหา

๑. มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓  มีมติ รับทราบผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม โครงการเขื่อนหัวนา และเห็นชอบในการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการเขื่อนหัวนา โดยมีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

๒. ปัจจุบัน ปี ๒๕๕๕ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการเขื่อนหัวนา โดยมีนายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา จำนวน ๓ ชุด ได้แก่

        ๑) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาระดับจังหวัดศรีสะเกษ

        ๒) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาระดับจังหวัดอุบลราชธานี

        ๓) คณะอนุกรรมการสืบเสาะราคาที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธ์

๓. แนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวโดยดำเนินการตามแผนฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดขึ้นตามผลการศึกษา โดยจะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแผนฟื้นฟู อีก ๑ คณะ

ปัญหาอุปสรรค

๑. ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่เกิดความล้าช้าเนื่องจากกรมชลประทานมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการไม่พอเพียงต่อการดำเนินการแก้ไขปัญหา

๒. การถมลำน้ำมูนเดิมของกรมชลประทาน ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามสัญญาที่ทำร่วมกับบริษัทเอกชน ซึ่งจะเสร็จสิ้นภายในปลายปี ๒๕๕๕ นี้ ซึ่งจะนำไปสู่การกักเก็บน้ำในอนาคต โดยใช้งบประมาณกว่า ๗๘ ล้านบาท แต่การแก้ไขปัญหาผลกระทบให้กับราษฎรกลับล่าช้า ทำให้ราษฎรในพื้นที่เกิดความวิตกกังวลว่าจะมีการปิดประตูเขื่อนกักเก็บน้ำก่อนการจ่ายค่าชดเชย และจะเกิดความยุ่งยากในการแก้ไขปัญหา ซ้ำรอยเขื่อนราษีไศล

๓. การกำหนดขอบเขตอ่างเพื่อกักเก็บน้ำในระดับ +๑๑๒ ม.รทก. และจ่ายค่าชดชดเชยในระดับ +๑๑๔ ม.รทก. โดยคำนิยามของกรมชลประทานตามมติ ครม. นั้นจะมีการดำเนินการจ่ายในระดับ +๑๑๔ ม.รทก. กับพื้นที่ทั้งหมดจากหน้าเขื่อนหัวนาจนเขื่อนราษีไศลนั้นทำให้การจ่ายค่าชดเชยไม่ครอบคลุมพื้นที่ได้รับผลกระทบจริง ดังนั้นมติที่ประชุมของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาระดับจังหวัดศรีสะเกษ วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๔ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินด้านการปักขอบเขตอ่าง เมื่อระดับน้ำที่หน้าเขื่อนหัวนาอยู่ในระดับ +๑๑๒ ม.รทก. และ +๑๑๔ ม.รทก. เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจ่ายค่าชดชดเชย โดยได้มีการดำเนินการปักขอบเขตอ่างร่วมกันระหว่าง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ราษฎร ในพื้นที่ กรมชลประทาน และคณะทำงานปักขอบเขตอ่าง ในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นช่วงฤดูน้ำลด อยู่ในระดับ +๑๑๔ มร.ทก ที่หน้าเขื่อนหัวนา พร้อมกับการจัดทำแผนที่ตามขอบเขตที่ได้รับผลกระทบจริง ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการนำเอา เอกสารสำคัญ รว๔๓ก. มาทาบกับแผนที่ขอบเขตอ่างในระดับ +๑๑๔ มร.ทก ที่หน้าเขื่อนหัวนา เพื่อคัดแยกรายชื่อและจำนวนแปลงที่ดินที่ได้รับผลกระทบจริงตามแผนที่ดังกล่าว ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการระดับจังหวัดและคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีรองนายกเป็นประธาน ในการจ่ายค่าชดเชยต่อไป ซึ่งชาวบ้านยังมีความกังวลใจว่าหากรัฐบาลไม่ดำเนินการจ่ายตามผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง ตามผลการปักขอบเขตของคณะทำงานวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ แล้ว ก็จะเกิดกรณีปัญหา “นานอกอ่าง” และแก้ไขไม่แล้วเสร็จ ขาดความเป็นธรรมและสร้างปัญหาต่อเนื่อง เหมือนเช่นกรณีเขื่อนราศีไศล

๔. กรมชลประทานยังมีความพยามสร้างผนังกั้นน้ำ DIKE หรือคันเขื่อน ในพื้นที่โครงการเขื่อนหัวนามาตลอด ทั้งที่ยังไม่ได้แก้ไขปัญหากรณีค่าชดเชยราษฎรผู้เดือดร้อนให้แล้วเสร็จ และไม่มีแนวทางการศึกษาผลกระทบจากคันเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำก่อนการดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งกรณีตัวอย่างเขื่อนราษีไศลได้เกิดปัญหาพื้นที่นานอกอ่างที่แก้ไขไม่แล้วเสร็จมาจนถึงปัจจุบัน

แนวทางในการแก้ไขปัญหา เสนอต่อรัฐบาล
๑. ให้รัฐบาลมีการนำเอาผลการลงพื้นสำรวจและที่ปักขอบเขตอ่างที่ได้รับผลกระทบจริง ตามที่คณะทำงานปักขอบเขตอ่าง ที่แต่งตั้งโดยคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาระดับจังหวัดศรีสะเกษ ได้ดำเนินการในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นช่วงฤดูน้ำลด และระดับน้ำที่หน้าเขื่อนหัวนาอยู่ในระดับ +๑๑๔ มร.ทก เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาในการจ่ายค่าชดเชยตามความเป็นจริง

๒. ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยการจัดสรรเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องและจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการอย่างเพียงพอ

๓. ผู้เดือดร้อนจากโครงการเขื่อนหัวนาและชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา ยังยืนยันข้อเรียกร้องเดิม คือ ให้มีการจ่ายค่าชดเชยให้แล้วเสร็จก่อนดำเนินการปิดประตูเขื่อนหัวนา

๔. ให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการตามแผนฟื้นฟูผลกระทบ ทั้งในเรื่องของอาชีพ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ตามผลการศึกษาที่มีมติ ครม. รองรับแล้ว

๕. การกำหนดราคาในการจ่ายค่าชดเชยที่ดินทำกินของราษฎร ให้ยึดหลักการรวมกันเพื่อเป็นกรอบการทำงานในการแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนหัวนา ดังนี้

๕.๑) กรอบการทำงาน โดยยึดหลักการ “ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนาจะต้องมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมหรือเท่าเดิม” ๕.๒) ราคาการชดเชยที่ดินทำกินของราษฎร ต้องเป็นราคาของที่ดินแปลงใหม่ต่อไร่ที่ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบสามารถหาซื้อได้ในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อการตั้งถิ่นฐานใหม่หรือการมีที่ดินทำกินใหม่ได้

๖. รัฐบาลและกรมชลประทานจะต้องไม่ดำเนินก่อสร้างผนังกั้นน้ำ DIKE ในพื้นที่โครงการเขื่อนหัวนา เพื่อป้องกันปัญหาพื้นที่นานอกอ่างเหมือนกรณีเขื่อนราษีไศลที่แก้ไขไม่แล้วเสร็จมาจนถึงปัจจุบัน



ค.ข้อเสนอต่อนโยบายการจัดการน้ำของรัฐบาลในอนาคต

๑. รัฐบาลจะต้องเปิดเผยข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดจากการดำเนินโครงการ โขง เลย ชี มูล ต่อราษฎรกลุ่มผู้เดือดร้อนจากโครงการโขง ชี มูล เดิมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะราษฎรเขื่อนราศีไศลและเขื่อนหัวนา ก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ใดๆต่อไปในอนาคต เพื่อแสดงจริงใจของรัฐบาลว่าโครงการดังกล่าวจะไม่สร้างปัญหาและผลกระทบซ้ำเติมความเดือดของราษฎรในพื้นที่อีกในอนาคต

๒. โครงการจัดการน้ำตามแผนงานที่รัฐบาลจะใช้เงินกู้ ๓๕๐,๐๐๐ ล้านบาทในการจัดการซึ่งมีแผนงานมากมายที่ไร้หลักประกันว่าจะไม่ก่อผลกระทบซ้ำรอยโครงการเก่าๆ ในอดีต
เราขอเสนอต่อรัฐบาลดังนี้ 
๒.๑ ให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างรอบด้าน
๒.๒ ให้เปิดเผยข้อมูลต่อชุมชนที่เกี่ยวข้องและต่อสาธารณะ
๒.๓ ต้องเปิดให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
๒.๔ ต้องมีมาตรการที่เชื่อถือได้ว่าจะไม่มีการคอร์รัปชั่นในโครงการต่างๆดังกล่าว
๒.๕ รัฐบาลต้องเปิดรับความคิดเห็นจากสังคมอย่างกว้างขวางถึงทางเลือกที่เหมาะสมในการจัดการน้ำ ซึ่งมีทางเลือกที่หลากหลาย มากมายที่เป็นโครงการขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งไม่ก่อผลกระทบ ได้ประโยชน์คุ้มค่ากว่า และเกิดการกระจายประโยชน์อย่างเป็นธรรม มิใช่สักแต่ให้ผู้เชี่ยวชาญ และบริษัทธุรกิจเป็นผู้ออกแบบและดำเนินการ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและโปรดพิจารณา



.