http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-23

นิธิ เอียวศรีวงศ์: โลกในธรรม

.

โลกในธรรม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์  วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 14:29:02 น.
( ที่มา คอลัมน์ กระแสทัศน์ ของ นสพ.มติชนรายวัน  23 กรกฎาคม 2555 )


หลักธรรมคำสอนของทุกศาสนาในโลกนี้ ย่อมมีสองมิติคู่กันเสมอ นั่นก็คือคำสอนของศาสดา และเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ-สังคม ที่แวดล้อมคำสอน
ทุกศาสนาย่อมอ้างว่าหลักธรรมคำสอนเป็นอกาลิโก  ไม่ขึ้นกับกาล เว+ลา
ในฐานะที่นับถือพระพุทธศาสนา ผมก็เชื่อว่าหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอกาลิโกเหมือนกัน

แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ปฏิเสธว่า มี "กาลเวลา"
หรือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ-สังคมแฝงอยู่ในพุทธธรรมด้วย เช่น เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าคำถามหลักของพระพุทธศาสนาคือความหลุดพ้นนั้น ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ หรือคำสอนเกี่ยวกับพระราชาในพระพุทธศาสนานั้น เป็นการตอบสนองความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอินเดียเหนือ นั่นคือการเกิดขึ้นของราชอาณาจักรขนาดใหญ่ที่มีกำลังมาก

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า จะแยกหลักธรรมคำสอนส่วนที่เป็นอกาลิโกแท้ๆ ออกจากส่วนที่เป็น "กาลเวลา" อย่างไร


ไม่ง่ายอย่างที่คิดเผินๆ หรอกนะครับ เช่น พิธีกรรมของศาสนาย่อมเป็นส่วนหนึ่งของ "กาลเวลา" อย่างแน่นอน เช่น การตักบาตร (อันเป็นพิธีกรรมที่เลิกปฏิบัติไปแล้วในสังคมพุทธหลากหลายนิกาย) เป็นส่วนหนึ่งที่จะฝึกให้คนทำทาน ไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งน่าจะเป็นหลักธรรมที่อกาลิโก คือพึงปฏิบัติได้ในทุกกาลสมัย แต่พิธีกรรมนี้จะได้ผลดังมุ่งหวัง ต้องผ่านความ "ทนลำบาก" พอสมควร

นับตั้งแต่ตื่นเช้าหุงข้าวเป็นอย่างน้อย (และทำอาหารถวายพระซึ่งเป็นธรรมเนียมเกิดขึ้นภายหลัง - แต่เดิมเขาตักบาตรกันแต่ข้าวเปล่า ส่วนกับมักหิ้วไปถวายที่วัดในภายหลัง โดยมีเวรผลัดกันในหมู่บ้าน) หากจะทำพิธีกรรมนี้ให้สมบูรณ์ ก็ไม่เหมาะกับวิถีชีวิตในปัจจุบันเสียแล้ว จึงซื้ออาหารถุงถวายแทน
ความ "ทนลำบาก" หายไป และผลที่มุ่งหวังก็จางลง เหลือแต่หวังว่าจะได้ถูกหวยเป็นผลตอบแทน


พิธีกรรมซึ่งเป็นผลมาจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ-สังคมนั้น แยกไม่ออกจากคำสอนส่วนที่เป็นปรมัตถธรรมได้ง่ายๆ เพราะทั้งสองอย่างนี้เกื้อกูลกัน
นอกจากด้านพิธีกรรมแล้ว ยังมีส่วนที่มาจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ-สังคมซึ่งแยกไม่ออกจากส่วนที่เป็นอกาลิโกอีกมากในทุกศาสนา



ดังนั้น ความเคลื่อนไหวทางศาสนา เพื่อปฏิรูปหรือปรับปรุงศาสนาในโลกสมัยใหม่ (ไปในทางที่ดีหรือไม่ดี ก็แล้วแต่ศรัทธาของแต่ละคน) จึงมักออกมาสองแนวทาง คือ การกลับไปหาคัมภีร์เดิม, คำสอน (ที่เชื่อว่า)แท้จริง อย่างหนึ่ง กับการปรับหรือตีความคำสอนให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงในโลก
(นักปราชญ์พุทธไทย มักถือแนวทางที่สองว่าเป็น "สัทธรรมปฏิรูป" แต่ที่จริงแล้ว อะไรคือ "สัทธรรม" ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคน และคงไม่มีศาสนาอะไรในโลกนี้ที่ไม่ต้องตีความเลย แท้จริงแล้วพลังที่ทำให้ศาสนาสามารถยืนยงมาถึงโลกปัจจุบันได้ ก็อยู่ตรงที่เปิดให้แก่การตีความไปตามความเปลี่ยนแปลงได้นั่นเอง)

โดยขาดการสำรวจอย่างรอบคอบพอ ผมขอเสนอว่า การปฏิรูปด้วยการกลับไปหาคัมภีร์ (ที่เชื่อว่า)เดิมแท้นั้น มักเกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมือง กล่าวคือหากผู้ปฏิรูปศาสนาที่ยังไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองเป็นผู้อ้าง และสามารถนำการปฏิรูปศาสนาจนได้รับความนิยมกว้างขวาง ก็เป็นหนทางที่จะสถาปนาอำนาจทางการเมืองของตนขึ้นได้ แต่ในทางกลับกัน หากฝ่ายมีอำนาจเป็นผู้อ้างเองว่า จะรักษาหรือปฏิรูปศาสนาด้วยการกลับไปหา "คัมภีร์เดิมแท้" ย่อมหมายถึงความโน้มเอียงไปสู่ความพยายามจะอนุรักษ์โครงสร้างอำนาจเดิม ที่ตัวร่วมอยู่ในฝ่ายอำนาจเอาไว้ด้วย
ในทางตรงข้าม การปฏิรูปศาสนาที่ตีความใหม่ให้หลักคำสอนสอดคล้องกับความเป็นจริงของปัจจุบัน อาจไม่มีเป้าประสงค์ทางการเมืองเลย อย่างน้อยก็ในระยะแรก การตีความใหม่หมายถึงการกลับไปหาความหมายใหม่ในหลักคำสอน และอ้างความเป็นนิรันดรเหมือนกัน อันพึงเห็นได้จากความสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันอย่างดี (ทุนนิยม, ความเป็นชาติ, รัฐรวมศูนย์, ตลาดรวมศูนย์, วิธีหาความจริงเชิงวิทยาศาสตร์, ฯลฯ) แต่การตีความใหม่ก็อาจเลยเถิดไปจากหลักเดิมบางด้าน เสียจนกระทั่งบางความเคลื่อนไหวกลายเป็นศาสนาใหม่ (หรือถูกศาสนิกในศาสนาเก่าขจัดออกไปให้กลายเป็นลัทธิความเชื่อใหม่)


ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า จะผสานสองอย่างเข้าด้วยกันให้พอเหมาะ คือตอบปัญหาของผู้คนในโลกสมัยใหม่ แต่ก็ยังยึดหลักคำสอน (ที่เชื่อว่า) แท้จริงไว้ได้อย่างไร 
ผมตอบปัญหานี้ไม่ได้ แต่รู้สึกว่าในเมืองไทย เมื่อมีผู้แสดงความวิตกห่วงใยกับความเสื่อมสลายของศรัทธาของผู้คนต่อหลักพุทธธรรม (หรือยิ่งกว่านั้นไม่ได้ให้ความสำคัญเอาเลย) คำตอบของนักปราชญ์ชาวพุทธ มักเป็นการตอกย้ำหลักคำสอนที่เชื่อว่า เป็นแก่นแท้ของพุทธธรรม และมักละเลยอีกมิติหนึ่งของหลักธรรมคำสอนในศาสนา นั่นก็คือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ-สังคมที่แวดล้อมหลักธรรมและแนวปฏิบัติ

แต่อีกมิติหนึ่งนั้นมีความสำคัญแก่การปฏิบัติศาสนาอย่างยิ่ง เพราะคนย่อมปฏิบัติศาสนาตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ-สังคมที่แวดล้อมตนอยู่ มากกว่าหันกลับไปหาแก่นแท้ของหลักคำสอน


ในเวียดนามปัจจุบัน พบกันว่าเมื่อรัฐบาลเปิดให้ถือศาสนาได้อย่างเสรีแล้ว ผู้คนในเขตเมืองพากันหันไปนับถือและปฏิบัติลัทธิบูชาเทวดา (ชนิดต่างๆ นับตั้งแต่ผีบรรพบุรุษ, วีรบุรุษ เช่นทั้งนายพลจั๊บและโฮจิมินห์ก็กำลังกลายเป็นเทวดาที่มีศาลเจ้าของตนเองไปแล้ว, วีรสตรีในนิยายแห่งชาติ, เจ้าที่เฮี้ยนๆ) กันมาก 
คำอธิบายก็คือเมื่อชาวเวียดนามต้องเข้ามาอยู่ในเศรษฐกิจตลาดมากขึ้นจากนโยบาย "ดอยมอย"เปิดประเทศ ผู้คนก็รู้สึกในความไม่มั่นคงของชีวิตมากขึ้น เหมือนประชาชนในสังคมตลาดทั่วไป หลักประกันทางสังคมที่รัฐจัดให้ก็ยังไม่เพียงพอ ที่จะทดแทนความมั่นคงของระบบเครือญาติและชุมชนหมู่บ้านอย่างเดิมได้ ลัทธิความเชื่อเกี่ยวกับศาลเจ้าและการเข้าทรง จึงให้ความมั่นคงทางจิตใจได้ดีที่สุด
ปรากฏการณ์เช่นนี้พบได้ทั้งในอินโดนีเซีย, สิงคโปร์, มาเลเซีย และแน่นอนในเมืองไทยด้วย


การยอมรับความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิตให้ได้ ก็เป็นวิธีหนึ่งในการเผชิญกับความไม่มั่นคงนี้ แต่ต้องฝึกและปฏิบัติกันนาน (ที่เรียกว่า "ภาวนา" ) ซึ่งอาจทำได้ยากมากในเงื่อนไขชีวิตของคนปัจจุบัน ฉะนั้นการลงทุนซื้อจตุคามรามเทพ หรือเข้าพิธีต่างๆ เพื่อมีเจ้าพ่อเจ้าแม่เป็นที่พึ่งจึงอาจคุ้มกว่า และเป็นไปได้มากกว่า แก่คนปัจจุบัน

การรื้อฟื้นพลังของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย จึงไม่ควรปฏิเสธมิติด้านเศรษฐกิจ-สังคมไปโดยสิ้นเชิง แต่จำเป็นต้องคำนึงถึงทั้งสองมิติ


ในแง่มิติทางเศรษฐกิจ-สังคม การยึดเอาสิ่งที่พระพุทธศาสนาถือว่าไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม เช่น ต้นไม้, ผีสางเทวดา ฯลฯ นั้น มีมาในวัฒนธรรมไทยเนิ่นนานแล้ว แต่ก็มักอธิบายกันว่าคนแต่ก่อนเขามีวิธีที่จะทำให้ลัทธิความเชื่อเหล่านี้โอนอ่อนไปตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา หากจริง (ซึ่งผมไม่ค่อยแน่ใจว่าจริง) คนในปัจจุบันก็น่าจะทำอย่างเดียวกัน แทนที่จะประณามผู้ที่ยึดถือที่พึ่งประเภทนั้น ก็น่าจะทำให้การต่อสู้กับความไม่มั่นคงในชีวิตแบบนั้น มีความหมายในทางพุทธธรรมไปพร้อมกันด้วย

อีกด้านหนึ่งก็คือ หากถือว่ามิติทางเศรษฐกิจ-สังคมมีความสำคัญ ผู้ที่ต้องการรื้อฟื้นพลังของพระพุทธศาสนา ก็น่าจะให้ความสำคัญแก่การเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย เพราะหนทางหนึ่งในรัฐปัจจุบัน คนจะมีความมั่นคงในชีวิตได้ ก็จากการสร้างเครือข่ายความมั่นคงที่รัฐต้องเป็นหัวหอกในการดำเนินการ (เช่น รัฐสวัสดิการ เป็นต้น)

การมองว่าศาสนาไม่เกี่ยวอะไรกับการเมืองเสียอีก
จะทำให้ศาสนาไม่อาจตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันได้



.