ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (17) นักเขียนโนเบล “วิพากษ์”
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1666 หน้า 41
เคนซาบุโร โอเอะ นักเขียนชาวญี่ปุ่น เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ปี 2537 ที่ชาวโลกยกย่องในความเป็นอัจฉริยะด้านการใช้สื่อภาษาถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ได้อย่างลุ่มลึกมีพลัง เป็นหนึ่งในนักคิดชั้นนำที่ประกาศตัวต่อต้าน "นิวเคลียร์" อย่างแข็งขัน
"โอเอะ" วัย 77 ปี วิพากษ์พฤติกรรม "มัตสุทาโร โชริกิ" เจ้าของ "ยูมิโอริ ชิมบุน" หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่นว่าใช้สื่อในมือเกื้อหนุนแผนส่งเสริมการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในยุคของ นายยาสุฮิโร นากาโซเน่ เป็นนายกรัฐมนตรี
ย้อนอดีตนายนากาโซเน่ เป็นสมาชิกพรรคเสรีประชาธิปไตยหรือแอลดีพีที่มีชื่อเสียงมาก หลังจากพ้นรั้วของมหาวิทยาลัยโตเกียวอิมพีเรียล ลงเล่นการเมืองจนได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เมื่อปี 2490
นากาโซเน่ มีแนวคิด "ชาตินิยม" จัดอยู่พวกสายเหยี่ยว ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งสำคัญของรัฐบาลชุดต่างๆ หลายตำแหน่ง รวมถึงผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อปี 2502
การเป็น ผอ.สำนักงานวิทยาศาสตร์ฯ มีส่วนทำให้ "นากาโซเน่" เกิดแรงจูงใจผลักดันนโยบาย "นิวเคลียร์" ให้เป็นพลังงานหลักของประเทศญี่ปุ่นในเวลาต่อมา
นายนากาโซเน่ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2525 ได้ปรับระดับความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ในสมัยของประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ให้กระชับแนบแน่น
สื่อญี่ปุ่นบอกว่าทั้งคู่ไม่ชอบบทบาทรัสเซีย และนั่นทำให้เกิดแนวทางการทูต "รอน-ยาสุ" (Ron-Yasu Diplomacy) ซึ่งเป็นชื่อเรียกผู้นำสหรัฐและญี่ปุ่น
ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งทางการทูตนี้เอง ดึง "ญี่ปุ่น" เข้าสู่ยุคนิวเคลียร์และการสร้างความแข็งแกร่งทางการทหาร
นักเขียนรางวัลโนเบล ขุดคำพูดของนายนากาโซเน่สมัยเป็นนายกฯ มาแฉให้สื่อฟังว่า "นากาโซเน่บอกคนสมัยนั้นว่าเพราะญี่ปุ่นไม่มีแหล่งพลังงานจำเป็นต้องหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ และสหรัฐอเมริกามีเทคโนโลยีนี้เรียบร้อยแล้ว"
โอเอะบอกว่า สหรัฐหยิบยื่นความรู้เรื่องเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ให้เครื่องจักรและเชื้อเพลิงกับญี่ปุ่น
กากของเสีย "นิวเคลียร์" คือผลจากการผลิตเชื้อเพลิงที่ทำให้ญี่ปุ่นเกิดปัญหาใหญ่
"โครงสร้างของประเทศญี่ปุ่นทุกวันนี้มีผลมาจากอดีตและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ผลักเราให้เข้าสู่ยุคแห่งความสูญเสียเศร้าโศกอย่างใหญ่หลวง เหมือนเช่นเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมาระเบิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปีที่แล้ว" โอเอะชำแหละประวัติศาสตร์
โอเอะ เป็นเจ้าของวรรณกรรมอันยิ่งใหญ่ไม่ว่าจะเป็น A Quiet Life หรือเรื่อง The Silent Cry และ A Personal Matter แถลงที่มา "นิวเคลียร์" ระหว่างประกาศชักชวนให้ชาวญี่ปุ่นร่วมขบวนประท้วง "นิวเคลียร์" ครั้งใหญ่สุดในรอบ 2 ทศวรรษที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้
เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา "โอเอะ" และบุคคลที่มีชื่อเสียงด้านต่างๆ อาทิ นายเรียวอิชิ ซากาโมโต นักประพันธ์เพลงเจ้าของรางวัลออสการ์ นายคัตสุโตะ อูชิฮาชิ นักเศรษฐศาสตร์ นายซาโตชิ คามาตะ นักหนังสือพิมพ์เข้าร่วมต่อต้านนิวเคลียร์ ในกรุงโตเกียว
ผู้ประท้วงลงชื่อต่อต้านนโยบายเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โออิ ในจังหวัดฟูกุย ร่วมกับชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศ 7.5 ล้านคน
แต่ปรากฏว่า รัฐบาลนาย "โยชิฮิโกะ โนดะ" เมินเสียงประท้วงและสั่งเปิดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าโออิเป็นแห่งแรกหลังจากรัฐบาลสั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศ 54 แห่ง เพื่อตรวจสอบระบบความปลอดภัย ป้องกันเหตุซ้ำรอย "ฟุคุชิมา"
นั่นเป็นเหตุให้นายโอเอะและแกนนำต้าน "นิวเคลียร์" ต้องกลับมาแถลงข่าวพร้อมเรียกร้องให้บรรดาสื่อมวลชนช่วยกระจายข่าวให้ชาวญี่ปุ่นร่วมคัดค้านนโยบายพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง
++
ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (18) เสียงกึกก้องต้าน “นิวเคลียร์”
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1667 หน้า 39
นิตยสารดิ อีโคโนมิสต์ ตีแผ่ปรากฏการณ์ของชาวญี่ปุ่นรวมใจกันลุกฮือต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อวันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม ได้อย่างน่าสนใจยิ่ง
ไม่เพียงนักเขียนรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม อย่าง "เคนโซซาบุโร โอเอะ" และบุคคลที่มีชื่อด้านต่างๆ จำนวนมากเข้าร่วมเป็นแกนนำจัดตั้งม็อบต้านนิวเคลียร์ที่ใช้ชื่อกิจกรรมว่า ลาก่อนนิวเคลียร์ (Sayonara Nukes) เท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นว่า ผู้เข้าร่วมชุมนุมล้วนแล้วมีความตั้งใจโชว์ให้โลกรู้ว่า "ชาวญี่ปุ่นไม่ต้องการนิวเคลียร์"
นิตยสารเศรษฐกิจชื่อดังก้องโลกฉายภาพม็อบโตเกียวในวันนั้นว่า พลังประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมยิ่งใหญ่ที่สุดนับจากเกิดม็อบในยุคต่อต้านสงครามเวียดนามและต่อต้านสนธิสัญญาญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกา เมื่อ 40 ปีที่แล้ว
"ดิ อีโคโนมิสต์" บรรยายว่า "ม็อบไม่เอานุกส์" ราว 170,000 คนยืนหยัดร่วมชุมนุมในสวนสาธารณะโยโยงิ ท่ามกลางอากาศอันร้อนระอุ อุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียสอย่างทรหดอดทน
คนที่เข้าร่วมชุมนุมมีทุกระดับชั้นของสังคมญี่ปุ่นซึ่งเป็นสังคมที่ได้ชื่อว่าทันสมัยพัฒนาแล้วและเป็นม็อบที่ส่งสัญญาณบอกให้รัฐบาล นายโยชิฮิโกะ โนดะ ได้รู้ว่า พวกเขาพร้อมจะทลายกระแสนิยมของพรรคถ้ายังขืนสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ต่อไป
เดือนกรกฎาคมนี้ รัฐบาลนายโนดะ เปิดเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ "โออิ" ตั้งอยู่ฝั่งทะเลตะวันตก ท่ามกลางความวิตกกังวลของชาวญี่ปุ่นว่าจะเกิดอันตรายซ้ำรอยเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ และไม่แน่ใจว่าการตรวจสอบระบบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กว่า 50 แห่งนั้นได้มาตรฐานแค่ไหน
หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว 9.0 ริกเตอร์ และเกิดคลื่นสึนามิซัดถล่มโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา เมื่อเดือนมีนาคม 2554 รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งให้หยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศเพื่อตรวจสอบระบบความปลอดภัยอย่างละเอียด โดยตั้งข้อสมมติฐานว่าสาเหตุสำคัญมาจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ ทั้งนี้ พื้นที่ของญี่ปุ่นตั้งอยู่ในแนวแผ่นดินไหว และมีสถิติเกิดแผ่นดินไหวติดอันดับหนึ่งใน 5 พื้นที่ที่มีแผ่นดินไหวรุนแรงถี่บ่อยที่สุดของโลก
แต่ในผลสรุปของคณะกรรมการสอบสวนสาเหตุโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ชี้ว่า เตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ระเบิดและมีกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาจนทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องอพยพประชาชนนับแสนคนออกจากพื้นที่ สั่งควบคุมบริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้าห้ามใครเข้าออก รวมไปถึงคำสั่งห้ามกินพืชผักเนื้อสัตว์ที่มาจากเขตอันตรายดังกล่าว มาจากน้ำมือของคนเป็นสำคัญ
การจัดการบริหารของบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ เจ้าของโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา พนักงานโรงไฟฟ้าและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล บกพร่อง ขาดความโปร่งใส ทั้งสามฝ่ายงุบงิบตั้งกฎกติกาในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยกันเอาเอง
โดยเฉพาะระบบมาตรฐานความปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัตินั้น ว่ากันว่า มีจุดโหว่ ไม่สามารถรับมือกับเหตุรุนแรงอย่างแผ่นดินไหวที่มีขนาด 9.0 ริกเตอร์
กลุ่มคนต่อต้านนิวเคลียร์ วิพากษ์วิจารณ์มาตรฐานตรวจสอบระบบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่บกพร่องหละหลวมว่า "เมด อิน เจแปน"
เปรียบเทียบเหมือนสินค้า "ญี่ปุ่น" ที่ตั้งมาตรฐานเอาเอง ไม่ยอมขึ้นกับสากลโลก
ชินิจิโร วาตานาเบะ ชาวฟุคุชิมา เดินทางเข้ามาร่วมชุมนุม "ลาก่อนนิวเคลียร์" บอกนักข่าวดิ อิโคโนมิสต์ว่า ในพื้นที่รอบๆ ฟุคุชิมา ยังปนเปื้อนไปด้วยกัมมันตรังสี แต่รัฐบาลกลับให้เปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บางแห่งอีกครั้ง
"ทำไมรัฐบาลต้องเร่งรีบขนาดนั้น" วาตานาเบะ ตั้งคำถาม
ดิ อีโคโนมิสต์ตอบคำถามผ่านบทความชิ้นนี้ว่า เงินคือปัจจัยสำคัญที่สุดที่บีบบังคับให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเร่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกรอบ เพราะขืนปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างไม่กำหนด เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจถึงขั้นง่อยเปลี้ยเสียขา และอุตสาหกรรมนิวเคลียร์อาจพังทลาย
เมื่อพลังงานขาดแคลน โรงงานอุตสาหกรรมไม่มีพลังงานป้อนเพียงพอ พากันย้ายโรงงานไปตั้งในประเทศอื่นๆ เงินทุนย้ายตามไปด้วย อนาคตประเทศญี่ปุ่นจะตกต่ำ ไม่ได้กลายเป็นมหาอำนาจโลกอีกต่อไป
เพียงแค่หนึ่งปีครึ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งระงับการเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศ รัฐบาลต้องสั่งนำเข้าน้ำมันและก๊าซจากต่างประเทศเพื่อมาป้อนโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นวันละ 100 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 3 พันล้านบาท ยิ่งนานวัน ญี่ปุ่นเสียดุลการค้ามากขึ้น
ตั้งแต่เกิดวิกฤติโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ประเทศญี่ปุ่นขาดดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี
ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่นายโนดะต้องบอกกับสื่อถึงเหตุความจำเป็นต้องเปิดเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อไปเพราะว่า "ไม่มีทางเลือก"
การตัดสินใจของนายโนดะได้รับเสียงสนับสนุนจากนักธุรกิจชั้นนำจากกลุ่มไคดันเรนและสื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์โยมิอุริ ที่ทรงอิทธิพลของญี่ปุ่นอย่างแข็งขัน
"ดิ อีโคโนมิสต์" บรรยายว่า การได้รับเสียงสนับสนุนจากนักธุรกิจและสื่อมวลชน เช่น โยมิอุริชิบุน ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลได้คะแนนเสียงนิยมจากประชาชนนิยมเพิ่มขึ้น
โออิขึ้นเวที "ลาก่อนนุกส์" พร้อมกับกล่าวโจมตีการจัดการแก้ปัญหาโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา
"พวกเรายอมทุกอย่างมอบความไว้วางใจให้กับผู้เชี่ยวชาญ เราเชื่อเขา แต่ในที่สุดเราเจ็บปวดและจบลงด้วยความเศร้าโศกในเหตุการณ์ฟุคุชิมา พวกเราที่คิดว่าพลังงานนิวเคลียร์ให้ประโยชน์ บัดนี้กลับกลายเป็นเหยิ่อไปแล้ว"
ฝ่าย ซาโตชิ คามาตะ นักหนังสือพิมพ์ชื่อดังซึ่งเป็นแกนนำสำคัญของการประท้วงครั้งนี้บอกว่า การชุมนุมต่อต้านนิวเคลียร์ที่โยโยงิ เป็นสัญญาณบอกให้โลกรู้ว่า "ญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยน" รัฐบาลเผชิญกับแรงกดดัน
"นี่เป็นครั้งแรกในรอบระยะเวลาหลายสิบปี ที่เกิดแรงกดดันกับรัฐบาล เป็นแรงกดดันจากภายในของรัฐบาลเอง จากนักธุรกิจ สื่อมวลชน และเกิดจากแรงกดดันของประชาชนที่ไม่เอานิวเคลียร์" คามาตะ บอก
เสียงโห่ร้องตบมือระหว่างที่นักเขียนรางวัลโนเบลหรือนักคิดชั้นนำขึ้นปราศรัยบนเวที "ลาก่อนนุกส์" ดังก้องสนั่นทั่วสวนสาธารณะ "โยโยงิ" และได้ยินไปถีงบ้านพักนายกฯ ญี่ปุ่นที่นายโนดะเข้าพักระหว่างรับตำแหน่ง
นายกฯ โนดะ อาจจะได้ยินเสียง "ไม่เอานิวเคลียร์" ดังก้องทั่ว "โตเกียว" ในวันหยุดสุดสัปดาห์ต่อๆ ไป
.