.
สงครามป้อมค่ายประชิด
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1665 หน้า 30
ฉากการรบในหนังจีน, ญี่ปุ่น, ฝรั่ง ที่แสดงกองทัพของสองฝ่ายยกกำลังเข้าตะลุมบอนกันฝุ่นตลบ กลางสมรภูมิเปิดเช่นท้องทุ่ง หรือลานกว้างนั้น ไม่ใช่ฉากการรบในประวัติศาสตร์ไทย หรือว่าที่จริงประวัติศาสตร์ของภูมิภาคอุษาคเณย์ทั้งหมด
สงครามและการรบของเราคือการรบที่ ร.6 ทรงเรียกไว้ในงานภาคนิพนธ์ของท่านว่า "สงครามป้อมค่ายประชิด"
ต่างฝ่ายต่างสร้างป้อมสร้างค่ายขึ้นรบกัน ไม่ว่าจะรบกันอยู่กลางทุ่งหรือรบชิงเมืองก็ตาม ล้วนเป็นการรบอย่างเดียวกัน ที่จะยกไพร่พลโยธาเข้าประหัตประหารกันซึ่งหน้านั้นแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นเลย ที่เกิดขึ้นบ้างก็เป็นความจำเป็นเฉพาะหน้า เช่น เมื่อครั้งพระเจ้าตากสินเสด็จออกจากอยุธยามุ่งไปยังจันทบูร เป็นกองกำลังเล็กๆ ที่ไม่อาจตั้งป้อมค่ายขึ้นได้
การรบประเภทนี้เหมาะกับสภาพความเป็นจริงทางสังคมและระบบนิเวศน์ของภูมิภาคนี้ ทุกราชอาณาจักรต่างมีประชากรเบาบาง เกินกว่าที่รัฐบาลกลางจะสถาปนาอำนาจไปควบคุมประชาชนได้ทั่วถึง เมื่อเกิดสงครามขึ้น จำนวนมากของประชาชน (หรืออาจเป็นส่วนใหญ่) ย่อมพาลูกเมียหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ในป่า ซึ่งมีอยู่มากมาย แทนที่จะยอมให้เกณฑ์ไปรบ
ไม่ว่าจะเป็นกองทัพฝ่ายรุกหรือฝ่ายรับ ก็เผชิญข้อจำกัดเดียวกัน คือเกณฑ์คนมาได้ไม่เต็มที่ทั้งนั้น
ราชธานี (หรือหัวเมืองใหญ่) คือป้อมปราการ เพื่อป้องกันตนจากการถูกโจมตี ไม่ว่าจะถูกโจมตีจากรัฐอื่น หรือจากกบฏภายใน หรือแม้แต่จากกบฏชาวนา ถ้าสามารถยึดราชธานีหรือเมืองได้ ก็ต้องแพ้ เพราะประชาชนย่อมแตกกระสานซ่านเซ็นออกไป ไม่มีกำลังจะไปต่อสู้อะไรได้อีก
การจัดองค์กรทางสังคมมีอยู่ได้เพราะกำแพงเมืองช่วยป้องกันเสริมสร้างไว้ กำแพงพังลงเมื่อไร การจัดองค์กรทางสังคมของรัฐแถบนี้ก็พังไปด้วย ระบบการจัดองค์กรแบบมูลนาย-ไพร่ จึงเป็นระบบที่เปราะบางมากเสมอ เมืองและป้อมปราการจึงมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของรัฐโบราณ
แต่กำแพงเมืองที่เหลือให้เราได้เห็นทุกวันนี้มักจะชวนสมเพชมากกว่าน่ากลัว ที่จริงแล้ว เราได้เห็นแต่ "ซาก" ไม่เฉพาะแค่ซากของอิฐเก่าหรือเนินดินเก่าเท่านั้น แต่เป็นเพียงซากส่วนเดียวของกำแพงบริบูรณ์ที่มีเขี้ยวเล็บน่ากลัวกว่านี้แยะ
ยกตัวอย่างแค่ความสูง กำแพงเก่าที่เหลือให้เราเห็นดูเตี้ยเกินกว่าจะป้องกันการโจมตีของข้าศึก โดยเฉพาะเมื่อใช้ปืนใหญ่และปืนไฟกันแล้ว ในความจริงแล้ว กำแพงเหล่านี้เป็นแค่ "ฐาน" ของแนวป้องกัน เช่นเหนือเนินดินก็จะเป็นระเนียดไม้ซุงปักขึ้นไปเป็นแนว (ซึ่งบัดนี้ผุพังไปหมดแล้ว) แม้แต่ที่เป็นกำแพงอิฐ ก็อย่านึกว่ามีเพียงเท่านี้ ตามมุมเมืองมักมีหอรบ ซึ่งสร้างสูงขึ้นไป ด้วยอิฐบ้างด้วยไม้ซุงบ้าง เพื่อยกปืนใหญ่ขึ้นไปยิงข้าศึก ในเมืองใหญ่ๆ หอรบอาจมีมากกว่าตามมุมอีกด้วย
จากหลักฐานฝรั่งที่เคยรบกับชาวอุษาคเนย์ บางเมืองมีกำแพงและสิ่งก่อสร้างเสริมขึ้นไป สูงได้ถึงเกือบ 20 เมตร
ในบางเมืองในยามศึก เขาสร้างเนินดินสูงไว้เบื้องหลัง เพื่อยกปืนใหญ่ไปยิงข้ามกำแพงจากในเมืองออกมา ส่วนใหญ่การวางปืนใหญ่ เขามักวางลดระดับลงมาสามชั้น เพื่อเพิ่มกำลังยิงของปืนใหญ่
ยิ่งกว่านี้ เมื่อข้าศึกยกกำลังคืบคลานเข้าใกล้ เขามักสร้างค่ายระเนียดขึ้นล้อมกำแพงเมืองไว้อีก ชั้นเดียวบ้าง สามชั้นบ้าง ข้าศึกต้องตีค่ายระเนียดเหล่านี้ให้แตกไปเป็นชั้นๆ กว่าจะประชิดคูเมือง และต้องข้ามคูเมืองเข้าไปจึงประชิดกำแพงได้ ต้องหาทางทำลายกำแพงนั้นลง เพื่อจะยกทหารจู่โจมเข้ายึดเมือง
เช่น อยุธยาเมื่อครั้งเสียเมืองให้บุเรงนองและอลองพญา ก็ทำอย่างนี้
การสร้างป้อมปราการและกำแพงนี้เป็นเทคโนโลยีพื้นเมืองโดยแท้ เพราะเดิมเคยสร้างกำแพง, รั้วเพนียด หรือแม้แต่ปลูกไผ่ให้ชิดกันเป็นรั้วไว้ป้องกันโจรผู้รายในหมู่บ้านมาแล้ว
เมืองในสมัยคลาสสิค เช่น สมัยเมืองพระนคร มักสร้างกำแพงเมืองด้วยหิน แต่การสร้างด้วยหินใช้กำลังแรงงานมาก ทั้งไม่เหมาะกับเมืองในยุคจารีต เช่น อังวะ, ละแวก, อยุธยา ฯลฯ เพราะนิยมย้ายเมืองกันบ่อยมาก จึงเปลี่ยนมาเป็นอิฐ
ในยุคเดียวกันนี้ ฝรั่งที่มาล่าเมืองขึ้นมักสร้างกำแพงเมืองด้วยหิน เพราะฝรั่งยึดเฉพาะเมืองท่าบนเส้นทางเดินเรือ ไม่ได้คิดจะย้ายไปไหน และการสร้างกำแพงหินก็เป็นที่นิยมทำกันมาในยุโรป ฝรั่งจึงมักดูถูกกำแพงอิฐหรือไม้ของชาวอุษาคเนย์
แต่มีหลักฐานของนักรบ (รับจ้าง) ฝรั่งเองว่า แม้แต่รั้วเพนียดที่ทำด้วยซุงยังสามารถต้านทานปืนใหญ่ของฝรั่งได้ เพราะยิงแล้วลูกปืนกระเด้งกลับ
ส่วนกำแพงอิฐนั้น ฝรั่งเศสคนหนึ่งที่อยู่ในอยุธยาสมัยพระนารายณ์คุยว่า อิฐที่คนไทยเผาสร้างกำแพงนั้นแกร่งมาก ซ้ำปูนที่ใช้สออิฐเหล่านี้ ก็ยังเป็นปูนที่มีคุณภาพดีกว่าของฝรั่งเศสเสียอีก เนื่องจากผสมกับหนังควายและน้ำอ้อยจนเหนียวแน่นมาก ช่างจะคอยเอาน้ำรดไม่ให้ปูนแห้งเร็วเสียด้วย กำแพงอิฐจึงแข็งแกร่งไม่น้อยไปกว่ากำแพงหิน
แต่ข้อจำกัดของเมืองที่มีกำแพงอิฐล้อมรอบนั้นก็มีอยู่เหมือนกัน นั่นก็คือ เมื่อเกิดศึก เกณฑ์ผู้คนเข้ามารักษาเมืองกันมากมาย อาณาบริเวณภายในไม่สู้จะกว้างใหญ่นัก จึงทำให้เกิดความแออัด อันเป็นเหตุให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย ยิ่งกว่านั้นย่อมเก็บเสบียงอาหารและยุทธภัณฑ์ได้ไม่มากนัก ถ้าถูกล้อมจนส่งเสบียงเข้าไปได้ยาก ก็ทำให้รักษาเมืองไว้ไม่ได้ จะขยายเมืองก็ไม่ทันเสียแล้ว
นี่คือสภาพที่กรุงศรีอยุธยาต้องเผชิญเมื่อจะเสียกรุงครั้งหลัง เกิดความอดอยากจนผู้คนพากันหนีไปหาพม่าทุกวัน เพราะต้องการอาหาร
ป้อมค่ายที่สร้างเตรียมรับศึกไว้อย่างดี จึงเป็นปราการที่แข็งแกร่งในการสงคราม คนน้อยก็อาจสู้คนมากได้ และป้อมปราการของรัฐต่างๆ ในอุษาคเนย์ก็เคยชนะศึกมามากแล้ว ทั้งศึกกับรัฐอื่นในภูมิภาคเดียวกัน และศึกของกองทัพฝรั่ง รวมทั้งฝรั่งเองก็เคยเอาชนะกองทัพชาวอุษาคเนย์ด้วยป้อมค่ายมาแล้วเหมือนกัน
ในทางตรงกันข้าม กองทัพของฝ่ายล้อมเมืองก็ใช้ยุทธวิธีเดียวกันคือ "สงครามป้อมค่ายประชิด" ได้แก่การสร้างป้อมค่ายขึ้นล้อมเมืองเอาไว้อย่างแน่นหนา แต่เป็นป้อมค่ายที่สร้างขึ้นจากวัสดุใกล้ตัว เช่น กำแพงเพนียด ทั้งไม้ซุงและไม้ไผ่ รวมทั้งเนินดินที่ขุดขึ้นหนุนกำแพงด้วย มีค่ายคูประตูหอรบพร้อมพรั่งเหมือนกัน นับตั้งแต่มีปืนใหญ่ใช้ จุดมุ่งหมายของสองฝ่ายคือ ยกปืนใหญ่ขึ้นไปสูงๆ เพื่อยิงข้ามกำแพงเข้าไปตกในค่ายหรือในเมืองของข้าศึก
สงครามชนิดนี้จะแพ้ชนะกันด้วยเวลา ใครจะอึดกว่ากัน ฝ่ายใดอ่อนกำลังลงด้วยเหตุใดก็ตาม เช่น ผู้คนหลบหนีออกไปมาก ขวัญเสีย เสบียงหมด หรือน้ำหลาก อีกฝ่ายหนึ่งก็จะยกกำลังเข้าตีป้อมค่ายของข้าศึก หากตีหักเข้าไปได้ ก็มีโอกาสจะรบชนะไม่ยาก
ฉะนั้น เทคโนโลยีการรบอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการสร้างป้อมค่ายก็คือ การป้องกันปราการของตัวเอาไว้ และการรุกเข้าไปทำลายปราการของอีกฝ่ายหนึ่ง มีกลวิธีหลากหลายชนิดที่สามารถทำเพื่อบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว
ฝ่ายป้องกัน มีทั้งหิน, น้ำมันเดือด, ไหระเบิด, ขวากไม้ไผ่, หลุมพราง, ฯลฯ และที่สำคัญที่สุดคือปืนไฟ คอยป้องกันมิให้ข้าศึกรุกเข้ามาประชิดกำแพงเมือง ฝ่ายรุกก็มีกลวิธีและอาวุธอีกหลายอย่างในการสร้างความปั่นป่วนให้แก่ผู้ป้องกันรักษากำแพง แม้แต่หอรบเคลื่อนที่ซึ่งสามารถลากเข้าไปใกล้กำแพง ก็มีหลักฐานว่าเคยใช้กันมาแล้ว ขุดเหมืองดึงน้ำออกจากคูเมือง แม้แต่ยิงจรวดก็มีหลักฐานว่าพระเจ้าบุเรงนองใช้ในการตีเมืองเชียงใหม่ ในพระราชพงศาวดารไทย ว่าใช้หม้อทะนนบรรจุดินปืน ผูกว่าวขึ้นไปทิ้งในเมืองโคราช ก็เป็นอีกกลวิธีหนึ่ง
ในการรุกคืบเข้าประชิดกำแพงเมืองนี้ จะให้เสียไพร่พลแต่น้อยได้อย่างไร เพราะฝ่ายป้องกันอยู่บนที่สูงคือกำแพงและหอรบย่อมเป็นฝ่ายได้เปรียบ ก็มีเทคโนโลยีอีกหลายอย่างในการป้องกันชีวิตไพร่พล เช่น แผ่นหนัง, กำแพงเคลื่อนที่ (มักทำด้วยไม้เนื้อแกร่ง ไว้ป้องกันทั้งธนูและลูกปืน) หรือขุดสนามเพลาะให้ไพร่พลเคลื่อนกำลังไปเรื่อยๆ อย่างปลอดภัย เป็นต้น
ว่ากันว่าเทคโนโลยีด้านนี้ พม่าเก่งที่สุด อาจเป็นเพราะพม่ารบกับเพื่อนบ้านบ่อย และมีกบฏภายในบ่อยกว่าใครอื่น จึงทำให้ได้พัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ไปได้ไกล เมื่อตอนที่พม่าพยายามจะตีย่างกุ้งคืนจากอังกฤษนั้น เมื่อพม่าแตกไปแล้ว อังกฤษพบว่าพม่าขุดสนามเพลาะรุกเข้ามาทีละน้อย กลายเป็นท่อขนาดใหญ่ที่สลับซับซ้อน มีความยาวรวมกันกว่า 10 กิโลเมตร
นอกจากนี้พม่ายังถนัดในการสร้าง "ทุ่นระเบิด" คือบรรจุดินปืนลงไห มีชนวนไว้จุด นอกจากใช้ประโยชน์ในการยิงเข้าเมืองเพื่อให้ระเบิดทำลายชีวิตผู้คนแล้ว ยังใช้ในการทำลายกำแพงเมืองอีกด้วย
ที่พระราชพงศาวดารไทยเล่าว่า พม่าสามารถประชิดกำแพงเมืองอยุธยา แล้วสุมไฟเผารากกำแพงเมือง จนในที่สุดก็พังลงนั้น เข้าใจว่าน่าจะเป็นการวางระเบิดไหเช่นนี้มากกว่า
เมื่อกำแพงหรือรั้วเพนียดพังลง ข้าศึกก็จะกรูกันเข้ารุกไล่ในเมืองจนยึดเมืองหรือค่ายได้ สงครามสิ้นสุดลงโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ แต่ก็เป็นชัยชนะใน "สงครามป้อมค่ายประชิด" ไม่ใช่รบกันกลางแปลงอย่างในหนังจีน, ญี่ปุ่น หรือฝรั่ง
เมื่อเทคโนโลยีปืน-ทั้งปืนใหญ่และปืนประจำกาย-เปลี่ยนไป "สงครามป้อมค่ายประชิด" ก็ใช้ประโยชน์ป้องกันตนเองไม่ได้ ปืนใหญ่สนามฝรั่งนั้น สามารถยิงข้ามกำแพงเข้าเมืองไปง่ายๆ แม้แต่กำลังคนน้อยกว่า ก็สามารถปราบฝ่ายกำลังมากที่หลบตัวอยู่หลังกำแพงได้ง่าย
นักรบหรือวีรบุรุษรุ่นใหม่ คือคนที่รบหรือบัญชาการรบกลางแปลงได้เก่ง ว่าเฉพาะของไทย ดูเหมือนจะยังไม่มี วีรบุรุษที่เรายกย่องสรรเสริญกันนั้น ล้วนเป็นนักรบใน "สงครามป้อมค่ายประชิด" ทั้งสิ้น
ยกเว้นก็แต่อ้ายเสมานี่แหละครับ
(ข้อมูลส่วนใหญ่ได้จาก V. Lieberman, M.C. Ricklefs, D.K. Wyatt, Southeast Asian Warfare, 1300-1900.)
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย