http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-24

วิกฤติหนี้ลุกลาม: (7)ร้อนกันไปทั้งโลก โดย อนุช อาภาภิรม

.

วิกฤติหนี้ลุกลาม : ร้อนกันไปทั้งโลก (7)
โดย อนุช อาภาภิรม  คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1666 หน้า 38


ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ไซปรัสประเทศเกาะเล็กๆ มีประชากรราว 9 แสนคน ก็ได้เจรจากับกลุ่ม 3 พลังหรือทรอยก้า คือสหภาพยุโรป ธนาคารกลางยุโรปและไอเอ็มเอฟ เพื่อขอเงินอย่างน้อย 2.8 พันล้านดอลลาร์ ในการไถ่ถอนธนาคารที่ประสบเคราะห์กรรม จนกระทั่งพันธบัตรของตนถูกจัดอยู่ในระดับ "ขยะ" มีความยากลำบากในการกู้เงินในตลาดระหว่างประเทศ 
แต่ไซปรัสเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก หากเกิดความเสียหายไป ก็ไม่กระทบต่อโครงสร้างระบบเงินยูโรนัก พื้นที่ควรจับตา ได้แก่ สเปน ที่ได้เจรจาขอเข้าโครงการไถ่ถอนที่ต้องใช้เงินนับแสนล้านยูโร และยิ่งร้ายกว่านั้นมีข่าวว่าวิกฤติหนี้ได้ลามสู่อิตาลีแล้ว และมีผู้พูดถึงวิกฤติหนี้ในฝรั่งเศสหนาหูขึ้น 

ปรากฏข่าวผู้นำทั้ง 3 ประเทศนี้ได้จับกลุ่มรวมตัวกันเพื่อกำหนดแนวทางนโยบายแก้วิกฤติครั้งนี้ เป็นการรวมพลังเพื่อต่อสู้กับนางเมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ซึ่งมีแนวทางบางอย่างต่างกันไป
ทำให้การประชุมสุดยอดสหภาพยุโรปได้กลายเป็นที่สนใจทั่วโลกว่า จะสร้างความสมานฉันท์และแก้ไขวิกฤติใหญ่นี้ได้อย่างไร


การประชุมสุดยอดสหภาพยุโรปกับฟองสบู่ข่าวดี

การประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป 28-29 มิถุนายน 2012 ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการประชุมที่จะชี้ชะตาของเขตยุโรป เพราะคาดหมายกันว่าจะมีการถกเถียงต่อรองกันอย่างดุเดือดในหมู่ผู้นำประเทศเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขวิกฤติหนี้ที่ดูจะขยายวงกว้างขึ้นทุกที ซึ่งก็ปรากฏว่ามีการประชุมถึงขั้นข้ามคืน 
จากรายงานการประชุมของสภายุโรป (Europe Council) ผู้จัดประชุมสุดยอด ระบุว่าเนื้อหาประชุมสำคัญ ได้แก่ ความตึงเครียดของตลาดการเงิน เพื่อหาทางสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื้อหาทำนองนี้ได้จัดประชุมกันมานาน 3 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ประสบผล โดยสามัญสำนึกน่าจะบอกว่าการประชุมครั้งนี้ไม่ควรจะมีอะไรเป็นพิเศษที่จะพลิกเปลี่ยนสถานการณ์วิกฤติให้ดีได้ในฉับพลันเลย

แต่ในกระแสข่าวของสื่อกระแสหลักทั้งในยุโรปและสหรัฐ ดูเหมือนมีการรายงานเหตุการณ์ออกไปทำนองคล้ายกันว่า ท่านนายกรัฐมนตรีหญิงแห่งเยอรมนีนางเมร์เคล มีแนวคิดในด้านไม่เห็นด้วยกับมาตรการไถ่ถอนธนาคารใหญ่ทั้งหลาย แต่ต้องการเน้นการมัธยัสถ์ของรัฐบาล ขณะนี้ผู้นำอีก 3 ประเทศ ได้แก่ นายมาริโอ มอนติ นายกรัฐมนตรีแห่งอิตาลี นายมาริอาโน ราจอย นายกรัฐมนตรีแห่งสเปน และประธานาธิบดีคนใหม่ของฝรั่งเศส นายฟรังซัว ออลลอง ได้ผนึกกำลังกันคัดค้านนางเมร์เคล ถึงขั้นยื่นคำขาดว่าถ้าหากนางเมร์เคลไม่ยอมไถ่ถอนธนาคาร ก็จะวีโต้เรื่องการตั้งกองทุนเพื่อกระตุ้น 
จนในที่สุด นางเมร์เคลต้องยินยอมให้มีการใช้เงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือธนาคารใหญ่ที่ประสบวิกฤติโดยตรง

สื่อมวลชนกระแสหลักทั้งในสเปน อิตาลี และฝรั่งเศส แม้กระทั่งในเยอรมนีต่างประโคมข่าวว่านางเมร์เคลเป็นผู้แพ้ 
โทรทัศน์ข่าวการเงินบลูมเบิร์กรายงานว่า "ออลลองปรากฏตัวเป็นผู้ชนะ" 
สำนักข่าวรอยเตอร์พาดหัวข่าวว่า "เมร์เคลแพ้ยับในการประลองกำลังในเขตยูโร" 
นิตยสารไฟแนนเชียล ไทม์ของอังกฤษทำบทความเรื่อง "ราจอยเป็นผู้ชนะแท้จริง แม้ว่ามอนติจะดีใจ"
คอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์บิลด์ของเยอรมนีที่มีผู้อ่านถึง 12 ล้านคน เขียนอย่างผิดหวังว่า "นางเมร์เคลถูกโจมตีแบบไม่รู้ตัวในที่ประชุมสุดยอด"
ข่าวทำนองนี้ย่อมเป็นเหมือนการเป่าฟองสบู่ข่าวดีว่า ณ บัดนี้ผู้นำเขตยูโรได้คิดเห็นไปในทางเดียวกันที่จะช่วยเหลือธนาคารที่ประสบปัญหาแล้ว มีผลให้หุ้นในยุโรปและรวมทั้งหุ้นทั่วโลกพุ่งกระฉูดขึ้น แต่ก็เป็นอยู่ไม่กี่วัน ฟองสบู่นั้นก็แตก และอะไรก็ดูกลับมาเหมือนเดิม นั่นคือกำแพงหนี้ใหญ่ที่จะขวางกั้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปอีกนาน

ความจริงผู้ที่สรุปสถานการณ์การประชุมสุดยอดครั้งนี้ได้ดีน่าจะเป็น นายเฮอร์แมน แวน รอมปุย ประธานสหภาพยุโรป เขากล่าวว่า "นี่เป็นการเจรจาที่ยากมาก ใช้เวลานานหลายชั่วโมง แต่คุณไม่สามารถสรุปได้ว่าใครแพ้ใครชนะ" แต่มีนักวิจารณ์บางคนชี้ว่าผู้ชนะแท้จริง ได้แก่ นางเมร์เคล 
โดยชี้ว่าการอัดฉีดเงินเพื่อช่วยเหลือธนาคารนั้นกระทำได้แบบมีเงื่อนไขตามที่คณะกรรมการร่วมธนาคารกำหนด ซึ่งนางเมร์เคลสามารถเข้ามาแทรกแซงตอนนี้ได้ นอกจากนี้ การนำเงินไปช่วยเหลือธนาคารโดยตรง ย่อมมีผลในการเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติบางประการของโครงการกองทุนกลไกเพื่อเสถียรภาพยุโรป (European Stability Mechanism - ESM) ซึ่งเยอรมนีที่เป็นผู้จ่ายเงินก้อนใหญ่ก็จะมีบทบาทในตอนนี้อีก
(ดูบทความชื่อ EU Summit Winner Was Merkel ใน Mish"s Global Economic Trend Analysis, 030712)



การให้ยาที่แรงขึ้นและเสียงวิจารณ์

การประชุมสุดยอดสหภาพยุโรปดังกล่าวมีเป้าหมายเฉพาะหน้าอยู่ที่การผ่อนคลายวิกฤติหนี้ในสเปนและอิตาลี ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็เท่ากับเป็นการผ่อนคลายวิกฤติหนี้ในฝรั่งเศสด้วย ว่าไปแล้วมติการประชุมสุดยอดครั้งนี้ค่อนข้างกล้าหาญและเฉียบขาดกว่าเดิม ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า เมื่อการให้ยาอ่อนเยียวยาไม่ได้ ก็จำต้องให้ยาที่แรงขึ้น แต่แม้เป็นยาที่แรงขึ้นก็มีเสียงวิจารณ์ว่ายังน้อยและมาช้าเกินไป จะกล่าวถึงมติและเสียงวิจารณ์พร้อมกันดังนี้ 
1. ให้สร้างกลไกควบคุมดูแลธนาคารที่เป็นหนึ่งเดียวดำเนินการโดยธนาคารกลางยุโรป นักวิจารณ์บางคนเรียกง่ายๆ ว่าเป็น "สหภาพการธนาคาร" (Banking Union) เหตุปัจจัยที่ต้องใช้มาตรการนี้เนื่องจากภาคธนาคารในเขตยูโรหลายประเทศมีขนาดใหญ่มาก โดยมีหนี้สินซึ่งที่สำคัญเกิดจากการปล่อยสินเชื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีของประเทศสูงลิ่ว จนกระทั่งเหลือความสามารถของรัฐบาลนั้นๆ มาช่วยแก้ไขหนี้ของธนาคาร 
เช่น หนี้สินของภาคธนาคารในสเปนทั้งหมดมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 300 ของจีดีพีประเทศ ภาคธนาคารสเปนได้ปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคอสังหารริมทรัพย์จำนวนมาก เกิดสภาพมีหนี้ที่ชวนสงสัยกว่าร้อยละ 9 อัตราการว่างงานก็สูงกว่าร้อยละ 20 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดต่ำลงมาก

รัฐบาลสเปนได้พยายามเข้าอุ้มชูธนาคารทั้งหลายโดยเจรจาขอกู้เงิน 125 พันล้านดอลลาร์ จากสหภาพยุโรปเพื่อช่วยไถ่ถอนธนาคารของตน ซึ่งตอนแรกก็ดูเป็นข่าวดี ต่อมากลายเป็นข่าวตื่นตระหนกว่ารัฐบาลสเปนเองจะแบกรับภาระหนี้หนักจนเอาไม่อยู่ หนทางที่ดีจึงน่าจะเป็นการนำทรัพยากรของยูโรโซนรวมกันมาช่วยไถ่ถอน 
ประเทศเข้มแข็งทางเศรษฐกิจอย่างเยอรมนีก็ปรากฏว่าภาคธนาคารมีหนี้สินรวมกว่าร้อยละ 300 ของจีดีพี และของฝรั่งเศสสูงถึงร้อยละ 400 ในการรวมการธนาคารขึ้นนี้จะทำให้ธนาคารกลางยุโรปมีอำนาจกำหนดกฎเกณฑ์และควบคุมธนาคารต่างๆ ในยุโรปสูงขึ้นมาก (ดูบทความของ Brad Plumer ชื่อ Did the EU summit?actually succeed? ใน washingtonpost.com/blog 290612)

2. ให้นำเงินเข้ากองทุนกลไกเสถียรภาพยุโรป (ESM) เพื่ออัดฉีดเข้าสู่ธนาคารโดยตรง ในเฉพาะหน้าเงินทุนนี้ให้นำจากกองทุนอำนวยความมั่นคงทางการเงินยุโรป (European Finance Stability Facility- EFSF) มาใช้ก่อน จนกว่าอีเอสเอ็ม จะมีความพร้อม และยังให้กองทุนทั้งสองซื้อพันธบัตรของประเทศสมาชิกกองทุนกลไกเสถียรภาพยุโรปซึ่งเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่ากองทุนไถ่ถอนหนี้มียอดเงินระดับที่หลายแสนล้านยูโร 
ซึ่งมีเสียงวิจารณ์ว่าไม่พอเพียง เมื่อเทียบกับหนี้พันธบัตรรัฐบาลอิตาลีทั้งหมดสูงถึงเกือบ 2 ล้านล้านยูโร และของสเปนสูงราว 8 แสนล้านยูโร เมื่อกองทุนนี้ช่วยไถ่ถอนธนาคารที่สเปน 125 พันล้านดอลลาร์ และในอิตาลีอีกสักสองแสนล้าน เงินก็จะร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว

นักวิจารณ์บางคนชี้ว่าเมื่อกองทุนทั้งสองซื้อพันธบัตร เงินที่มีอยู่ก็จะหดหายไป นักลงทุนก็จะเกิดความไม่มั่นใจ รีบเทขายพันธบัตร ที่ยังพอมีค่าอยู่ ในที่สุดก็ทำให้ตลาดพันธบัตรของรัฐบาลเกิดความไร้เสถียรภาพได้ 
(ดูบทความชื่อ Why the EU Summit Decisions May Destabilize Government Bond Markets ใน turkishweel;y.net 040712)


ผู้นำของยุโรปมีความเห็นพ้องอะไร

ในท่ามกลางวิกฤติได้เกิดข่าว 2 กระแสขึ้นปะทะกัน กระแสหนึ่งเป็นฟองสบู่ข่าวดี ชวนให้ผ่อนคลายว่าได้เห็นแสงสว่างแล้ว อีกกระแสหนึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นอาการโรคปฏิทินชาวมายา 2012 ที่เห็นว่าโลกจะแตก ทุกอย่างจะล่มสลายในวันนี้พรุ่งนี้ ซึ่งทั้ง 2 ขั้วนั่นไม่ก็ดีเกินไป ไม่ก็ร้ายเกินไป ความจริงอยู่ที่ตรงไหน? 
ความเป็นจริงอันอาจแบ่งเป็น 2 ด้าน ได้แก่ ความจริงทางภววิสัยหรือวัตถุวิสัย ได้แก่สัดส่วนปริมาณหนี้ต่อจีดีพี อัตราการว่างงาน ราคาอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งสามารถตีความไปต่างๆ อีกด้านหนึ่งได้แก่ความจริงทางด้านอัตวิสัยหรือจิตวิสัย ได้แก่ ความเข้มแข็งความสามัคคีในองค์กรเพื่อการแก้ไขปัญหา ความคิดริเริ่ม และการหามาตรการแก้ไขที่เหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไป จนถึงความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ได้
ความเป็นจริงด้านหลังนี้มีความสำคัญไม่น้อย
ความพยายามของกลุ่มผู้นำสหภาพยุโรปและเขตยูโรเปรียบคล้ายกับการนำเครื่องบินลำใหญ่ที่ทั้งน้ำมันใกล้หมดและเครื่องยนต์เสียหายลงจอด สถานการณ์ที่เลวร้ายมากก็คือการตกกระแทกพื้นและเกิดโศกนาฏกรรมใหญ่ ที่ดีมากก็คือลงจอดได้โดยเกิดความเสียหายไม่มากนัก ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จ ก็หวังว่าจะใช้เวลาสักพักเพื่อเติมน้ำมันและซ่อมบำรุงเครื่องยนต์เพื่อเหินบินขึ้นใหม่ แต่เวลาสักพักอาจยาวเป็นทศวรรษ เหมือนญี่ปุ่นที่ผ่านทศวรรษที่หลงทาง (Lost Decade) มาถึง 2 ทศวรรษแล้ว ก็ยังบินไม่ขึ้นเพราะเผชิญวิกฤติและภัยพิบัติกระหน่ำเป็นระยะ

ความพยายามทางอัตวิสัยของบรรดาผู้นำกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปครั้งนี้ ได้สะท้อนความเห็นพ้องร่วมกัน 3 ประการด้วยกัน ที่สร้างความเหนียวแน่นในการแก้ปัญหา และก็ไม่ควรคาดว่าสหภาพยุโรปจะถึงจุดจบเร็วเกินไป ความเห็นพ้องดังกล่าวสรุปได้ดังนี้คือ

1. การรักษาสถานเดิมของสหภาพยุโรปและเขตยูโรในฐานะที่เป็นศูนย์กลางใหญ่ทางเศรษฐกิจ-การเงินของโลกต่อไป โดยใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดให้ประเทศต่างๆ ยังคงอยู่ในเขตยูโร ดังจะเห็นว่าพรรคประชาธิปไตยใหม่ที่เป็นฝ่ายขวาและเป็นแกนของรัฐบาลผสมกรีกปัจจุบัน ไปจนถึงพรรคพันธมิตรฝ่ายซ้ายแท้ที่เป็นฝ่ายค้านต่างยืนยันว่าจะรักษากรีซไว้ในเขตยูโรต่อไป ทั้งนี้ หากมีการแยกตัวออกไปจะก่อผลร้ายหลายประการ ได้แก่
(ก) ทำลายความเชื่อมั่นในเขตยูโรและรวมไปถึงสหภาพยุโรป เกิดวิกฤติเงินตรา และสามารถทำลายตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นเหมือนกระเป๋าเงินของเศรษฐี
(ข) ทำให้ขบวนยึดครองต่างๆ ของมวลชนรากหญ้ายุโรปได้กำลังใจ และเกิดพลังจนรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการต่างๆ ได้
(ค) หากสหภาพยุโรปแตกออกเป็นประเทศเล็กประเทศน้อยก็มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐและจีนที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าจะเข้ามาซื้อควบรวมกิจการราคาถูกได้ แม้ในประเทศไทยก็ยังมีข่าวว่าบางเจ้าสัวคิดอ่านไปซื้อกิจการบรรษัทในประเทศยุโรป

2. มาตรการมัธยัสถ์ ซึ่งเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการแก้วิกฤตินี้ นั่นคือทำมากใช้จ่ายน้อย แต่ความทุกข์จะไปตกหนักอยู่ที่มวลชนรากหญ้า ซึ่งจะเกิดการต่อต้านอย่างดุเดือดรุนแรง เป็นสิ่งที่กลุ่มผู้นำจำต้องคิดแก้ไขตามความเหมาะสม ตัวอย่างที่ดีอย่างหนึ่งน่าจะเป็นโครงการสแตมป์อาหารในสหรัฐที่สามารถดับความโกรธแค้นของผู้คนลงได้มาก

3. การไถ่ถอนหนี้ทั้งของรัฐและธนาคารให้กระทำตามความเหมาะสมจำเป็น เป็นขั้นตอน ไม่สามารถปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็วเหมือนสหรัฐและจีนที่มีรัฐบาลกลางเดียวที่เข้มแข็ง ส่วนในยุโรปนั้นจะตัดสินใจสำคัญๆ มักต้องใช้การลงประชามติซึ่งกินเวลา นอกจากนี้ ยุโรปยังมีระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมและมีประสิทธิผล เป็นอัตลักษณ์ของยุโรปสมัยใหม่ ที่จะต้องรักษาไว้ ไม่ให้อิทธิพลของสถาบันการเงินมาครอบงำมากจนเกินไป

คาดหมายว่าหากปฏิบัติการแบบจำกัดวงใช้ไม่ได้ผล ก็คงต้องนำมาตรการที่แรงกว่ามาใช้ นั่นคือการนำธนาคารกลางยุโรปมาเป็นเจ้าภาพเอง



.