.
บทความของปี2554 - ทางเลือกใหม่ พลังงานแสงอาทิตย์ บนหลังคาอุโมงค์รถไฟ โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์
บทความของปี2554 - พลังของสวนในบ้าน กับอากาศในเมือง โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
“ฮิกส์ โบซอน” การพ่ายแพ้ของ สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1665 หน้า 100
วันที่ CERN หรือองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป เปิดแถลงข่าวว่าค้นพบสิ่งที่สอดคล้องกับสมมติฐานฮิกส์ ซึ่งตั้งชื่อตาม ปีเตอร์ ฮิกส์ นักวิทยาศาสตร์เจ้าของสมมติฐานดังกล่าว อนุภาคฮิกส์ โบซอน เป็นอนุภาคที่มีอีกชื่อหนึ่งว่าอนุภาคพระเจ้า หากการค้นพบครั้งนี้ได้รับการยืนยันอนุภาคฮิกส์จริงดังว่า ก็จะนำพานักวิทยาศาสตร์ไปสู่การไขปริศนาลี้ลับของการกำเนิดเอกภพ ซึ่งจะนำไปสู่ความรู้และวิทยาการใหม่ๆ ในอนาคตอีกหลายอย่าง
ถือเป็นเหตุการณ์ทางวิทยาศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ที่เทียบได้กับการส่งมุนษย์ขึ้นยานอพอลโลลงไปเหยียบดวงจันทร์เมื่อราวสี่สิบปีก่อนโน่นเลย มีคนคำนวณว่าค่าใช้จ่ายในการล่าหาอนุภาคฮิกส์ นี้รวมทั้งค่าก่อสร้างเครื่องเร่งอนุภาค LHC ที่ทรงพลังสุดในโลกมาเป็นเครื่องมือหลักในการทดลองนั้นสูงถึง 13,500 ล้านเหรียญ
แต่ความรู้ใหม่ๆ ที่ได้ก็ประมาณค่าไม่ได้เช่นกัน
เรื่องที่น่าสนุกก็คือ สตีเฟน ฮอว์กิ้ง นักฟิสิกส์เจ้าของทฤษฎีหลุมดำ ที่ได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่รองจาก ไอแซก นิวตัน และไอน์สไตน์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีวันที่ CERN แถลงข่าวว่าการค้นพบครั้งนี้สำคัญ แต่คงทำให้เขาต้องเสียพนัน 100 เหรียญ ให้กับ กอร์ดอน เคน ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยมิชิแกน หัวเรี่ยวหัวแรงในการทดลอง
ฮอว์กิ้งท้าพนันกับเคนเองว่า CERN ไม่มีทางค้นพบอนุภาคฮิกส์ได้ การพนันครั้งนี้มีขึ้นเมื่อราว 10 ปีก่อน
นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่อย่างฮอว์กิ้งไม่ได้แพ้พนันในเรื่องวิทยาศาสตร์ ครั้งนี้ครั้งเดียว แต่ก่อนหน้านี้เคยแพ้มาแล้วสองครั้ง
ครั้งแรกเมื่อปี 1975 ฮอว์กิ้งพนันกับ คิพ ธอร์น นักฟิสิกส์ทฤษฎี ว่าแหล่งคลื่นรังสีเอ็กซเรย์ Cygnus X-1 ในกลุ่มดาวหงส์ไม่มีหลุมดำ พอถึงปี 1998 เขายอมรับว่ามีหลุมดำอยู่จริง แล้วจ่ายเดิมพันให้ธอร์นด้วยการสมัครสมาชิกนิตยสารเพนท์เฮ้าส์ให้หนึ่งปี
คิพ ธอร์น เป็นนักฟิสิกส์ที่คร่ำหวอดในแวดวงฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เคยร่วมงานกับทั้ง คาร์ล ซาเก้น และฮอว์กิ้ง เป็นเจ้าของผลงานหนังสือ "ประวัติย่อของหลุ่มดำ" ซึ่งใช้เวลาในการเขียนถึง 10 ปี เป็นตำราเล่มหนึ่งที่คนเรียนด้านฟิสิกส์และคนที่อยากรู้เรื่องหลุมดำต้องอ่าน
ครั้งที่สองในปี 1997 ธอร์นกับฮอว์กิ้งพนันกับ จอห์น เพรสคิล แห่งแคลเทก เมื่อมีบางอย่างตกลงไปในหลุมดำจะไม่มีข้อมูลอะไรเล็ดลอดออกมาได้เลย ถึงปี 2004 ฮอว์กิ้งประกาศยอมรับว่าข้อมูลสามารถเล็ดลอดออกมาได้จริง แล้วจ่ายเดิมพันไปด้วยเอ็นไซโคลพิเดียเบสบอลชุดหนึ่ง
ส่วนครั้งที่สามคือเรื่อง ฮิกส์ โบซอน ที่เพิ่งเกิดขึ้นหมาดๆ นี่เอง
ที่จริงยังมีพนันที่ยังค้างอยู่อีกหนึ่งครั้งซึ่งยังไม่รู้ผลแพ้ชนะ ฮอวก์กิ้งพนันกับ นีล ทูร็อก แห่งสถาบันเพรีมิเตอร์เพื่อฟิสิกส์ทฤษฎี ฮอว์กิ้งบอกว่าจะสามารถตรวจจับคลื่นสนามแรงโน้มถ่วงได้ในที่สุด ซึ่งจะเป็นการยืนยันทฤษฎีการพองตัวของเอกภพในเสี้ยววินาทีแรกๆ หลังเกิดบิ๊กแบ๊ง ในขณะที่ทูร็อกนั้นเชื่อว่าบิ๊กแบ๊งไม่ใช่จุดเริ่มต้นของเอกภพ แต่เป็นส่วนหนึ่งของวงจรที่ไม่มีสิ้นสุดของการระเบิดและการขยายตัว
นักวิทยาศาสตร์ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องสนุก ส่วนคนธรรมดาบางทีทำเรื่องสนุกให้เป็นเรื่องยาก
+++
บทความของปี 2554
ทางเลือกใหม่ พลังงานแสงอาทิตย์ บนหลังคาอุโมงค์รถไฟ
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1608 หน้า 100
เมื่อเร็วๆ นี้คนที่ติดตามเกี่ยวกับเรื่องพลังงานคงจะพอรู้ข่าวว่ารัฐบาลของประเทศเยอรมนีประกาศจะเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ภายในปี 2022 หรือราวๆ อีกสิบปีข้างหน้า โดยจะเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนจากลมและแสงอาทิตย์แทนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ถือว่าเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ที่ท้าทายมากๆ
สาเหตุที่รัฐบาลเยอรมันตัดสินใจเช่นนี้ สืบเนื่องมาจากแรงกดดันของประชาชนภายหลังเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุคุชิมาในญี่ปุ่นที่โดนสึนามิถล่ม แล้วเหตุการณ์บานปลายจนถึงวันนี้สถานการณ์ก็ยังไม่นิ่ง
กรณีของเยอรมนีอาจจะช่วยตอบคำถามคลาสสิกที่นิยมถามกันมาตลอดว่า ถ้าไม่เอานิวเคลียร์แล้วจะเอาอะไร เพราะที่จริงแล้วมันมีทางเลือกอื่นๆ อีกหลายทาง ถ้าลงได้ตั้งใจเอากันจริงๆ แล้วมันก็มีความเป็นไปได้สูง
แต่ถ้าเลือกท่องแต่คาถาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทางเลือกอื่นก็จะไม่โผล่ขึ้นมาให้เห็น
วันก่อนเห็นข่าวเรื่องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงในยุโรปแล้วอดไม่ได้ที่ต้องเอามาเล่าสู่กันฟัง
เรื่องมีอยู่ว่า ทางรถไฟสายปารีส-อัมสเตอร์ดัม มีช่วงที่รางพาดผ่านป่าโบราณในอันทเวิร์บซึ่งจำเป็นต้องพยายามรักษาไว้ เขาก็เลยทำอุโมงค์ครอบรางในช่วงสองไมล์นั้นเอาไว้ เพื่อป้องกันต้นไม้หักโค่นลงมา หากไม่ทำอุโมงค์รอบก็ต้องโค่นต้นไม้สองข้างรางนั่นเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเดินรถไฟ
ก็เลยเกิดความคิดว่าแทนที่จะปล่อยให้ด้านบนของอุโมงค์สูญเปล่าไปเฉยๆ ใช้มันเป็นที่ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าดีกว่า เท่ากับได้ประโยชน์สองต่อจากอุโมงค์ ประการหนึ่งคือรักษาป่าโบราณไว้ อีกประการหนึ่งได้พลังงานทดแทนมาใช้แบบยั่งยืน
แผงพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด 16,000 แผง มีส่วนป้อนพลังงานให้กับรถไฟรวมทั้งสถานีอันทเวิร์บซึ่งเป็นสถานีใหญ่ด้วย
โครงการนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการนำเอาพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้กับรถไฟฟ้า และกรุยทางให้แนวความคิดเรื่องการใช้พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับการเดินรถไฟเป็นจริงขึ้นมา ตัดปัญหาเรื่องสถานที่ในการสร้างฟาร์มโซลาร์เซลล์ลงไปด้วย
ที่จริงแล้ว บริษัทอินฟินิตี้ ซึ่งเป็นบริษัทที่ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในโครงการนี้ มีโครงการอยู่อีกสองโครงการในลอนดอนที่จะให้บริษัทรถไฟฟ้ากับบริษัทประปา แต่โครงการมีปัญหาซับซ้อนของระบบระเบียบในการอุดหนุนการใช้พลังงานทดแทน
เห็นบ้านอื่นเมืองอื่นเขาพยายามกันทั้งที่รัฐบาลถูกวิจารณ์ว่าพยายามน้อยเกินไป แล้วมาเทียบกับบ้านเราชวนให้ละเหี่ยพิลึก ถ้าบ้านเขาทำกันขนาดนั้นยังว่าน้อยไป บ้านเรานี่ความพยายามหาทางเลือกอื่นติดลบไปเลย
แต่ที่แข็งขันกันอย่างหนักก็มีแต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใช้งบฯ มากถึง 1,800 ล้านบาทเพื่อเสกคาถาสะกดจิตประชาชนให้คล้อยตามให้ได้
+++
พลังของสวนในบ้าน กับอากาศในเมือง
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1606 หน้า 100
เวลาเห็นพื้นที่ที่เคยเป็นสีเขียวของต้นไม้ใบหญ้า ถูกแทนที่ด้วยสิ่งปลูกสร้างแล้วชวนให้รู้สึกเสียดาย เพราะเราก็เรียนรู้กันมาแต่อ้อนแต่ออกแล้วว่าต้นไม้ใบหญ้านั้นมีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน แต่การขยายตัวของเมืองเป็นไปอย่างไม่หยุดยั้งทำให้พื้นที่สีขียวลดลงไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งพื้นที่สีเขียวเล็กๆ ที่เป็นหย่อมๆ ตามบ้านก็มีแนวโน้มจะลดลงไปด้วยตามการเปลี่ยนแปลงของลักษณะที่อยู่อาศัย
ที่จริง ในหลายประเทศมีการรณรงค์เพิ่มพื้นที่สีเขียวตามบ้าน หรือพูดง่ายๆ คือชักชวนให้คนทำสวนปลูกต้นไม้ในพื้นที่รอบบ้านเท่าที่ขนาดพื้นที่จะรองรับได้ มีน้อยปลูกน้อยมีเยอะปลูกเยอะไปตามขนาดของที่ว่างที่มี แทนที่จะเทคอนกรีตปูหินปิดพื้นดินจนมิดไปหมดไม่เหลือที่ทางให้ต้นไม้เลย เพราะเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุดต้นไม้ก็มีส่วนในการฟอกอากาศในเมืองให้บริสุทธิ์ขึ้นไม่มากก็น้อย
มีคำถามที่ถามกันอยู่เสมอว่าการทำสวนปลูกต้นไม้ตามบ้านจะช่วยอะไรได้จริงหรือ
ที่ผ่านมายังไม่เคยมีคำตอบอย่างชัดเจนมากนัก ยกเว้นเมื่อเร็วๆ นี้จากรายงานการศึกษาของราชสมาคมพืชสวนแห่งอังกฤษ ที่ศึกษาผลของสวนตามบ้านต่ออุณหภูมิในเมือง แล้วพบว่ามันมีส่วนช่วยจริงๆ
รายงานชิ้นที่ว่านี้เป็นการศึกษารวบรวมจากงานวิจัยที่เคยมีมาก่อนและบางชิ้นก็เจาะจงลงไปในระดับพื้นที่ แล้วสรุปให้เห็นถึงผลดีที่ได้จากสวนตามบ้าน
ประการแรกคือ ช่วยควบคุมอุณหภูมิ บรรเทาความร้อนในหน้าร้อนและความหนาวเย็นในหน้าหนาว
ถัดมา ช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดน้ำท่วมเพราะต้นไม้ช่วยดูดซับน้ำไว้ในดิน ไม่ให้ไหลผ่านพื้นผิวไปจนเกินกว่าท่อระบายน้ำจะรับไว้ได้
นอกจากนั้น ยังส่งผลต่อสุขภาพของคน โดยช่วยลดความเครียดและช่วยให้ได้ออกกำลังกายด้วย
รวมทั้งช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะสวนตามบ้านในเมืองเป็นแหล่งธรรมชาติที่ให้ที่อยู่อาศัยแก่สัตว์ชนิดต่างๆ ได้ด้วย สัตว์บางชนิดที่ลดลงเนื่องมาจากพื้นที่การเกษตรลดลงกลับมาเพิ่มขึ้นในเมือง อย่างเช่น งานวิจัยชิ้นหนึ่งยกตัวอย่างสวนตามบ้านในเมืองเชฟฟิลด์ มีความหนาแน่นของนกมากว่าบริเวณอื่นของประเทศโดยเฉลี่ยถึง 6 เท่า
สวนตามบ้านในเมืองที่ปลูกกันคนละนิดละหน่อยดูเผินๆ แล้วหลายคนอาจจะคิดว่าไม่น่าจะอำนวยประโยชน์อะไรได้มากมายนัก แต่เมื่อรวมๆ กันแล้วผลที่ได้จากมันจริงๆ กลับมีมากกว่าที่ตาเรามองเห็น ในอังกฤษสวนตามบ้านมีต้นไม้คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของต้นไม้นอกป่า
ขณะที่เมืองกำลังขยายตัวออกไปเรื่อยๆ พื้นที่สีเขียวก็หดตัวไปเรื่อยๆ แนวคิดเกี่ยวกับการปกปักรักษาพื้นที่สีเขียวเอาไว้ให้มากที่สุดย่อมเป็นเรื่องควรค่าแก่การให้ความสนใจ แม้กระทั่งพื้นที่สีเขียวเล็กๆ ภายในรั้วบ้านก็มีความสำคัญ
ต้นไม้ใบหญ้านั้นน่าสนใจมากมายมหาศาลกว่าการเมืองเรื่องเลือกตั้งเยอะแยะเลยทีเดียว เพราะเรามีเสรีที่จะเลือกมันและมีความสุขกับมัน ขณะที่การเลือกตั้งเรามีเสรีที่จะเลือกก็แต่ในอุดมคติ เพราะแต่ละตัวเลือกที่เสนอหน้ามาไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันอย่างสำคัญเลยแม้แต่นิด
ระบบการเมืองบ้านเราที่ออกแบบมาอย่างทุลักทุเลเป็นเหมือนป่าปลูกที่มีต้นไม้ชนิดเดียวทั้งป่า เป็นป่าพิการที่ขาดความหลากหลายทางชีวภาพ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย